รีดีไซน์ผังจักรวาลแบบไทย ให้กลายเป็นสตูดิโอศิลปะ Furnish studio

จากการเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่สมัยเรียนของ ป้อง-กันตินันท์ ณ นคร สถาปนิกจาก 11.29 และโบว์-ปัณฑิตา มีบุญสบาย ศิลปินภาพสีน้ำมัน ทำให้ทั้งคู่มีแนวทางด้านศิลปะแบบเดียวกัน เมื่อโบว์ต้องการสร้างสตูดิโอศิลปะ furnish studio ในจังหวัดระยอง จึงชักชวนป้องมาออกแบบอาคารให้มีฟังก์ชันเป็นพื้นที่ทำงานศิลปะ แกลเลอรี่ และพื้นที่พักผ่อน โดยหยิบแนวคิดผังจักรวาล นิคมอุตสาหกรรม และพื้นเพความเป็นครอบครัวเกษตรกรของโบว์มาใช้ออกแบบ

อาคารระบายกลิ่นสีน้ำมัน

ศิลปินต้องการพื้นที่ที่สามารถวาดภาพสีน้ำมัน และทำงานในศิลปะในแขนงอื่นๆ ได้ ทำให้ภายในสตูดิโอต้องมีพื้นขนาดใหญ่เปิดที่โล่ง และต้องระบายอากาศได้ดี เพราะสีน้ำมันมีไอระเหยที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงต้องได้รับแสงธรรมชาติให้เหมาะสมกับการทำงาน นอกจากนี้ด้วยบริบทที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจึงมักมีแมลง และสัตว์เลื้อยคลาน ทำให้อาคารต้องถูกยกสูงจากระดับดิน และติดตั้งหลอดไฟเท่าที่จำเป็น

พัฒนามาจากผังจักรวาล

เนื่องจากอาคารหลังนี้ต้องพึ่งพา ลม และแสงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ สถาปนิกจึงหยิบผังจักรวาลแบบวัดไทย ที่มีทางเข้าเป็นแกน X และ Y (centralize) ทั้ง 4 ด้าน หันหน้าอาคารสู่ทิศตะวันออก-ตก แบบขวางลม แนวแกนมุ่งสู่จุดสำคัญของอาคาร เพียงแต่นำผังจักรวาลมาพัฒนาใหม่ด้วยวิธีการ decentralized หรือ การรื้อองค์ประกอบเดิม และจัดองค์ประกอบใหม่ อาคารหลังนี้จึงถูกออกแบบให้มีแกนทางเข้าเดียว และให้ทั้ง 4 ด้านของอาคารเป็นช่องเปิดทั้งหมด ทำให้ยังรับลมและแสงธรรมชาติได้เช่นเดิม

สิ่งสำคัญที่สุดในผังจักรวาลคือประตูโขง หรือ โถงทางเข้า โดยส่วนใหญ่จะมีระนาบอยู่เหนือศีรษะ แต่อาคารหลังนี้ต้องการรับลมมากที่สุด จึงเปลี่ยนโถงทางเข้าให้ขนาบข้างด้วยระนาบทางตั้งแทน ซึ่งทำให้ลมเปลี่ยนทิศ และไหลเข้าสู่ภายในอาคารมากขึ้น

“เนื่องจากบริบทของระยองมีทั้ง นิคมอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก เราจึงอยากให้ทฤษฎีในการออกแบบดูแตกต่างกันด้วย จึงจับทฤษฎีผังจักรลวาลแบบไทย นำมาพัฒนาใหม่ด้วยวิธีการ decentralized หรือ deconstruction ซึ่งเป็นทฤษฎีทางตะวันตกมาใช้ออกแบบ ทำให้แปลนสี่เหลี่ยมแบบผังจักรวาลถูกระนาบโถงทางเข้าเจาะเข้ามา ซึ่งเปลี่ยนความเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบวัดไทยออกไป หรือการเดินเข้ามาเจอกับ living room ที่เปลี่ยนจุดเด่นพื้นที่ทำงานศิลปะออกไป ซึ่งเรามองว่าจุดเด่นสามารถมีหลายจุดได้ หรือการหยิบสิ่งที่ต่างกันให้มาอยู่ด้วยกันก็เป็นการสร้างจุดเด่นในอีกรูปแบบหนึ่ง”

สถาปนิกออกแบบประตูทางเข้าให้มีขนาดไม่สมมาตรทั้ง 2 ฝั่ง  โดยให้ประตูด้านซ้ายมีขนาดเล็กสำหรับใช้เข้า-ออก ตามปกติ ส่วนประตูด้านขวามีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายผลงานศิลปะ บานประตูทั้งหมดถูกเจาะรูขนาดเล็กทั่วทั้งบานเพื่อให้ลมผ่านเข้ามาได้ทั้งวัน

