SEEN HOUSE
บ้านคราฟต์ไม้ริมน้ำ ที่เก็บภาพทรงจำผ่านแสงและเงา

หากให้นึกถึงภาพจำบ้านของตัวเอง คุณจะนึกถึงอะไร? 

บางคนอาจนึกถึงมุมโปรดส่วนตัว หรือบางคนอาจนึกถึงพื้นที่ส่วนรวมของบ้าน บางคนอาจนึกถึงเพียงมุมเดียว ในขณะที่บางคนสามารถเล่าเรื่องราวของบ้านได้ทั้งหลัง ซึ่งสำหรับ SEEN HOUSE บ้านหลังนี้กลับถูกออกแบบให้สร้างภาพจำใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบ จากความตั้งใจของผู้ออกแบบ คุณเติ้ล – เผดิมเกียรติ สุขกันต์ และทีมสถาปนิกจาก Studio Miti

1 บ้าน 2 ครอบครัว 3 รุ่น

คุณเติ้ล – เผดิมเกียรติ สุขกันต์ สถาปนิกผู้ออกแบบ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบ้านที่เกิดจากเจ้าของอย่าง คุณหนึ่ง-ดิษฐวัฒน์ เตียพิบูลย์ ซึ่งต้องการสร้างบ้านสำหรับครอบครัวขยาย 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวที่มีคุณแม่อยู่ร่วมกับน้องสาว และครอบครัวของตัวเองที่ปัจจุบันประกอบด้วย ภรรยาและลูกๆ อีก 2 คน ซึ่งหลังจากคุณหนึ่งได้ค้นหาข้อมูลและทำความเข้าใจตัวเองแล้ว ก็ได้เอาความเข้าใจนั้นมาหาสถาปนิก จึงเป็นที่มาของการนำ ‘ไม้ – สัจจะวัสดุ – ความโปร่งโล่ง – บรรยากาศธรรมชาติ – การถ่ายรูป’ ซึ่งเป็นความชอบทั้งหมดของเจ้าของ มาปรุงใส่บ้านหลังนี้

คุณเติ้ล - เผดิมเกียรติ สุขกันต์ สถาปนิกจาก Studio Miti

จากแนวคิดเรือนไทยสู่การออกแบบบ้านสมัยใหม่

หลังจากที่เราเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านที่ดูสงบและร่มรื่น ไม่นานนักภาพของรั้วไม้โปร่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้าน SEEN HOUSE ก็ค่อยๆ ปรากฏให้เราเห็น และเมื่อมาถึงหน้าบ้าน จึงสังเกตเห็นว่าแต่ละองค์ประกอบของบ้านหลังนี้ ได้ถูกจัดวางอยู่รวมกันอย่างเรียบง่ายและลงตัว ทั้งเหล่าไม้ยืนต้นเดิม, รั้วไม้สานเป็นลายตาราง, โรงจอดรถภายใต้กรอบเสาและหลังคาสี่เหลี่ยม ที่มาพร้อมทางลาดเชื่อมไปยังประตูหลัก รวมถึงตัวบ้านที่ถูกยกใต้ถุนสูงขึ้น เนื่องจากสถาปนิกต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย และทำให้ลมจากทิศใต้สามารถพัดผ่านเข้าสู่ใจกลางบ้านได้อย่างทั่วถึง

บ้านหลังนี้ถูกวางผังด้วยแนวคิด ‘บ้านไทยพื้นถิ่น แบบเรือนหมู่’ ที่ถูกนำมาถอดรหัสให้มีความโมเดิร์นมากขึ้น โดยแยก Mass อาคารออกเป็น 2 ก้อน ก่อนจะเชื่อมกันตรงกลางด้วยพื้นที่ส่วนกลางและ Courtyard ออกมาเป็นผังรูปตัวยู (U) ที่ถูกวางในทิศทางสัมพันธ์กับแดด ลม ฝน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบ้านไทยพื้นถิ่น

“ผมคิดว่าคนเรามักต้องการความเป็นส่วนตัวเสมอ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่กันหลายคน ดังนั้นเราเลยแยก Mass อาคารออกนิดนึง สร้างระยะที่ไม่ใกล้ ไม่ไกล ทำให้เขาสามารถมองเห็นกันได้ผ่าน Courtyard เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อกัน”

หลังจากเปิดประตูก้าวเข้าสู่ตัวบ้าน จะพบกับโถงต้อนรับหรือ Foyer ที่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ Semi-Outdoor พร้อมเปิดรับความโปร่งโล่งผ่านผนังช่องลมและช่องแสงบนหลังคา สำหรับโซนด้านหน้านี้ สถาปนิกได้วางฟังก์ชันให้เป็นพื้นที่ของครอบครัวคุณแม่และน้องสาว ซึ่งง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึง โดยฝั่งซ้ายถูกจัดให้เป็นส่วนห้องนอน ที่มีการกั้นประตูทางเดินเพิ่มเพื่อเสริมความปลอดภัย และฝั่งขวาเป็นห้องครัวและพื้นที่ซักล้าง

ถัดจากโซนของคุณแม่ จะเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ทั้งสองครอบครัวได้มาใช้เวลาพักผ่อนหรือรับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมกับเปิดรับวิวของ Courtyard ด้านซ้าย ซึ่งเป็นความตั้งใจของสถาปนิกที่เลือกวาง Courtyard หันไปทางทิศเหนือ เพื่อเปิดทางให้ลมพัดความเย็นสบายเข้าสู่ตัวบ้าน

เมื่อเดินลงบันไดมา จะพบกับโซนของครอบครัวคุณหนึ่ง ซึ่งต้อนรับด้วยห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อพื้นที่โซฟา, โต๊ะรับประทานอาหาร และ Pantry เข้าไว้ด้วยกัน โดยสถาปนิกวางพื้นที่นี้ให้ชิดกับน้ำมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยสัมผัสกับบรรยากาศของบ้านริมน้ำได้มากที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเด่นของบริบทพื้นที่โครงการ ขณะเดียวกันก็ออกแบบบานประตู ให้สามารถสไลด์เก็บไว้ที่ด้านขวาทั้งหมด เพื่อเปิดรับลมและวิวของน้ำอย่างไร้การบดบัง ต่อเนื่องไปยัง ‘พื้นที่ชาน’ เชื่อมต่อระหว่างน้ำกับคน และนอกจากห้องนั่งเล่นแล้ว พื้นที่ชั้น 1 ยังมีห้องครัวหลัก ที่ถูกกั้นไว้ด้านที่ติดกับ Pantry และห้องทำงานลับที่ถูกซ่อนไว้หลังผนังไม้อีกด้วย

“ผมคิดว่าการนำพื้นที่ใต้ชายคามาต่อเติมเป็นระเบียง จะช่วยสร้างประโยชน์ได้มาก เพราะทำให้ตัวบ้านมีพื้นที่กว้างและดูใหญ่ขึ้น ซึ่งสำหรับบ้านหลังนี้ เราได้นำม่านมูลี่มาใส่ในดีไซน์ด้วยตั้งแต่แรก เพื่อให้พื้นที่ช่องว่างตรงนี้ ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ภายในหรือภายนอก แต่เป็น ‘พื้นที่ระหว่างภายในและภายนอก’ ที่ทำให้พื้นที่ดูยืดหยุ่นมากขึ้น แถมยังช่วยลดทอนแสงลงอีกด้วย” – สถาปนิกเล่าถึงการออกแบบระเบียงทางเดิน

อีกหนึ่งภาษาของแสงและเงา

“มันตลกตรงที่ เจ้าของใช้คำว่า Scene ที่แปลว่า เฟรมภาพ หรือฉากภาพ แต่ด้วยวิธีการเล่าปากเปล่า ผมเลยเข้าใจว่าเป็น Seen ที่หมายถึงการทำให้ถ่ายรูปได้ไม่มีวันจบ เลยเอาความเข้าใจนี้มาดีไซน์ โดยทำบ้านให้มีมุมถ่ายรูปหลายๆ มุม ซึ่งแต่ละมุมก็สามารถถ่ายรูปได้ไม่ซ้ำกันตลอดทั้งปี”

‘แสงและเงา’ เปรียบเสมือนหัวใจของการถ่ายภาพ เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ ที่สถาปนิกได้ออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมกับทิศทางของแดดและลม ภายใต้ความเชื่อที่ว่าหากเราวางบ้านถูกทิศทางและนำดีไซน์บางอย่างมาช่วย ความงามของแสงก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

“มีช่วงหนึ่งที่เราชอบใช้ระแนงแนวตั้ง ซึ่งเงาที่ได้ก็จะเป็นเส้นๆ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมาทำเป็นช่องตาราง ก็ทำให้ได้เงาออกมาเป็นอีกแบบ ที่ไม่ได้มีแค่ระนาบสันแนวตั้ง แต่ยังมีระนาบแนวนอนมารับด้วย ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเอฟเฟกต์ที่น่าสนใจ ก็เลยลองเอาภาษานี้มาใช้เป็นเครื่องมือจัดการแสงและเงาในทุกส่วนของบ้าน”

สถาปนิกเล่าถึงที่มาของ ‘ระนาบช่องแสง’ หนึ่งในจุดเด่นของบ้าน ที่ถูกประกอบจากชิ้นไม้ให้เป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส และเพื่อสร้างภาพจำใหม่ๆ ไม่ซ้ำกัน ด้วยองศา, ความเข้ม, สีของแสงและเงา ที่เปลี่ยนไปตามการหมุนเวียนของวัน เดือน ปี

ที่น่าสนใจกว่านั้น สถาปนิกยังได้เสริมฟังก์ชันกันยุงและแมลง ให้กับระนาบช่องแสงบริเวณชั้น 2 ซึ่งกั้นระหว่างทางเดินหน้าห้องนอนกับ Courtyard เล็กๆ ด้วยการติดตั้งกระจก 2 ชั้น และนำแผ่นอะคริลิกมาเสียบตรงกลางในแนวนอน ซึ่งสามารถเลื่อนเปิด-ปิดการรับลมได้ตามต้องการ และยังถอดออกมาทำความสะอาดให้ใสแจ๋วได้อยู่เสมอ

ซึ่งนอกจากระนาบช่องแสงเหล่านี้แล้ว ยังมีโชว์การแสดงของแสงและเงาในส่วนอื่นๆ ของบ้าน ที่สะท้อนเงาของต้นไม้และธรรมชาติรอบๆ ส่องเข้ามายังตัวบ้านให้รับชมกันอีกด้วย

การเล่นสนุกระหว่างเจ้าของและสถาปนิก

“ในวันที่เจ้าของมาหาเรา ผมคิดว่าเขากำลังค้นหาอะไรบางอย่างอยู่ ในขณะเดียวกันผมก็กำลังเล่นสนุกกับทิศทางการออกแบบ ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงเป็นตัวอย่างของการปล่อยให้เด็กซนสองคนมาเจอกัน”

บ้านคราฟต์ เป็นอีกหนึ่งนิยามสำหรับบ้านหลังนี้ เพราะไม่ว่าจะมองไปยังมุมไหนของบ้าน ก็จะพบกับเหล่าดีเทลสุดแปลกตา ที่ล้วนมาจากการความช่างคิด ช่างทำของทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิก

งานไม้ วัสดุหลักของบ้าน ที่เจ้าของได้เสาะหาและคัดสรรมาเป็นพิเศษ อย่าง ไม้แดง, เต็ง, มะค่า, สัก, ประดู่ รวมถึงไม้เบญจพรรณอื่นๆ โดยนำไม้เหล่านี้มาใช้ออกแบบตั้งแต่โครงสร้างไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน เช่น 

‘หลังคาปั้นหยา’ ที่สถาปนิกตั้งใจเปิดโชว์โครงสร้างหลังคาไม้ซีดาร์ให้เห็น และทดลองออกแบบหลังคาให้มีองศาไม่เท่ากัน โดยให้ด้านทิศใต้และตะวันตกมีพื้นที่หลังคาน้อยกว่า เพื่อลดแสงแดดและความร้อนที่แผ่เข้าสู่ตัวบ้าน

‘ประตูไม้บานสไลด์’ นอกจากลักษณะบานที่ซ้อนกันหลายชั้น และรางขนาดหนากว่าทั่วไปแล้ว สถาปนิกยังออกแบบให้รางด้านข้างสามารถประกบกับประตูได้อย่างสนิท ทำให้ไม่ต้องกังวลกับเหล่าแมลงต่างๆ รวมถึงยังใช้บานจับขนาดเล็กพิเศษ ที่ดูกลมกลืนไปกับกรอบบานไม้อีกด้วย

‘หน้าต่างบานกระทุ้ง’ อีกหนึ่งแรร์ไอเทมของงานไม้ ที่สามารถเปิดได้มากถึง 90 องศา ซึ่งต่างจากสินค้าทั่วไปในท้องตลาด โดยเจ้าของบ้านได้เสนอไอเดีย ให้ติดตั้งโช้คอัพแก๊สที่มักติดตั้งในยานพาหนะ แทนโช้คอัพประตู-หน้าต่างแบบปกติ ทำให้นอกจากจะเปิดกว้างได้ดั่งใจแล้ว ยังเกิดเอฟเฟกต์การสวิงที่ดูเท่ไม่เบา

สำหรับ ‘ผนังฉาบปูน’ ที่เราเห็นว่าดูเรียบง่าย ไม่ได้แปลกตาไปซักเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้วได้มีการใช้เทคนิคฉาบผิวแบบพิเศษ ที่ทำให้เห็นผิวสัมผัสของเม็ดทรายในผนังมากกว่าทั่วไป เมื่อแสงตกกระทบบนผิวผนัง ยิ่งทำให้ผนังดูมีวอลลุ่มและละมุนมากขึ้น จนกลายเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของบ้าน

“สำหรับเอกลักษณ์พิเศษของบ้าน ผมคิดว่าบ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนความพอดีระหว่างเส้นการทดลองกับเส้นของความเป็นจริง ระหว่างทางเราสำรวจ ค้นหากันเยอะ โดยนำมาทดลองปรับเล่นกับวัสดุ เล่นกับจังหวะ ทุกๆ แพทเทิร์นที่มันจะเกิดขึ้น พวกผมชอบคิดจากคำว่าน่าจะเป็นไปได้ มันมีแต่สมมติฐานว่าน่าจะเป็นไปได้ กระดาษ Drawing ก็เป็นหนึ่งในไกด์ไลน์ แต่ตอนทำจริงก็มีการปรับและรับฟังกัน 

ผมอาจจะทดลองแล้วซ้ำกับคนอื่น แต่ผมว่างานดีไซน์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันคือการทดลองที่เข้ากันกับความชอบของเราและเจ้าของ และสิ่งที่เป็นหัวใจของงาน คือ การยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างผู้ออกแบบและเจ้าของบ้าน เพื่อรักษาบาลานซ์ให้เราสามารถมองภาพไปในทางเดียวกันได้”

สำหรับ SEEN HOUSE บ้านหลังนี้อาจเป็นเหมือนอัลบั้มภาพ ที่บันทึกเรื่องราวและความทรงจำระหว่างสถาปนิก, ช่างฝีมือ, เจ้าของบ้าน และสมาชิกในครอบครัว ในช่วงเวลาที่ได้มาก่อร่างสร้างบ้านร่วมกัน และยังคงบันทึกภาพทรงจำใหม่ๆ ของผู้อยู่อาศัยอีกต่อไปในอนาคต

Location: จังหวัดนนทบุรี
Built Area: 550 ตารางเมตร
Completion Year: 2022
Client: คุณดิษฐวัฒน์ เตียพิบูลย์
Architects: คุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์, คุณธันวา จันทรเสนา จาก Studio Miti
Interior Designers: คุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์, คุณชไมพร ละม้ายพันธุ์, คุณอัชพร ชำนาญจักร์ จาก Studio Miti
Landscape Designer: คุณโชคชนะ ไชยฮ้อย
Engineer: คุณเจษฎาพงศ์ จำเดิม

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์