หนึ่งสิ่งที่ช่วยส่งเสริมรสชาติกาแฟและอาหารให้ดียิ่งขึ้น คือบรรยากาศดี ๆ ของร้าน ที่ไม่ว่าคาเฟ่จะอยู่ไกลแค่ไหน คอกาแฟก็พยายามเดินทางไปที่ร้านอยู่เสมอ เหมือนกับ Horizon Cafe & Restaurant ที่สถาปนิกจาก ALSO design studio ได้ปรับเปลี่ยนบ้านร้างให้กลายเป็นคาเฟ่กลิ่นอายฟาร์มเฮ้าส์สไตล์โมเดิร์น ในเขตชานเมืองเชียงราย ที่ออกแบบให้มีน้ำตกสกายไลท์สร้างประสบการณ์ใหม่ แถมภายในยังดึงแสงธรรมชาติ และต้นไม้เข้ามาใช้ในการออกแบบ ช่วยมอบความอบอุ่น และผ่อนคลาย จนกลายเป็นจุดมุ่งหมายแห่งใหม่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองก็ตาม
บ้านที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี
เดิมตัวบ้านถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี ด้วยสภาพทรุดโทรมและไม่ได้ใช้งาน เจ้าของจึงตั้งใจเปลี่ยนอาคารให้เป็นคาเฟ่ และร้านอาหารแห่งใหม่ เมื่อสถาปนิกเข้าไปสำรวจอาคารเดิมก็พบว่าสเปซ และโครงสร้างให้ความรู้สึกเหมือนบ้านในฟาร์ม จึงหยิบไอเดีย ฟาร์มเฮ้าส์ หรือ บาร์นเฮ้าส์ ในชนทบทยุโรปมาผสมผสานกับสไตล์โมเดิร์นเพื่อให้คาเฟ่ดูร่วมสมัยมากขึ้น
ได้ยินเสียงน้ำตกในคาเฟ่
“โรงจอดรถด้านหน้า เราเลือกเก็บโครงสร้างไว้ทั้งหมด ส่วนตัวบ้านเรารื้อถอนหลังคาออกเพราะค่อนข้างผุพัง และทุบกำแพงบางส่วนออกเพื่อเปิดสเปซให้ให้โปร่งโล่งมากขึ้น”
อาคารจอดรถเดิมถูกออกแบบให้เป็นแมสฟอร์มทึบตันครึ่งวงกลม โดยใช้โทนสีน้ำตาลอ่อนแบบเดียวกับอิฐเดิมของอาคาร ให้ดูแตกต่างจากสวนสีเขียวภายนอกเพื่อนำสายตาเข้าสู่ภายในอาคาร และเมื่อเข้ามาภายในจะพบกับไฮไลท์น้ำตกสกายไลท์วงกลม จัดวางที่นั่งล้อไปกับวงกลม ทำให้ในขณะนั่งดื่มกาแฟก็สามารถชมแสงธรรมชาติที่กระทบลงสู่น้ำตกไปพร้อมกับเสียงน้ำ สร้างประสบการณ์ดื่มกาแฟแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ถัดมา คือพื้นที่เสิร์ฟกาแฟสโลว์บาร์พร้อมที่นั่งพูดคุยกับบาริสต้าได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมชายคาคอนกรีตให้ยืดออกไปจากตัวอาคารเดิม เพื่อสร้างสเปซสโลว์บาร์ให้มีความกว้างมากขึ้น รวมไปถึงบริเวณผนังยังเปิดช่องบานกระจกขนาดใหญ่เพื่อดึงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาเป็นส่วนเดียวกับภายในสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี
เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นที่สำหรับคอกาแฟ
ตัวบ้านยกฝ้าเพดานให้สูงขึ้นเพื่อเปิดสเปซให้โล่งกว้าง พร้อมกรุด้วยไม้อัดเพิ่มเติมความอบอุ่น ฐานผนังโดยรอบโชว์อิฐดั้งเดิมไว้ทั้งหมดเพื่อบ่งบอกถึงความเก่าของอาคาร ซึ่งอิฐยังช่วยสร้างมิติที่น่าสนใจให้กับผนังสีขาวที่ออกแบบใหม่ได้อีกด้วย
ผนังด้านซ้ายร่นระยะเข้ามาภายในอาคาร เพื่อเปิดคอร์ทต้นไม้ให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในอาคารมากขึ้น นอกจากนี้สถาปนิกยังจัดวางเฟอร์นิเจอร์สไตล์นอร์ดิก และมิดเซนจูรี่ ดีไซน์โค้งมนสร้างบรรยากาศผ่อนคลายสำหรับนั่งดื่ม และรับประทานอาหาร บนพื้นที่ยกระดับให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว และสร้างมุมมองใหม่ในการถ่ายรูป ส่วนระดับพื้นปกติจัดวางโซฟา และโต๊ะเก้าอี้แบบกลุ่มเพื่อรองรับผู้คนที่มาเป็นกลุ่มครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ซึ่งการแบ่งพื้นที่ด้วยการยกระดับนี้ทำให้สเปซภายในดูมีมิติมากขึ้น
ในเรื่องของ Lighting ที่เข้ามาส่งเสริมสเปซ สถาปนิกจัดวางแสงไฟเน้นเฉพาะจุดเฟอร์นิเจอร์และพื้นที่ยกระดับ เสริมด้วยสปอตไลท์ส่องขึ้นหลังคาเพื่อให้แสงกระทบกับฝ้าไม้ และสะท้อนลงมายังที่นั่งจนสร้างความนุ่มนวลให้กับพื้นที่
อาคารส่วนนี้ยังเชื่อมต่อเข้ากับสวนด้านหลังของคาเฟ่ซึ่งเลือกปูพื้นด้วยวัสดุหินขัดสีน้ำตาลล้อไปกับผนังของพื้นที่สโลว์บาร์ บริเวณพื้นยังออกแบบให้มีช่องสี่เหลี่ยม และวงกลมสำหรับโรยกรวดพร้อมวางไฟทรงกลมให้รู้สึกถึงความอบอุ่นมากยิ่งขึ้น สถาปนิกจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบหลวม ๆ ทั้งแบบกลุ่ม แบบคู่ และแบบเดี่ยว เพื่อให้บรรยากาศภายนอกรู้สึกถึงความโปร่งโล่งผ่อนคลายในขณะนั่งชมวิวสวน
ทางลาดเพิ่มมิติให้กับรูปด้าน
สถาปนิกดีไซน์ทางลาดให้เป็นส่วนหนึ่งกับรูปด้านอาคารเพื่อรองรับการใช้รถเข็นของผู้ทุพพลภาพและผู้สูงอายุ นำทางไปสู่พื้นที่สวน และภายในคาเฟ่ ด้วยการออกแบบราวกันตกให้ทึบเป็นสีสนิมสไตล์ฟาร์มเฮ้าส์ตัดกับผนังสีขาวเรียบ ทำให้เกิดเงาสะท้อนทอดลงไปบนผนังของอาคาร ช่วยเพิ่มมิติความลึกให้กับรูปด้านอาคาร และเป็นสถานที่ถ่ายรูปได้อีกด้วย
“เราใช้สีน้ำตาลเข้มตั้งแต่ทางลาด และค่อยๆ ไล่โทนสีน้ำตาลอ่อนลงในพื้นที่สวน เมื่อเข้ามายังภายในอาคารก็จะกลายเป็นสีขาว ซึ่งมูดแอนด์โทนของสีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกำหนดสเปซ”
ออกแบบให้สอดคล้องกับอาคารเดิม
สถาปนิกพยายามเก็บโครงสร้างอาคารเดิมไว้ทั้งหมด และออกแบบผังคาเฟ่ให้สอดคล้องไปกับตัวอาคาร ไล่ลำดับตั้งแต่อาคารจอดรถเดิมที่เปลี่ยนเป็นพื้นที่ของสโลว์บาร์ และน้ำตกสกายไลท์ ตัวบ้านถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่นั่งดื่มและรับประทานอาหาร ก่อนจะออกสู่พื้นที่ชมวิวสวนภายนอก เสริมด้วยทางลาดสำหรับรับรถเข็นผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ภาพรวมของคาเฟ่แห่งนี้จึงให้บรรยากาศที่ดูอบอุ่น ผ่อนคลาย รองรับผู้คนทุกกลุ่ม แถมยังสร้างประสบการณ์ดื่มกาแฟแบบใหม่อีกด้วย
“สำหรับการออกแบบอาคารหลังนี้ สิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดคือการเก็บโครงสร้างเดิมไว้ทั้งหมด เพราะการเพิ่มเติมงานออกแบบใหม่เข้าไปจะต้องระวังเรื่องการแตกร้าว การผุพังให้มากที่สุด ทำให้งานนี้มีความยากตรงที่ต้องปรับเปลี่ยนหน้างานอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ตามการพยายามสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ช่วยให้สเปซของสถาปัตยกรรมมีเรื่องราว และดูกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น ”
Credit :
Area : 540 sq.m.
Location : Chiang Rai , Thailand
Architect & Interior : ALSO design studio
Structure Engineer : Thunyawat Chaichompoo
Contractor : รับออกแบบและสร้างบ้าน by Studio Const.
Photographer : Patiweth Yuentham
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!