คาเฟ่คอนกรีตลอยได้ กับฟังก์ชันชวนสงสัยให้ตีความเอง

เป็นเวลาหลายปีที่ Yellow Submarine Coffee Tank ติดหนึ่งในคาเฟ่ที่ได้รับความนิยมในอำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา ด้วยจำนวนผู้คนที่เข้ามาใช้บริการอย่างคับคั่ง ทางเจ้าของจึงตัดสินใจเพิ่มอาคารส่วนต่อขยาย และชวนกลุ่มเพื่อนสถาปนิกอย่าง JOYS Architects เข้ามาร่วมออกแบบคาเฟ่ Yellow mini โดยเป็นหลังคาคอนกรีตขนาดใหญ่ไม่มีผนัง ล้อไปกับภูมิประเทศแบบเนินดิน มีเสารับน้ำหนักจำนวนน้อยเพื่อให้หลังคาดูลอยมากที่สุด ทั้งนี้ยังออกแบบให้ฟังก์ชันดูกำกวมเพื่อให้นักดื่มสามารถเลือกสรรที่นั่งได้ตามใจชอบ

ขับเน้นเนินดินผ่านระนาบหลังคา

การออกแบบ Yellow Mini มีสารตั้งต้นมาจาก Yellow Submarine Coffee Tank ที่ขับเน้นภูมิประเทศแบบเนินดินด้วยการเสียบระนาบกำแพงลงไป กลับกันอาคารใหม่นี้ใช้ระนาบหลังคาแนวนอนสร้างร่มเงาให้กับเนินดินซึ่งเป็นการขับเน้นเช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้นหลังคายังอยู่ในระดับเดียวกับจุดสูงสุดของกำแพงอาคารเดิม แถมยังเลือกใช้วัสดุคอนกรีต และเหล็ก เพื่อให้สอดคล้องกับไปกับแนวคิดเดิมที่คงความสัจจะของวัสดุอย่างตรงไปตรงมา และในอีกเหตุผลหนึ่งก็ช่วยประหยัดงบประมาณด้วย 

บริเวณที่มีระดับดินสูงที่สุด สถาปนิกเจาะช่องเปิดหลังคาขนาดใหญ่ เพื่อดึงสภาพแวดล้อมเหนือศรีษะ ไม่ว่าจะเป็นแสง ยอดต้นไม้ และท้องฟ้า ให้เข้ามาเป็นส่วนเดียวกับสเปซใต้หลังคา ทั้งนี้เนินดินที่มีต้นไม้เดิมอยู่ก็ยังสามารถเจริญเติบโตได้เช่นเดิม ซึ่งช่วยให้สเปซมีความร่มรื่นมากขึ้น

เสาขั้นบันไดรับน้ำหนัก

เพื่อให้หลังคาคอนกรีตดูลอยและโดดเด่นมากที่สุด สถาปนิกจึงออกแบบหลังคาให้มีขนาด 8 x 27 เมตร แต่สิ่งที่ต้องคำนึงในลำดับถัดมาก็คือจำนวนเสารับน้ำหนักที่ต้องมีน้อย แต่ยังคงรับน้ำหนักแผ่นหลังคาได้ สถาปนิกและวิศวกรจึงร่วมกันออกแบบเสารับน้ำหนักให้เสมือนกับขั้นบันไดล้อกับระดับเนินดินของพื้นที่ จัดวางไปที่ตำแหน่งขอบหลังคาทั้ง 5 จุด นอกจากนี้ยังไล่ระดับความหนาหลังคาให้เป็นขั้นบันได โดยเริ่มไล่ละดับตั้งแต่ส่วนตรงกลางที่มีความหนาสุด เพื่อให้ปลายหลังคาทั้งสองด้านมีความบาง และสามารถยื่นยาวโดยไม่ต้องเสริมเสารับหนักเพิ่ม

เป็นมากกว่าฐานรากแผ่

เสารับน้ำหนักขั้นบันไดถูกวางอยู่บนฐานรากแผ่คันคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบอยู่ใต้พื้นที่หลังคา ซึ่งคันฐานรากแผ่จะถูกไล่ละดับให้เป็นขั้นสอดคล้องไปกับเนินดิน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นขั้นบันไดสำหรับทางเดิน และเป็นที่นั่งสำหรับการดื่มกาแฟ ซึ่งแต่ละระดับจะมองเห็นวิวธรรมชาติ และระดับของเนินดินที่เปลี่ยนแปลงไปตามที่เราย้ายตำแหน่ง

ฟังก์ชันที่คนดื่มเป็นผู้ตัดสินใจ

สถาปนิกพยายามสร้างฟังก์ชันของพื้นที่ให้ดูกำกวม ไม่ได้เจาะจงฟังก์ชันอย่างชัดเจน ทำให้นักดื่มสามารถเลือกจุดนั่งดื่มได้ไม่จำกัด แต่ก็ยังไม่ลืมให้พื้นที่บางส่วนแสดงฟังก์ชันชัดเจน อย่างพื้นที่ด้านหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง Yellow Submarine Coffee Tank ได้ถูกปรับพื้นที่ให้ราบเรียบ และวางแท่นคอนกรีตขนาดใหญ่พร้อมเก้าอี้สำหรับนั่งดื่มกาแฟ นอกจากนี้บริเวณด้านหลังยังจัดวางแท่นเหล็ก และโต๊ะเก้าอี้เสริม เพื่อรองรับจำนวนคนที่เข้ามาใช้บริการ

“ในตอนแรกเราพยาพยามทดลองใส่เฟอร์นิเจอร์หลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ดูเขินไม่เข้ากัน เราเลยคิดว่าถ้าพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่บอกความชัดเจนว่าพื้นที่ไหนเป็นที่นั่ง หรือโต๊ะ แต่ทดลองทำสัดส่วนของฐานแผ่ ขั้นบันได หรือเสาขั้นบันไดให้บางส่วนรู้สึกนั่งได้ และบางส่วนรู้สึกนั่งไม่ได้ไปพร้อมกัน แล้วให้เขาค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยจนสามารถนั่งที่เหมาะสมกับตัวเอง ขณะเดียวกันโต๊ะหินขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงพื้นที่ด้านหน้า ก็เป็นสัญลักษณ์ที่พยายามจะแสดงว่ามันคือโต๊ะ แต่มองในอีกมุมหนึ่งก็ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นโต๊ะ ซึ่งเราพยายามสร้างประสบการณ์แบบใหม่ให้กับคนที่เข้ามางาน”

ประสบการณ์ที่ยากจะลอกเลียนแบบ

การออกแบบ Yellow Mini ได้แรงบันดาลใจมาจาก Yellow Submarine Coffee Tank ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ระนาบในการขับเน้นเนินดิน หรือการเลือกใช้วัสดุอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่ทำให้คาเฟ่แห่งนี้ดูแตกต่างจากคาเฟ่เดิม ก็คือโครงสร้างหลังคาขนาดใหญ่ เสารับน้ำหนักขั้นบันได และการใช้ฐานรากแผ่ ที่สร้างฟังก์ชันให้ดูกำกวมไม่เจาะจงชัดเจนว่าพื้นที่ส่วนไหนสามารถนั่งดื่มได้ หรือไม่สามารถนั่งดื่มได้ เมื่อดูไปแล้วคาเฟ่หลังนี้มีความเป็นผลงานศิลปะสูงมาก เพราะนักดื่มจะต้องตีความขณะใช้งานไปด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ของคาเฟ่ที่ยังไม่มีที่ไหนเคยทำมาก่อน

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn