YN House
ยกเครื่องเปลือกอาคารใหม่ เปลี่ยนทั้งรูปลักษณ์-ปรับทั้งฟังชันก์

จากบ้านหลังเก่าในหมู่บ้านจัดสรรที่รูปลักษณ์ธรรมดาแบบสมัยนิยมเมื่อหลายสิบปีก่อนมาพร้อมกับโจทย์ของการรีโนเวทให้เป็นYN House บ้านยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ครอบครัว 4 สมาชิกพร้อมรองรับสภาพแวดล้อมและอากาศร้อนชื้นแบบไทย ๆ สู่การออกแบบยกเครื่องเปลือกอาคารใหม่ทั้งหลังที่ปรับทั้งรูปลักษณ์เปลี่ยนทั้งฟังก์ชัน ด้วยฝีมือการออกแบบจากทีมสถาปนิก Research Studio Panin

ใช้ประโยชน์จากข้อดี – แก้ปัญหาข้อจำกัด

ถึงแม้ที่ตั้งโครงการจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ท่ามกลางหมู่บ้านอีกมากมายที่อยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ความโชคดีคือแปลงที่ดินของบ้านหลังนี้กลับตั้งอยู่ในโลเคชั่นที่ดีของหมู่บ้าน เนื่องจากอยู่ติดสวนส่วนกลางฝั่งทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันตกที่ค่อนข้างร้อนก็มีบ้านของเพื่อนบ้านคอยบังแดดให้

ทีมสถาปนิกจึงเริ่มออกแบบโดยเริ่มจากเรื่องทิศ ตามมาติด ๆ ด้วยเรื่องความต้องการของเจ้าของซึ่งมาพร้อมฟังก์ชันมากมาย เช่น ต้องการห้องฟิตเนสและพื้นที่ทำครัวขนาดใหญ่ และด้วยความที่มีลูกเล็ก ทางเจ้าของจึงต้องการพื้นที่ Living room ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน และยังต้องมองเห็นซึ่งกันและกันได้ในขณะที่ยังมีมุมส่วนตัวให้ได้ทำงานหรือทำกิจกรรมของตัวเอง

ความต้องการเหล่านั้นมาพร้อมข้อจำกัดของพื้นที่เดิมซึ่งทางเจ้าของเคยรีโนเวทบ้านไว้ ทำให้ยังคงเหลือร่องรอยของงาน Built-in ภายในที่ยังต้องเก็บรักษาแต่ซ่อมแซม รวมถึงงานต่อเติมต่าง ๆ ของบ้านอย่างเช่น เทอเรซฝั่งสวนที่ถูกต่อเติมไว้จนชิดขอบที่ดินแต่ไม่มีชายคาและปะทะฟังก์ชันภายในบ้าน ทำให้เมื่อฝนตก แดดออกก็ไม่สามารถออกไปใช้งานได้

ภาพอาคารก่อนการรีโนเวท
แปลนชั้น 1 และ 2 (Before & After)

ทำลายกรอบของบ้านหลังเดิม

“บ้านจัดสรรส่วนมากจะถูกซอยออกเป็นหน่วยย่อยหรือห้องเล็ก ๆ ไอเดียเราคือทลายทั้งหมดเลย เพื่อให้สเปซมันโล่ง ตอบโจทย์เจ้าของบ้านที่ต้องการความยืดหยุ่นโดยปรับไปตามพื้นที่เดิม เพียงแต่ขยายให้มีพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น” สถาปนิกเล่า

เพื่อให้พื้นที่ชั้น 1 ต่อเนื่องและยืดหยุ่นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สถาปนิกจึงออกแบบผังให้อยู่ในลักษณะ Open Plan ทั้งหมดเท่าที่ทำได้ เริ่มตั้งแต่พื้นที่ Living ต่อเนื่องไปยังพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถเป็นทั้งพื้นที่เล่นให้เด็ก ๆ หรืออนาคตสามารถปรับเปลี่ยนเป็นฟังก์ชันอื่น ๆ ก่อนจะเชื่อมต่อสู่โซนห้องน้ำ พื้นที่รับประทานอาหาร และห้องครัว ส่วนพื้นที่เซอร์วิสอย่างมุมซักล้าง แทงค์น้ำ ถูกย้ายไปไว้ด้านหลังของบ้านเพื่อแบ่งฟังก์ชันการใช้งานให้เป็นสัดส่วนอย่างลงตัว

ส่วนหนึ่งของระเบียงเดิมถูกต่อเติมออกมาเป็นห้องฟิตเนสขนาดใหญ่ตามที่เจ้าของต้องการ ต่อเนื่องจากโซน Living ซึ่งทำหน้าที่เป็น Buffer เพื่อป้องกันความร้อนให้กับห้องนั่งเล่นไปในตัว พร้อมต่อเติมส่วนระเบียงและเปลี่ยนภาพลักษณ์ของฟาซาดอาคารชั้น 2 รอบด้านทั้งฝั่งหน้าบ้านและฝั่งที่ติดกับสวนส่วนกลางเพื่อให้กลายเป็นฟังก์ชันที่ทางเจ้าของสามารถออกมานั่งเล่น หรือสามารถปรับเป็นสวนกระถางเล็ก ๆ ได้ โดยระเบียงนี้ยังทำหน้าที่เป็นชายคาให้กับพื้นที่เทอเรซชั้น 1 ไปพร้อมกัน

“เราพยายามออกแบบพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดให้ต่อเนื่องกัน ในขณะที่เข้ามาภายในแล้วรู้สึกเป็นสเปซใหญ่ที่สามารถมองทะลุไปเห็นทั้งระเบียงด้านข้าง เห็นห้องฟิตเนสกระจกใสที่มองทะลุออกไปสู่สวนส่วนกลางภายนอกได้”

ปรับเปลือกอาคาร เปลี่ยนโฉมบ้านหลังใหม่

ด้วยความที่งานออกแบบของ Research Studio Panin มักจะให้ความสำคัญในเรื่องการออกแบบอาคารที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ บริเวณชั้น 2 ที่หันหน้าเข้าสู่ทิศร้อนๆ อย่างทิศใต้จึงถูกดีไซน์เปลือกอาคารให้เป็นแผงกันแดดที่สามารถเปิดเห็นวิวได้ในเวลาที่แดดไม่จัด และปิดได้เช่นกันในยามที่ต้องป้องกันความร้อน โดยเปลือกอาคารที่ดีไซน์ยกเครื่องใหม่เหล่านี้จะทำหน้าที่ห่อหุ้มโครงสร้างเหล็กเพื่อป้องกันแดดและฝน เพื่อไม่ให้ฟังก์ชันภายในปะทะกับสภาวะอากาศโดยตรง

“บ้านเดิม หน้าต่างจะปะทะข้างนอกเลย ทำให้แดดเข้าหน้าบ้านมันก็ร้อน เราเลยดีไซน์เพิ่มพื้นที่โรงจอดรถเข้ามาเพื่อเป็น Transition space ที่ช่วยบังแดดจากทิศใต้ก่อนจะเข้ามาสู่พื้นที่ห้องนั่งเล่นภายใน”

ที่เลือกใช้โครงสร้างเหล็กทั้งหมด เป็นที่มาจากความต้องการรูปลักษณ์ของวัสดุที่ร่วมสมัย สวยได้นาน และดูแลง่าย และยังมีข้อดีหลัก ๆ ตรงที่สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว อีกทั้งจังหวะของงานเหล็กในแง่ของรูปลักษณ์อาคารยังออกแบบให้ลงตัวกับสัดส่วนของพื้นที่ได้ง่าย ทำให้จังหวะ สัดส่วนของช่วงเสาอาคารดูคลีนและเท่ากันทั้งหมด นำเสนอรูปลักษณ์อาคารเรียบง่ายที่เรามักจะเห็นในงานของ Research Studio Panin

ในขณะที่พื้นที่ภายในแตกต่างด้วยโจทย์จากทางเจ้าของที่ต้องการให้อินทีเรียดูไม่เรียบนิ่งจนเกินไป แต่มีความซอฟท์ อบอุ่นและมีกลิ่นอายของสไตล์คอนเทมโพลารีโมเดิร์นซ่อนอยู่ เห็นได้จากการเลือกใช้วัสดุครัวที่มีการแซมด้วยไม้ กระเบื้องชิ้นเล็กที่ทำให้พื้นที่ดูใหญ่ขึ้น หรือการเลือกใช้โทนสีเขียวผสมดีเทลบัว ขอบคิ้วบางส่วนที่ทำให้การแบ่งพื้นที่แต่ละส่วนชัดเจน

จุดเด่นของอาคารหลังนี้ อยู่ที่การรีดีไซน์เปลือกอาคารใหม่ทั้งหมด โดยที่สถาปนิกไม่เปลี่ยนแค่หน้าตาของบ้าน แต่ยังมีการดีไซน์เพิ่มพื้นที่เปลือกอาคารออกมาให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยที่มีฟังก์ชัน และในขณะเดียวกันยังป้องกันแดดและฝนที่สอดคล้องกับสภาพอากาศเมืองร้อนได้อย่างลงตัวโดยที่ไม่ต้องพยายามไปปรับเปลี่ยนอาคารทั้งหลังอย่างเกินความจำเป็น “โปรเจกต์นี้ ความน่าสนใจมันคือการต่อรองกัน อะไรควรเก็บ อะไรไม่ควรเก็บ เราพยายามบาลานซ์สิ่งเหล่านี้โดยที่ไม่ไปฝืนอาคารเดิม เพื่อทำให้ภาพรวมการออกแบบขั้นสุดท้ายมันลงตัวไปด้วยกัน” สถาปนิกเล่า

Architect & Interior : Research Studio Panin
Design Team : ต้นข้าว ปาณินท์, ธนาคาร โมกขะสมิต และพิธิวัฒน์ ปะมาคะเต
Engineer : ยงยศ โรจชะยะ
Location : งามวงค์วาน-ประชาชื่น ท่าทราย นนทบุรี
Area : 50 ตารางวา
Gross Built Area : 270 ตร.ม. (บ้านเดิม 200 ตร.ม., ส่วนต่อเติม 70 ตร.ม.)

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้