เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังไงให้เท่ รีดีไซน์ศาลพระภูมิแบบใหม่สไตล์อินดัสเตรียล

ภาพจำของศาลพระภูมิมักมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับโบสถ์ หรือ ศาลาของวัด แต่ในปัจจุบันศาลพระภูมิถูกดีไซน์ให้เป็นสไตล์โมเดิร์นสอดคล้องไปกับสไตล์บ้านพักอาศัยมากขึ้น แล้วถ้าบ้านของเราดีไซน์เป็นสไตล์อื่นศาลพระภูมิจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร?

ดีไซน์เนอร์จาก Detail space ออกแบบศาลพระภูมิ Spirit house 890 make ให้เป็นสไตล์อินดัสเตรียลโดยนำไม้และเหล็กมาใช้ในการออกแบบให้สอดคล้องไปกับดีไซน์ของสตูดิโอ พร้อมใช้ขนาด และสัดส่วนจากเลขมงคลอย่าง 8 9 และ 0 แต่ยังคงอ้างอิงทิศทาง และขนาดบางส่วนตามความเชื่อแบบดั้งเดิม

หยิบไอเดียมาจากความฝัน

แนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้น จากการที่ Detail space สร้างสตูดิโอ และโรงงาน โดยออกแบบด้วยวัสดุไม้ และเหล็กในสไตล์อินดัสเตรียล แต่เมื่อถึงเวลาตั้งศาลพระภูมิสำหรับเคารพบูชา ศาลพระภูมิในท้องตลาดกลับมีรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของอาคาร ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบไม้ และเหล็กของสตูดิโอแถมยังมีโรงงานที่สามารถผลิตได้ทุกขั้นตอน ดีไซน์เนอร์จึงตัดสินใจออกแบบและก่อสร้างศาลพระภูมิให้เป็นสไตล์อินดัสเตรียลแบบเดียวกัน

“เมื่อสร้างโรงงาน และสตูดิโอเสร็จสักพัก แม่อยากให้เราตั้งศาลพระภูมิตามความเชื่อโบราณ ถึงกับฝันถึงอาคารทรงไทยหน้าจั่วสามเหลี่ยม เราจึงหยิบไอเดียนี้มาใช้ในการออกแบบ”

อ้างอิงจากเลขมงคลตามความเชื่อ

ดีไซนเนอร์อ้างอิงขนาดศาลพระภูมิจากตัวเลขตามความเชื่อได้แก่ เลข 8 คือสัญลักษณ์อินฟินิตี้ หรือความไม่รู้จบ เลข 9 คือความเจริญก้าวหน้า และเลข 0 คือ สุญตา หรือความว่างเปล่า จั่วเหล็กสามเหลี่ยมจึงมีขนาด 89.0 เซนติเมตรเท่ากันทุกด้าน โดยหน้าจั่ว และกระเบื้องหลังคาทำด้วยวัสดุเหล็กกัดสีสนิมและเคลือบสีอุตสาหกรรม พร้อมครอบสันหลังคาด้วยแผ่นทองแดงขนาดยาวเพื่อเก็บความเรียบร้อย

ปลายของคาน และสันหลังคาเหล็กออกแบบให้ยื่นออกมาจากตัวอาคารและเสียบไม้สักเข้าไปเพื่อสร้างจังหวะให้กับตัวศาลพระภูมิดูมีมิติมากยิ่งขึ้น “หน้าตัดของเหล็กจะมีช่องอยู่แล้ว เราจึงไสปลายไม้ให้เล็กลงเพื่อเสียบพอดีกับช่องของเหล็ก”

ฐานและเสาใช้ไม้สักจริงทั้งหมด โดยฐานมีขนาด 89.00 x 89.00 เซนติเมตร

บริเวณประตูด้านหน้าของศาลฉลุลวดลายคล้ายเจดีย์ลงบนแผ่นเหล็กกัดสนิมสีเขียว ส่วนประตูบริเวณด้านหลังฉลุลวดลายให้เป็นรูบนแผ่นเหล็กกัดชนิดเดียวกัน เพื่อลดทอนความแข็งของหน้าจั่วเหล็กสามเหลี่ยม และฐานไม้

เสาศักด์สิทธิ์

ดีไซน์เนอร์เลือกใช้เสาไม้แดงที่ได้จากร้านขายไม้เก่าที่มีร่องรอยของการใช้งานเพื่อให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเสาต้นนี้สูง 1.90 เมตร เชื่อมต่อเข้ากับเสาเหล็กและเพลทเหล็กขนาด 9.90 x 9.90 เซนติเมตร ด้วยขนาดของเสา และศาลพระภูมิมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน จึงทำให้ศาลพระภูมิเสมือนกำลังลอยอยู่บนอากาศ

ฐานวงกลมลดทอนความแข็ง

ศาลพระภูมิหลังนี้ตอกเสาเข็มยึดลงไปกับพื้นดิน และหล่อฐานคอนกรีตวงกลมเป็นขั้นบันไดเพื่อลดทอนความแข็งของศาลพระภูมิ โดยขั้นแรกมีขนาดอยู่ที่ 1.589 เมตร สูง 9.9 เซนติเมตร และชั้นสองมีขนาดอยู่ที่ 0.89 เมตร สูง 9.9 เซนติเมตร ที่ยังคงอ้างอิงตัวเลขมงคลอยู่

“การที่เรายกให้ศาลพระภูมิสูงขึ้น เพราะตามความเชื่อศาลพระภูมิต้องอยู่สูงกว่าหน้าผากของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังมีมิติในแง่การดีไซน์ที่เมื่อมองจากภายนอก รั้วจะบังเสาของศาลทำให้ศาลพระภูมิดูลอยขึ้น”

ข้อมูลพื้นฐานด้านความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ

การออกแบบศาลพระภูมิต้องคำนึงข้อมูลด้านความเชื่อเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ศาลพระภูมิต้องสูงกว่าหน้าผากเจ้าของบ้าน สัดส่วนที่เหมาะสม หรือการหันหน้าศาลพระภูมิออกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นที่ฐานในการออกแบบ ส่วนภาพลักษณ์ความเป็นอินดัสเตรียล ดีไซน์เนอร์มีประสบการณ์ในการทำงานไม้และเหล็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่มีข้อกังวลมากนักในการออกแบบ

“เราศึกษาเรื่องความเชื่อเพื่อแปลงนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ซึ่งมีความท้าทายมาก แต่การออกแบบให้เป็นสไตล์อินดัสเตรียล หรือการบำรุงรักษาไม้และเหล็กเราไม่ได้มีข้อกังวัลเท่าไหร่ เพราะเราอยากให้งานดีไซน์ และวัสดุเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ และกาลเวลา เราคาดเดาได้ว่าไม้มีโอกาสสีซีดลง และเหล็กมีโอกาสสีเข้มขึ้น เมื่อมีส่วนใดผุพังก็ทำการเปลี่ยน ซึ่งเราเป็นทั้งโรงงาน และสตูดิโอออกแบบ ที่มีวัสดุเหลือใช้อยู่มากมายเรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหา”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn