จากตะวันตกสู่ตะวันออก สถาปัตยกรรมหลายวัฒนธรรมมีการประดับอาคารด้วยรูปปั้นสัตว์วิเศษในตำนาน ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตั้งแต่รูปร่างหน้าตาไปจนถึงที่มา การแปลงเรื่องเล่ามาสู่องค์ประกอบตกแต่งอาคารที่ผสมผสานกับฟังก์ชัน หรือในบางครั้งก็แต่งแต้มอารมณ์ขันของผู้ออกแบบ บ้างก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายบอกยศศักดิ์ของเจ้าของอาคาร หรือกลายเป็นจุดเด่นที่น่าจดจำของสถาปัตยกรรมในท้องที่
วันนี้เราเลยชวนทุกคนออกสำรวจรูปปั้นสัตว์มหัศจรรย์ เหล่านี้ สิ่งเล็ก ๆ ที่ขนาดไม่เล็กบนอาคารแต่กลายเป็นจุดสังเกตและน่าจดจำสำหรับอาคารไอคอนิกในหลายยุคทั่วโลก!
การ์กอยส์ (Gargoyles) เรื่องเล่าขานตำนานยุโรป
หากมีโอกาสไปสำรวจโบสถ์เก่าในฝั่งยุโรป เราจะเห็นรูปปั้นคล้ายมังกร บ้างก็เป็นสัตว์ประหลาดหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวเกาะอยู่ตามหลังคาหรือกำแพงอาคาร สัตว์ประหลาดเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า รูปปั้นปนาลีหรือตัวการ์กอยส์ (Gargoyles) ในภาษาฝรั่งเศสกากุยส์ Gargouille แปลว่าคอ จากตำนานช่วงคริสศตวรรษที่ 7 ในหมู่บ้านรูออง (Rouen) ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส เล่าว่ามีมังกรตัวหนึ่งชื่อ ลา-กากุยส์ (La Gargouille) ตัวยาวใหญ่มีปีกคล้ายค้างคาว ในปากลา-กากุยส์เต็มไปด้วยฟันแหลมคม มันชอบเผาหมู่บ้านไล่กินผู้คนและปศุสัตว์สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ในแต่ละปีชาวบ้านต้องหาเหยื่อมาบูชายัญโดยเฉพาะหญิงสาวที่มันโปรดปราน
จนกระทั่งบิชอบนามว่า เซนต์โรมานัส (St. Romanus) เดินทางมาที่เมือง โรมานัสหิ้วไม้กางเขนและน้ำมนต์ศักดิ์สิทธ์ไปเผชิญหน้ากับลา-การ์กุยส์ มังกรร้ายเพียงได้เห็นกางเขนก็ยอมสยบ เขาลากมันกลับไปที่หมู่บ้านก่อนที่เหล่าชาวบ้านได้ช่วยกันสังหารและเผาลา-การ์กุยส์ทิ้งเสีย แต่เนื่องจากมังกรตัวนี้มีลมหายใจเป็นไฟทำให้ส่วนคอและหัวไม่มอดไหม้ เซนต์โรมานัสจึงสั่งให้นำหัวมังกรไปประดับไว้ที่กำแพงโบสถ์ที่ชาวบ้านสร้างถวาย จึงเกิดเป็นตัวกำเนิดของรูปปั้นหัวการ์กอยส์ตามกำแพงและหลังคาอาคาร นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันกับความเชื่อที่ว่าหัวมังกรมีพลังศักดิ์สิทธ์ สามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆได้อีกด้วย ดังนั้นยิ่งหน้าตาการ์กอยส์น่ากลัวน่าเกลียดมากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้มากขึ้นเท่านั้น
รูปปั้นปนาลีได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงศิลปะโกธิค (ปลายคริสศตวรรษที่ 12-16) ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนมีความหลงใหลในเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติและตำนานลึกลับ ดังที่เห็นได้จากงานศิลปะ บทประพันธ์ และผ่านงานสถาปัตยกรรมเอง นอกจากนี้ยุคโกธิคยังเป็นยุคสมัยของการผสมผสานความสวยงามเข้ากันกับประโยชน์ใช้สอยอย่างชาญฉลาด ตั้งแต่โครงสร้างอาคารเช่นสะพานโค้งลอย (Flying Buttress) ไปจนถึงองค์ประกอบตกแต่งอย่างรูปปั้นการ์กอยส์ ซึ่งรูปปั้นเหล่านี้ทำหน้าที่บังท่อรางน้ำจากหลังคาทำให้ไม่ยื่นออกมาสะดุดตาน่าเกลียด การ์กอยล์หลายตัวมีคอยื่นยาวเพื่อส่งน้ำออกไปไกลๆ ป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลกัดเซาะสร้างความเสียหายให้กับกำแพง ในบางอาคารการ์กอยส์ที่เกาะอยู่กลับไม่ใช่สัตว์ในเทพนิยายแต่เป็นมนุษย์หน้าตาประหลาด หรือตัวเอเลี่ยนจากภาพยนตร์ Pop Culture ชื่อดังก็มีเช่นกัน
