7 โซนนิทรรศการห้ามพลาดในงานสถาปนิก’66

อย่างที่รู้กันว่างานสถาปนิก’66 ปีนี้เล่นใหญ่จัดเต็มของจริง เพราะเป็นการรวมตัวครั้งแรกของ 5 องค์กรวิชาชีพ ซึ่งทางผู้จัดงานได้ขนผลงานจากสถาปนิก นักออกแบบ และน้อง ๆ นักศึกษามาจัดแสดงกันอย่างคับคั่ง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานให้เหล่าบรรดาคนรักดีไซน์มาร่วมสนุก และวันนี้เราได้รวบรวมไฮไลต์ 7 นิทรรศการที่น่าสนใจมาฝากกัน

ตำถาด : Time of Togetherness

หากกล่าวถึง ‘ตำถาด’ หลายคนคงนึกถึงอาหารถาดใหญ่ที่แค่มองแวบแรก ก็สัมผัสได้ถึงความหลากหลายของวัตถุดิบในนั้น ทั้งรสชาติเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ที่คลุกเคล้าเข้ากันอย่างลงตัว แถมยังได้สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ จึงไม่แปลกใจที่จะเป็นหนึ่งในเมนูสุดฮิตของไทย แต่ตำถาดที่เรากล่าวถึงนั้น ไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่เทศกาลชวนชิม แต่เป็นคอนเซ็ปต์ของงานสถาปนิก’ 66

การพบปะเจอกันของทั้ง 4 สมาคมวิชาชีพและสภาสถาปนิกในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็น ‘ตำถาด’ ที่รวบรวมเหล่าสถาปนิกหลากรุ่นหลายวัยในทุกสาขา รวมถึงเพื่อน ๆ ในสายอาชีพใกล้เคียงให้มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งศาสตร์และศิลป์จากหลาย ๆ มุมมอง เพื่อหาคำตอบให้กับสถาปัตยกรรมและโลกที่ยั่งยืนขึ้น

01 นิทรรศการปล่อยของจากเหล่าสมาชิก

ALL MEMBER : Design Showcase เป็นพื้นที่รวมผลงานจากสมาชิกทั้ง 4 สาขา ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาปล่อยของ รวมทั้งหมดกว่า 155 ชิ้น ! ใครที่อยากชมโปสเตอร์และโมเดลเจ๋ง ๆ ต้องห้ามพลาด และนี่เป็นตัวอย่างผลงานที่เอามาเรียกน้ำจิ้ม ก่อนจะไปดูของจริงกัน

ผลงานจาก IDIN ARCHITECTS

ผลงานจาก Stu/D/O Architects

ผลงานจาก HAS design and research

02 นิทรรศการหนังสือที่ไม่มีตัวอักษร

จะเป็นอย่างไร ? หากหนังสือไม่ได้มีแค่ตัวอักษร แต่มีเจ้าของเรื่องราวมาเล่าให้เราฟัง

พบกับเหล่า ‘HUMAN LIBRARY’ หรือ ‘หนังสือมนุษย์’ ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก, นักเขียน, อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีชื่อเสียงจากวงการดีไซน์ ที่จะมาแชร์เรื่องราวประสบการณ์และตอบคำถามตามหัวข้อของแต่ละคน โดยกิจกรรมนี้มีความแตกต่างจากงานสัมมนาทั่วไปตรงที่ ผู้ที่เป็นหนังสือมนุษย์จะมานั่ง และให้เราสามารถมาเดินเลือกว่าจะอยากฟังเรื่องราวของใคร หรืออยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องใด ซึ่งอาจจะเป็นการพูดคุยในกลุ่มใหญ่หรือย่อยก็ได้ คล้ายกับนิทรรศการหนังสือที่เราสามารถเดินเลือกเล่มที่อยากอ่านได้เอง แต่ว่าเราไม่อาจตัดสิน ‘หนังสือมนุษย์’ จากเพียงแค่ปกภายนอกของพวกเขาเท่านั้น หากใครที่สนใจอยากมาร่วมพูดคุยกับ ‘หนังสือมนุษย์’ สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่เว็บไซต์ของ ASA EXPO

03 นิทรรศการรวมมิตรจากนักออกแบบภายใน

งานสถาปนิก’ 66 ปีนี้ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) ได้รวบรวมผลงานจากนักออกแบบและนิสิต นักศึกษามาให้เราได้เยี่ยมชมกัน โดยภายในนิทรรศการประกอบด้วย

TIDA LOUNGE พื้นที่ต้อนรับและแนะนำสมาคมให้ได้รู้จักกันมากขึ้น
TIDA SOCIETY พื้นที่จัด TIDA Talk, งานประกาศผล TIDA Thesis Awards 2022 และงานดนตรีสด Live Band
TIDA SALONE พื้นที่จัดแสดง 8 ผลงานสุดพิเศษ ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างนักออกแบบ, นักออกแบบผลิตภัณฑ์, ซัพพลายเออร์ และผู้รับเหมา
TIDA EXHIBITION พื้นที่จัดแสดงผลงานการประกวด TIDA Awards 2019 และ TIDA Thesis Awards 2022

04 นิทรรศการห้องเรียนใต้ต้นไม้จากภูมิสถาปนิก

มานั่งเรียนใต้ต้นไม้ไปด้วยกันไหม ? สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) ชวนทุกคนมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าภูมิสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญจากวิชาชีพอื่น ๆ เเบบสบาย ๆ กับกิจกรรม TALA Classroom’ โดยวิชาที่เราจะได้เรียนกันนั้น มีองค์ความรู้ตั้งแต่งานสเกลใหญ่ระดับเมืองไปจนถึงงานสเกลเล็กระดับดีเทล เช่น โครงการลานกีฬากรุงเทพมหานคร, โครงการเกษตรยั่งยืน, การเก็บรักษาและดูแลต้นไม้ใหญ่, โภชนาที่ดีกับการจัดสวน เป็นต้น รวมถึงกิจกรรม Workshop ต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นภายในนิทรรศการ หากใครสนใจสามารถมาเจอกันได้ที่ซุ้ม TALA Salad ระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2566 นี้

นอกจากกิจกรรมห้องเรียนแล้ว ยังมี ‘TALA Green System Exhibition’ นิทรรศการจัดแสดงแผนที่ความสัมพันธ์ของโครงสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงเทพมหานครในปัจจุบันและอนาคต รวมถึง ‘TALA SHOP & SERVICES’ พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกจากทางสมาคมอีกด้วย

05 นิทรรศการเมืองม่วนจากหมู่นักผังเมือง

พบกับ 5 นิทรรศการจาก สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) ที่จะพาหมู่เฮาไปม่วนซื่นกับเมืองกันอย่างแซ่บคัก ๆ ซึ่งประกอบด้วย

TUDA ZEB (แซบ) พื้นที่จัดแสดงผลงานวิทยานิพนธ์ ผลงานออกแบบ และการศึกษาวิจัยจากเหล่าสถาบันการศึกษาอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
TUDA X Muang (เมือง) พื้นที่จัดแสดงผลงานการประกวดแบบเมืองพัทยา และเมืองอื่น ๆ ที่ TUDA ได้ร่วมจัดกิจกรรม
TUDA X Mhu (หมู่) หรือ TUDA and Friends พื้นที่จัดแสดงงานจากหน่วยงานหรือบริษัท ที่มีผลงานด้านการออกแบบและพัฒนาเมืองเจ๋ง ๆ
TUDA Khak (คัก) ผลงานการออกแบบเมืองจากเหล่าสมาชิกสมาคม TUDA ที่จะมาโชว์เคส โชว์คัก ให้เราได้ชมกัน
TUDA Muan (ม่วน) พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้มานั่งพูดคุยและรับฟังงานเสวนาร่วมกัน

06 นิทรรศการประกวดแบบสถาปัตยกรรมที่โอบรับทุกสรรพชีวิต

จากแหล่งพักพิงที่อยู่อาศัยของมนุษย์ สู่สถานที่จัดเก็บเครื่องมือในการดำรงชีวิต ไปจนถึงเป็นพื้นที่สำหรับความเชื่อ นี่คือการเดินทางของ ‘สถาปัตยกรรม’ เครื่องกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ที่มักวางความต้องการของมนุษย์ให้เป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด 

แต่ด้วยวิกฤตทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ทำให้ทางสมาคมได้หันมาพิจารณาถึงวิถีการเป็นอยู่อาศัยอีกครั้ง และนำมาสู่ที่มาของการประกวดแบบระดับนานาชาติ ASA Experimental Design Competition ภายใต้หัวข้อ Not Only Human ในปีนี้ 

ภายในนิทรรศการเราจะพบกับบรรดาผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ จากผู้เข้าร่วมประกวดที่มานำเสนอแนวคิดสถาปัตยกรรมเชิงทดลอง และการหาคำตอบที่แตกต่างกันออกไป ว่าสถาปัตยกรรมจะสามารถโอบรับความซับซ้อนของสภาวะแวดล้อม ที่รวมสรรพชีวิตที่ไม่ใช่แค่เพียงมนุษย์ไว้ได้อย่างไรบ้าง ? สำหรับใครที่ต้องการหาแรงบันดาลใจแปลกใหม่ต้องพลาดไม่ได้เลยกับนิทรรศการนี้ !

07 นานานิทรรศการสถาปัตยกรรมจากสมาคมวิชาชีพ

พบกับโซนสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เพราะทางสมาคมวิชาชีพจะพาเราไปรับชมบรรดาผลงานที่น่าสนใจมากถึง 8 นิทรรศการ ได้แก่

นิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 เป็นการจัดแสดงผลงานอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมที่ถูกคัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
นิทรรศการ ASA VERNADOC บ้านห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ผลงานการเก็บรักษาคุณค่าของอาคารผ่านลายเส้นภาพวาด ที่เหล่านักสำรวจได้ใช้เวลาศึกษาและเก็บข้อมูลในสถานที่จริงตั้งแต่เริ่มจนจบ
นิทรรศการผลงานนักศึกษา ชวนแวะชมผลงานวิทยานิพนธ์ของนิสิต นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
นิทรรศการงานประกวดแบบภาครัฐและองค์กรอื่นๆ การจัดแสดงผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมและเมือง อย่าง โครงการ Creative city ของตำบลนาเกลือ เขตเมืองพัทยา และโครงการออกแบบลาน
นิทรรศการรอยต่อไม้ในงานสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น By Unesco และไร่แม่ฟ้าหลวง ผลงานการศึกษา ค้นคว้าและรวบรวมรอยต่อไม้แบบจารีตนิยมของไทย ที่ถูกนำมาทำเป็นโมเดลในสเกลจริง เพื่อถอดรหัสภูมิปัญญาช่างไม้ในอดีตและส่งต่อคุณค่าสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไปสู่คนรุ่นหลัง
นิทรรศการย่านเก่าเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องราวของย่านชุมชนเก่า โรงงานมักกะสัน และรถไฟ ผ่านภาพวาดจากนักศึกษาภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นิทรรศการ ASA Platform Selected Materials 2023 เวทีจัดแสดงวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตามองในปีนี้ เพื่อแนะนำนวัตกรรมวัสดุสำหรับงานสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างใหม่ ๆ ให้เราได้รู้จักกัน
นิทรรศการ WOW : Wonder of Well Being อัศจรรย์เมืองน่าอยู่ ชวนทุกคนมาเรียนรู้ “Well-Being City” เมืองที่น่าอยู่ ต่างจากเมืองที่อยู่ได้ ผ่านการวางแผนระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมถึงการหาแนวทางพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์กับผู้อยู่อาศัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเมืองที่น่าอยู่เป็นอย่างไร และให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายและภาพเมืองที่ดีร่วมกัน

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ! นอกจาก 7 นิทรรศการที่เราได้รวบรวมมาแล้ว ยังมีความน่าสนใจอื่น ๆ ภายในงานสถาปนิก’ 66 ให้ทุกคนได้มาเดินเล่นและร่วมสนุกกันตลอดทั้งสัปดาห์ อย่าง ASA ACT FORUM’23 การประชุมสัมมนานานาชาติทางสถาปัตยกรรม, Thematic Pavilion และบูธสินค้าและนวัตกรรมที่น่าสนใจจากแบรนด์ต่าง ๆ 

อย่าลืมมาพบกันที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 25-30 เมษายน 2566 นี้
และสามารถติดตามข่าวสารและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ASAArchitectExposition หรือ www.ArchitectExpo.com

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์