บ้านเกษมสันต์
ใช้ชีวิตชิดธรรมชาติ ภายในบ้านกลางเมืองที่แคบแต่ลึก

อยากมีบ้านในโซนใจกลางเมืองใหญ่ แม้ที่ดินทรงแคบลึกแออัดจากรอบข้าง แต่ก็เดินทางง่ายสะดวกสบาย
อยากมีบ้านที่เราจะได้พักผ่อนได้อย่างสงบ อยู่สบายใกล้กับธรรมชาติ เป็นส่วนตัวจากความวุ่นวายภายนอก
ความต้องการทั้ง 2 ข้อนี้ ดูเป็นเส้นขนานที่คงจะมาบรรจบกันไม่ได้ง่ายๆ

นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกสนใจเป็นพิเศษ ที่เส้นขนานที่ว่านั้นจะมาบรรจบกันได้ที่ บ้านเกษมสันต์ บ้านใจกลางเมืองที่แคบ ลึก แต่ยังสามารถใกล้ชิดธรรมชาติได้ ออกแบบโดย Studio mahutsachan

สร้างหัวใจไว้กลางบ้าน

เจ้าของบ้านหลังนี้เป็นครอบครัวสมาชิก 3 คนพ่อแม่ลูก โดยที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นสถาปนิกทั้งคู่ ความน่าสนใจของบ้าน คือ ที่ตั้งโครงการซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความหนาแน่นสูงย่านใจกลางเมือง ล้อมรอบด้วยอาคารข้างเคียงเป็นโรงแรมและคอนโดมิเนียมสูง 5-7 ชั้น โดยแปลงที่ดินของบ้านเป็นมีหน้าแคบที่กว้างเพียง 7 เมตรแต่ลึกถึง 36 เมตร

ด้วยความแคบและลึกของที่ดิน ส่งผลให้พื้นที่บ้านถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนอาคารด้านหน้าประกอบด้วยที่จอดรถและสตูดิโอเบเกอรี่ชื่อ The Pantry ของเจ้าของ ส่วนอาคารด้านหลังเป็นพื้นที่บ้านที่เจ้าของบ้านอยู่เอง

การแบ่งพื้นที่บ้านออกเป็น 2 ส่วนจึงทำให้เกิดพื้นที่คอร์ทระหว่างกลาง ซึ่งคอร์ทนี้เป็นเสมือนหัวใจของบ้าน ที่เปลี่ยนผ่านและเชื่อมโยงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้านเข้าด้วยกัน พร้อมเป็นพื้นที่พักผ่อนส่วนกลางของทุกคนในบ้าน  และยังเป็นทั้งสวนที่ให้ความร่มรื่นจากต้นไม้ใบหญ้าหลากหลายชนิด  นำลมและแสงธรรมชาติให้เข้าถึงส่วนต่างๆ ของบ้านได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย

สร้างความสงบไว้กลางเมือง

เพราะโจทย์หลัก คือการสร้างที่อยู่อาศัยในบริบทเมืองที่มีความหนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ ให้มีความเป็นส่วนตัว อากาศถ่ายเท มีแสงธรรมชาติเข้าถึงทุกพื้นที่ คนในบ้านมีความใกล้ชิดกัน พร้อมกับการแก้ปัญหาเรื่องที่ตั้งที่มีความแคบและลึก การจัดการช่องเปิดกับกฎหมายระยะร่น

การจัดการพื้นที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความลึกของที่ดินและการใช้งาน โดยทางเข้าบ้านถูกจัดวางไว้ข้างที่จอดรถ เป็นทางเดินแคบๆ ที่มองไม่เห็นด้านใน ซึ่งทางเดินนี้จะเชื่อมต่อไปที่คอร์ทกลางบ้าน และมีทางเดินรวมถึงบันไดวางชิดกับสวนเล็กๆ ในคอร์ท

อาคารด้านหลังเป็นห้องนอนของผู้สูงอายุ 2 ห้องเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงที่ชั้น 2 ของบ้านเป็นพื้นที่ของสตูดิโอเบเกอรี่ พื้นที่นั่งเล่น ทำงานและกินข้าว ส่วนบริเวณคอร์ทกลางมีสะพานโครงสร้างเหล็กทำหน้าที่เชื่อมต่อทั้ง 2 อาคารเข้าด้วยกัน

สะพานที่ลอยอยู่ท่ามกลางพุ่มไม้สร้างประสบการณ์ใหม่ของการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในบ้าน ที่ราวกันตกด้านหนึ่งของสะพานถูกออกแบบเป็นม้านั่งยาวตลอดแนวสะพาน ม้านั่งเล็กๆ นี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เปลี่ยนแปลงหน้าที่และความหมายของสะพานไปจากเดิม จากสะพานที่เป็นทางเชื่อมระหว่างอาคารกลายเป็นพื้นที่กิจกรรมเล็กๆ ที่เจ้าของบ้านสามารถนั่งพักผ่อนหรือใช้เป็นพื้นที่ต้อนรับแขกได้ตลอดวัน

ต้นชงโคที่ปลูกไว้กลางบ้านช่วยสร้างร่มเงาให้ความร่มรื่นกับพื้นที่สะพานได้ตลอดทั้งวัน ขึ้นสู่ชั้น 3 ของบ้านเป็นส่วนของห้องนอน ด้วยความสูงที่อยู่ระดับเดียวกับพุ่มยอดไม้ทำให้ห้องนอนได้รับวิวสีเขียวที่ทั้งดูผ่อนคลายและช่วยพรางการมองเห็นจากอาคารสูงข้างๆ ส่วนชั้นดาดฟ้าเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ ที่เจ้าของบ้านสามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งปลูกพืชสวนครัว ออกกำลังกายหรือปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง

สร้างพื้นที่ไว้ให้หายใจ

นอกจากการวางผังอาคารตามทิศทางลมแล้ว ช่องเปิดรูปแบบต่างๆ ยังช่วยให้ทุกพื้นที่ในบ้านได้รับลมธรรมชาติตลอดวัน ช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้ หน้าต่างที่เป็นบานกระทุ้งสามารถเปิดทิ้งไว้ให้อากาศถ่ายเท และไม่ต้องกังวลว่าหากฝนตกแล้วจะสาดเข้าบ้านอีกด้วย

วัสดุหลักที่ถูกเลือกใช้ทั้งภายในและภายนอกบ้านอยู่ในกลุ่มสีขาว-เทา-ดำ เป็นผนังฉาบบางเปลือยผิว (Skim Coat) ผนังทาสีขาวตัดกับโลหะสีดำด้านที่เป็นทั้งแผงกันแดด ราวกันตก และวงกบประตูหน้าต่าง โดยวัสดุเหล่านี้เป็นวัสดุที่สะท้อนความเรียบง่าย เป็นกันเอง สามารถดูแลรักษาได้ง่าย

ปัญหาส่วนใหญ่ของบ้านในเมือง มีที่ดินแคบแลึกและมีข้อจำกัดในการเปิดช่องเปิดด้านข้าง ส่งผลให้เกิดคอร์ทตรงกลางเพื่อให้พื้นที่ที่อยู่กลางที่ดินสามารถหายใจได้ คอร์ทได้ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่ที่เป็นหัวใจของอาคาร โดยการเชื่อมต่อด้วยสะพานที่สัมพันธ์กับพันธุ์ไม้ พื้นที่นี้ทำหน้าที่ทั้งเชื่อมโยงกับผู้คนในบ้าน การระบายอากาศ แสงธรรมชาติ เป็นพื้นที่ใช้สอยใหม่ๆ ที่สร้างประสบการณ์แก่ผู้ใช้งาน

ความต้องการที่ดูเหมือนเป็นเส้นขนานกัน เพราะข้อจำกัดต่างๆ ที่ขวางเส้นทางทั้งคู่เอาไว้ นักออกแบบจึงต้องแสวงหาวิธีแก้ปัญหา ด้วยไอเดียสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่สำหรับการใช้ชีวิต เพื่อให้ทุกความต้องการของผู้คนได้มาบรรจบกัน บนพื้นที่ความสุขที่ผู้อยู่อาศัยสามารถสัมผัสได้จริงที่ บ้านเกษมสันต์  แห่งนี้

Location: ซอยเกษมสันต์ 2 เขตปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร
Architects Firm:  บริษัท สตูดิโอ มหัศจรรย์ จำกัด
Lead Architects: ศิริวัฒน์ ปัจฉิมะศิริ, เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล
Completion Year: 2022
Photo Credit:  จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

Writer
No.028

No.028

นักออกแบบจากรั้วศิลปากรที่ทดลองผันตัวเองมาเป็นนักเขียน หมั่นเสาะหาข่าวสารที่น่าสนใจจากทั้งไทยและต่างประเทศ มาขบคิด เรียบเรียง บอกเล่าผ่านตัวอักษรให้กับคนที่สนใจ เพราะเชื่อว่าแท้จริงแล้ว ดีไซน์ คือเรื่องรอบตัวระยะใกล้ที่กำลังรอใครซักคนมาเปิดอ่าน // Dsign is everything.