วลี “น้อย แต่ มาก” ดูเหมือนจะเป็นประโยคคลาสสิกที่ยังสามารถใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมได้ในปัจจุบัน ซึ่งทาง Junsekino Architect and Design ได้หยิบคอนกรีตสีขาวมาใช้สร้างสรรค์ความ ‘น้อย’ ให้กับบ้าน RUPU HOUSE แต่กลับ ‘มาก’ ไปด้วยช่องเปิดกลางบ้านเพื่อรับสวน และแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนเดียวกับภายใน ให้ความรู้สึกเหมือนกับสเปซบ้านยกใต้ถุนสูงอย่างไรอย่างนั้น
เรียบเนียน และเปิดโล่ง
เจ้าของต้องการบ้านสไตล์โมเดิร์น สีขาว เปิดโล่งแต่ยังให้ความเป็นส่วนตัว และมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ต่ออยู่อาศัยแบบครอบครัว แต่มีข้อจำกัดตรงที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีกฏห้ามออกแบบบ้านให้เป็นสีขาวเฉดเดียว 100 เปอร์เซ็นต์ และห้ามใช้หลังคาสแลป บ้านหลังนี้จึงต้องออกแบบสีขาวมากกว่าหนึ่งเฉด และใช้หลังคาจั่วเป็นหลัก
“ตอนแรกบ้านหลังนี้ถูกออกแบบให้อยู่บนพื้นที่เดียวกับบ้านของคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าของ แต่หลังจากที่เราออกแบบเสร็จ คุณพ่อรู้สึกว่าถ้าสร้างบ้านหลังนี้บนพื้นที่เดิมอาจจะดูคับแคบเกินไป จึงตัดสินใจย้ายบ้านหลังนี้ ไปอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงกัน ตอนแรกก็กังวลว่าจะต้องออกแบบใหม่หรือเปล่า แต่โชคดีที่แค่กลับผัง และปรับเปลี่ยนบางส่วนก็สามารถลงบนพื้นที่ใหม่ได้อย่างพอดี แถมยังได้พื้นที่จอดรถมากถึง 5 คัน และมีพื้นที่สวนมากขึ้น”
ขนาบด้วยบานกระจก ดึงธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่
พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านกว่า 400 ตารางเมตร มีทางเข้าที่ต้อนรับเราด้วยโถงทางเดิน พร้อมติดตั้งตู้กระจกสำหรับเก็บรองเท้า เพื่อสะท้อนพื้นที่ให้ดูกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังยกตู้รองเท้าให้ลอยขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บรองเท้าคู่ที่ใช้เป็นประจำ ซึ่งพื้นที่โถงทั้งหมดในส่วนนี้ใช้แสงจากช่องเปิดทิศเหนือซึ่งให้ปริมาณแสงที่พอดิบพอดี
เนื่องจากเจ้าของบ้านชื่นชอบการดูหนัง ฟังเพลง และปาร์ตี้เป็นครั้งคราว บริเวณฝั่งตรงข้ามตู้รองเท้า จึงเป็นประตูทางเข้าไปยังห้องนั่งเล่น นำสายตาไปยังโซฟาหนังสีน้ำตาลกลางห้อง และชุดโฮมเธียเตอร์ติดผนัง บริเวณผนังทางด้านซ้าย และขวาติดตั้งบานกระจกเพื่อดึงธรรมชาติจากสวนหน้าบ้าน และสวนจากเฉลียงหลังบ้านให้เข้ามาเป็นส่วนเดียวกับห้องนั่งเล่น
“พื้นที่ห้องนั่งเล่นมีฟังก์ชันที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะสามารถเปิดผ้าม่านรับแสงธรรมชาติ และสวน ในขณะทำกิจกรรมกับครอบครัว หรือปิดผ้าม่านให้เป็นส่วนตัวเมื่อต้องการปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ได้”
เปิดสเปซแบบใต้ถุน
ไฮไลท์ของบ้านหลังนี้ คือพื้นที่ประทานอาหารที่เลือกใช้โต๊ะสีดำ และครัวไอส์แลนด์สีไม้ ตัดกับสีขาวของตัวบ้านไม่ให้ดูเรียบจนเกินไป บริเวณผนังด้านหลังติดตั้งบานกระจกขนาดใหญ่เพื่อเปิดสเปซให้เชื่อมโยงกับเฉลียง สวนน้ำตก และที่นั่งฝังดินจากภายนอก ทำให้สเปซมีความคล้ายคลึงกับใต้ถุนของบ้านเรือนไทย จึงเป็นที่มาของชื่อบ้าน RUPU HOUSE ที่ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า พื้นที่ว่างตรงกลาง
บันไดเปลี่ยนถ่ายความเป็นส่วนตัว
บันไดถูกออกแบบให้รู้สึกถึงความเบาด้วยวัสดุ ไม้ เหล็ก และราวกันตกกระจก ใช้วัสดุและสีสันให้สอดคล้องไปกับพื้นรับประทานอาหาร ในขณะเดินขึ้นสเปซจะค่อยๆ เริ่มทึบมากขึ้น ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่ากำลังเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัว แต่เพื่อไม่ให้สเปซดูอึดอัดจนเกินไปจึงยกฝ้าเพดานให้สูงขึ้น
ให้อิสระลูกสาวออกแบบห้องด้วยตัวเอง
เมื่อเดินขึ้นมาจะพบกับห้องนอนของลูกสาวอายุประมาณ 4-5 ขวบ ที่ภายในถูกออกแบบสเปซให้โล่งกว้างเพื่อให้เด็กมีจินตนาการ และอิสระในการจัดห้องใหม่ได้ตามช่วงวัย แต่จะมีบางส่วนที่ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ตู้เสื้อผ้า และชั้นวางของแบบ Built-in บริเวณผนังด้านขวาสุดของห้อง ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานเป็นประจำ และไม่เปลี่ยนตำแหน่งในการใช้งาน
ผ่อนคลายก่อนเข้าห้องนอน
ความพิเศษของชั้น 2 มีห้องนั่งเล่นขนาดเล็กที่เป็นตัวเปลี่ยนถ่ายสเปซไปยังห้องนอน เนื่องจากสามีชื่นชอบการนั่งเล่น หรือ ดูทีวีก่อนเข้านอน ไม่เพียงเท่านั้นบริเวณด้านในสุดของห้องนั่งเล่นยังมีบันไดวนขึ้นไปยังชั้นลอย ที่มีฟังก์ชันเป็นห้องทำงานและจัดเก็บเอกสารต่างๆ
“บางครั้งภรรยาต้องการที่จะเข้านอนก่อน การนำทีวีไปไว้ในห้องนอนก็อาจจะรบการนอนหลับได้ เจ้าของจึงอยากให้มีห้องนั่งเล่นขนาดเล็กก่อนเข้าจะเข้าสู่ห้องนอน”
ห้องนอนแบบเพนท์เฮ้าส์
ถัดมาจากห้องนั่งเล่นขนาดเล็กจะพบกับห้องนอน ที่จัดวางเตียงนอนไว้บริเวณตรงกลาง รายล้อมไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ Built-in หินอ่อนสีดำ และตู้ไม้สีน้ำตาล เสริมด้วยกระจกวงกลมเพื่อให้สเปซมีมิติมากยิ่งขึ้น ซึ่งความน่าสนใจของห้องนอนก็คือการเชื่อมโยงสเปซชั้นลอยให้ดูเป็นส่วนเดียวกัน นอกจากนี้ยังเสริมไฟดาวน์ไลท์ซ่อนไว้ด้านล่างเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้แสงแยงตาเมื่อเปิดเวลาคืน
“ช่องเปิดทั้งด้านทิศเหนือ และทิศใต้ทำให้ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน และห้องนอน สามารถเปิดรับลม และแสงธรรมชาติเข้ามาได้ตลอดทั้งวัน แถมยังเว้นช่องระหว่างฝ้าเพดาน และ หลังคาให้เกิดช่องอากาศระบายอากาศทำให้ภายในห้องไม่เกิดความร้อน”
ตัวบ้านสะท้อนความเรียบง่าย
ความเรียบง่ายถูกส่งต่อมายังภายนอกบ้าน สถาปนิกเลือกใช้วัสดุคอนกรีตพ่นสีขาวให้กับตัวบ้าน และหลังคาจั่ว แต่หลังคาจั่วเลือกใช้เฉดสีขาวที่สว่างกว่า บวกกับบริเวณชายคาหลังคาถูกยื่นออกมาเล็กน้อยจนเกิดเป็นลักษณะเส้นเงา หลังคาทั้งผืนจึงมีลักษณะที่ดูยื่นยาวและดูลอยออกมาจากตัวบ้าน
“ ถ้าดูรูปด้านของบ้านจะเห็นว่าบ้านเป็นก้อนจั่วครึ่งเดียวขนาดใหญ่ และก้อนจั่วขนาดเล็กครึ่งเดียวที่มีความลาดชันสูงมาต่อกัน เมื่อฝนตกน้ำจะไหลอย่างรวดเร็ว ทำให้หน้าบ้านและหลังบ้านเกิดเอฟเฟกต์แผ่นน้ำไหล ซึ่งเจ้าของบ้านชอบมาก”
ด้วยลักษณะของตัวบ้านสีขาวโพลนและมีขนาดใหญ่ สถาปนิกจึงออกแบบแผง Shade ระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 รอบตัวอาคารเพื่อเป็นตัวลดทอนสัดส่วนบ้านให้มีขนาดที่เหมาะสม ขณะเดียวกันตัวแผงยังช่วยบังแดด และฝนสาดให้กับพื้นที่ชั้น 1 ในอีกทางหนึ่งด้วย
เรียบง่ายในทุกๆ ส่วน
สำหรับการออกแบบบ้าน RUPU HOUSE เน้นไปที่ความเรียบง่ายตั้งแต่การเลือกใช้คอนกรีต และสีขาวเป็นหลัก ส่วนภายในออกแบบให้มีฟังก์ชันที่กระทัดรัด เหมาะกับการอยู่อาศัยแบบครอบครัว ซึ่งพื้นที่ชั้นล่างทั้งหมดมีจุดเด่นตรงช่องเปิดรับแสง ลม และวิวสวนภายนอก ให้ความคล้ายคลึงกับสเปซบ้านยกใต้ถุนสูง นอกจากนี้ความน่าสนใจยังอยู่ที่สเปซของห้องนอนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ชั้นลอยพื้นที่ทำงาน ซึ่งสเปซนี้มักจะอยู่ในเพนท์เฮ้าส์คอนโดมิเนียมหรูเป็นส่วนใหญ่
“เราไม่เคยทำบ้านที่เรียบขนาดนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาเรื่องสัดส่วนหลายรูปแบบ จนมาถึงการก่อสร้างจริงเราก็ต้องศึกษาคอนกรีตที่ต้องใช้ในการเทหล่อหลังคา และอาคารทั้งหมดที่ต้องใช้สูตรเฉพาะ เพื่อให้เกิดความเนี้ยบ และเรียบเนียนที่สุด ถึงแม้บ้านหลังนี้จะดูเรียบง่าย แต่การออกแบบและการก่อสร้างไม่ได้ง่ายตามไปด้วย ซึ่งเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่มีความท้าทาย และมีความสนุกไปพร้อมๆ กัน”
Credit :
Architect:Junsekino A+D
Interior : Junsekino I+D
Landscape: GLA
Main contractor : คุณวิบูลย์
Interior contractor : A2J คุณโจ
Photo Nantiya June
stylist : Suanpuk Vrw
drone : greatbeargallery
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!