Buono Factory โรงงานที่เติมเต็มคุณภาพชีวิตคนทำงาน ผ่านงานออกแบบ

ภาพโรงงานอุตสาหกรรมในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร?
โรงงานส่วนใหญ่มักสร้างขึ้นเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าอะไรบางอย่าง ภายในมีเครื่องจักร และคนทำงานอยู่จำนวนมาก หัวใจสำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทนี้ จึงเน้นการใช้งานและความคุ้มค่าเป็นหลัก ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นโรงงานอุตสาหกรรมถูกดีไซน์อย่างสวยงามและพิถีพิถัน แต่ Buono Factory กลับแตกต่างออกไป เพราะหัวใจการออกแบบโรงงานคือ การใส่ใจผู้ใช้งาน ผ่านฝีมือการออกแบบของ Skarn Chaiyawat Architects ที่มาสร้างสรรค์ส่วนต่อขยายของโรงงานแห่งนี้ ให้เติมเต็มชีวิตของพนักงานในทุกๆ วันอย่างมีคุณภาพ

Buono Factory เป็นโรงงานผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม หลังจากเปิดมานานและยอดขายเติบโตก็ถึงเวลาขยับขยายไลน์การผลิต บวกกับวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของผู้บริหารที่ต้องการสร้างสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของส่วนต่อขยายโรงงาน 3 อาคาร คือ อาคาร A, B และ C ที่มีความแตกต่างกันทั้งฟังก์ชันและวัสดุอาคาร

 Layout ของอาคารทั้งหมด ภายในส่วนต่อขยายของโรงงาน

อาคาร C
ผนังหนา รักษาอุณหภูมิเป็นพิเศษ

ภายในพื้นที่ 5 ไร่ อาคาร C เป็นอาคารที่มีส่วนเชื่อมต่อกับอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว ฟังก์ชันหลักคือ ใช้เก็บผลิตภัณฑ์แช่แข็งที่เตรียมส่งออกไปต่างประเทศ ภายในมีอุณหภูมิติดลบ 25 องศาเซลเซียส และเพื่อรักษาความเย็นของตัวผลิตภัณฑ์ไว้ ผนังอาคารโดยรอบ รวมถึงพื้นและฝ้าจึงใช้วัสดุ iso wall ที่มีความหนากว่า 20 เซนติเมตร นอกจากนี้โครงสร้างของอาคารยังอยู่ด้านนอก เพื่อลดโอกาสเกิดช่องว่างระหว่างรอยต่อวัสดุอีกด้วย

บันไดทางขึ้นอาคาร C ถูกออกแบบให้ลอยขึ้นจากพื้นเล็กน้อย เพื่อป้องกันความเสียหาย เมื่อฝนตกและมีน้ำขังในบริเวณอาคาร

อาคาร B
หลากหลายฟังก์ชันในหนึ่ง(อาคาร)เดียว

ถัดมาเป็นอาคาร B ฟังก์ชันการใช้งานส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความหลากหลาย เป็นทั้งแล็ปทดลองเพื่อคิดค้นสูตรอาหาร โกดังเก็บวัตถุดิบ แผนกบรรจุภัณฑ์ และสำนักงาน สถาปนิกเลือกใช้ผนังเมทัลชีท เพราะเป็นทางเลือกที่รวดเร็วในการก่อสร้าง และเมื่ออยากเปลี่ยนแปลงส่วนไหนเพิ่มเติมในภายหลังก็สามารถทำได้ง่าย ส่วนช่องเปิดของอาคารมีค่อนข้างน้อย เพราะภายในมีหลายฟังก์ชันที่ต้องการควบคุมปริมาณความสว่าง

อาคาร A
โรงอาหารที่เป็นมากกว่าพื้นที่กินข้าว

อาคาร A ตั้งอยู่ใกล้บ่อพักน้ำและรายล้อมได้ด้วยพื้นที่สีเขียวที่ให้ความรู้สึกร่มรื่น วัสดุปกคลุมอาคารเป็นผนัง Precast ผิว Polished rib ที่มีลักษณะเป็นร่องแนวตั้ง ส่วนภายในมีความโปร่งโล่งแตกต่างจากอาคารอื่นๆ โดยสิ้นเชิง นั่นเป็นเพราะอาคาร A ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับพนักงานในช่วงพักกลางวัน และเป็นเหมือนพื้นที่ให้ทุกคนได้มาใช้เวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ในเวลาเดียวกันนั่นเอง

ผนัง Precast ผิว Polished rib ที่เป็นร่องเส้นตรง เพิ่มมิติให้กับพื้นผิวของอาคาร

คุณภาพ ทั้งพื้นที่และชีวิตคนทำงาน

“อยากให้อาคารดูโปร่งโล่งมีช่องเปิดรอบอาคารที่ลมสามารถพัดผ่านได้ เย็นสบายตลอดวันโดยไม่ต้องเปิดแอร์ เปิดมุมมองสู่สวนที่ร่วมรื่นภายนอก และที่สำคัญเลยคือแสงธรรมชาติที่เข้ามาได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน ให้ช่วงเวลาพักรับประทานข้าวของทุกคนผ่อนคลายได้เต็มที่ ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน แต่ก็เป็นช่วงเวลาคุณภาพ”

โครงสร้างของอาคารมีความสูงโปร่ง มีการเปิดรับแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามา ทั้งจากช่องแสงด้านบน Skylight และFaçade ที่ทำจากกระจกลามิเนตผิวส้มที่พื้นผิวมีความขรุขระและขุ่นเบลอ ลักษณะการเรียงตัวคล้ายกับหน้าต่างบานเกล็ดขนาดใหญ่ ซึ่งระหว่างรอยต่อของกระจกแต่ละชั้นจะมีตะแกรงที่ช่วยในเรื่องการระบายอากาศ ในขณะที่กันนกเข้ามาทำรังได้ในคราวเดียวกัน

สัดส่วนโครงสร้างของอาคาร A มีระยะเสาอยู่ที่ 4.8 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เกิดขึ้นจากขนาดมาตรฐานของวัสดุผนัง Precast ที่มีขนาด 1.20 เมตร เรียงต่อกัน 4 แผ่น สถาปนิกจึงใช้ขนาดของโมดูลาที่เกิดขึ้นนี้ กับช่องเปิดรอบๆ อาคารทั้งหมด โดยมีขนาดเท่ากับผนัง Precast 2 แผ่นเรียงต่อกัน และสูงจากพื้นขึ้นมาเทียบเท่าอาคารหนึ่งชั้น ทำให้ทุกคนสามารถมองออกไปเห็นบ่อน้ำและสวนที่ร่มรื่นภายนอกได้แบบเต็มที่ในระหว่างนั่งรับประทานอาหาร

หากมองมาอีกฝั่งจะพบกับระเบียงกว้างด้านบน ส่วนด้านล่างมีร้านอาหารสองร้าน และร้านขนมอีกหนึ่งร้าน ซึ่งนอกจากภาพพนักงานกินข้าวในช่วงกลางวันที่เกิดขึ้นในอาคารนี้ เราอาจจะเห็นภาพของพนักงานนั่งกินไอศกรีมที่เป็นหนึ่งในสวัสดิการของบริษัทอยู่รอบๆ อาคารด้วย

 ปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ง่ายและรวดเร็ว

อีกหนึ่งอย่างที่อดพูดถึงไม่ได้เลยคือ เฟอร์นิเจอร์ภายในพื้นที่ ทั้งโต๊ะและเก้าอี้ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดให้ขอบมุมต่างๆ มีความโค้งมน และขากางออกจากกันเล็กน้อย เพื่อให้การจัดเก็บแบบซ้อนกันได้สะดวก ในกรณีที่อยากปรับเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท ก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

เมื่อหัวใจสำคัญของการสร้างโรงงานไม่ได้มีแค่การใช้งานเพียงอย่างเดียว นอกเหนือจากความใส่ใจและส่งเสริมผู้ใช้งานอาคารหลายร้อยชีวิตที่เราได้เห็นผ่านงานออกแบบจาก Buono Factory แล้ว โรงงานแห่งนี้ยังทำให้เราเห็นอีกว่า มันดีและคุ้มค่าแค่ไหน ที่สถาปนิกได้ทำหน้าที่ส่งต่อวิสัยทัศน์ที่ดีของเจ้าของบริษัทไปสู่ชีวิตคนทำงานจริง และสามารถสร้างพื้นที่เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตพนักงานให้ดีขึ้นได้มากกว่าที่โรงงานเคยเป็นอยู่

ออกแบบ: Skarn Chaiyawat Architects
ทีมออกแบบ: สการ จัยวัฒน์, กฤษณ์ จาติกวณิช, ศุภกรณ์ ฉันทกิจวัฒนา
ภูมิสถาปนิก: สิรภพ ขำอาจ
ภาพ: DOF SkyGround Photography

Writer
Janjitra Horwongsakul

Janjitra Horwongsakul

สถาปนิก ผู้หลงใหลในการเดินทางและสเปซคลีนๆบนภาพฟิล์ม อดีต'นักคิดคำถาม'ของปริศนาฟ้าแลบ ที่ผันตัวเองมาเป็น'นักเล่าความรู้(สึก)'ผ่านตัวหนังสือ