รีโนเวทบ้านจัดสรรหลังเก่าเป็นบ้านทรอปิคอล
ที่ลงตัวกับ 2 เจ้าของ 1 หมาและ 5 แมว

เมื่อเราอยู่อาศัยเป็นระยะเวลานาน ก็เป็นธรรมดาที่บ้านจะไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เจ้าของบ้านจัดสรรหลังเดิมจึงเกิดความคิดที่อยากจะรีโนเวทให้บ้านตอบโจทย์ชีวิต ความรักในการอยู่ท่ามกลางลมธรรมชาติ และความชื่นชอบในวัสดุไม้ ก่อนจะส่งต่อให้กับทีมสถาปนิกที่ถนัดงานรีโนเวทเป็นทุนเดิมอย่าง Design In Motion มาปรับแต่ง จัดการพื้นที่ใช้สอยใหม่ให้ลงตัว พร้อมเปลี่ยนภาษาของสถาปัตยกรรมเดิมเมื่อ 20 ปีก่อนให้กลายเป็นบ้านทรอปิคอลที่อบอุ่นลงตัวกับชีวิต 2 เจ้าของ 1 หมาและ 5 แมว

สถาปนิก Design In Motion เข้ามารับหน้าที่ปรุงแต่งบ้านทั้งหมดรวมถึง ‘จัดการพื้นที่ใช้สอยใหม่’ ให้กลมกล่อมตามข้อจำกัดของแปลนนิ่งและตำแหน่งห้องที่เคยออกแบบไว้เดิม

ภาพบ้านก่อนการรีโนเวท
แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2

ปรับฟังก์ชันเท่าที่ได้ – ดีไซน์การสัญจรภายในบ้านใหม่
ใช้ประโยชน์จากคอร์ดกลางบ้าน

เริ่มต้นจากลานจอดรถ 3-4 คันที่จากเดิมเคยกินสัดส่วนพื้นที่ของบ้าน ทางเจ้าของต้องการปรับให้เป็นช่องจอดรถ 3 คันที่ซ้อนต่อกันในแนวลึก เพื่อปรับพื้นที่ที่เหลือมาเปิดให้เห็นทางเข้าบ้าน รวมถึงได้พื้นที่สวนเพิ่มมากขึ้นแทน ซึ่งที่จอดรถนี้จะเป็นตัวเชื่อมเข้าสู่ทางเข้าบ้านและฟังก์หลักต่าง ๆ ที่ล้อมคอร์ดกลางในลักษณะตัว O

ทางเข้าบ้านที่ว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วนแยกกันอย่างชัดเจน นั่นคือทางเข้าบริเวณ Foyer ด้านหน้าที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นระเบียงรับแขก ก่อนจะนำไปสู่ห้องทำงาน และห้องครัวที่อยู่ใจกลางของบ้าน มองเห็นคอร์ดกลางเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เจ้าของบ้านให้ความสำคัญและใช้เวลามากที่สุดตามไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบทำอาหารและดริฟกาแฟ สถาปนิกปรับย้ายส่วนเซอร์วิสไปไว้ด้านหลังของบ้านเพื่อการใช้งานที่เป็นสัดส่วน ถัดไปเป็นห้องนั่งเล่นที่เชื่อมสู่ทางเข้าอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นโถงบันไดไพรเวทที่ดีไซน์เพิ่มเข้าไปเพื่อให้เจ้าของใช้สัญจรเป็นทางหลัก ออกแบบเป็นโถงกระจกที่ปิดล้อมแต่สามารถมองเห็นกันได้เพื่อป้องกันแมวออกและยังสามารถปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้อีกด้วยนั่นเอง  

“เพราะทางเจ้าของต้องการให้บ้านหลังใหม่เน้นโฟลวในเรื่องการอยู่อาศัย ลมธรรมชาติ เราจึงต้องคิดว่าจากของเดิมจะเปิดตรงไหน ขยับอะไรเล็กน้อย แต่เปลี่ยนการใช้งานให้ตรงกับความต้องการของผู้อยู่ได้” หากดูจากแปลน ห้องทำงานจึงยอมปรับลดขนาดให้เล็กลง เพื่อให้ได้พื้นที่ระเบียงไม้ล้อมคอร์ดเป็นทางสัญจรกึ่งเอาท์ดอร์ที่ตอบโจทย์เจ้าของผู้ชื่นชอบใช้ชีวิตท่ามกลางลมธรรมชาติ และกลายเป็นชานไม้นั่งพักสำหรับเอกเขนก เปิดโล่งให้ลมโฟลวได้มากกว่าที่เคย

โถงบันไดด้านหน้าซึ่งเป็นบันไดเดิมของบ้าน สถาปนิกปรับดีไซน์ให้เป็นระแนงไม้ฟิกที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้แต่เปิดและซ้อนด้วยมุ้งกันยุงอีกหนึ่งชั้น เพื่อเปิดรับลมธรรมชาติให้โฟลวเข้าสู่ภายใน เมื่อขึ้นสู่ชั้น 2 จากโถงบันไดเดิมฝั่งหน้าบ้านจะเจอกับเทอเรซกึ่งเอาท์ดอร์ขนาดใหญ่ที่ปรับจากห้องนอนกลายเป็นพื้นที่นั่งเล่นของทางเจ้าของซึ่งสามารถมองเห็นสวนบริเวณหน้าบ้าน พร้อมมีทางเชื่อมเล็ก ๆ เข้าสู่ห้องนอนมาสเตอร์ที่หันออกสู่คอร์ดต้นไม้ใจกลางบ้าน ก่อนจะเดินไปบรรจบกับ Family room คอร์ริดอร์โถงบันไดอีกฝั่ง และห้องนอนแขกที่แยกปีกอาคารกันอย่างชัดเจนเพื่อความเป็นส่วนตัว ซึ่งในปัจจุบัน Users ที่ใช้งานไม่ใช่แขก แต่กลับเป็นน้องแมว 5 ตัวที่มายึดพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราว

โถงบันไดระแนงไม้ฟิกดีไซน์เปิดและซ้อนด้วยมุ้งกันยุ้งอีกหนึ่งชั้นเพื่อเปิดรับลมธรรมชาติให้โฟลวเข้าสู่ภายใน

เทอเรซกึ่งเอาท์ดอร์ขนาดใหญ่ที่กลายเป็นพื้นที่นั่งเล่น

มาสเตอร์เบดรูมที่หันออกสู่คอร์ดต้นไม้ใจกลางบ้าน

Family room

โถงบันไดตัว L ที่ดีไซน์เติมเข้ามาใหม่ทางด้านหลังยังลงตัวกับฟังก์ชันไพรเวทของเจ้าของ โดยสามารถเข้าถึงเป็น Shortcut เชื่อมตั้งแต่ลานจอดรถ – Living, Dining room และ Living Quarter ส่วนตัวที่ชั้นสองเข้าไว้ด้วยกัน

บ้านกึ่งปูนกึ่งไม้ทรอปิคอลที่เรียบง่ายแต่อบอุ่น

“ในเรื่องภาษาของงานออกแบบ เราปรับไปอย่างสิ้นเชิงเลย ด้วยโจทย์ที่ว่าเจ้าของชอบไม้จริง มีกลิ่นอายทรอปิคอลนิดหนึ่ง ซึ่งบ้านเดิมเป็นปูน หรือหน้าต่างอลูมิเนียมทั้งหมด เราเลยต้องมาคิดว่าจะจัดการกับภาษาที่เป็นไม้เพื่อผสมผสานกับภาพรวมอาคารที่เคยเป็นปูนยังไงได้บ้าง ?”

เจ้าของบ้านสั่งนำเข้าไม้สักจากพม่าเพื่อใช้เป็นวัสดุหลักในการรีโนเวทบ้านใหม่ครั้งนี้ โดยส่วนหลักๆ ที่สถาปนิกนำไปใช้คือ บริเวณฝ้าเพดาน พื้นไม้ และภาษาของกรอบบานช่องเปิดประตูหน้าต่างส่วนต่าง ๆ ในขณะที่คงผนังปูนเดิมไว้ ก่อใหม่บ้างตามแปลนนิ่งของฟังก์ชันที่เปลี่ยนไป แต่กิมมิคที่น่าสนใจ คือ สีของผนังก่ออิฐฉาบปูนที่สถาปนิกเลือกใช้สีพ่นเท็กเจอร์ในโทนน้ำตาลนุ่มนวลแบบเอิร์ธโทน เพื่อบาลานซ์ภาพรวมของบ้านให้วัสดุสองชนิดที่คอนทราสสิ้นเชิงอย่างงานปูนและไม้อยู่ด้วยกันได้ในกรอบสีสันที่ไปในโทนเดียวกัน และยังเติมองค์ประกอบหลังคาไม้ซีดาร์ที่ลงตัวเข้ากับไม้สักส่งกลิ่นอายทรอปิคอลให้กับบ้านตามแบบฉบับที่เจ้าของต้องการ  

“ช่องเปิดมีหลายรูปแบบ ต้องเปิดแบบไหนถึงจะรับลมพอดี?” จากคำถามสู่คำตอบที่สถาปนิกเลือกใช้ช่องเปิดบริเวณชั้น 1 เป็นบานประตูอลูมิเนียมที่สามารถเปิดได้กว้างทุกบานเพื่อรับลมธรรมชาติ ทำให้ทุกพื้นที่ในชั้น 1 แทบจะเปิดเชื่อมถึงกันได้ทั้งหมด ส่วนชั้น 2 ความเป็นทรอปิคอลจะถูกนำเสนอให้ชัดเจนขึ้นด้วยบานช่องเปิดที่มีสเกลเล็กลง และทำจากวัสดุไม้ซึ่งเปิดรับลมได้เช่นเดียวกัน แต่ให้บรรยากาศที่แตกต่างออกไปสำหรับบ้าน

อิฐบล็อกช่องลมเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่เราเห็นชัดในองค์ประกอบของบ้าน ซึ่งสถาปนิกเลือกใช้บริเวณโถงบันไดเดิม และบริเวณลานจอดรถ โดยบริเวณโถงบันไดจะออกแบบให้บล็อกช่องลมมีกระจกกั้นกลางทำให้ลมผ่านไม่ได้ จึงช่วยกันฝน กันลมได้ประมาณหนึ่ง ในขณะที่ยอมให้แสงธรรมชาติส่องเข้าถึง ส่วนบริเวณลานจอดรถจะต่างกันตรงที่อิฐบล็อกสามารถเปิดให้ลมผ่านและโฟลวเข้าสู่พื้นที่ส่วนอื่นของบ้านได้อย่างสะดวก

แม้เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนบนข้อจำกัดก็สามารถปรับคุณภาพชีวิตให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยไปอย่างสิ้นเชิง เป็นเหตุผลว่าทำไมในยุคหลังบ้านรีโนเวทจึงถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราหวังว่า บ้านไม้ล้อมเรือน คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับงานรีโนเวทบ้านจัดสรรที่ปรับไม่มาก ไม่น้อยก็สามารถปรุงแต่งบ้านหลังเดิมเมื่อ 20 ปีก่อนให้กลับมากลมกล่อมตอบรับชีวิตครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์

Location     : ประเวศ กรุงเทพฯ
Built Area    : 400 ตารางเมตร
Contractor : Bangkok Group Co.,Ltd.
Photo by   : Soopakorn Srisakul

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้