Yung7 Eatery & Lifestyle
พื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่อนุรักษ์อาคารผ่านการตีความสิ่งใหม่และเก่า

ถึงตึกเก่าจะทรุดโทรมเกินเยียวยาแต่คงเลี่ยงไม่ได้ถ้าจะบอกว่าตึกเก่าเป็นสิ่งสร้างความทรงจำให้พื้นที่ สร้างความรู้สึกดีๆ ที่ให้บรรยากาศ Nostalgic ในแบบที่ตึกสร้างใหม่ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ Yung7 Eatery & Lifestyle ร้านอาหารที่สองสามีภรรยาตั้งใจเก็บยุ้งข้าวลำดับที่ 7 ริมแม่น้ำในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นยุ้งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของครอบครัว มาปรับปรุงให้กลายเป็นร้านอาหารและพื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่ผสมผสานความเก่าและใหม่ให้กลับมามีชีวิตและเป็นที่จดจำของครอบครัวรวมถึงชุมชนได้ต่อไป

“ตรงนี้เคยเป็นยุ้งเก่าของกงสีบ้านเจ้าของ เมื่อก่อนเคยมียุ้งหลายอัน และเนื่องจากตรงนี้ติดโค้งแม่น้ำ ก็เลยพัดดินลงไปเยอะพอสมควรทำให้ยุ้งเก่าหลายอันล้มไป จนเหลือยุ้ง7 เป็นอันสุดท้าย และด้วยความที่ท่าน้ำมันลดลงไปเรื่อยๆ ทางเจ้าของเขาเลย อยากจะรักษายุ้งชิ้นสุดท้ายนี้ไว้ให้ได้ ก็เลยเริ่มลงทุนทำท่าเรือขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงเริ่มมีแผนที่อยากจะทำร้านอาหารหรือธุรกิจสักอย่างที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้มันอยู่ได้ด้วยตัวเอง” คุณไกรพล ชัยเนตร สถาปนิก Alkhemist Architects เล่า

อาคารยุ้งที่ปรับปรุงใหม่
อาคารยุ้งเดิม

รูปลักษณ์ที่คอนทราสของอาคาร 3 ฟังก์ชัน

เพราะมีเรื่องอาคารเก่าเป็นจุดตั้งต้น แต่การทำร้านอาหารสเกลใหญ่ในยุคสมัยนี้และโลเคชั่นไกลเมือง จำเป็นจะต้องมีจุดดึงดูดมากกว่าการเป็นแค่อาคารเก่า ทางสถาปนิกจึงเริ่มมองหาแนวคิดโดยเสนอการออกแบบอาคารหน้าตาแบบยุคใหม่และยุคเก่ามาอยู่ด้วยกันเพื่อความร่วมสมัย สร้างเป็นบรรยากาศที่แตกต่างแต่อยู่ร่วมกันได้ ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลคือ ขนาดร้านอาหารใหม่ที่มีสเกลใหญ่ หากมีรูปลักษณ์หน้าตาคล้ายยุ้ง ก็อาจจะไปแย่งความน่าสนใจและทำให้อาคารเก่าถูกลดทอนความสำคัญลง

เมื่อสถาปนิกปรึกษากับทีมอินทีเรียอย่างคุณภูเมศร์ เตชะบรรเจิด จาก Huippu Design จึงได้ข้อสรุปว่าอยากทำให้อาคารดูคอนทราสกับลักษณะของยุ้งอาคารเดิมให้มากที่สุด โดยอาคารร้านอาหารใหม่จะเป็นอาคาร Post-Modern ที่ช่วยส่งให้ตัวยุ้งโดดเด่น และดูร่วมสมัยมากขึ้น