แกนนำทางมาสู่พื้นที่ทำงานศิลปะที่จัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบ open plan และยกฝ้าเพดานให้สูงโปร่ง ให้สามารถวาดภาพศิลปะที่มีขนาดใหญ่ได้ เสริมด้วยห้อง living room พื้นที่เก็บหนังสือ และอาร์ตทอย เพื่อให้รู้สึกถึงความผ่อนคลายเสมือนกับการอยู่บ้าน

สิ่งที่ทำให้รู้สึกถึงผังจักรวาลชัดเจนคือเฉลียงโดยรอบอาคาร ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกั้นแสง และฝนไม่ให้เข้ามาปะทะกับฟังก์ชันภายในโดยตรง แถมยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่แกลเลอรี่ศิลปะที่สามารถเดินชมได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำที่เจาะช่องแสงสกายไลท์เพื่อให้ความสว่าง และจัดวางตำแหน่งสุขภัณฑ์ให้พอดีกับสัดส่วนของศิลปิน ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่าพื้นที่นี้เป็นของศิลปินเท่านั้น

บานเปิดไม้ไผ่ที่สะท้อนถึงการเติบโต

สถาปนิกเห็นว่าศิลปินเติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร จึงเลือกใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายในชุมชนเกษตรกรรมโดยรอบนำมาจัดเรียงให้เป็นแพทเทิร์นบนบานเปิดของอาคารทั้งหมด บานไม้ไผ่ทำหน้าที่ควบคุมสเปซภายในให้สามารถปิด เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว และเปิดเมื่อต้องการ ลม แสง เสียงธรรมชาติ และบริบทของเกษตรกรรมเข้ามาเป็นส่วนเดียวกับภายใน ทั้งนี้ยังสามารถหมุนบานไม้ไผ่ในองศาที่ต้องการเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้อย่างพอดีในตอนทำงานศิลปะ

“ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่น่าสนใจเพราะ มีน้ำหนักเบา สร้างความเป็นธรรมชาติให้กับตัวอาคาร แถมยังมีราคาถูก เมื่อใช้จนหมดอายุไข ทุกครั้งที่เปลี่ยนไม้ไผ่เท่ากับว่าเรามีส่วนในการจุนเจือเกษตรกรรายย่อยได้อีกทางหนึ่ง”

กำแพงลูกปูน ไทม์แคปซูลของเมืองระยอง

หนึ่งในภาพจำของเมืองระยองก็คือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มักจะทิ้งลูกปูนในการก่อสร้างอยู่บ่อยครั้ง สถาปนิกจึงหยิบลูกปูนทรงกระบอกมาใช้ออกแบบให้เป็นผนังปิดล้อมทางเข้า ที่จัดวางแพทเทิร์นแบบ stack จนเกิดเป็นจังหวะแต่ยังคงให้ความรู้สึกแน่นหนักแน่น และปลอดภัย ก่อนจะเข้ามาพบสเปซภายในที่เปลี่ยนความรู้สึกเป็นความโปร่งโล่ง และผ่อนคลาย

“ลูกปูนบางลูกมีเขียนบอกวันที่หรือที่มา ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าสตูดิโอได้เก็บไทม์แคปซูลในช่วงเวลานี้ของระยองไว้”

หลังคาอ้างอิงจากบริบท

เมื่อมองในระยะไกลจะเห็นว่าหลังคาสองฝั่งของอาคารไม่เท่ากันเนื่องจากสถาปนิกต้องการให้อาคารล้อไปบริบทของพื้นที่ โดยให้หลังคาทางด้านซ้ายยกสูงขึ้นให้ล้อไปกับหลังคาเพื่อนบ้านที่มีองศาลาดชันสูง พร้อมเปิดช่องแสงให้ลงไปยังห้องน้ำภายใน ส่วนหลังคาด้านขวาสร้างให้ระนาบหลังคาดูยืดยาวเนื่องจากเพื่อนบ้านฝังนี้ค่อนข้างไกล และเจาะช่องแสงให้ห้องเก็บของมีความสว่างมากขึ้น  

เล่าเรื่องผ่านสตูดิโอศิลปะ

สถาปนิกพยายามพาทุกคนไปสำรวจรากเหง้าของความเป็นไทยผ่านการวางผังจักรวาล แล้วยังพาเราเข้าไปสำรวจถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง และสุดท้ายพาไปทำความรู้จักพื้นเพของเจ้าของที่มีความเกษตรกร ซึ่งเป็นการนำเรื่องราวมาผสมผสานให้เกิดสเปซได้อย่างน่าสนใจ และยังมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ต่อศิลปินได้ทุกๆ ส่วน

“การเล่าเรื่องราวแต่ละส่วนลงไปในสถาปัตยกรรมค่อนข้างมีความท้าทายสูง เนื่องจากแต่ละเรื่องมีความซับซ้อน ทำให้การออกแบบและการก่อสร้างมีความยากตามไปด้วย แต่โชคดีที่ศิลปินเปิดโอกาสให้เราทำงานได้อย่างเต็มที่ งานชิ้นนี้จึงออกมาสมบูรณ์ตามที่คิดไว้”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn