Ningarisa House
บ้านจัดสรรธรรมดาสู่บ้านของสองอินฟลูที่หน้าตาเรียบง่ายแต่ถ่ายรูปได้ทุกมุม

กล่าวได้ว่า อินทีเรียดีไซน์เป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาเติมเต็มงานออกแบบเพื่อตอบรับความต้องการทั้งในด้านความสวยงามและฟังก์ชันในสเกลหน่วยย่อยที่ละเอียดและใกล้ชิดคนลงไปกว่างานสถาปัตยกรรมและการออกแบบสเปซ สำหรับพื้นที่ที่มีการกำหนดฟังก์ชันและสเปซมาแล้ว ค่อนข้างแก้ไขได้ยากอย่างงานคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรร เราจึงเห็นอินทีเรียดีไซน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรุงแต่งสเปซให้ตรงความต้องการมากขึ้น

เช่นเดียวกับบ้านสุดป๊อปของสอง Influencer คุณนิ้ง-อริสา ลิขิตประเสริฐ และคุณเอิร์ธ-รัชชานนท์ ยามาโมโต ที่ได้อินทีเรียดีไซน์จาก MAKE It POP Co.,Ltd. มาปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์หน้าตาของบ้านจัดสรรธรรมดาๆ ให้มีกิมมิคบ่งบอกตัวตนเจ้าของ พร้อมแบ่งพื้นที่การใช้งานให้เป็นสัดส่วน และตอบโจทย์วิถีความเป็น Influencer ด้วยการดีไซน์สเปซภายในบ้านให้ถ่ายรูปรีวิวได้ทุกมุม

“งานนี้เป็นการออกแบบอินทิเรียให้กับบ้านจัดสรร ดังนั้นจะมีขอบเขตที่เราไม่สามารถทำได้ เช่น กำแพงของที่นี่จะเป็นระบบ Precast concrete การเจาะหรือเปลี่ยนประตูหน้าต่างเราจึงทำไม่ได้เลย โจทย์สำคัญ คือเราต้องดูก่อนว่าข้อจำกัดหน้างานมีอะไรบ้าง ต่อมาคือเรื่องของเจ้าของบ้าน เราจะเริ่มจากความชอบ บุคคลิก ลักษณะนิสัย เขาชอบอะไร แบบไหนที่จะสวยสำหรับเขา?” คุณแป้ง – ใยชมภู นาคประสิทธ์ ดีไซน์เนอร์จาก MAKE It POP เล่า

เรียบน้อยแบบมินิมอล แต่เติมกลิ่นอายสไตล์ Art Deco

ด้วยวิธีการทำงานแบบ MAKE It POP คุณแป้งเล่าเสริมว่า ตนเองให้ความสำคัญกับกระบวนการในช่วงเริ่มคุยความต้องการค่อนข้างมาก เพื่อให้ดีไซน์เนอร์และเจ้าของเห็นภาพสุดท้ายตรงกันมากที่สุด โดยสื่อสารกันผ่านรูป Reference ที่ทางเจ้าของรวบรวมมาให้ซึ่งมีคีย์เวิร์ดในตอนเริ่มต้นเป็น ‘บ้านแบบคาเฟ่เกาหลี’ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ถอดองค์ประกอบและสไตล์จากภาพที่เจ้าของต้องการ โดยสรุปว่าเป็นมินิมอลสไตล์ ผสมกับองค์ประกอบบางอย่างที่มีกลิ่นอายความเป็น Art Deco นิดๆ และใช้เส้นโค้งเป็นองค์ประกอบหลัก คุมโทนในมู้ดภายในบ้านอบอุ่นด้วยสีโทนขาว แซมด้วยวัสดุไม้

เพื่อให้บ้านมีมุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้น ดีไซน์เนอร์กำหนดสเปซด้วยการนำเส้นสายโค้งเหล่านี้มาใช้ออกแบบ เช่น ซุ้มโค้งบริเวณห้องครัวที่เติมความสนุกด้วยการบิดแกนแนวตั้งให้เยื้องกัน จากเส้นสายระนาบเดียวจึงช่วยสร้างมิติให้สเปซนั้น ๆ น่าสนใจ หรือทางเข้าห้องครัวที่มีการไล่สีจากโทนเข้มมาสู่โทนอ่อนทำให้ซุ้มทางเข้ามีมิติที่ลึกมากขึ้น

นอกจากนั้นเรายังเห็นเส้นสายโค้งมน ถูกนำไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่ภายใน ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าที่เป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นและ Foyer ของบ้าน ซุ้มโค้งหน้าทีวีที่มีการใช้เส้นสายโค้งเพื่อเป็นแบคกราวด์ให้กับโซน และยังมีเส้นสายของงานออกแบบตู้ หรือฝ้าเพดานที่ยังโค้งล้อกันไปทั้งบ้าน

“ด้วยความที่บ้านไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก เราพยายามใช้เส้นโค้งเข้ามาสร้างมิติในสเปซแต่ละรูปแบบเพื่อให้มันเกิดมุมหลาย ๆ มุม และยังทำให้บ้านมันไม่ได้มีแค่ฟอร์มเหลี่ยม ดูนุ่มนวลและอบอุ่นขึ้น”

Instagrammable บ้านที่ถ่ายรูปได้ทุกมุม

เราอยากทำให้บ้านทุกมุมถ่ายคอนเทนต์ได้ คือยุคนี้ของเรา บ้านไม่ใช่แค่บ้าน แต่มันคือบรรยากาศ เพราะส่วนใหญ่เรา work from home บ้านมันเลยสำคัญมากกว่าที่อยู่และต้องเสริมการทำงานของเราไปด้วย” เจ้าของบ้านเล่า

เพราะเจ้าของทั้งคู่ต่างก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องมีการถ่ายรีวิวสินค้า และทำงานอยู่กับบ้านเป็นประจำ จึงทำให้โจทย์ในการออกแบบบ้านจำเป็นจะต้องสวย ถ่ายรูปได้ทุกมุม หรือพื้นที่แต่ละจุดของบ้านจะต้องมีแบคกราวด์ที่สามารถรองรับการถ่ายงานเหล่านี้ได้อย่างสะดวกสบาย

“เราคิดเรื่องมุมกล้องไปพร้อมกับฟังก์ชันที่เจ้าของเขาต้องการ เช่น คุณเอิร์ธชอบดริฟกาแฟ และในบ้านต้องมีมุมกาแฟ  ตรงเคาน์เตอร์กาแฟ เราจะมาคิดว่า แดดมาทิศไหน หน้าต่างหันทางไหนที่จะทำให้เขาสามารถตั้งกล้องถ่ายได้แล้วสวยพอดี หรือซุ้มโค้งของครัวและซุ้มโค้งบริเวณทีวีที่สามารถเป็น background เวลาที่เขาถ่ายรีวิวได้จากทั้งสองมุม แม้แต่โต๊ะรับประทานอาหาร เราก็มองว่ามันต้องมีขนาดใหญ่พิเศษ เผื่อสำหรับรีวิวถ่ายสินค้าบนโต๊ะ อย่างตอน Render 3D เราเซ็ตมุมจำลองให้เขาเลยว่า ถ้าตั้งกล้องตรงนี้ มุมนี้ เขาจะเห็นอะไรบ้าง”

โจทย์ที่ต้องถ่ายรูปได้ นำไปสู่ดีเทลในการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งหากสังเกต นอกจากกระจกช่องเปิดที่มากบ้านแล้ว บ้านหลังนี้จะไม่มี Finishing ในลักษณะมันเงา เพื่อลดปัญหา Reflect ในเวลาที่ถ่ายภาพ โต๊ะ เก้าอี้ หรือพื้นผิวส่วนมาก ดีไซน์เนอร์จึงเลือกใช้พื้นผิวในลักษณะแมตต์เกือบทั้งหมด อย่างเช่นการเปลี่ยนพื้นแกรนิตเดิมให้เป็นกระเบื้องลายไม้ SPC หรือการเลือกใช้สีพ่นเท็กเจอร์บริเวณซุ้มโค้งทีวี ที่ยังสร้างมิติไม่ให้เรียบจนเกินไป

