S43 House
บ้านรีโนเวท 4 ชั้น ที่รวมต่างไลฟ์สไตล์ไว้ใต้ชายคาเดียวกัน

ด้วยวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป บวกกับปัจจัยบริบทรอบตัวในยุคปัจจุบัน หากจะเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ หลายคนจึงเลือกแยกตัวออกมาอยู่ในบ้านเดี่ยว หรือคอนโดมิเนียม คำว่า ‘บ้านครอบครัวขยาย’ จึงค่อยๆ หายไปจากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ 

แต่สำหรับ ‘ครอบครัววุฒิภารัมย์’ นั้น กลับเลือกที่จะรีโนเวทบ้าน 3 ชั้น สำหรับ 1 ครอบครัว ให้กลายเป็นบ้าน 4 ชั้น เพื่อรองรับการขยายครอบครัวของลูกชายทั้ง 3 คนในบ้าน ให้แต่ละครอบครัวได้มาอาศัยร่วมกันบนผืนที่ดินใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 43 แห่งนี้ และสถาปนิกที่มาพูดคุยกับเราวันนี้ มีความพิเศษตรงที่เป็นทั้งผู้ออกแบบภายในและหนึ่งในสมาชิกของบ้านอย่าง คุณเชอร์รี่ พัสวี ว่องเจริญ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ PVWB STUDIO Co., Ltd. นั่นเอง

จุดเริ่มต้นของบ้านครอบครัวขยายในแนวตั้ง

เดิมบ้านถูกสร้างขึ้นโดยคนรุ่นพ่อแม่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว พอมาถึงยุคปัจจุบันที่ลูกชายทั้ง 3 คน ต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง ทุกคนก็ไม่อยากแยกย้ายไปที่อื่น เพราะบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกสบาย ใกล้สถานที่ทำงาน ดังนั้นจึงตัดสินใจรีโนเวทบ้าน เพื่อรองรับสมาชิกทั้งหมด 11 คน ได้แก่ คุณย่า, คุณพ่อ, คุณแม่ และครอบครัวของลูกชาย และเป็นที่มาของโจทย์หลัก ที่ต้องการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละครอบครัวตามแต่ละชั้น แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวใหญ่ภายใต้ชายคาเดียวกัน

ภาพบ้านเดิม

“คอนเซ็ปต์หลักมาจากทางเจ้าของบ้านที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยของแต่ละครอบครัวแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเอง รวมถึงเปลี่ยนสไตล์หน้าตาอาคารเดิม ให้กลายเป็นบ้านที่มีความโมเดิร์น ดูเรียบขึ้น เข้ากับความต้องการในปัจจุบัน

ระหว่างการออกแบบ เราก็มีคุยกันว่าจะทุบสร้างใหม่หรือจะรีโนเวท? แต่พอเข้าไปดูก็พบว่าตัวสภาพโครงสร้างบ้านค่อนข้างดี เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าเราจะรีโนเวทบ้านโดยใช้โครงสร้างเดิม” – สถาปนิกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการออกแบบ

Perspective Section

‘โถงบันได’ เป็นส่วนสำคัญที่ถูกต่อเติมใหม่ ให้เป็นเหมือน ‘ชานหน้าบ้าน’ ก่อนเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวของแต่ละครอบครัว ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนถ่ายสเปซ และเชื่อมต่อทุกครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน ต่างจากบ้านเดิมที่ขึ้นบันไดมาจะเจอพื้นที่ส่วนตัวเลย สถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านครอบครัวขยาย ที่มีการสร้างบ้านหลายหลังบนที่ดินเดียวกัน และมีพื้นที่ส่วนกลางให้สามารถใช้ร่วมกันอย่าง ‘ลานหน้าบ้าน’ หรือ ‘สนามหญ้า’ แต่สำหรับโครงการนี้ที่มีพื้นที่จำกัด พื้นที่ส่วนกลางจึงถูกปรับมาเป็นรูปแบบแนวตั้งอย่าง ‘โถงบันได’ แทน และนอกจากโถงบันไดแล้ว ส่วนอื่นๆ ของบ้านยังคงใช้โครงสร้างเดิม

Façade กล่องสีเทาที่เราเห็น เป็นเพียงฝั่งหนึ่งของอาคารเท่านั้น ส่วนอีกฝั่งยังคงเป็นอาคารเดิมที่มีหลังคาปั้นหยาอยู่ สถาปนิกเล่าว่าหน้าตาของ Façade ถูกออกแบบตามฟังก์ชันภายในบ้าน โดยคำนึงว่าพื้นที่ใช้สอยตรงไหนบ้าง ที่ต้องการเจาะช่องแสง รวมถึงกฎหมายระยะร่นอาคารที่ทำให้เกิดเป็นผนังทึบเยอะ โดยเฉพาะโถงบันไดที่ต่อเติมออกมาใกล้กับเพื่อนบ้าน และแนวหน้าต่างบานใหญ่ที่ถูกร่นเข้าไปข้างใน เพื่อรักษาระยะห่างตามกฎหมาย และตอบโจทย์ความเป็นส่วนตัว

เนื่องจากเจ้าของบ้านอยากได้ Façade ที่เรียบและโมเดิร์น สถาปนิกจึงเลือกใช้วัสดุผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสีเทาธรรมดา ในชั้น 2-4 เพราะเป็นส่วนที่อยู่สูง ไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้คน แต่สำหรับชั้น 1 นั้น สถาปนิกได้เปลี่ยนวัสดุเป็นไม้คอนวูด เพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่น สบายๆ ทั้งยังลดทอนสเกลอาคาร 4 ชั้นที่สูงชะลูด ให้ดูสมส่วนขึ้น

ชั้นที่ 1 ครอบครัวพ่อแม่ และโถงทางเข้า

เมื่อเปิดประตูหลักเข้ามา จะพบกับโถงบันไดในชั้นแรกที่เป็นเหมือน ‘ชานหน้าบ้าน’ คอยต้อนรับเราอยู่ สำหรับสเปซนี้สถาปนิกตั้งใจนำหลักการ ‘Inside out-Outside in’ มาใช้ในการออกแบบ เพื่อให้ยังรู้สึกถึงความเป็น ‘Semi-Outdoor’ ที่เชื่อมต่อกับภายนอก ด้วยการเจาะช่องแสง Skylight และการจัดสเปซใต้บันไดให้กลายเป็นสวนกรวดเล็กๆ พร้อมกั้นด้วยกระจกแทนผนังทึบ เมื่อมองออกไปข้างนอกบ้าน จะรู้สึกราวกับว่าสวนด้านในและด้านนอกเป็นเหมือนพื้นที่เดียวกัน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาสำหรับบ้านที่มีพื้นที่สวนข้างบ้านแคบ

ที่สำคัญสถาปนิกเลือกใช้วัสดุพื้นและผนังให้ต่อเนื่องมาจากนอกอาคาร แต่เพิ่มดีเทลพิเศษเข้าไปเพื่อให้ดีไซน์ดูโดดเด่นและตอบโจทย์เรื่องการดูแลรักษาอย่าง ‘ผนังพ่นลายเซาะร่อง’ ที่นำหินบดมาพ่นก่อน และจึงค่อยพ่นอีกรอบเพื่อปาดเกรียงเซาะร่องก่อนที่จะจบขอบดีเทลขอบราวบันไดอย่างพอดิบพอดี ซึ่งผนังชนิดนี้สามารถป้องกันการเกิดรอยร้าวที่มักเกิดกับผนังทาสีทั่วไปในภายหลัง และหินบดที่ใช้ก็ไม่ทำให้บาดเจ็บเมื่อสัมผัส

นอกจากนี้ยังมี ‘ไม้ซีดาร์’ ที่ถูกใช้เป็นวัสดุหลักในชั้นแรก เพื่อสร้างภาพจำแก่ผู้มาเยือน ทั้งยังเป็นวัสดุที่คุณพ่อ คุณแม่และคุณย่า ซึ่งเป็นผู้ใช้งานหลักในชั้นนี้ รู้สึกคุ้นเคยอีกด้วย

