Search
Close this search box.

Petrichor Cafe ชวนนั่งจิบกาแฟกับเพื่อนรักสี่ขา
ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นของไม้และอิฐ

สำหรับใครที่มีสัตว์เลี้ยงคงเข้าใจกันดีว่า การพาน้องๆ ไปเสริมสวย ก็เหมือนพาลูกไปฝากไว้กับเนอร์สเซอรี่ที่ถึงแม้ทางร้านจะดูแลเป็นอย่างดี แต่เราก็อดห่วงไม่ได้ แต่หากจะให้นั่งรอก็คงไม่สะดวกเท่าไหร่นัก AA+A Architect co.,ltd สตูดิโอสถาปนิกผู้ออกแบบ Petrichor Cafe จึงตั้งใจเปลี่ยนภาพจำเดิมๆ ของร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์เลี้ยง ให้กลายเป็นสวรรค์ของคนรักสัตว์ ที่ทั้งเจ้าของและน้องๆ ได้มาใช้เวลาพักผ่อนร่วมกัน ในบรรยากาศคาเฟ่อบอุ่น สบายๆ มีกลิ่นอายของสไตล์ Mid-Century Modern พร้อมเสิร์ฟคู่กับวิวริมคลองทวีวัฒนาอย่างกลมกล่อมลงตัว

Petrichor Cafe & Pet Grooming

“อาคารทรงไทยที่เราเห็นเป็นอาคารเก่า ซึ่งถูกใช้สำหรับจัดงานแต่งงาน หรืองานต่างๆ แต่ทางเจ้าของได้เช่าเฉพาะพื้นที่ด้านหลังที่ติดกับตัวคลองทวีวัฒนา ในการสร้างอาคารโมเดิร์นหลังใหม่ขึ้นมา ถ้าดูดีๆ ตัวอาคารใหม่จะเหมือนสอดเข้าไปในอาคารเก่าอีกที เพราะเรานำแมสก้อนใหม่เข้าไปผสานกับพื้นที่ระเบียงของอาคารเก่าที่ยื่นออกมา ซึ่งเรามองว่าความคอนทราสต์ระหว่างสองอาคาร ทำให้ทั้งคู่ช่วยดึงความน่าสนใจของกันและกันขึ้นมา”

สถาปนิกเล่าว่าโจทย์เริ่มต้นของการออกแบบแมสอาคาร มาจากอาคารเก่าของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นทรงไทย และการที่สถาปนิกเลือกเคารพบริบทเดิม โดยการนำอาคารใหม่เข้าไปแทรกตามช่องว่างของอาคารเก่า และเพิ่มความคอนทราสต์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อทำให้ภาพรวมยังดูกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียว

สำหรับคาเฟ่ทั่วไปอาจไม่มีการกำหนดฟังก์ชันที่ตายตัวมากนัก แต่สำหรับ Petrichor Cafe ที่ได้รวม Pet Grooming เข้ามาไว้ด้วยกันนั้น จึงต้องมีการแยกโซนอย่างชัดเจน เพื่อรักษาสุขอนามัยและความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์ โดยโซนแรกที่คอยต้อนรับเมื่อก้าวเข้ามาคือ ‘โซนคาเฟ่’ ที่มีสเปซเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวยาวขนานกับตัวคลอง ซึ่งสถาปนิกตั้งใจเปิดสเปซให้โล่ง แต่ยังคงยึดแนวกริดเสาเดิมในการออกแบบ และเจาะช่องกระจกทั้งหมด 4 ช่อง ตามตัวโครงสร้างใหม่ที่ต่อเติม เพื่อเปิดรับวิวพาโนราม่าของคลองได้อย่างเต็มที่

หากดูโครงสร้างฝ้าเพดานภายในคาเฟ่ เราจะเห็นว่ามีการแบ่งสเปซด้วยวัสดุแตกต่างกัน โดยสถาปนิกเลือกใช้ ‘ไม้’ ในส่วนโครงสร้างเสาและคานของอาคารเดิม และใช้ ‘คอนกรีตสีขาว’ ในส่วนพื้นที่ต่อเติมที่ยื่นออกมาประมาณ 2.30 เมตร และด้วยความแตกต่างนี้ ยิ่งเสริมทำให้เห็นความคอนทราสต์ระหว่างสเปซ Indoor และ Semi-outdoor ได้ชัดเจนขึ้น

สำหรับ ‘โซนอาบน้ำตัดขนสัตว์’ ที่แยกไปทางด้านหลัง สถาปนิกได้ออกแบบตามมาตรฐานทั่วไป ที่มีการแบ่งแต่ละห้องตามฟังก์ชันการใช้งาน โดยเริ่มจากห้องพักผ่อนของสัตว์ ที่ให้น้องๆ ได้ผ่อนคลายระหว่างรอคิว, ห้องตัดขน, ห้องอาบน้ำของสัตว์ และห้องพักผ่อนของพนักงาน

เสิร์ฟความอบอุ่นของวัสดุ เคล้ากลิ่นอายสไตล์ Mid-Century Modern

“เราออกแบบในคอนเซ็ปต์สไตล์โฮมมี่ เพราะต้องการให้ลูกค้าและสัตว์เลี้ยงที่เข้ามารู้สึกถึงความเป็นบ้าน ที่ดูอบอุ่น สบาย ดังนั้นเราจึงพยายามทำ Mood and Tone ให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยใช้โทนสีกลางๆ อย่างน้ำตาลและครีม”

‘วัสดุ’ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบครั้งนี้ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้หน้าตาอาคารโดดเด่น หรือขับบรรยากาศให้กลมกล่อมละมุนละม่อม ไม่แพ้เหล่าของกินอร่อยๆ ภายในร้านแล้ว วัสดุเหล่านี้ยังเป็นจิ๊กซอว์ของอาคารใหม่ ที่เข้าไปเติมเต็มกับเสน่ห์ของอาคารเก่าได้อย่างพอดิบพอดี

อิฐมอญสีส้ม-แดง เป็นวัสดุเด่นของอาคารเก่าที่สถาปนิกรักษาคงไว้ตามเดิม และได้มีการกรุผนังและพื้นใหม่บางส่วนด้วยแผ่น MCM (Modified Clay Material) หรือวัสดุแผ่นดินเหนียวดัดแปลงจาก Golhem ที่มีลักษณะคล้ายอิฐมอญ แต่มีโทนสีออกไปทางเบจมากกว่า เนื่องจากสถาปนิกตั้งใจให้วัสดุใหม่คอนทราสต์กันกับอิฐเดิมเล็กน้อย และด้วยข้อดีของแผ่น MCM ที่มีผิวสัมผัสของหินจริง, แผ่นบาง, ไม่ต้องใช้ยาแนว, ติดตั้งง่ายและใช้เวลาค่อนข้างน้อย ทำให้ตอบโจทย์กับงานออกแบบเชิง Commercial ที่ต้องการความรวดเร็วในการก่อสร้าง 

สำหรับผนังด้านนอกสถาปนิกได้กรุแผ่น MCM ขึ้นมาในอัตราส่วน 3:1 ของผนัง เพื่อเหลือพื้นที่คอนกรีตสีขาวด้านบนไว้ ให้สามารถเชื่อมต่อกับดีไซน์ฝ้าเพดานสีขาวด้านในได้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของโซนโครงสร้างอาคารเก่า สถาปนิกได้เลือกใช้ ไม้อัดยาง ในการกรุผนัง ฝ้าเพดาน และคานเพื่อเน้นสเปซให้โดดเด่นขึ้น พร้อมกับออกแบบของใหม่ให้สอดคล้องกับวัสดุเดิม โดยนำไม้มาย้อมสีแดงให้มีโทนคล้ายอิฐมอญ และออกแบบแพทเทิร์นเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งที่ตรงตามกริดของอาคาร ซึ่งดูคล้ายกับการเรียงตัวของอิฐและแผ่น MCM และเนื่องจากโครงสร้างฝ้าเพดานเดิมค่อนข้างต่ำ รวมถึงสถาปนิกต้องการโชว์แพทเทิร์นของฝ้าไม้ใหม่ จึงเลือกที่จะหุ้มคานคอนกรีตเดิมด้วยไม้ แล้วเปิดโชว์ให้เห็นแทนการซ่อนใต้ฝ้า

โต๊ะเก้าอี้หลากสีที่เราเห็นนั้น เป็นอีกหนึ่งโจทย์จากทางเจ้าของ ที่ต้องการนำเฟอร์นิเจอร์สไตล์ Mid-Century Modern ที่สะสมไว้มาจัดวางภายในร้าน ทางสถาปนิกจึงช่วยคัดเลือกเฟอร์นิเจอร์โทนสีเขียว, แดง, น้ำเงิน และเหลือง นำมาจับคู่ Mix and Match กัน ทำให้บรรยากาศภายในร้านออกมาดูมีสีสันและมีเอกลักษณ์มากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็ใช้วัสดุแสตนเลสสำหรับบริเวณเคาน์เตอร์ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับตัวเอง ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย และยังเข้ากับเฟอร์นิเจอร์สไตล์ Mid-Century Modern เหล่านี้อีกด้วย

“เราจัดองค์ประกอบสีเพื่อไม่ให้ดูร้อนจนเกินไป โดยสร้างความคอนทราสต์ด้วยสีโทนอ่อน เพราะถ้าเราไม่ได้นำสีขาวเข้าไปตัดกัน ก็คงจะดูร้อนกว่านี้อีกเยอะ และแม้สีขาวมีให้เลือกหลายหลายโทน แต่เราเลือกที่จะใช้สีขาวโทนเหลือง เพื่อทำให้ภาพรวมของสียังดูไปในทิศทางเดียวกันกับตัวไม้”

แรงบันดาลใจจากอุ้งเท้าสัตว์

แน่นอนว่าคาเฟ่ที่นี่ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับผู้ใช้งานสี่ขาเช่นกัน โดยสถาปนิกออกแบบสเปซที่นั่งให้มีหลากหลายฟังก์ชัน ได้แก่ โซนโต๊ะเดี่ยว สำหรับการใช้งานทั่วไป, โซนโต๊ะกลมตรงกลาง สำหรับให้สัตว์เลี้ยงมานั่งด้วยกันได้ และโซน Outdoor ข้างนอก ที่มีสนามหญ้าขนาด 20 ตารางเมตร ให้สามารถพาสัตว์เลี้ยงไปวิ่งเล่น และนอกจากสเปซแล้ว สถาปนิกยังได้ออกแบบองค์ประกอบอื่นๆ ให้สอดคล้องกันกับขนาดและพฤติกรรมสัตว์เช่น ประตูกว้าง 2 เมตร ที่สามารถเปิดรับสัตว์ได้หลายขนาด, การเลือกใช้กระเบื้องพอร์ซเลนลาย Terrazzo ขนาด 60×60 เซนติเมตร เป็นวัสดุพื้น เพราะมีผิวสัมผัสมันวาว ทำให้สะดวกต่อการทำความสะอาดเช็ดล้าง และไม่ทิ้งคราบเลอะเอาไว้

ที่น่าสนใจกว่านั้น สถาปนิกยังได้แรงบันดาลใจการออกแบบฝ้าเพดาน มาจากอุ้งเท้าของน้องหมาน้องแมว ที่ดูเผินๆ แล้วคล้ายรูปทรงโค้งครึ่งวงกลม ซึ่งสถาปนิกได้นำรูปทรงนี้มาสร้างเป็นแพทเทิร์นใหม่ ที่สลับกันไปมา ทั้งส่วนที่ปิดและเปิดรับช่องแสง รวมถึงแพทเทิร์นการฝังไฟ Down Lights ให้ลงตามกริดที่วางไว้

สำหรับโซน Semi-outdoor ที่มีการเจาะช่องแสงค่อนข้างเยอะนั้น สถาปนิกได้เล่าว่าเป็นความตั้งใจที่อยากให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากเรื่องการใช้วัสดุไม้และคอนกรีตสีขาวแล้ว จึงนำการเปิดช่องแสงในอัตรา 3:1 มาออกแบบทำให้สเปซดูโปร่งโล่งมากขึ้น และแม้จะมีข้อกังวลเรื่องความร้อน แต่เมื่อเทียบกับบรรยากาศที่ได้แล้ว ถือเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเลยทีเดียว

“จริงๆ งานที่เคยทำส่วนใหญ่จะเป็นแนว Brutalism ที่เน้นดิบๆ แข็งๆ ดูเท่ๆ หน่อย ซึ่งบางทีการเข้าคาเฟ่ที่เท่เกินไป เราจะรู้สึกเกร็งๆ แต่สำหรับคาเฟ่นี้ผมรู้สึกถึงความเป็นบ้านที่ดูโฮมมี่มากๆ และผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ตรงตามที่ตัวเองคิดไว้ ผมเลยประทับใจกับบรรยากาศของที่นี่ และความท้าทายอีกอย่างของโครงการนี้ คือ การทำอย่างไรให้ของใหม่สามารถกลมกลืนไปกับของเก่า ซึ่งถ้าดูจากทางด้านหน้าจะเห็นว่าตัวอาคารใหม่นี้ ทั้งดูคอนทราสต์และกลมกลืนไปกับบริบทเดิม เราจึงคิดว่ามันเป็นอีกจุดที่ทำให้คาเฟ่ดูน่าสนใจ”

Location: Taweewattana
Built Area: 230 sqm.
Completion Year: 2023
Client: คุณณัฐธิภา วารีศรศักดิ์
Architects Firm: AA+A Architect co.,ltd
Lead Architects: AA+A Architect co.,ltd
Photo Credit: VARP Photography Studio

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading