เสน่ห์ของบ้านคอนกรีตนอกจากจะให้ความรู้สึกที่แข็งแรง และปลอดภัยแล้ว ยังให้ผิวสัมผัสขรุขระ ที่สร้างเสน่ห์ความดิบให้กับสถาปัตยกรรมอย่างน่าสนใจ ด้วยเหตุนี้สถาปนิก JOYS Architect จึงทดลองหล่อแบบคอนกรีตให้มีลวดลายหินต่อเนื่องกันทั่วทั้งบ้าน ‘Yellow house’ นอกจากนี้ยังเปิดคอร์ตยาร์ทภายในทั้ง 4 ทิศ เพื่อรับลมและแสงเข้ามาลดทอนความแข็งของคอนกรีต และยังสร้างความสุนทรีให้กับผู้อยู่อาศัย
ผนังบ้านกลายเป็นรั้ว
เจ้าของต้องการสร้างบ้านบนพื้นที่ 12 ไร่ ที่มีทั้งคาเฟ่ และสวนอยู่โดยรอบโดยไม่มีรั้วกั้น ทำให้ตำแหน่งของบ้านหลังนี้ไม่มีขอบเขตชัดเจน สถาปนิกจึงเลือกออกแบบผนังบ้านให้กลายเป็นรั้ว เพื่อให้เกิดพื้นที่ปิดล้อมฟังก์ชันภายในตัวบ้าน ช่วยสร้างความปลอดภัยให้การอยู่อาศัยภายใน ขณะเดียวกันก็ยังต้องการแสงและลมธรรมชาติ จึงเป็นที่มาในการสร้างคอร์ตยาร์ทภายในบ้านทั้ง 4 ทิศ
คอร์ตยาร์ทเป็นตัวกำหนดฟังก์ชัน
ด้วยลักษณะที่ตั้งโครงการเป็นภูเขาจึงมีระดับพื้นดินไม่เท่ากัน บวกกับสถาปนิกต้องการรักษาต้นไม้เดิมของพื้นที่ไว้ จึงตั้งใจให้ทั้ง 4 คอร์ตยาร์ทอยู่ในระดับพื้นดินเดิม โดยลดการนำดินเดิมออกให้ที่สุด ซึ่งคอร์ตเหล่านี้เองจะทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดฟังก์ชันภายในบ้านทั้งหมด โดยคอร์ตยาร์ทแรกอยู่ที่ระดับ +0.40 ม. จากระดับของตัวบ้าน มีฟังก์ชันเป็นส่วนต้อนรับ และเปลี่ยนถ่ายสเปซไปยังพื้นที่นั่งเล่น ครัว และพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งระดับดินที่สูงนี้ยังช่วยบดบังสายตาจากคนภายนอกได้อีกด้วย
ถัดมาเป็นคอร์ตยาร์ทด้านขวาที่มีระดับ +0.80 ม. ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่รับประทานอาหาร ห้องนอน และห้องทำงาน ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแบ่งฟังก์ชันทั้งสามพื้นที่ให้แยกออกจากกัน นอกจากนี้ตัวคอร์ตยาร์ทยังดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนเดียวกับฟังก์ชันโดยรอบ
คอร์ตที่สามจะอยู่ด้านในสุดของตัวบ้านจึงมีความเป็นส่วนตัวสูง โดยสถาปนิกออกแบบให้เป็นคอร์ตยาร์ทสระว่ายน้ำสี่เหลี่ยมลึก -1.10 ม. ซึ่งเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างห้องทำงาน ห้องนอน และห้องน้ำ ทำหน้าที่เป็นวิวให้กับฟังก์ชันโดยรอบเพื่อสร้างความสดชื่น และผ่อนคลายได้มากขึ้น
คอร์ตยาร์ทสุดท้ายมีระดับอยู่ที่ +0.00 ม. (ระดับเดียวกับตัวบ้าน) จึงมีฟังก์ชันเป็นส่วน Service เพราะสามารถออกไปใช้งานได้ ในขณะเดียวกันยังมองเห็นวิวต้นยางนาได้มากกว่าพื้นที่อื่นๆ จึงล้อมรอบไปด้วยฟังก์ชัน ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก และห้องน้ำ
“จะเห็นได้ว่าผังของบ้านหลังนี้ไม่ได้ถูกคั่นด้วยทางเดิน แต่เป็นผังที่เชื่อมโยงกันด้วยฟังก์ชันกับฟังก์ชันผ่านคอร์ตยาร์ท ซึ่งในแต่ละฟังก์ชันจะมองเห็นคอร์ตยาร์ทอย่างน้อย 2 คอร์ตขึ้นไป ทำให้เราสามารถมองทะลุออกไปเห็นอีกฟังก์ชันหนึ่งได้ตลอด”
หล่อคอนกรีตให้เห็นลายหิน
สถาปนิกตั้งใจให้วัสดุปิดผิวอาคารต่อเนื่องกันทั้งภายใน-นอก โดยใช้คอนกรีตที่มีปริมาณหินมากกว่าปูนเทหล่อลงไปบนแบบพร้อมกันทีเดียวทั้งอาคารด้วยความหนา 3 – 10 เซนติเมตร จากนั้นจึงรอให้ผิวเซ็ทตัว เมื่อแกะแบบออกมา หินจะถูกแบ่งอยู่บริเวณชั้นล่างของคอนกรีตที่มีลวดลายต่อเนื่องกัน ซึ่งความหนาทึบของคอนกรีตให้ความรู้สึกถึงความปลอดภัย และลวดลายของหินทำให้สเปซของตัวบ้านดูมีจังหวะมากขึ้น
“ไอเดียนี้เกิดจากเราสังเกตเห็นการใช้ปูนซีเมนต์หล่อเสา จะเห็นหินโผล่ออกมาตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัสดุ เรากับผู้รับเหมาจึงทดลองหาวิธีให้ลวดลวดของหินออกมาต่อเนื่องกัน ซึ่งใช้เวลาในการทดลอง ฝึกซ้อมหล่ออยู่เป็นเวลานาน เมื่อรู้จังหวะในการหล่อจนชำนาญแล้วจึงค่อยเทคอนกรีตลงในแบบจริง”
เพื่อเพิ่มมิติให้กับผนังมากขึ้น บริเวณทางเข้าบ้านจึงถูกร่นระยะเข้ามา และเพิ่มผนังคอนกรีตเลเยอร์ที่สองให้อยู่ระนาบเดียวกับผนังส่วนอื่นๆ พร้อมเปิดช่องขนาดใหญ่ด้านล่าง เพื่อให้ลมและแสงเข้ามาภายในตัวอาคาร ในขณะเดียวกันเมื่อแสงกระทบผ่านต้นไม้ลงไปที่ผนังคอนกรีตก็ยิ่งขับเน้นคอร์ตยาร์ทให้โดดเด่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้านในอีกทางหนึ่งด้วย
ทึบตันแต่ปลอดโปร่ง
ถึงแม้บ้านหลังนี้จะดูหนา และทึบตันด้วยคอนกรีต แต่ก็ยังสามารถรับลมและแสงธรรมชาติได้ทุกพื้นที่จากทั้ง 4 คอร์ตยาร์ทที่อยู่บริเวณโดยรอบของตัวบ้าน นอกจากนี้ระดับของแต่ละคอร์ตยาร์ทยังเป็นตัวกำหนดฟังก์ชันให้กับเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละพื้นที่ และยังเป็นตัวเชื่อมโยงฟังก์ชันให้ดูต่อเนื่องเป็นส่วนเดียวกัน
“จุดเด่นของบ้านหลังนี้คงจะเป็นความต่อเนื่องระหว่าง ข้างใน-ข้างนอก กับ ข้างใน-ข้างใน เหมือนว่าบ้านหลังนี้มีบุคลิกสองแบบ ที่ให้ความรู้สึกถึงความโปร่ง โล่ง สบาย แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกที่ปิดทึบเป็นส่วนตัวในเวลาเดียวกัน”
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!