ชิสะ และ โอนิกะวะระ
เครื่องรางคุ้มครองอาคารของชาวญี่ปุ่น
แต่ถ้าเราไปเที่ยวจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น เราจะได้เห็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรริวกิว (ช่วงคริสศตวรรษที่ 15-19) นั่นคือหลังคาสีแดง (Aka-Gawara) และกำแพงหินกระเบื้อง โดยหลังคาของโอกินาวะผลิตจากดินที่พบได้ทางตอนใต้ของจังหวัดคุชะ (Kusha) ซึ่งมีส่วนประกอบของแร่เหล็กสูง เป็นที่มาของสีแดงเฉพาะตัว
และบนหลังคาสีแดงนี้เองที่เราจะได้พบกับรูปปั้นครึ่งสิงห์ครึ่งสุนัขเรียกว่า ชิสะ หรืออีกชื่อในญี่ปุ่นเรียกว่าโคมะอินุ เป็นเครื่องรางปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายคล้ายกับสิงโตจีนที่เราเห็นเป็นคู่ตามประตูนั่นเอง นอกจากชิสะในเมืองโอกินาวะแล้ว ตามหลังคาวัดและวังโบราณทั่วญี่ปุ่น เราจะได้เห็นกระเบื้องรูปยักษ์ หรือ โอนิกะวะระ ซึ่งมีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยนาระ (ช่วงคริสศตวรรษ 800) คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลหลักมาจากจีน และเข้ามาช่วงเดียวกันกับพุทธศาสนาในญี่ปุ่น กระเบื้องหน้ายักษ์หน้าตาน่ากลัวเหล่านี้มีหน้าที่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายเช่นเดียวกันกับชิสะ โอนิกะวะระซึ่งทำจากกระเบื้องดินเผา บางครั้งสลักจากหินหรือไม้ยังทำหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลังคาอีกด้วย
ชาจิโฮะโกะ
ปกปักษ์อาคารจากภัยพิบัติ
นอกจากนี้ ที่ญี่ปุ่นยังมีสัตว์วิเศษอีกตัวที่เห็นบ่อยนั่นคือ ชาจิโฮะโกะ (Shachihoko, Shachi) สัตว์ในตำนานรูปร่างคล้ายปลาหัวเป็นเสือหรือมังกร หางและครีบชี้ขึ้นสู่สวรรค์ มีหนามแหลมเรียงกันบนหลัง ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาอาคารจากภัยพิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะอัคคีภัย บ้างก็ว่าที่มาของซาจิโฮะโกะมาจากตัว มกร (Makara) สิ่งมีชีวิตในทะเลตามตำนานฮินดู มีหัวเป็นมังกร ตัวเป็นปลา จะพ่นน้ำดับไฟเมื่อเกิดเพลิงไหม้ บางส่วนเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากชิวเหวิน (Chiwen) ของประเทศจีน
โจ่วโซ่ว
ตำนานหมู่สัตว์มงคลของจีน
มาต่อที่ประเทศจีนกันบ้าง บนหลังคาของพระราชวัง คฤหาสน์ขุนนาง อาคารรัฐบาล วัดโบราณต่างๆ เราจะเห็นรูปปั้นหมู่สัตว์มงคลวางเรียงเป็นแถวที่สันหลังคาเรียกว่าโจ่วโซ่ว ทำจากดินเผาเซรามิค มีเซียนขี่หงส์หรือเทวดาทรงไก่นำหัวขบวน เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนเรื่องร้ายกลายเป็นดีได้ ระหว่างกลางเป็นหมู่สัตว์มงคลจำนวน 3 5 7 และ 9 ตัว (แล้วแต่ยศศักดิ์ของเจ้าของอาคาร) ปิดท้ายขบวนด้วย มังกร แสดงถึงอำนาจของจักรพรรดิจีน