นอกจากฟังก์ชันของร้านยุ้งซึ่งทำหน้าที่เป็นอาคารกึ่งอเนกประสงค์สำหรับจัดงานอีเวนท์, อาคารร้านอาหารที่เป็นโซนที่นั่งอินดอร์และเอาท์ดอร์ ยังมีโซน Clubhouse รวมถึงท่าน้ำที่แยกตัวออกไป ซึ่งในโซนนี้จะเป็นพื้นที่ไพรเวทที่ให้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ชอบทำกิจกรรมทางน้ำมาเหมาพื้นที่ เปิดเป็นโซนพบปะสังสรรค์กันในกลุ่มได้อย่างเป็นส่วนตัว โดยมีโซนห้องล็อคเกอร์ ห้องอาบน้ำรองรับภายใน

“ออกแบบยังไงให้ 3 ก้อนนี้เชื่อมต่อเป็นเรื่องเดียวกัน? โดยที่ยุ้งและก้อนร้านอาหารเป็นภาษาที่ต่างกัน เรามองอีกเรื่องหนึ่งคือ บริบทพื้นที่แถวนี้ คือปทุมธานี ซึ่งมันเป็นกึ่ง Suburban ที่มีความเป็นเมือง มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เยอะ ถ้าเราเอาภาษาที่คล้ายกึ่งโรงงานมาใช้ มันอาจจะเป็นภาคต่อประวัติศาสตร์การเจริญเติบโตของเมือง อาคารนี้เลยเป็นลูกผสม โดยมีอาคารสามเหลี่ยมทรงจั่วของยุ้งเป็นจุดเริ่มต้น มีส่วนร้านอาหารที่มีเล่นภาษา Post-modern ใช้แนวโค้ง Arch และปิดท้ายด้วยอาคารที่ดูเหมือนเป็นโรงนา Factory”

Something More : ด้วยความที่อาคารยุ้งเดิมค่อนข้างทรุดโทรมมาก ทางสถาปนิกจึงจำเป็นต้องทุบและสร้างเป็นอาคารยุ้งหลังใหม่ แต่ในการออกแบบก่อสร้างเลือกใช้วิธีการดั้งเดิมของอาคารเก่าไว้ทั้งหมด เช่น โครงสร้างหลังคา และผนัง

วางผังตรงไปตรงมาแต่ซ่อนความ ‘กำกวม’

“เราตีความหมายของการเอาสิ่งเก่าและใหม่มาผสมกัน สุดท้ายผมมองเป็นคำว่า กำกวม งานสถาปัตยกรรมหรืองานศิลปะที่ดี มันควรจะมีที่ว่างให้คนมาเสพ ให้คนมาใช้ เกิดการตีความ เกิดความรู้สึก ซึ่งมันจะเกิดความสนุกที่เขาพยายามทำความเข้าใจในอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นภายในสถานที่ด้วยตัวเอง”

ถึงแม้การวางผังจะต่อเนื่องตรงไปตรงมา แต่คำว่า ‘กำกวม’ ที่สถาปนิกเล่าถึงถูกเอามาใช้เป็นพื้นฐานคร่าวๆ ในรายละเอียดของการออกแบบส่วนต่าง ๆ เกิดเป็นระนาบมากมายของงานสถาปัตยกรรมตั้งแต่ส่วนอาคารยุ้ง ปล่องไฟ และอาคารร้านอาคารที่มีระนาบมาสอดแทรกประสาน แบ่งแยกจากกันด้วยสี และหากมองจากทางเข้าภายนอก คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นอาคาร 2 ชั้น แต่เมื่อเราเดินเข้าสู่ภายใน ตัวร้านอาหารเป็นเพียงพื้นที่ชั้นเดียว ที่เปิดอาคารบางส่วนในแบบ Double Volume และมีช่องเปิดทรงโค้งเป็นตัวนำแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่

แปลนอาคารชั้น 1
แปลนอาคารชั้น 2

ถัดมาจากส่วน Double Volume ระยะเพดานถูกกดให้ต่ำลงและออกแบบเป็น Skylight ที่สอดคล้องกับการมองเห็นแนวทางเดินคอร์ริดอร์ที่อยู่ภายนอก ต่อเนื่องไปยังโซนที่นั่งเอาท์ดอร์และแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางเดินคอร์ริดอร์นี้เองทำหน้าที่เป็นตัวบดบังไม่ให้อาคารถูกมองเห็นได้ง่ายเกินไปจากพื้นที่ภายนอกฝั่งแม่น้ำ

อินทีเรียที่คิดต่อจากการออกแบบอาคาร
ความกำกวม และพื้นฐานครอบครัวคนมอญ

ในส่วนของอินทีเรียทำงานควบคู่กับส่วนของอาคารภายนอก ความกำกวม ที่ไม่ได้ชัดเจนในดีไซน์เดียวจึงถูกนำมาเล่นในการออกแบบอินทีเรียไปด้วย Elements ต่างๆ รวมไปถึงการดีไซน์ตัว Furniture Layout ที่นักออกแบบภายในมีการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวหลายกลุ่ม หลายสีและหลายรูปทรง มาทำให้แต่ละมุมให้บรรยากาศในการนั่งที่แตกต่างกัน รวมถึงกรูฟไลน์ต่างๆ ของการแบ่งแมททีเรียล เกิดเป็นเส้นสายของงานพื้น บาร์ และกำแพง

เฟอร์นิเจอร์แต่ละมุมจัดวางสอดคล้องไปกับฟังก์ชัน มีตั้งโต๊ะขนาดใหญ่สำหรับครอบครัว ที่นั่งริมที่เป็นแบบ built-in หรือส่วนที่นั่งริมหน้าต่างที่เป็นชุดเฟอร์นิเจอร์สเกลเตี้ยเพื่อให้กลายเป็นที่นั่งชิลริมน้ำ รวมไปถึงตัวไฮไลท์อย่างโต๊ะใหญ่บริเวณหัวมุม ที่ออกแบบให้กลายเป็นโซน VIP ที่มองเห็นมุมโค้งแม่น้ำได้พอดี

แพทเทิร์นต่างๆ ของงานวัสดุที่นำมาใช้งานอินทีเรียดีไซน์

อีกหนึ่ง elements ที่ทางทีมอินทีเรียหยิบมาใช้ออกแบบ คือผ้าสไบมอญซึ่งเป็นพื้นเพของครอบครัวฝ่ายภรรยาที่ถูกถอดความ จากลวดลายมาใช้เป็นส่วนต่าง ๆ อย่างเส้นสายหินบริเวณเคาน์เตอร์บาร์ที่แกะงานกราฟฟิกมาจากผ้าสไบมอญจริงๆ  หรืองาน Sculpture แบบ Custom-made “เราปรับสเกลและทำให้ดูโมเดิร์นขึ้น เพราะฉะนั้นมันจะไม่ได้ดูแล้วเห็นและรู้สึกว่ากลายเป็นเรือนไทย เรือนมอญ แต่มันมี Hint อะไรบางอย่างซ่อนอยู่”

“ผมเชื่อสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า กาลเทศะ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ สถานการณ์ และ ความตั้งใจในการออกแบบร้านอาหารนั้นๆ บางร้านเขาอาจต้องการสร้างมาเพื่อสร้างผลกำไรแล้วโอเคมากกับการปิดตัวลงในระยะสั้น แต่สำหรับ ยุ้ง7 เราเข้าใจตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นความผูกพันและหวงแหนในสถานที่ที่เป็นสมบัติของครอบครัวมาก่อน ความตั้งใจของเจ้าของเลยเป็นความต้องการสร้างอะไรที่อยู่ได้นาน และช่วยทำให้เขาภูมิใจกับที่ตรงนี้ได้มากขึ้น การออกแบบของเราเลยเป็นการผสมผสานความตื่นตาตื่นใจให้เป็นไวรัลในยุคปัจจุบัน เข้ากับการทำให้อาคารเหล่านี้มันสามารถมีชีวิตอยู่ได้แบบต่อเนื่องไปยาว ๆ”

ยุ้ง 7 Eatery & Lifestyle เปิดให้บริการทุกวัน
จ.-พฤ.11.00-22.00น.
ศ.-อา.11.00-23.00น.

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้