บ้านในใจ
เมื่อบ้านท่ามกลางสวนต้นหมากที่เคยคิดไว้ ‘ในใจ’ ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยจินตนาการภาพบ้านตัวเองเอาไว้ ‘ในใจ’ เล่น ๆ ว่าถ้าเราอยากมีบ้านสักหลัง เราคงจะออกแบบสเปซที่มาจากความต้องการของเราเอง ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษที่เราชอบใช้เวลาอยู่ในนั้น หรือแม้แต่ทางเดินท่ามกลางวิวสวนต้นหมาก! ที่จะทำให้บ้านของเราแตกต่างไปจากบ้านหลังอื่นๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะนำภาพในหัวออกมาอย่างไรให้เป็นบ้านจริงๆ เช่นเดียวกับเจ้าของบ้านในใจ และนี่คือหน้าที่ของ JAI Architect & Interior สตูดิโอออกแบบที่ทำให้บ้านในใจออกมาสู่ความจริงได้อย่างจริงใจ

จาก ใจ ถึง สวนหมาก

บริบทที่เด่นชัดของบ้านหลังนี้คือ ‘สวนหมาก’ สุดลูกหูลูกตา ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ระหว่างทางที่จะเข้ามาถึงตัวบ้านสองข้างทางก็เต็มไปด้วยสวนหมากและคลอง รวมถึงบ้านสวนยกใต้ถุนกลางดงหมาก ซึ่งบ้านเดิมของเจ้าของก็เป็นบ้านใต้ถุนเปิดโล่งกลางดงหมากเช่นกัน ในครั้งแรกนักออกแบบจุดประกายว่าจะออกแบบบ้านหลังนี้เป็นบ้านยกใต้ถุน แต่ด้วยความต้องการของเจ้าของที่บอกว่าบ้านหลังใหม่นี้จะไม่เป็นบ้านยกใต้ถุนแบบหลังเดิมอีกแล้ว นั่นจึงทำให้บ้านสวนหมากดำเนินการออกแบบไปยังแนวทางใหม่ท่ามกลางสวนหมากที่ยังคงโอบล้อมเราอยู่

“เราต้องการโอบรับวิวรอบข้างทั้งหมด เพราะวิวธรรมชาติคือองค์ประกอบหลักของบ้านหลังนี้ ซึ่งการได้วิวสวนหมากในแทบทุกๆ มุมบ้าน ก็เป็นจุดมุ่งหมายของการออกแบบที่จะเลือกเปิดมากกว่าปิด ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เพื่อนบ้านจะมองเข้าได้ เพราะสวนรอบๆ ได้ทำหน้าที่เป็นม่านต้นหมากให้แก่บ้านเรียบร้อยแล้ว จึงถือเป็นการใช้ประโยชน์จากวิวธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่าเลยทีเดียว”

Something More : หมากจัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด หากจะนำมาปลูกในบริเวณบ้าน ในเรื่องของใบจะมีข้อดี เพราะไม่ค่อยร่วงและร่วงเป็นแผง แต่ที่จะมีปัญหาคือผลของหมากที่จะหล่นลงมาเมื่อแก่ลงหากเราไม่ได้นำผลไปใช้ประโยชน์

สร้างความเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก

ความเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อรักษาความพิเศษของพื้นที่สวนเอาไว้ หรือเรียกได้ว่าทำให้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั่นเอง แต่การปิดล้อมพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้สะดวกและปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านให้ความสำคัญไม่แพ้กัน สถาปนิกจึงเริ่มจัดโซนด้วยการแบ่งบ้านออกเป็นสองอาคารและสร้างทางเชื่อมบ้านทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อรักษาการใช้งานที่ยังคงปิดพื้นที่ภายในบ้านให้ต่อเนื่องกันทั้งหมดและเพิ่มปฎิสัมพันธ์กับพื้นที่ภายนอกด้วยการเชื่อมต่อทางสายตาผ่านโถงทางเดินผนังกระจกที่ให้บรรยากาศเสมือนเดินผ่านกลางสวนหมากได้ตลอดเวลา

บริเวณทางเดินเป็นกระจกติดตายเพื่อความปลอดภัยและวิวสวนหมากที่มองเห็นแทบจะ 360 องศา แต่ก็ยังมีเส้นตั้งของขอบกระจกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระจก นอกจากนั้นยังช่วยเบรกสายตาทำให้รู้สึกปลอดภัยสำหรับการเดินภายในบ้านด้วย ทางเดินไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เชื่อมอาคารเท่านั้น แต่ยังช่วยทอนตัวอาคารให้แบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งจะทำให้การออกแบบหลังคานั้นทำได้ลงตัวมากขึ้นและระบายน้ำได้ดีขึ้นด้วย

บ้านรับแขกเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของเจ้าของบ้านที่ต้องการให้บ้านหลังใหม่นี้เป็นมิตรและยิ้มต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ หน้าบ้านจึงถูกวางให้หันสู่ทางเข้าหลัก ทั้งเพื่อการสังเกตเห็นได้ง่ายและเป็นการเชื้อเชิญผู้มาเยือนให้เข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งการจัดวางนี้เองทำให้สวนหมากที่เคยเป็นวิวหน้าบ้านหลังเดิมต้องกลับกลายมาเป็นวิวสวนหลังบ้านของบ้านหลังใหม่