เหตุผลที่จำนวนสัตว์มงคลเป็นเลขคี่ตามหลักหยาง แต่ถึงอย่างนั้นที่พระตำหนักไท่เหอแห่งพระราชวังต้องห้าม ซึ่งเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่และเป็นอาคารสูงศักดิ์ที่สุดในพระราชวังต้องห้ามมีสัตว์มงคลสูงถึง 10 ตัว โดยมีเทพเจ้าสายฟ้าหางสือ (Hangshi) เป็นลิงมีปีกถือคฑา เชื่อว่าสามารถป้องกันอาคารจากฟ้าผ่าได้ สามารถพบได้ที่พระราชวังต้องห้ามที่เดียวเท่านั้น
หมู่สัตว์มงคลเรียงลำดับแตกต่างกันไปตามพื้นที่และวัฒนธรรม จึงขอยกตัวอย่างจาก พระราชวังต้องห้ามแห่งกรุงปักกิ่ง โดยปกติเมื่อลดจำนวนสัตว์ลง จะลดจากตัวที่อยู่ท้ายขบวนไปจนถึงหัวขบวน หมู่สัตว์วิเศษ 9 ตัว (ไม่นับเซียนขี่หงส์และมังกร) เรียงจากหัวไปท้ายตามลำดับดังนี้ (1) มังกร สัญลักษณ์ของฮ่องเต้ (2) หงส์ ตัวแทนของฮองเฮา สัญลักษณ์แห่งคุณธรรมและฤกษ์งามยามดี อยู่คู่กับมังกรเหมือนหยินและหยาง แสดงถึงความสูงศักดิ์ของสถานที่ (3) สิงโต สัญลักษณ์ของความกล้าหาญและอำนาจช่วยขับไล่วิญญาณชั่วร้าย (4) ม้าสวรรค์ (5) ม้าทะเล อยู่คู่กับม้าสวรรค์หมายถึงการอำนาจที่ปกครองทุกแห่งหน (6) ยาหยู่ ปลาวิเศษ สามารถบันดาลเมฆและฝนเพื่อป้องกันอัคคีภัยและภัยธรรมชาติเช่นเดียวกับซวนหนี (7) ซวนหนี หน้าตาคล้ายสิงโตนิสัยดุร้าย (8) เซี่ยจื้อ คล้ายแพะหรือวัว มีเขาเดี่ยวที่หลังหัว มีพลังแยกแยะความจริงเท็จจึงเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม (9) โต้วหนิว มังกรผสมวัวไร้เขาช่วยในเรื่องป้องกันภัยอันตรายเช่นเดียวกัน
ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
ส่วนประกอบอาคาร ตำนานแบบไทยๆ
ประเทศไทยเราเองก็มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่อิงจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และสัตว์ทั้งที่มีอยู่จริงและในตำนาน เช่น นาคปัก ซึ่งขอมได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมอินเดียใต้ มีลักษณะเป็นพญานาคหลายหัว สลักจากหินประดับอยู่ที่มุมชั้นวิมาน (ชั้นหลังคาของปราสาทขอมโบราณ) ต่อมาไทยได้รับอิทธิพลจึงมีการปรับเปลี่ยนเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ และนาคปักถูกพัฒนากลายเป็นกลีบขนุนบนเจดีย์แทน อย่างไรก็ตาม เรายังพบนาคได้บนหลังคาสถาปัตยกรรมไทยตามมณฑป และพัฒนากลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องลำยองในภายหลัง
ลำยองหรือเครื่องลำยองเป็นองค์ประกอบปิดมุงหลังคาของสถาปัตยกรรมพบได้ตามวัดและวัง ประกอบไปด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู ช่อฟ้าเป็นเครื่องปลายบนสุดของเครื่องลำยอง มีลักษณะคล้ายสัตว์ปีกหรือพญาครุฑ ยอดเรียวโค้ง มีจะงอยปาก ต่อมาเป็นรวยระกาหรือตัวรวยลักษณะคล้ายลำตัวของนาคพาดเลื้อยคล้องแปหลังคา ภายหลังถูกพัฒนาต่อกลายเป็นนาคสะดุ้งโค้งตวัดเกี่ยวกับแปหลังคา ใบระกาลักษณะเป็นครีบปลายเรียวโค้งวางเรียงกันบนลำตัวนาค มาจากขนพญาครุฑหรือครีบหลังพญานาค และตรงปลายของเครื่องลำยองแต่ละฝั่งเป็นส่วนหัวของนาคเรียกว่าหางหงส์ เป็นเศียรพญานาค 3 เศียรซ้อนกันขนาดลดหลั่นกันลงมา(เรียกว่านาคเสี้ยว) บ้างก็มีลักษณะคล้ายหงส์ หรือบางอาคารเป็นพญานาคเพียง 1 เศียรก็มี ส่วนนาคเบือนเป็นเครื่องตกแต่งในตำแหน่งเดียวกับหางหงส์ ถูกพัฒนาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สลักจากไม้แท่งเดียวเป็นรูปพญานาค 3 เศียรเรียงกัน บิดหรือเอี้ยวตัวหันมาด้านหน้าอาคาร มีความซับซ้อนมากกว่าหางหงส์ปกติ ซึ่งเมื่อพิจารณาช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์หรือนาคเบือนรวมกันแล้ว จะเห็นได้ว่าอยู่ในท่าทาง “ครุฑยุดนาค” ตามมหากาพย์มหาภารตยุทธหรือมหาภารตะ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั่นเอง
Gao, J. (2016). Symbolism in the Forbidden City. (E. a. Asia, Ed.) Retrieved from https://www.asianstudies.org/wp-content/uploads/symbolism-in-the-forbidden-city-the-magnificent-design-distinct-colors-and-lucky-numbers-of-chinas-imperial-palace.pdf
Gargoyle. (2021, September). Institute of Historic Building Conservation. Retrieved from https://www.designingbuildings.co.uk/wiki/Gargoyle
Gargoyles and the Bestiary of Ancient Rooftop Animals. (n.d.). INTERIOR ARCHITECTS. Retrieved from https://interiorarchitects.com/gargoyles-and-the-bestiary-of-ancient-rooftop-animals/
Lian, B. (2023, Febuary). Mysterious Animals on the Palace Roofs of the Forbidden City. (T. C. Guide, Ed.) Retrieved from https://www.travelchinaguide.com/attraction/beijing/forbidden-city/animals-on-the-palace-roofs.htm
Onigawara. (2021, June). Designing Buildings. Retrieved from https://www.designingbuildings.co.uk/wiki/Onigawara
เครื่องลำยอง. (2009, July). สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. Retrieved from http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B9%93%E0%B9%91-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1
เล็กสุขุม, ศ. ด. (2005, June). จากนาคปัก มาเป็นนาคเบือน และเกี่ยวกับนาคหงส์. วารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. Retrieved from http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/67_7.pdf
เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “นาค” ในวัฒนธรรมไทย. (2022, May). สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. Retrieved from https://www.finearts.go.th/storage/contents/2022/05/detail_file/Eb81EYsRnyY5snby48ZY07NKOt20Ru0e7lOw2aAG.pdf
คอสมอส. (2560). สัตว์พิสดารจากเทพนิยาย. ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.
ช่อฟ้า. (n.d.). หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. Retrieved from http://www.art-centre.su.ac.th/roof-ornamental-359436563629361536573634.html
สุ่ยหลิน. (2016, July). หมู่สัตว์มงคล บนหลังคาพระราชวังต้องห้าม มีไว้ทำไมนะ?? (เ. ให้ได้จีน, Ed.) Retrieved from https://chinesexpert.net/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A5-%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!