บ้านฟอร์มโค้งโอบกอดคนและผืนป่า

นับวันชีวิตของคนเมืองเริ่มห่างไกลจากพื้นที่ธรรมชาติ จนเกิดปัญหาสุขภาพกาย และจิตใจอย่างเห็นได้ชัด หากมีบ้านพักตากอากาศที่สามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติคงจะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี สองสามีภรรยานักธุรกิจจึงชวนสถาปนิก Stu/D/O Architects มาออกแบบ บ้านพักตากอากาศ Winding Villa ให้อยู่ติดกับผืนป่าในจังหวัดนครนายก โดยออกแบบผนังของบ้านให้โค้งมนเพื่อหลบหลีกรักษาต้นไม้เดิม สร้างความปลอดภัยจากสัตว์ป่า แถมยังเปิดคอร์ตยาร์ทให้เกิดกิจกรรมภายในบ้านอีกด้วย

ที่ดินติดกับผืนป่า

เจ้าของต้องการสร้างบ้านพักตากอากาศบนพื้นที่ที่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยต้องมีรูปแบบบ้านสไตล์คนเมืองที่กลมกลืนไปกับผืนป่า มีฟังก์ชันสำหรับวิ่งเล่นให้กับเด็กๆ และยังต้องมีความปลอดภัยจากสัตว์ป่า แต่ด้วยข้อจำกัดของที่ดินที่มีขนาดใหญ่ และพื้นที่บางส่วนเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สัตว์ป่ามักจะลงมาหากินอยู่เป็นประจำ จึงไม่สามารถสร้างรั้วกั้นขอบเขตของพื้นที่ได้

“บ้านหลังนี้ถูกย้ายตำแหน่งให้ห่างออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า และหลีกเลี่ยงการสร้างรั้วไม่ให้กั้นขวางทางน้ำ แต่ทำทางไหลของน้ำเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ตัวบ้าน”

ผนังโค้งหลบต้นไม้เดิม

สถาปนิกเลือกออกแบบรัศมีวงกลม 3 วงมาซ้อนทับกัน ขึ้นรูปเป็นผนังของตัวบ้าน ที่ทำหน้าที่เป็นรั้วของบ้านไปพร้อมกัน รัศมีวงกลมนี้ยังหลบหลีกต้นไม้เดิมในพื้นที่ และโอบรับต้นไม้บางส่วนเข้ามาในพื้นที่จนเกิดเป็นคอร์ตยาร์ทวงกลม 2 ตำแหน่ง ได้แก่ด้านบนขวาและด้านล่างขวาของผัง เพื่อเปิดวิวให้กับตัวบ้าน และเป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็กๆ และคนในบ้าน “ผนังบางส่วนถูกเจาะ และปลูกต้นไม้ใหม่เข้าไปเพื่อให้สเปซมีความกลมกลืนกับธรรมชาติภายนอก”

แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2

ฟังก์ชันทั้งหมดเกาะเกี่ยวไปตามขอบวงกลมทั้ง 3 วง โดยรัศมีวงกลมด้านซ้ายบนเป็นส่วนของทางเข้า ที่จอดรถ และที่พักอาศัยของแม่บ้าน โดยมีคอร์ตยาร์ทตรงกลางทำหน้าที่เป็นวิวต้อนรับ เส้นทางเดินโค้งล้อไปกับหลังคานำไปสู่ห้องเซอร์วิสระบบไฟฟ้า และประปาของตัวบ้าน

“ด้วยลักษณะที่โค้งมนของอาคาร ทางเจ้าของบ้านจึงแนะนำให้ใช้บล็อกโฟม ICF BLOCK วัสดุก่อสร้างรีไซเคิลที่ทางเจ้าของเป็นผู้ผลิต เพียงแค่เราสเปครัศมีวงกลมให้กับโรงงาน ตัวบล็อกก็จะโค้งตามที่เราสเปคไปอย่างถูกต้อง ทำให้การก่อสร้างผนังโค้งใช้เวลาแค่อาทิตย์เดียวเท่านั้น”

ยกอาคารลอย เพื่อให้เกิดสเปซใต้ถุน

ทางเดินยังพามาพบกับอาคารสี่เหลี่ยมชั้น 2 ที่พาดไปบนรัศมีอาคารวงกลมด้านล่างซ้ายและห้องเซอร์วิสจนอาคารดูลอยขึ้น ทำให้พื้นที่ทางเดินภายนอกมีขนาดใหญ่ล้อไปกับตัวอาคาร เกิดเป็นสเปซยกใต้ถุน พร้อมจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ให้นำสายตาไปยังคอร์ตยาร์ทวงกลมขวาล่างที่ทำหน้าที่เป็นสระว่ายน้ำ และสวนขนาดใหญ่ ก่อนที่ทางเดินจะเล็กลงและนำไปสู่ห้องรับรองแขก

ความลอยของอาคารชั้น 2 ยังทำให้สเปซยกใต้ถุน เป็นตัวแจกไปยังพื้นที่พักอาศัยของครอบครัวที่เป็นวงกลมด้านล่างซ้าย ภายในจัดวางเฟอร์เจอร์แบบ Open Plan เรียงลำดับตั้งแต่ โซฟา โต๊ะรับประทานอาหาร และ แพนทรี่ นอกจากนี้ยังทำสร้างสเปซให้เป็น Double Volume เพื่อเปิดสเปซให้ดูกว้างใหญ่ และให้บันไดโค้งเชื่อมไปยังพื้นที่ชั้น 2

อาคารแนวนอนยื่นไปสู่ผืนป่า

บริเวณพื้นที่ชั้น 2 ทางด้านซ้ายเป็นส่วนของห้องนอนของสามีภรรยาที่ออกแบบให้ตัวอาคารยื่นยาวพร้อมเปิดกระจกทุกด้านเพื่อรับธรรมชาติจากผืนป่าให้เข้ามาเป็นส่วนเดียวกับห้องนอน นอกจากนี้ยังสามารถออกไปเดินเล่นบนสวนหญ้าหลังคาทางเดินชั้น 1 ได้อีกด้วย

ส่วนฟังก์ชันอาคารด้านขวา เป็นส่วนของห้องทำงาน ห้องนอนลูก และห้องรับรองแขก มาพร้อมกับคอร์ตยาร์ทต้นไม้จากชั้น 1 ที่สามารถรับแสงจากช่องเปิดหลังคา และด้านหน้าของอาคาร ขณะเดียวกันก็ทำให้พื้นที่ชั้น 2 ได้รับลม และแสงธรรมชาติตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ทางด้านขวาสุดยังมีบันไดที่สามารถลงไปยังพื้นที่เซอร์วิสได้อีกด้วย

“ด้วยลักษณะที่ยื่นยาวของอาคารชั้น 2 เราเลยเลือกใช้โครงสร้างถัก หรือ Truss ให้กับอาคาร ทำให้ไม่มีเสาบดบังพื้นที่ชั้นที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ออกแบบฟาซาดให้เป็นระแนงไม้เลื่อนได้ เพื่อให้สามารถเลื่อนเปิดรับวิวธรรมชาติ หรือปิดกรองแสงแดดได้ตลอดเวลา ในอีกแง่หนึ่งวัสดุไม้ก็ดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติ”

บ้านพักตากอากาศที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ

สำหรับภาพรวมของบ้านพักตากอากาศ Winding Villa ถูกออกแบบให้สอดคล้องไปสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ บ้านหลังนี้จึงมีปริมาณพื้นที่ภายนอกค่อนข้างสูงเพื่อเก็บต้นไม้เดิมไว้ทั้งหมด และยังต้องสร้างขอบเขตที่ชัดเจนให้กับตัวบ้านเพื่อสร้างความปลอดภัยทั้งผู้อยู่อาศัย และสัตว์ป่า นอกจากนี้เวลากลางคืนเมื่อสัตว์ป่าออกหากิน ผนัง และฟาซาดระแนงไม้ ก็ช่วยกำบังไม่ให้แสงจากภายในอาคารลอดผ่านออกมาให้สัตว์ตื่นตกใจ อย่างไรก็ตามฟังก์ชัน และกิจกรรมภายในก็ยังคงความคล้ายคลึงกับบ้านในเมือง แต่พิเศษตรงที่สามารถใกล้ชนิดกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

Credit : 
Stu/D/O Project Team:
      Apichart Srirojanapinyo, Chanasit Cholasuek, Thanut Sakdanaraseth, Pitchaya Kointarangkul
Structural Engineer:           Ittipon Konjaisue
Mechanical Engineer:        MEE Consultants
Contractor:                         Double Click Construction
Visualizer:                           Stu/D/O, DOF
Photography:                      Rungkit Charoenwat

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn