Frederick Law Olmsted
จากลวดลายปลายปากกา สู่บิดาแห่งภูมิสถาปัตยกรรม

ถ้าให้นึกถึงสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์ก จะนึกถึงอะไรบ้าง? 

Guggenheim Museum? Empire State Building? หรือ Grand Central Terminal? 

หากเป็นสวนบ้างล่ะ… จะนึกถึงที่ไหน?

สำหรับเราแล้ว แน่นอนว่าต้องเป็น Central Park สวนสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ใจกลางเกาะแมนฮัตตัน ผลงานชิ้นเอกของ ‘Frederick Law Olmsted’ นักออกแบบชาวอเมริกันผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งภูมิสถาปัตยกรรม และวันนี้คอลัมน์ ABOUT A LAND จะขอพาไปรู้จักตัวตน แนวคิด และผลงานที่ทำให้เขาถูกเรียกว่าเป็น ‘ตัวพ่อ’ กัน!

Frederick Law Olmsted / Photo Credit: Wikipedia

จากนักเขียนผู้รักการเดินทาง สู่ผู้ริเริ่ม ‘ภูมิสถาปัตยกรรม’

แม้ว่าการจัดแต่งสวนจะมีมาตั้งแต่หลายร้อยหรืออาจจะหลายพันปีที่แล้ว แต่ก็เป็นเพียงการจัดสวนเพื่อใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และนักจัดสวนส่วนใหญ่ก็มักเรียนรู้จากการลงมือทำจริง ต่างจากภูมิสถาปัตยกรรม ที่เกิดจากการรวบรวมความรู้ในหลายๆ ด้าน ทั้งการออกแบบ, พืชพรรณ, สิ่งแวดล้อม, วิศวกรรม และสังคม นำมาแก้ปัญหาในเชิงพื้นที่และสร้างการเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คน

Buffalo-Delaware Park / Photo Credit: Buffalo Olmsted Parks Conservancy

Olmsted ไม่ได้เริ่มจากการเป็นนักจัดสวนเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่เริ่มจาก ‘การเดินทาง’ ที่เรียกได้ว่าแทบจะอยู่ในทุกช่วงชีวิตของเขา จากช่วงเด็กๆ ที่มักไปเที่ยวชมวิวทิวทัศน์กับครอบครัว จนกลายเป็นความหลงใหลในตอนโต และการเดินทางครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1850 ที่เขาและเพื่อนๆ ได้ท่องเที่ยวยุโรปและเกาะอังกฤษ ถึง 6 เดือน ในระหว่างนั้นเขาก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ที่ได้พบสวนและทิวทัศน์ในชนบทมากมาย จนเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรกในอีก 2 ปีต่อมา – ‘Walks and Talks of an American Farmer in England’ หลังจากนั้นเขาก็ได้เดินทางในที่ต่างๆ โดยเฉพาะอเมริกาตอนใต้อีกหลายครั้ง ในฐานะนักเขียน นักข่าว และนักวิจารณ์

The Emerald Necklace (The Boston Park) / Photo Credit: Historic New England

จุดเปลี่ยนสำคัญมาเยือนเขาอีกครั้ง เมื่อ Andrew Jackson Downing เพื่อนของเขาเสนอการประกวดออกแบบ ‘สวนใจกลางเมืองนิวยอร์ก’ พร้อมแนะนำ Calvert Vaux สถาปนิกชาวอังกฤษมาเป็นคู่หูในการประกวด และแน่นอนว่าผลงาน ‘Greensward Plan’ ของพวกเขาก็ได้คว้าชัยชนะครั้งนี้ไปได้นั่นเอง 

แม้ว่าหลังจากนั้น Olmsted ยังคงออกไปทำงานด้านสังคม แต่สุดท้ายเขาก็ได้กลับมาร่วมงานกับ Calvert Vaux ในฐานะภูมิสถาปนิกอีกครั้ง ก่อนจะแยกออกไปก่อตั้งบริษัทออกแบบ ‘Fairsted’ ในภายหลัง ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘Frederick Law Olmsted National Historic Site’