โอบรับธรรมชาติ แต่ยังคงความเป็นส่วนตัว

เพื่อเพิ่มความโปร่งและรักษามุมมองของสวนหมากที่ทะลุผ่านพื้นที่บ้านหลังใหม่ การเลือกใช้ผนังกระจกและประตูหน้าต่างกระจกบานกว้างจึงเป็นภาษาที่นำมาออกแบบ ผสานรวมกับแนวทิวหมากที่รายล้อมบ้านเอาไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย บ่อปลาข้างทางเชื่อมผนังกระจกเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ถูกใช้เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาให้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนของอาคารชั้นหนึ่งถูกวางไว้ให้เป็นพื้นที่รับรองแขกและใช้ชีวิตช่วงกลางวันร่วมกันของครอบครัว ซึ่งคล้ายกับฟังก์ชันพื้นที่ใต้ถุนของไทยที่มักใช้เป็นที่นั่งเล่นระหว่างวัน ส่วนชั้นสองถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนตัว ประกอบไปด้วยห้องนอนและห้องน้ำของสมาชิกในบ้าน โดยเน้นการเปิดมุมมองจากพื้นที่ส่วนตัวไปสู่สวนหมาก ซึ่งเป็นสวนของครอบครัวจึงไม่มีการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก สามารถเปิดรับวิวสวนหมากได้เต็มที่และไม่ถูกรบกวน

ห้องที่มีความเป็นส่วนตัวสูงจะถูกกำหนดไว้ในด้านหลังเพื่อใช้ประโยชน์จากบรรยากาศบ้านสวนให้ได้มากที่สุด มีระแนงไม้เป็นส่วนสำคัญที่ถูกใช้บังสายตาจากภายนอกเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับห้องนอนชั้นบน แต่หากเจ้าของบ้านต้องการจะทอดสายตาไปสู่ธรรมชาติภายนอกก็สามารถเปิดประตูระแนงไม้ได้ นอกจากนี้ระแนงไม้ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในแง่ของการสร้างความสบาย ลดความร้อนของแดดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่จะส่องเข้าสู่ตัวบ้านในช่วงบ่ายที่แดดอ้อมทางทิศใต้ด้วย

ลดทอนคอนกรีตด้วยงานไม้ ผสมผสานเป็นกลิ่นอาย MODERN TROPICAL

ภายใต้ความแข็งแรงทนทานของคอนกรีตสีเทา จะเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้กลับถูกซ่อนและตกแต่งไปด้วยระแนงไม้ ประตูไม้ พื้นไม้ เพราะ ‘ไม้’ ทำให้บ้านหลังนี้ลดความแข็งกระด้างลงได้อย่างชัดเจน รวมถึงให้บ้านอบอุ่นละมุนขึ้นเป็นคาแรกเตอร์บ้านสวน นี่เป็นพลังของวัสดุธรรมชาติที่ทำงานกับทุกประสาทสัมผัสของเรา จากตาเห็นจึงแล่นไปสู่ที่ใจ

Facade ชั้นสองถูกออกแบบให้เหมือนฝาผนังไม้ของบ้านไม้ไทย เพื่อให้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์บ้านบริเวณชุมชน แต่มีระยะห่างของแต่ละแผ่นไม้ที่ไม่มากน้อยจนเกินไป สามารถปิดบังสายตา แต่ยังรับลมเข้ามาสู่ตัวบ้านอยู่ และยังมีประตูบานเฟี้ยมระแนงไม้เป็นบัฟเฟอร์อีกชั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว

การใช้แสงธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของบ้านหลังนี้ เราจะเห็นได้ว่าไม่มีการวาง Lighting แบบ In-Direct แต่จะติดเป็นไฟดาวน์ไลท์บริเวณภายใน และเน้นใช้แสงธรรมชาติแทน ถือว่าเป็นบ้านที่พื้นที่ใช้สอยเยอะแต่ยังให้ความประหยัดพลังงานที่มากกว่าบ้านหลังอื่นๆ ด้วย

บ้านหลังนี้ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าอยู่ อบอุ่น ท่ามกลางความร่มรื่นของทิวหมากที่โบกไหวตามแรงลมอย่างช้าๆ แสงแดดที่รำไรผ่านพุ่มใบวิบวับตลอดเวลาในยามกลางวัน รวมถึงเสียงของน้ำในคลองหน้าบ้านที่ไหลรินผ่านไป

และความเงียบสงบที่ตัดขาดการรับรู้จากโลกภายนอกอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ที่ประกอบเป็นบ้านหนึ่งหลังจะไม่สำเร็จลุล่วงอย่างแน่นอน หากไม่ได้ถูกเสริมด้วยไอเดียส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ทำให้บ้านที่อบอวลไปด้วยธรรมชาติหลังนี้มีความหมายอย่างมากต่อสมาชิกในครอบครัว

Architects : JAI Architect & Interior
Location : nakhonpathom Thailand
Photographs : Soopakorn Srisakul

Writer
Prawpisut Tiangphonkrang

Prawpisut Tiangphonkrang

นักศึกษาสถาปัตยกรรม ที่เชื่อว่าการออกแบบเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องบนโลกใบนี้