เป็นที่จดจำสำหรับบรรยากาศสนุก ๆ ในงานสถาปนิกปีก่อนที่พาเหล่านักออกแบบสาขาต่าง ๆ รวมถึงสถาปนิก และซัพพลายเออร์มาร่วมมือสร้างสรรค์พื้นที่จัดแสดงกันอย่างเต็มอิ่มภายใต้แนวคิด CO WITH CREATORS ซึ่งในปี 2023 นี้งานสถาปนิก’66 มาในชื่อแปลกกว่าที่เคยอย่าง “ตำถาด: Time of Togetherness” แต่ยังคงคอร์ไอเดียหลักที่ไปในทิศทางเดิม นั่นคือการคลุกเคล้ารสชาติที่แตกต่างของนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาให้ออกมาเป็นรสนัวสุดกลมกล่อม
Thematic Pavilion จึงกลายเป็นอีกหนึ่งไฮท์ไลท์หลักของงานที่หลายคนเฝ้ารอ สำหรับการร่วมมือออกแบบของเหล่าสถาปนิกและแบรนด์ซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้างที่เราจะได้เห็นไอเดียแปลกใหม่สุดล้ำบนพื้นที่จัดแสดง นำเสนอวัสดุที่แตกต่างในมุมมองที่ขยายขอบเขตศักยภาพของวัสดุนั้น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
ชวนมาติดตามอินโทรแนวคิดที่น่าสนใจของทั้ง 4 Thematic Pavilion นี้ไปพร้อมกัน หรือสามารถเข้าชมงานจริง ณ งานสถาปนิก’66 ได้แล้ววันนี้ – 30 เมษายนนี้ !
1 ACa Architects x Empower steel
ถอดรหัสวัสดุเหล็กกล้า โชว์มุมธรรมชาติที่พลิ้วไหวของเหล็ก
หลังจากคว้ารางวัลในการออกแบบ Thematic Pavilion เมื่อปีก่อน ปีนี้ ACa Architects ก็ยังคงมาในผลงานที่น่าสนใจโดยร่วมมือกับแบรนด์ Empower steel ที่หยิบวัสดุแข็งแกร่งอย่าง ‘เหล็ก’ มาตีความได้อย่างแปลกใหม่
จากแนวคิดเริ่มต้น สถาปนิกได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากการถอดรหัสวัสดุเหล็กกล้าที่แข็งแกร่ง โดยตั้งใจโชว์มุมมองที่ต่างไป เพื่อให้เราเห็นถึงความเป็นธรรมชาติของเหล็กซึ่งเป็นธาตุโลหะในธรรมชาติ ผ่านแนวคิด ‘การ Zoom in วัสดุ’ ที่เราจะได้เห็นภาพการเชื่อมต่อของโมเลกุลเล็ก ๆ ในรูปทรงเรขาคณิตที่เรียงต่อกันอย่างเป็นระบบ
สถาปนิกนำเหล็กแผ่นสกรีนลายไปตัดให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆ กัน บากร่องกว่า 20,000 ชิ้น โดยดีไซน์รูปแบบออกเป็น 2 ยูนิต ก่อนที่ขั้นตอนสุดท้ายทั้ง 2 ยูนิตนี้จะถูกนำมาเชื่อมต่อกันเป็นโครงสร้าง Modular structure ขององค์ประกอบต่าง ๆ ภายในสเปซของพื้นที่จัดแสดง ตั้งแต่พื้น ผนัง ฝ้า เฟอร์นิเจอร์ เคาน์เตอร์ งานประติมากรรม ชั้นวาง ทำให้ความน่าสนใจแรกของพาวิลเลียนแห่งนี้ คือมุมมองจากทุกมุมที่ปราศจากโครงสร้างเสา คาน แต่ใช้การต่อเหล็กเหล่านี้ขึ้นมาเป็นโครงสร้างแทน
นอกจากนั้นยังมีการสอดแทรกแนวคิดความยั่งยืน โดยดีไซน์ขนาดแผ่นเหล็กสี่เหลี่ยมนี้ให้มีขนาดเท่า ๆ กัน คำนวณเพื่อนำไปตัดให้เหลือเศษน้อยที่สุด สามารถขนส่งได้สะดวก และยังสามารถติดตั้งถอดประกอบได้ง่าย ทำให้สามารถนำไป reuse ใช้หลังจบงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ภายในบูธมีกิมมิคเล็ก ๆ ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เล่นสนุกคล้ายการต่อเลโก้ ด้วยการต่อโมดูลแผ่นสี่เหลี่ยมจำลองวัสดุงานจริงที่ใช้ประกอบพาวิลเลียน พร้อมมีคู่มือให้เราได้ลองเล่นและทำจริงด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าผู้เข้าร่วมจะมีความรู้ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมหรือไม่ก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจระบบของวัสดุและพาวิลเลียนนี้ได้ง่าย ๆ
2 Context studio x Thaikoon steel group & Thai premium pipe
ท่อเหล็กและเส้นโซ่ธรรมดา ก็สร้างสเปซให้สวยได้
สตูดิโอออกแบบภายในที่ใส่ใจบริบทอย่าง Context Studio ชวนเรามาฉีกกรอบการใช้งานในด้านฟังก์ชันของวัสดุงานระบบอย่างท่อเหล็กและเส้นโซ่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของแบรนด์ Thaikoon steel group และ Thai premium pipe มาโชว์ให้เห็นศักยภาพไปพร้อมกับการสร้างความสวยงามให้พื้นที่
พื้นที่จัดแสดงสร้างภาพจำด้วยสเปซสีฟ้าอมเขียวเมทัลลิก (สี CI จากทั้ง 2 แบรนด์) ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ ส่วนหลักอย่างประติมากรรมท่อเหล็กสูง 6 เมตร กว้าง 4 เมตร จำนวน 70 ท่อนที่นำมาเชื่อมเรียงต่อกันด้วย Joint คอหมุน ค่อย ๆ ปรับบิดท่อนเหล็กเส้นตรงทีละองศา เกิดเป็นฟอร์มทรงบิดเกลียวในลักษณะ Spiral Movement สร้างความรู้สึกพลิ้วไหวอ่อนโยนให้กับสเปซ โดยตัว Joint นี้ออกแบบเป็น 2 แกนเพื่อป้องกันชิ้นงานหมุนซ้ายขวา และตัวงานยังยึดกับโครงสร้างเหล็ก H Beam ที่แข็งแรง ทำให้ท่อเหล็กทุกเส้นถูกล็อกตำแหน่งไว้อย่างแน่นหนาเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าชม และเติมเต็มพื้นที่ให้สมบูรณ์ด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทั้งโต๊ะ เก้าอี้ที่ออกแบบเฉพาะตัวจากท่อเหล็กและเส้นโซ่
ดีไซน์เนอร์ตีโจทย์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทั้ง 2 แบรนด์ต่างให้ความสนใจผ่านการเลือกใช้วัสดุที่มีขนาดมาตรฐานเพื่อลดการผลิตใหม่ และเลือกเชื่อมผลงานในรูปแบบข้อต่อที่มีแหวน washer คั่นทุกจุดของการต่อเพื่อช่วยป้องกันวัสดุจากการเสียดสี เป็นการคงคุณภาพของวัสดุไว้ เพื่อให้สามารถถอดออกและนำไปใช้หลังงานจบได้อย่างสมบูรณ์
ยังมีดีเทลที่น่าสนใจ อย่างการเพิ่มฟังก์ชันเสริมให้ตัวงานด้วยการเก็บสายไฟภายในพาวิลเลียน โดยซ่อนไว้ในท่อ และติดตั้งระบบเสียงในท่อ เพื่อเป็นการดึงความพิเศษของวัสดุรูปทรงท่อที่มีโพรงช่องว่างมาใช้งานให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
3 Hypothesis x TOA & VG
มิกซ์หลากวัสดุจาก 2 แบรนด์ สู่สเปซสีขาวที่สมดุลและกลมกลืน
สำหรับพาวิลเลียนที่ 3 Hypothesis ยังคงฝากลายเซ็นต์ไว้ชัดเจนผ่านงานออกแบบที่ใช้สี ‘ขาวโพลน’ สร้างความโดดเด่นให้พาวิลเลียนแถมยังนำวัสดุหลากหลายจากทั้ง 2 แบรนด์อย่าง TOA และ VG มาเล่นกับเอฟเฟ็กต์แสง สี ควัน และน้ำ เพื่อทำให้งานสถาปัตยกรรมมีไดนามิกในรูปแบบเดียวกับงานศิลปะ
ด้วยความที่จุดร่วมของแบรนด์ TOA และ VG ต่างก็มีความเป็นต้นน้ำ (Pinnacle) เพราะเป็นที่รู้จักผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองและการเปิดรับ feedback จากลูกค้าพร้อมนำกลับมาพัฒนาโปรดักต์ใหม่ออกสู่ตลาดเรื่อยมา ประเด็นเหล่านี้จึงทำให้ Hypothesis เลือกนำมาสื่อสารผ่านสัญลักษณ์พีระมิดน้ำผุดกลางบูธที่สื่อถึงความเป็นต้นน้ำของทั้ง 2 แบรนด์
ถัดจากพีระมิดใจกลาง ดีไซน์เนอร์ออกแบบพื้นที่ 4 node เป็น 4 เสาที่ล้อมรอบติดตั้งด้วยวัสดุลักษณะเส้นสีขาวซึ่งเลือกมาจากทั้ง 2 แบรนด์เพื่อสร้างความสมดุลและกลมกลืนถึงแม้จะมาจากแหล่งและแบรนด์ที่ต่างกัน โดยวัสดุที่เลือกมานั้นยังมีฟังก์ชันการใช้งานที่ทนต่อเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ได้ดี และที่สำคัญยังใช้วิธีติดตั้งที่เน้นการปกป้องวัสดุ ทำให้เมื่อจบงาน สามารถถอดกลับไปใช้งานต่อได้ง่าย
เรายังได้เห็นการจัดวางตำแหน่งที่น่าสนใจที่คิดคำนวณมาเป็นอย่างดี เพราะถึงแม้โซนพาวิลเลียนจะถูกแบ่งแยกกับบูธแสดงสินค้า แต่การแบ่งพื้นที่ Thematic Pavilion ให้สมมาตรพร้อมติดตั้งวัสดุของแต่ละแบรนด์ และการวางเส้นทางเดินในบูธด้วยรูปแบบตัว X ยังช่วยต่อยอดด้านการขายได้ดี เพราะเมื่อเราเดินไปทางฝั่งของวัสดุชิ้นไหน ปลายทางของทางออกจะกลายเป็นช่องทางลัด (shortcut) ที่เชื่อมไปสู่โซนแสดงสินค้าของวัสดุในฝั่งนั้นได้ทันที
4 PAVA architects x WOODDEN
สำรวจความน่าสนใจของไม้สัก ผ่านแนวคิดสุดยั่งยืน
เพราะปัจจุบันวัสดุไม้มักถูกมองในเชิงลบว่าเป็นวัสดุที่ไม่ควรตัดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เพราะเท่ากับทำลายความเป็นธรรมชาติ Thematic Pavilion จาก PAVA architects ร่วมมือกับแบรนด์ไม้อย่าง WOODDEN จึงชวนทุกคนมาสำรวจไม้สักใหม่ในแง่มุมของความยั่งยืน เพราะไม่เพียงแต่ใช้งานได้นานและใช้ได้แทบทุกส่วนแล้ว ไม้สักยังนับเป็นวัสดุยอดนิยมในวงการสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืน เพราะหากเราเทียบปริมาณการผลิต Carbon footprint จะพบว่าการใช้งานวัสดุชนิดนี้มีการผลิต carbon footprint น้อยกว่าวัสดุก่อสร้างทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อไม้ทั้งหมดผ่านการวางแผนปลูกทดแทนที่เหมาะสมด้วยวิธี Sustainable Harvesting
การออกแบบพาวิลเลียน พาผู้ชมเดินเข้าสู่พื้นที่ปิดล้อม enclose space ขนาบด้วยไม้สักที่สูงตระหง่านให้ความรู้สึกคล้ายเราอยู่ในป่าสักที่สงบ ตัดขาดความวุ่นวายภายนอก โดยสถาปนิกออกแบบ Route ทางเดินพาเราไปรู้จักกับวัสดุไม้สักทีละชั้นตั้งแต่ไม้ที่ยังคงมีเปลือกไม้ จากนั้นจึงค่อย ๆ เผยส่วนของแก่น กระพี้ไม้ที่อยู่ลึกลงไป จนกระทั่งพาเราไปสู่ปลายทางฝั่ง Exhibitor ที่นำไม้สักมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจของแบรนด์
ซึ่งการหยิบวัสดุนี้มาออกแบบใช้งานทุกส่วนไม่เว้นเปลือกไม้ที่เป็นขยะในกระบวนการผลิต กลายเป็นไอเดียที่น่าสนใจสำหรับการนำไปต่อยอดและยังส่งเสริมแนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้เยี่ยมชม
ได้รู้แนวคิดคร่าว ๆ สำหรับการออกแบบ 4 Thematic Pavilion จาก 4 สถาปนิก กันไปแล้ว! อย่าลืมไปชมการออกแบบที่น่าสนใจเหล่านี้บนพื้นที่จริง ณ งานสถาปนิก’66 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!