เราพยายามดูจากการแต่งตัวเขาก่อนด้วย แอบเข้าไปส่องยูทูป อินสตาแกรมของเขา เราเห็นเขาชอบแต่งตัวคุมสีเอิร์ทโทนขาวครีมอยู่แล้ว ดังนั้นคอนเซปต์ของเราคือ บ้านต้องเป็น background ให้เขาได้ นอกจากนั้นเขาจะคอนเทนท์รีวิวคอนโดที่เขาเคยอยู่ก่อนหน้านี้ การจัดแต่งห้อง ของที่เขาซื้อมาตกแต่งอยู่แล้ว สไตล์ที่เขาชอบเป็นประมาณไหน เราหยิบตรงนั้นมาใส่กับบ้านที่เราออกแบบ เพื่อว่าพอย้ายมาบ้านหลังใหม่นี้ เขาจะสามารถเอาของเดิมมาใช้และเข้ากันได้ทั้งหมดเลย

ห้องแต่งตัวที่เราออกแบบพิเศษบริเวณชั้นสอง เขาต้องมีการถ่ายรูปให้สวยหรือบางทีต้องรีวิวเครื่องสำอาง เราจะให้เขาทำ Personal color ว่าเขาอยู่กับสีไหนแล้วขึ้น และสวย ซึ่งผลออกมาเป็นสีโทนส้มก่ำ ๆ เราเลยเอาตรงนั้นมาดีไซน์ให้กลายเป็นห้องแต่งตัวเขา เติมองค์ประกอบโค้งเข้าไปให้มันไปในทิศทางเดียวกับพื้นที่ชั้น 1”

คุณแป้ง – ใยชมภู นาคประสิทธ์ ดีไซน์เนอร์จาก MAKE It POP

“อินทิเรีย คือการทำงานกับสไตล์ แตกต่างจากงานออกแบบบ้านของสถาปนิก ดังนั้น งานอินทิเรีย แป้งจะใช้เวลาคุยกับลูกค้านานมาก ว่าอะไรคือสวย ไม่สวยสำหรับเขา เพราะสุดท้ายเราออกแบบไป คนที่อยู่ต่อเป็นหลายสิบปีคือเขา เขาอาจจะซื้ออะไรมาใส่ในบ้านเติมแต่งไปเรื่อย ๆ ถ้าเราหาไม่เจอ ว่าที่เขามักจะซื้อหรือชอบจริงๆ คืออะไร อยู่ไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านั้นมันจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และไม่ใช่ว่า ตัวเขาเป็นสิ่งแปลกปลอมนะ กลายเป็นว่าสิ่งที่เราออกแบบจะเป็นสิ่งแปลกปลอมแทน” ผู้ออกแบบทิ้งท้าย

“เราใช้บ้านนี้คุ้มมากค่ะ เราเอาร่างกายขยับไปทุกพื้นที่จริง และรู้สึกว่าอินทิเรียมันถูกทำให้ทุกพื้นที่ได้ใช้งานจริง เราเดินไปทำกาแฟตอนเช้า ถ้าต้องทำคอนเทนต์ถ่ายอาหารในห้องครัว ก็อยู่ที่โต๊ะบริเวณใจกลางบ้านนี้ กินข้าว ดูทีวี เราใช้พื้นที่ตรงนี้แบบที่เป็นตัวเองสุด ๆ เรายังเคยคุยกันเองเลยว่า เรารู้สึกรักบ้านหลังนี้จัง” เจ้าของบ้านเสริม

Location : Bangna, Thailand
Designer : MAKE IT POP
Contractor : Interior Homie Stutio รับออกแบบตกแต่งภายใน

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้