เรือน (มีสติ)
บ้านในเชียงรายที่ใช้ระบบเรือนแบบเก่ามาตีความใหม่ให้ตอบโจทย์ชีวิตในยุคปัจจุบัน

สมดุลของการใช้ชีวิตที่ทำให้บ้านต่างจังหวัดเป็นมิตรกว่าบ้านในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความเรียบง่ายแต่พอดี ไม่มากไม่น้อย ไม่เงียบแต่ไม่วุ่นวาย แถมยังได้สัมผัสอากาศสบาย ๆ จากบริบทรายล้อมที่ยังพอมีที่ว่างเหลือให้ธรรมชาติได้บ้าง เรือน(มีสติ) บ้านหลังใหม่ในจังหวัดเชียงรายจากฝีมือการออกแบบของชายลูกครึ่งเมืองเหนืออย่าง คุณนนท์-อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ INchan atelier จึงหยิบบรรยากาศความเป็นมิตรและพอดีที่เราพูดถึงนี้มาออกแบบส่งกลิ่นอายความอยู่สบายในรูปลักษณ์ใหม่ที่ผสมความร่วมสมัยเข้าไปได้อย่างกลมกล่อมลงตัว

“เราทำงานออกแบบในกรุงเทพฯ ด้วย เลยเห็นว่าความต้องการบางอย่างของคนเมืองเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ความพอดีเรื่องขนาดมันเลยหายไปประมาณหนึ่ง เราเลยคิดว่าจะเอาเรื่องนี้กลับมาทบทวน และความพอดีของขนาดตรงนี้มันจะนำไปสู่การใช้สอยงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นโจทย์แรกเริ่มที่ทางเจ้าของเขาต้องการ แต่เรื่องการจัดวางตำแหน่งหรือวิธีในการเชื่อมโยงการใช้สอยทั้งหมด เราต้องเอาบรรยากาศความเป็นเชียงรายเข้ามา” คุณนนท์เล่า

ไม่ถึงกับต้องเป็นไอคอนิก แต่ทำยังไงให้บ้านกลมกลืนกับหมู่บ้านเก่าที่อยู่รายรอบให้มากที่สุด?
ด้วยความที่บ้านในละแวกนั้นเป็นหลังคาปั้นหยา หรือจั่ว ผสมกับบ้านเรือนคนท้องที่ อาคารกึ่งเก่ากึ่งใหม่ที่พบเห็นระหว่างทาง เรือนที่ตั้งในพื้นที่โล่งหรือเรือนที่ต้องประยุกต์เมื่อเข้าไปอยู่กับชุมชน ผู้ออกแบบจึงมองว่าสัดส่วนและคาแร็กเตอร์ของการใช้งานอาคารในลักษณะเป็นหลัง ๆ นี้มีความน่าสนใจที่สามารถหยิบมาใช้อินสไปร์ในการออกแบบได้ นำมาสู่โปรเจ็กต์ที่ตั้งใจใช้ชื่อว่า เรือน  

คาแร็กเตอร์ของเรือน สู่การออกแบบ ‘เรือน’

“เราพยายามมองหาระบบเรือนหนึ่งหลังว่ามันทำงานยังไง ทั้งเสา พื้น โครงสร้าง และ Section ซึ่งระบบเสาก็นำให้เราไปเข้าใจถึงการใช้ประโยชน์จากส่วนยื่น cantilever ซึ่งเราพยายามดูระบบเสาและส่วนยื่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น 1/3 ของช่วงเสาถ้ายื่นออกไป เราจะได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้นถึง 40 ตารางเมตร”

ในส่วน Section ของเรือนทางเหนือจะมีความชัดเจน โดยบริเวณชั้นล่างจะถูกใช้เป็นพื้นที่ใช้งานร่วมกัน สำหรับแขกไปใครมาหรือพื้นที่เอกเขนกยามบ่ายซึ่งส่วนมากจะถูกออกแบบเปิดโล่งคล้ายใต้ถุน แต่เมื่อขึ้นสู่เรือนชั้น 2 สเกลอาคารจะเปลี่ยนไป กลายเป็นขนาดที่กระชับ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าพอดีตัว ใกล้ศรีษะ นำมาสู่การออกแบบอาคารที่เราจะเห็นสัดส่วนระหว่างชั้นหนึ่งและชั้นสองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ภาพไดอะแกรมแสดงเรือนแบบเก่า และเรือนที่ถูกตีความขึ้นใหม่

อีกคาแร็กเตอร์สำคัญที่ทางสถาปนิกหยิบมาใช้ คือเรื่องรูปลักษณ์หน้าตาอาคาร ซึ่งสังเกตได้ว่างานออกแบบอาคารของเชียงรายจะค่อนข้างมีความกำยำ หรือมีจังหวะเสาคานที่ชัดเจน ในขณะที่คอนทราสกับสเกลละเอียดในส่วนอื่น ๆ เช่น ระแนง ราวกันตก แป้นเกล็ด หรือจังหวะของช่องเปิดที่จะค่อนข้างกระทัดรัด ทั้ง 3 ส่วนหลักๆ นี้คือสิ่งที่ผู้ออกแบบนำมาใช้เพื่อให้อาคารเป็นส่วนหนึ่งกับบริบทความเป็นเชียงราย

แปลน ‘เรือน’ ชั้น 1
แปลน ‘เรือน’ ชั้น 2

แบ่ง ‘เรือนแขก’ และ ‘เรือนเจ้าของ’ เพื่อความเป็นส่วนตัว

เพื่อใช้ประโยชน์จากการใช้งานอาคารในลักษณะเป็นหลัง ๆ สถาปนิกออกแบบโดยแบ่งเรือนปีกซ้าย-ขวาด้วยความเป็นส่วนตัว ซึ่งหากดูจากแปลน อาคารฝั่งขวาจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของซึ่งแพลนที่จะไม่มีลูกในอนาคต ในขณะที่อาคารฝั่งซ้ายเป็นส่วนของแขกคนสนิทอย่างครอบครัวสามี-ภรรยาเจ้าของบ้านที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเป็นบางครั้ง โดยเรือนแขกจะประกอบไปด้วยห้องนอนผู้สูงอายุที่อยู่บริเวณชั้น 1 และห้องนอนแขกที่อยู่ชั้น 2 สำหรับเพื่อนสนิท

ส่วนเรือนเจ้าของจะมีฟังก์ชันหลักเป็นพื้นที่กิจกรรมส่วนกลางที่ทำร่วมกันอย่างโต๊ะรับประทานขนาดใหญ่ที่เป็นตัวแจกสเปซไปยังห้องครัว ห้องดูทีวีที่มีการขยายพื้นที่ออกไปด้วยระบบชายคายืดยาว และมีหลังคาสโลปเอียงกลายเป็นระแนงไม้เลื้อยที่ค่อย ๆ กดความสูงโปร่งให้ต่ำลงเป็นที่นั่งเล่นบริเวณปลายชายคา

“เราขยายปีกอาคารออกไปเพื่อให้ได้ปริมาตรของห้องดูทีวีที่หลากหลายขึ้น โดยห้องนี้จะมีทั้งส่วนที่เป็นฝ้าเพดานเรียบและสโลป เพราะเรามองว่าในการนั่งนอน เอกเขนกดูทีวี หรือแม้จะหลับ สเปซมันควรจะได้ Volume ที่ทำงานคล้ายปลายชายคาเหมือนบ้านในท้องถิ่นด้วย”

หากขึ้นไปด้านบนของเรือนเจ้าของหลังนี้ จะเจอกับพื้นที่ส่วนตัวทั้งหมด เช่น พื้นที่นอน พื้นที่ห้องทำงาน ห้องดูซีรีส์ ห้องแต่งตัว ห้องน้ำ และห้องพระ โดยที่เรือนเจ้าของและเรือนแขกจะเชื่อมเข้าหากันด้วยระเบียง คอร์ริดอร์และมีหนึ่งฟังก์ชันที่ยอมให้ใช้งานร่วมกัน นั่นคือ ห้องออกกำลังกาย ก่อนจะแยกเข้าไปเป็นโซนห้องนอนแขก ทำให้แขกและเจ้าของที่ใช้งานพื้นที่บริเวณชั้น 2 ในเวลาเดียวกัน มีความเป็นส่วนตัว โดยไม่จำเป็นต้องมองเห็นกันตลอดเวลา

วัสดุง่าย ๆ ในงบประมาณจำกัด

ด้วยความที่มีงบจำกัด ความตั้งใจแรกในเรื่องวัสดุจึงเป็นการใช้วัสดุท้องถิ่นให้มากที่สุด ซึ่งท้องถิ่นในที่นี่คือวัสดุสมัยใหม่ที่มีขาย และหาง่ายในท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ ‘วัสดุก่อ’ ซึ่งถ้าเป็นอิฐแดงจะมีราคาค่อนข้างสูงทั้งค่าของและค่าแรง สถาปนิกจึงเลือกใช้วัสดุทดแทนที่บังเอิญพบในภาคเหนือแถบจังหวัดพะเยา และเชียงราย นั่นคือ ‘ซีเมนต์บล็อก’ ที่มีขนาดเหมือนอิฐก้อนใหญ่ แต่ราคาถูก หาง่าย แข็งแรง และยังมีคุณสมบัติฉนวนกันความร้อนดี ส่วนถัดมาคือ ‘วัสดุปิดผิว’ ที่ผู้ออกแบบพยายามใช้พื้นผิวหลายรูปแบบที่เกิดจากช่างฝีมือไม่ใช่วัสดุที่ต้องสรรหา เช่น สีเท็กเจอร์ที่ใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นมาลองปาดปูนเองด้วยมือ

Something More : ดีเทลเล็ก ๆ เติมแต่งเข้ามาในบ้านอย่างพอดีเช่นเดิม บานประตูเกล็ดไม้ทำหน้าที่เป็นรั้วภายในที่เติมความสวยงามให้รูปด้านของอาคารได้อย่างลงตัว และยังมีฟังก์ชันที่เพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นให้กับบ้าน

“เรามองว่าในบ้านหลังนี้ ทุกสเปซมันคือเจ้าของเลย ในแต่ละช่วงเวลาของวันหรือในแต่ละฤดู เขาจะขยับการใช้งานไปตามความเหมาะสมของฟังก์ชันนั้นๆ ด้วยไลฟ์สไตล์ของเขาเอง เช่น ฤดูหนาว ระเบียงไม้เลื้อยจะถูกใช้งานเยอะขึ้น ส่วนในหน้าร้อนพื้นที่คอร์ดยาร์ดกลางบ้านจะกลายเป็นหัวใจทำหน้าที่เป็นเหมือนชานบ้านหลักของเรือนหมู่ โดยสามารถมานั่งเล่น มีมุมอ่านหนังสือที่ได้ร่มเงาทั้งวัน และยังเป็นช่องลมด้วย

ผมมองว่า เจ้าของบ้านเขาเป็นคนเรียบง่ายแบบบ้าน ๆ แต่เป็นคนบ้าน ๆ ที่ช่างฝัน ผมเลยให้ความสำคัญกับการนั่งทอดอารมณ์ของพวกเขามาก ๆ  และในขณะเดียวกันจากมุมมองของสถาปนิก เรือน(มีสติ)ก็เป็นโปรเจ็กต์ที่เราพยายามอธิบายตัวตนให้มากที่สุดด้วย นั่นคือสร้างบรรยากาศมากกว่าการสร้างตัวอาคาร เสน่ห์ของบ้านต้องมาจากบรรยากาศ หรือความธรรมดาในการใช้ชีวิตที่เจ้าของเขาสามารถจับต้องได้” ผู้ออกแบบกล่าว

Architect & Interior : INchan atelier
Props stylist:
Ploy Chantip
Construction: รับออกแบบและสร้างบ้าน by Studio Const.
Interior construction: MANATEAM
Photographer: Something Architecture, Peerapat Wimolrungkarat

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้