“โจทย์หลักที่ได้รับมา คือ คุณพ่อคุณแม่อยากใช้เฟอร์นิเจอร์เดิม ที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนสร้างบ้านเก่า เราเลยพยายามเอาเฟอร์นิเจอร์เก่ามาปรับใช้ เช่น พวกเซตโต๊ะทั้งหลายในห้องรับแขก, ประตูไม้สักบานคู่ลายมังกร ซึ่งเดิมเป็นประตูทางเข้าของบ้านเก่า พอเราขยายประตูทางเข้าใหม่ให้ใหญ่ขึ้น ก็เลยเอาประตูชุดนี้มากั้นห้องทานข้าวแทน โดยเปลี่ยนให้เป็นประตูบานเลื่อนเก็บไปทางด้านข้าง”

1st Floor Plan

ชั้นที่ 2 ครอบครัวลูกชายคนกลางที่เน้นห้องนอนเป็นหลัก

ก่อนเข้าไปยังพื้นที่บ้านลูกชายคนกลาง เราจะพบกับพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับการใช้งานอเนกประสงค์และเป็นที่วางโต๊ะพูล ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่คุณพ่อและลูกชายมักเล่นกันประจำ

เนื่องจากครอบครัวลูกชายคนกลางมีลูกๆ แล้ว บ้านนี้จึงมีฟังก์ชันการใช้งานชัดเจน โดยเฉพาะห้องนอนที่มีถึง 3 ห้อง เพื่อรองรับการเติบโตของลูกๆ ทั้ง 2 คน และสำหรับห้องนอน Master Bedroom ของบ้านนี้ ทางเจ้าของก็มีรีเควสเพิ่มเติมว่าต้องการ Walk-in Closet ที่ค่อนข้างใหญ่ พื้นที่ส่วนนอนจึงมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับบ้านอื่นๆ 

เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้สำหรับห้องนอนไปแล้ว พื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหารจึงมีขนาดค่อนข้างเล็ก ฟังก์ชันส่วนนี้ถูกจัดแบบ กระทัดรัดลงตัวพอดี ซึ่งในส่วนครัวจะมีเพียงมุม Pantry เล็กๆ เท่านั้น หากต้องการทำอาหารอย่างจริงจัง ก็สามารถไปใช้งานในครัวชั้น 1 แทนได้

“สไตล์ของพื้นที่ชั้นนี้จะเป็น Modern Luxury ตามความต้องการของครอบครัว ซึ่งแตกต่างจากบ้านอื่น เราก็เลยเพิ่มวัสดุพวกหินเข้าไป แต่ว่าก็ยังใช้วัสดุไม้เพื่อคุมให้ไปทางเดียวกันกับภาพรวม”

‘พื้นที่ระเบียง’ เป็นอีกหนึ่งความพิเศษของบ้าน เพราะเริ่มแรกเจ้าของบ้านแค่ต้องการสร้างหลังคาให้กับที่จอดรถเพิ่ม แต่ทางสถาปนิกได้ออกแบบต่อยอดให้ออกมาในรูปแบบระเบียง เพื่อที่จะได้เข้ากับฟาซาดบ้าน และสามารถใช้สอยเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีดีเทลการเจาะช่องและกั้นด้วยราวกันตกกระจก เพื่อเจ้าของบ้านจะได้ใช้มองออกไปหากมีแขกมาเยี่ยมเยียน

2nd Floor Plan

ชั้นที่ 3 ครอบครัวลูกชายคนโต ที่ต้องการฟังก์ชันครบจบในตัว

เมื่อขึ้นมาชั้น 3 จะพบว่าบันไดถูกแยกออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งที่อยู่ด้านหน้าอาคารจะเป็นบ้านของลูกชายคนโต ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 2 คน เนื่องจากภรรยาทำงานบ้าน ทำอาหารเอง และสามีก็มีหนังสือเยอะมาก รวมถึงอุปกรณ์เครื่องออกกำลังกาย บ้านนี้จึงต้องการพื้นที่สำหรับเก็บของต่างๆ เหล่านี้ให้เรียบร้อย ทางสถาปนิกจึงออกแบบห้องครัวให้เป็นแบบปิด มีห้องยิมที่สามารถปรับเป็นห้องนอนเด็กได้ในอนาคต และออกแบบตู้เก็บของให้เป็นแบบ Built-in พร้อมบานปิด

จุดเด่นของบ้านหลังนี้อยู่ตรงที่โถงห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ ที่เปิดรับวิวเมืองแบบไร้อาคารบดบัง ทั้งยังมีมุมเล็กๆ สำหรับนั่งเล่นหรือทำงาน ที่ยื่นออกมาติดกับชานบันได ทำให้รับวิวได้มากขึ้นอีกด้วย และที่น่าสนใจกว่านั้น ในบ้านนี้ยังมี ‘Double Volume Space’ ที่ทางสถาปนิกเล่าว่าเป็นความเซอร์ไพรส์ที่เพิ่งค้นพบตอนรื้อบ้าน ด้วยโครงสร้างเดิมของพื้นที่ใต้หลังคาชั้น 4 ในบริเวณนี้ไม่มีพื้นรองรับ และทางผู้รับเหมากับวิศวกรก็ไม่แนะนำให้เทพื้นเพิ่ม เนื่องจากน้ำหนักของคอนกรีตอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเดิมได้ สถาปนิกจึงเลือกปรับช่องตรงนี้ให้เป็น Double Volume Space ที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับตัวบ้าน

3rd Floor Plan

ชั้นที่ 3 + 4 ครอบครัวลูกชายคนเล็ก ที่เน้นพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน

“สำหรับไลฟ์สไตล์บ้านลูกคนเล็ก ซึ่งก็เป็นบ้านของเชอร์เองด้วยคือ เราชอบพาเพื่อนมากินข้าวกันที่บ้านบ่อยๆ ก็เลยเน้นพื้นที่ส่วนกลางเยอะ จึงออกแบบชั้น 4 ที่มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่และมีระเบียงดาดฟ้า ให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เอาไว้กินข้าว ดูหนัง ดูทีวี ทำกิจกรรมประจำวัน ส่วนชั้น 3 จะใช้เป็นพื้นที่ส่วนนอนเป็นหลัก”

พื้นที่ชั้น 3 ฝั่งตรงข้ามกับบ้านลูกคนโตเป็นส่วนนอนของบ้านลูกคนเล็กที่สถาปนิกออกแบบให้มีส่วนกลางเล็กๆ ด้านหน้า ที่มีบรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบ ใช้สำหรับนั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือเป็นพื้นที่นั่งพัก วางกระเป๋า ก่อนจะเดินเข้าห้องนอน และเนื่องจากลูกคนเล็กชอบสไตล์ญี่ปุ่น สถาปนิกจึงใส่ลูกเล่นระแนงไม้เข้าไป บวกกับความสดใสจากไม้ซีดาร์สีอ่อน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ลอยตัวที่มีทั้งของใหม่และของเก่าของคุณเชอร์รี่ เมื่อสีน้ำตาลของไม้ตัดกับสีขาวของวอลเปเปอร์ เสริมด้วยสีสันจากภาพถ่ายและภาพวาด ยิ่งทำให้บรรยากาศภายในบ้านมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นชัดเจนขึ้น

“ในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างชั้น 3 และ 4 เราไม่ได้กั้นโซนให้เป็นส่วนตัว เพราะต้องการให้ทุกคนสามารถขึ้นมาใช้พื้นที่ส่วนกลางบนชั้น 4 ร่วมกันได้อยู่ แต่ด้วยความที่เราอยากทดลองใช้วัสดุเพื่อบ่งบอกถึงการปลี่ยนสเปซ จึงเปลี่ยนไปใช้ ‘บันไดเหล็กสีดำ’ แทนบันไดไม้ที่เชื่อมต่อกันมาตั้งแต่ชั้น 1 รวมถึงออกแบบหน้าต่างในด้านสกัดของโถงบันไดทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทไหลเวียนสะดวก และยังได้แสงส่องลงมายังพื้นที่โถงบันไดอีกด้วย”

เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 4 จะพบกับพื้นที่ครัวบริเวณด้านนอก ก่อนที่จะเข้าไปยังโซนนั่งเล่นที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ สถาปนิกเล่าว่าเป็นชั้นที่ออกแบบฟังก์ชันใหม่ทั้งหมด ต่างจากชั้นอื่นที่เป็นการวางฟังก์ชันตามตำแหน่งเดิมของบ้านเก่า และเน้นแก้ปัญหาโครงสร้างใต้หลังคาที่ไม่ตอบโจทย์กับการใช้งาน

เนื่องจากรูปทรงหลังคาปั้นหยาเดิมมีพื้นที่ค่อนข้างแคบ สถาปนิกจึงเลือกตัดหลังคาออกหนึ่งด้าน และเสียบแผ่นเมทัลชีทเข้าไปแทนเพื่อให้ได้สเปซที่สูงขึ้น สำหรับด้านที่ยังเห็นเป็นฝ้าเอียง สถาปนิกแก้ปัญหาโดยการออกแบบตู้เก็บของ Built-in ลามิเนตลายไม้ เพื่อปิดพื้นที่ซอกผนังด้านข้างให้เรียบร้อย และออกแบบตู้เก็บของเข้ามุมพร้อม Daybed ไปตามลักษณะฝ้าเอียง เพื่อหุ้มเสารับโครงสร้างหลังคา และปิดฝ้าข้างบนที่ไม่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพื้นที่นั่งเล่นไซส์กระทัดรัด เข้าไปยังซอกมุมของห้องที่เกิดจาก Double Volume Space ในชั้น 3 อีกด้วย

จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่นอนในชั้น 3 แล้ว พื้นที่นั่งเล่นชั้น 4 จะเน้นเฟอร์นิเจอร์ที่สั่งทำขึ้นมามากกว่า และหนึ่งในนั้นคือ ‘โต๊ะคอนโซล’ ที่ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์กับบ้านนี้โดยเฉพาะ

“เนื่องจากลูกชายคนเล็กกับลูกชายคนโตทำกิจการขายเครื่องเสียง เขาก็จะมีความซีเรียสกับพวกอุปกรณ์ จึงต้องการพื้นที่สำหรับวางลำโพง เราก็เลยสั่งทำตัวโต๊ะคอนโซลข้างหลังโซฟาที่มีความสูงพอดี โดยใช้ไม้ชนิดเดียวกันกับพื้นและกรอบเสากลางห้อง”

ห้องน้ำชั้น 4 เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ภายใต้โครงสร้างหลังคาเดิม โดยมีการกรุฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์ลายลูกฟูกใต้แผ่นหลังคา และเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาบางส่วนให้เป็นกระเบื้องใส เพื่อโอบรับแสงธรรมชาติเข้ามา สำหรับพื้นที่สวนกรวดที่เราเห็นนั้น มีที่มาจากการแก้ปัญหาโครงสร้างเดิมที่ไม่มีพื้นรองรับ โดยการปูพื้นเป็นสมาร์ทบอร์ดแทนการเทคอนกรีต เพื่อที่จะได้ไม่หนักโครงสร้างเดิมมากนัก ทั้งยังช่วยกั้นการเข้าถึงเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมอีกด้วย

“พอเป็นบ้านที่ปรับปรุงจากบ้านเดิม มันก็จะมีทั้งเรื่องเงื่อนไข ข้อจำกัด รวมทั้งความต้องการและความคาดหวังจากเจ้าของบ้าน ที่อยากเห็นการแปลงโฉมจากบ้านเดิมเป็นบ้านใหม่ เมื่อภาพสุดท้ายที่ออกมามันยังเป็นไปตามแบบที่เราคิด เราก็รู้สึกประทับใจที่เราสามารถบาลานซ์ทั้งสองอย่างได้ แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ต้องมาปรับเปลี่ยนในหน้างานบ้างก็ตาม”

Location: ซอยสุขุมวิท 43 ถนนสุขุมวิท จังหวัดกรุงเทพมหานคร
Built Area: 740 ตารางเมตร
Completion Year: 2021
Client: คุณพิสิษฐ์ วุฒิภารัมย์
Architect & Interior Architect: PVWB STUDIO Co., Ltd.
Contractor: Bangkok Group Co., Ltd.
Photo Credit: Fangbakii

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์