เพราะหุบเขา หรือต้นไม้สองข้างทางที่เขียวชะอุ่ม คือวัตถุดิบหลักที่ทำให้เรานึกถึงปลายทางแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างเขาใหญ่ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทีมสถาปนิกจาก urban praxis ผู้ออกแบบ MYS hotel โรงแรมเปิดใหม่ระดับ hi-end จึงชวนเรามาสัมผัสกับบรรยากาศเหล่านี้ ด้วยการหยิบข้อดีของบริบทที่ดินเดิมมาดีไซน์ด้วยแนวคิด ‘Into the Woods’ เพื่อให้การใช้งานอาคารกลมกลืนไปกับบริบทธรรมชาติ และพาเหล่านักท่องเที่ยวเข้าไปในบรรยากาศสดชื่นของป่าด้วยการออกแบบกลุ่มอาคารที่สร้างบรรยากาศแตกต่างกัน
“เราไม่อยากให้ความลักชูรี่ถูกตีความว่าต้องอยู่แต่ในห้องแอร์เท่านั้น อาจจะยอมเดินตากฝนได้บ้างเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ รู้ว่าวันนี้แดดออก หรือวันนี้อากาศหนาว” สถาปนิกกล่าว
บ้านน้อยในป่าใหญ่
(จัดกลุ่มอาคารให้กระจายในแนวราบ)
โครงการตั้งอยู่ในทำเลดี ติดถนนธนะรัชต์ ซึ่งเป็นย่านในเมืองใกล้เขาใหญ่ ถึงจะมีขนาดที่ดินไม่ใหญ่นักแต่ก็ห้อมล้อมไปด้วยวิวภูเขาและธรรมชาติ ทีมสถาปนิกจึงต้องการให้บรรยากาศภายในโรงแรมมีความเป็นส่วนตัว ลดความวุ่นวายจากถนนภายนอก “เราเสนอว่าจะทำห้องพักจำนวนน้อย แต่มีขนาดห้องค่อนข้างใหญ่ เราจัดกลุ่มอาคารกระจายให้มากที่สุด ไม่ขึ้นเป็นตึกสูง ๆ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเหมือนอยู่กระท่อมในป่า”
หากนำอาคารแต่ละหลังกระจายตัวในแนวราบทั้งหมดจะทำให้เสียพื้นที่และได้ห้องน้อยมากบนพื้นที่ดิน จึงจำเป็นต้องมีบ้านบางส่วนที่ถูกจับรวมขึ้นเป็นอาคาร ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีการดีไซน์ไม่ให้กลุ่มบ้านเหล่านั้นรู้สึกคล้ายตึกสูงแต่เป็นการนำวิลลาแต่ละหลังมาซ้อนกัน และเปิดมุมมองให้แลนด์สเคปเป็นตัวเด่นแทนที่อาคาร เมื่อถึงเวลาที่ต้นไม้ที่ปลูกไว้เริ่มโต เราน่าจะได้เห็นบรรยากาศของโรงแรมที่มีพื้นที่สีเขียวโอบล้อมเสมือนป่าจริงๆ
เนื่องจากกฏหมายผังเมืองเขตนครราชสีมามีข้อกำหนดห้ามก่อสร้างอาคารเกิน 2,000 ตารางเมตร วิลลาน้อยใหญ่จึงถูกนำมาเรียง Stack ซ้อนกันขึ้นไป 3 ชั้นและแบ่งย่อยออกเป็น 2 อาคาร โดยจัดวางอยู่ด้านหน้าพื้นที่โครงการเพื่อโอบล้อมสร้างสเปซพื้นที่สีเขียวที่ใจกลาง ส่วนห้องต่าง ๆ ภายในอาคารเหล่านี้จะถูกแบ่งเป็น Room type ที่แตกต่างกันด้วยบรรยากาศและวิวบนขนาดพื้นที่ห้อง 61 ตารางเมตรเท่ากันตั้งแต่ห้อง Deluxe, Cozy Suite, Garden Terrace และ Garden View
วิลลาแต่ละหลังออกแบบเหมือนเป็นบ้านน้อยที่มีธรรมชาติแทรกอยู่ในทุกห้องสลับกันไป โดยแต่ละห้องจะมีคอร์ดยาร์ดเอาท์ดอร์สำหรับปลูกต้นไม้ที่ให้บรรยากาศกึ่งๆ Glamping หรือบางห้องก็สามารถมีโซนสวนเอาท์ดอร์ที่ออกมานั่งเล่นได้ ในขณะที่ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในครบครันตามแบบฉบับโรงแรม 5 ดาว และผู้ออกแบบยังดีไซน์คอร์ริดอร์ทางเดินทั้งหมดในโครงการเป็น single load corridor เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินผ่านธรรมชาติก่อนเข้าไปถึงห้องพักส่วนตัว
ห้อง Cozy Suite ขนาด 61 ตารางเมตร
บรรยากาศที่ล้อไปกับสโลปเนินดิน
ส่วนอาคารที่อยู่ระหว่างห้องพัก 3 ชั้นทั้ง 2 อาคารนี้ คือ ส่วนล๊อบบี้ใจกลางและสระว่ายน้ำที่ยกลอยขึ้นฟ้าสู่ชั้น 2 พร้อมเป็นกระจกใสเกรดอควาเรียมที่ปลอดภัยและกลายเป็นไฮท์ไลท์แรกเมื่อแขกมาเยือน สระว่ายน้ำไล่ระดับลงตามเนินดินไปบรรจบกับสนามหญ้าแลนด์สเคปผืนกว้าง พร้อมเชื่อมต่อไปยังบ้านพักพูลวิลลาขนาด 106 ตารางเมตร จำนวน 6 หลังที่วางสลับกันไปตามบริบทเดิมของเนินดิน พร้อมหันหน้าเข้าสู่วิวภูเขาและป่าด้านหลังอย่างเป็นส่วนตัว
ลานแลนด์สเคปที่ใจกลางยังทำหน้าที่ไหลเชื่อมพื้นที่อาคารขึ้นสู่ชั้นสองด้านบน เพื่อเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดให้ดูกลมกลืนในแนวราบ และยังเป็นการเตรียมพื้นที่ให้มีฟังก์ชันที่สามารถจัดงานอีเวนท์อย่างงานแต่งงาน หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ ได้เช่นกัน ส่วนปลายสุดด้านขวาเป็นวิลลาหลังใหญ่ที่เอ็กคลูซีฟที่สุดในโครงการแยกออกไปอย่างเป็นส่วนตัว โดยเป็นบ้านหลังใหญ่สำหรับกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัวใหญ่ที่ต้องการมาสังสรรค์ร่วมกัน
“ล๊อบบี้ตรงกลาง เกิดจากไซต์มีสโลปจากเนินดินอยู่ประมาณนึง และเป็นตะกอนเศษหินเชิงเขาที่ไม่สามารถเจาะลงไปที่พื้นได้ เราเลยยกสระว่ายน้ำขึ้นไปที่ชั้นสอง และดีไซน์ให้มีบันไดยาวพาดกลับมาจากเนินดินทางด้านหลัง Sky Pool จึงเป็นเหมือนพาร์ทนึงของเนินดินในโครงการ และด้วยความที่เจ้าของอยากให้โรงแรมมีบรรยากาศของความตื่นเต้นและผจญภัยนิด ๆ ถึงแม้จะอยู่สบาย เราจึงออกแบบให้ส่วนนี้เปิดรับกับธรรมชาติ ด้วยการทำโครงสร้าง Cantilever และพยายามทำให้มีส่วนของเสาน้อยที่สุด โดยมีแค่เสาตัว V รับอยู่ 3 เสาเพื่อเปิดโล่งจากทุกทิศ และออกแบบให้สระตรงนี้มันรู้สึกเชื่อมโยงกับพื้นและท้องฟ้าด้วยความโปร่งใสมากที่สุด”
Something More : สำหรับอาคารส่วนห้องพัก วัสดุ Cladding ถูกเลือกใช้เป็นหินเทียมชนิดพิเศษที่มีความบางแค่ 6 มิลลิเมตร เพื่อให้ได้งานวัสดุที่เท็กเจอร์เสมือนหินจริง ในขณะที่มีความบางและน้ำหนักเบา
เมื่อฟังก์ชันหลัก ๆ ของอาคารถูกยกไปไว้ที่ชั้น 2 บางส่วนของชั้น 1 จึงสามารถซ่อนเซอร์วิสหลอกตาเหมือนเป็นอาคารกึ่งใต้ดิน เพื่อให้ส่วนเซอร์วิสแบ่งสัดส่วนจากพื้นที่แขกอย่างชัดเจน
นอกจากนั้นภาษาของสถาปัตยกรรมที่ผู้ออกแบบเลือกใช้ยังบ่งบอกฟังก์ชันได้อย่างชัดเจน โดยเราจะสังเกตได้ว่า หากเป็นวิลลาห้องพัก ตัวหลังคาจะถูกออกแบบในลักษณะ Lean-to Roof ในขณะที่ฟังก์ชันส่วนกลางอื่น ๆ อย่างเช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือล๊อบบี้หลัก ตัวอาคารจะถูกออกแบบเป็นกระเปาะห้องกระจกทรงโค้ง หรือการเลือกใช้เส้นสายออร์แกนิกที่ไหลไปตามธรรมชาติ ด้วยความตั้งใจอยากให้ฟอร์มอาคารดูลอยและเป็นส่วนหนึ่งกับต้นไม้ใหญ่ที่ถูกปลูกกระจายไว้โดยรอบ “เมื่อต้นไม้เหล่านี้โตมากพอ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กลางป่า ในขณะที่ยังคงบรรยากาศลักชูรี่ไลฟ์สไตล์ไว้ได้”
แม้แต่งานอินทีเรียเอง ก็นำแนวคิด ‘Into the Woods’ มาตีความต่อให้ล้อไปกับคอนเซ็ปภาพรวม โดยพยายามเลือกใช้วัสดุหลักจากไม้ที่ให้บรรยากาศโคซี่เป็นธรรมชาติ และจัดผังในแต่ละห้องให้มองไปเห็นวิวสวนหรือแลนด์สเคปที่ดีไซน์ไว้ เพื่อให้แขกรู้สึกเสมือนได้มานอนท่ามกลางป่าและธรรมชาติจริงๆ เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนกลาง ที่เลือกใช้ฟอร์มเฟอร์นิเจอร์โค้งมน เพื่อให้ภาพรวมของพื้นที่ดูโปร่ง โล่งรับกับ Sky Pool ได้อย่างลงตัว
บางครั้ง ‘ความหรูหรา’ ที่เราต้องการในการไปเที่ยวพักผ่อนสักหนึ่งครั้งอาจเป็นเพียงความสะดวก หรือการบริการที่สร้างความประทับใจ ที่เหลือแค่ปล่อยให้ร่างกายได้สัมผัสธรรมชาติหรือสภาพอากาศที่เป็นไปตามวิถีที่ควรจะเป็น เท่านี้ก็เติมเต็มประสบการณ์พักผ่อนแบบลักชูรี่ไลฟ์สไตล์ไปพร้อมกับการได้ใกล้ชิดธรรมชาติแทรกด้วยบรรยากาศความตื่นเต้น ผจญภัย และความผ่อนคลายครบรสที่รวมอยู่ใน MYS Hotel khaoyai ตามความตั้งใจแรกของผู้ออกแบบและเจ้าของ
Location: Khaoyai, Pakchong, Thailand
Project Management: Manmade Interior Co., Ltd.
Construction Management: AE.Asia Co.,Ltd.
Architect Firm: Urban Praxis Co., Ltd.
Architects Team: Suchada Kasemsap, Sasiwimol Utaisup, Narumol Charoencharatkun, Attaporn Palawattanakul
Interior Designers: Apichaya Krongboonying and Kalunyoo Sipiyaruk
Lighting Designer Firm: SEAM Design
Landscape Architect: Magla Landscape Co.,Ltd.
Structural Engineer: Supol Techanakara, Thawatchai Pengsuwa, Ruethaitip Kerdperm, Pongsiri Prechapongkit
Civil Engineer: Wandee Boonsom
MEP Engineer: Thirachart Channgam
Electrical Engineer: Narongrit Thammapradit
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!