Frederick Law Olmsted National Historic Site / Photo Credit: Wikipedia

แนวคิดที่เป็นแม่แบบของ Modern Landscape

หากเทียบกับสวนฝรั่งเศสที่มีระเบียบแบบแผนชัดเจน แนวคิดการออกแบบของ Olmsted นั้นเรียกได้ว่าต่างกันลิบลับ ด้วยเส้นสายที่คดโค้ง เรียบง่าย เป็นอิสระ และความหลากหลายที่ปรากฎให้เห็นในทุกแง่มุม ทำให้ถูกยอมรับว่าเป็นแม่แบบของ Modern Landscape ในปัจจุบัน

การเคารพบริบทเดิมของพื้นที่ เป็นสิ่งแรกที่ Olmsted ให้ความสำคัญ เขามองว่างานออกแบบควรจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่เดิม ทั้งข้อดีและข้อจำกัด รวมถึงรักษา ‘Sense of Place’ ของพื้นที่ โดยปล่อยให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันทุกรายละเอียดในสวนล้วนถูกคิดวิเคราะห์มาอย่างดี ทั้งในแง่ความงาม การใช้งาน และความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

Central Park / Photo Credit: ArchDaily

Picturesque Style เป็นอิทธิพลที่ได้รับจากสวนอังกฤษ ซึ่งมักจัดสวนให้ออกมาราวกับภาพวาด มีการนำพืชพรรณหลากหลายชนิดมาจัดองค์ประกอบเป็นกลุ่ม โดยมีทั้ง Foreground, Middle Ground, Background และ Focal Point

Central Park / Photo Credit: Shutterstock

Olmsted ได้นำการจัดสวนรูปแบบนี้ มาสร้างความน่าค้นหาให้กับมุมมอง Perspective ในระดับสายตาคน โดยใช้ความคอนทราสต์ของ ‘แสงและเงา’ ที่เกิดจากร่มเงาของไม้ยืนต้น, การสร้างสเปซของไม้พุ่ม, การทอดเงาของพื้นที่ใต้สะพาน รวมถึงแสงและเงาที่ตกกระทบบนพืชพรรณที่มีรูปทรง สีและผิวสัมผัสต่างกัน

The Emerald Necklace (The Boston Park) / Photo Credit: Olmsted 200

การออกแบบที่ซ่อนความงาม หากเราสังเกตจะเห็นว่างานออกแบบของ Olmsted นั้น หลีกเลี่ยงที่จะใช้เส้นสายหรือรูปทรงที่ชัดเจน เพราะเขาต้องการให้รับรู้ความงามผ่านบรรยากาศทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ตาเห็น ดังนั้นเขาจึงมักออกแบบสนามหญ้าขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้กั้นแนวต้นไม้ชัดเจน เพื่อให้รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในท้องทุ่งที่มีวิวทิวทัศน์กว้างไกล เห็นธรรมชาติและผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างอิสระและกลมกลืน หรือที่เรียกว่า ‘Pastoral Landscape’

Buffalo-Delaware Park / Photo Credit: Jim Cavanaugh.

การวางผังงานระบบ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมแตกต่างจากการจัดสวน นอกจากเรื่องการระบายน้ำและงานระบบวิศวกรรมแล้ว ยังต้องมีการวางผังเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย

Olmsted ออกแบบ ‘Parkway’ ทางสัญจรที่ถูกแบ่งออกหลายขนาดตามประเภทยานพาหนะและการเดินเท้าเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายพื้นที่สีเขียวทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสวนได้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง อย่าง The Emerald Necklace (The Boston Park), Bidwell and Chapin Parkways, Eastern and Ocean Parkways เป็นต้น

Eastern and Ocean Parkways / Photo Credit: NYC Parks

นอกจากนี้ยังมี ‘Transverse roads’ ถนนลอดใต้สะพานในสวน Central Park ที่ Olmsted ได้ออกแบบมาเพื่อให้สามารถเดินในสวนอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย ในขณะเดียวกันยานพาหนะก็สามารถสัญจรตัดผ่านสวนไปได้ ทั้งผู้คนที่กำลังเดินและผู้คนที่อยู่บนท้องถนน ต่างก็ได้ชมบรรยากาศสวนไปพร้อมๆ กัน

Transverse Roads, Central Park / Photo Credit: Michael Minn

Central Park สวนที่พลิกประวัติศาสตร์เกาะแมนฮัตตัน

Central Park ถือเป็นตัวอย่างงานออกแบบที่รวบรวมทุกแนวคิดของ Olmsted มานำเสนอให้เห็นได้ครบในที่เดียว หากมองในผังจะเห็นว่ามีทั้ง Softscape, พื้นที่ลาน Hardscape และพื้นที่เก็บน้ำหลากหลายขนาด ที่ถูกสร้างและกำหนดสเปซด้วยเส้นสัญจรขนาดน้อยใหญ่ที่รัดรอบและต้นไม้ที่ปลูกเป็นกลุ่มในหลายๆ ชั้น มีเพียงแนวแกนที่นำไปสู่ลานหลัก ‘The Mall’ เท่านั้น ที่ต้นไม้ถูกปลูกให้เรียงเป็นแถวระเบียบ เพื่อเน้นความสำคัญของพื้นที่ลาน

Master Plan of Central Park / Photo Credit: Wikipedia

ที่สำคัญสวนนี้ยังสะท้อนมุมมองของ Olmsted ที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้มีความเท่าเทียมในสังคม รวมถึงยกเลิกระบบการใช้แรงงานทาส ซึ่งเป็นผลมาจากที่เขาได้ไปทำงานและศึกษาเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสในทางตอนใต้ของประเทศมานานหลายปี เขาต้องการให้สวนนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาทำกิจกรรมได้อย่างอิสระ ต่างจากสมัยก่อนที่สวนมีไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น

“ใครที่กำลังสิ้นหวัง ให้เขามาที่สวน Central Park ในวันเสาร์ และใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการนั่งดูผู้คนทั่วไปที่เดินมาสวน ไม่ใช่ผู้ที่มาด้วยรถม้าหรู เพราะยิ่งพาหนะหรูเท่าไหร่ ก็ยิ่งบ่งบอกถึงความไร้มารยาทของพวกเขา… ในขณะที่คนเดินเท้ามักประพฤติตัวดีเสมอ” – Frederick Law Olmsted

Central Park / Photo Credit: Olmsted 200

แม้พื้นที่ในสวนจะเป็นพื้นที่ไร้ฐานะ ไร้ชนชั้น แต่ในขณะเดียวกัน Central Park กลับทำให้พื้นที่โดยรอบถูกจับจองด้วยราคาสูงลิบลิ่ว ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ของเกาะแมนฮัตตันเลยทีเดียว

Central Park / Photo Credit: Wikipedia

และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันต้องมีสวนสาธารณะควบคู่การพัฒนาเมือง เพราะสวนไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ปลอบประโลมจิตใจผู้คน แต่ยังเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของผู้คน ธรรมชาติ และสังคม รวมถึงสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจของเมืองได้เหมือนกับ Central Park

แหล่งที่มาภาพและข้อมูล:
– https://www.olmsted.org/the-olmsted-legacy/frederick-law-olmsted-sr
– https://www.olmsted.org/the-olmsted-legacy/olmsted-theory-and-design-principles/olmsted-his-essential-theory
– https://www.olmsted.org/the-olmsted-legacy/olmsted-theory-and-design-principles/seven-s-of-olmsteds-design
– https://www.olmsted.org/the-olmsted-legacy/olmsted-theory-and-design-principles/design-principles#:~:text=The%20design%20should%20be%20developed,intimate%20knowledge%20of%20the%20site.&text=All%20elements%20of%20the%20landscape,will%20ring%20organic%20and%20true.
– https://olmsted200.org/the-design-principles-of-frederick-law-olmsted-in-light-of-recent-psychological-research/
– https://www.eyeofthedaygdc.com/2014/07/10-design-principles-frederick-law-olmsted/
– https://en.wikipedia.org/wiki/Frederick_Law_Olmsted
– https://en.wikipedia.org/wiki/Central_Park
– https://core.ac.uk/download/pdf/226928561.pdf
– https://www.nps.gov/places/franklin-park.htm?utm_source=place&utm_medium=website&utm_campaign=experience_more&utm_content=small
– https://www.planning.org/greatplaces/spaces/2014/delawarepark.htm
– https://www.archdaily.com/975685/central-park-will-become-a-hub-for-climate-research
– https://www.nycgovparks.org/about/history/olmsted-parks
– https://michaelminn.net/newyork/parks/central-park/bridges/transverse-roads/86th-street1/index.html
– https://www.historicnewengland.org/explore/collections-access/capobject/?refd=PC001.03.01.TMP.072
– https://www.bfloparks.org/parks/specialty-gardens/

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์