‘ฝาง’ อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกโอบล้อมด้วยผืนป่าและขุนเขา มีเสียงจากลำธารสอดประสานกับจังหวะเอนตัวไปมาของต้นข้าวในทุ่งนา เคล้าคลอกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คน ชวนให้อยากมาลองใช้ชีวิตปล่อยใจสบายๆ กับบรรยากาศเหล่านี้สักครั้ง เช่นเดียวกับเจ้าของคาเฟ่ COMPLEMENT ที่เลือกกลับบ้านเกิด พร้อมหอบความหวังและใจรักกาแฟ มาก่อร่างสร้างคาเฟ่ Standalone แห่งใหม่ในฝาง ร่วมกับสตูดิโอออกแบบที่เราคุ้นเคยชื่อกันดีอย่าง Pommballstudio
สมาชิกใหม่ในเมืองเล็ก
“โจทย์แรกที่ได้รับคือ ลูกค้าอยากทำคาเฟ่ประจำอำเภอ ซึ่งด้วยความที่ฝางอาจจะยังไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวมาก ผู้ใช้งานหลักจึงเป็นคนในท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย ไม่ได้มีแค่วัยรุ่น แต่ยังมีกลุ่มครอบครัว ผู้แก่ผู้เฒ่า และเด็กด้วย เราเลยตีโจทย์ออกมาว่าสเปซที่จะเกิดขึ้นต้องหลากหลายตาม และเนื่องจากที่ฝางยังไม่มีคาเฟ่ขนาดใหญ่แบบนี้มาก เราเลยรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับที่นั่น ดังนั้นตัวอาคารที่ออกมาจึงต้องสร้างอิมแพคพอสมควร”
คุณชาติ – ธนชาติ สุขสวาสดิ์ สถาปนิกจาก Pommballstudio เล่าถึงแนวคิดการออกแบบที่เน้นฟังก์ชันตอบโจทย์ผู้คนหลากหลายกลุ่ม ดังนั้นเราจึงเห็นว่าพื้นที่คาเฟ่ค่อนข้างกว้างมีที่นั่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพื่อตอบรับกับสภาพอากาศตลอดปีของฝาง อย่างช่วงฤดูร้อนก็สามารถไปนั่งหลบแดดข้างในได้ หรือฤดูฝนและหนาวก็สามารถมานั่งข้างนอก จิบกาแฟ ดื่มด่ำกับบรรยากาศเย็นสบายได้เช่นกัน
ในขณะเดียวกันคาเฟ่ต้องมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาทำความรู้จัก ดังนั้นสถาปนิกจึงเลือกที่จะใช้ ‘ระนาบมุมโค้งตัวแอล (L)’ มาเป็นคีย์หลักในการออกแบบ เพราะถึงแม้ว่าผนังหรือระนาบมุมโค้งจะเห็นได้ทั่วไปในดีไซน์โมเดิร์น แต่สำหรับเมืองฝางที่ยังคงนิยมรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอยู่ องค์ประกอบนี้จึงถือได้ว่าเป็น ‘ของใหม่’ ชวนสะดุดตาน่ามอง ทั้งยังสะดวกต่อการก่อสร้างสำหรับช่างท้องถิ่น
หากเราสังเกตจะเห็นว่าสถาปนิกใช้ระนาบมุมโค้งเหล่านี้ในการนำพาสเปซและสายตาของผู้คนให้ส่งต่อจากบริเวณถนนทางเข้าไปยังตัวอาคาร โดยวางมุมระนาบของกำแพงและผนังต่างๆ ให้รับส่งต่อเนื่องกันไปทีละสเต็ป รวมถึงยังใช้กับองค์ประกอบแต่ละส่วนภายในร้าน เช่น เคาน์เตอร์, ฝ้า และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
การแปลงโฉมของอิฐบล็อกธรรมดา
หลังจากที่ได้คีย์หลักในการออกแบบ สถาปนิกหาวัสดุหลักที่จะเสริมให้ระนาบเหล่านี้ดูพิเศษขึ้น ซึ่งนั่นคือ ‘อิฐบล็อก’ วัสดุแสนธรรมดาที่เห็นได้ทั่วไป ซึ่งถูกนำมาเรียงใหม่หลายๆ รูปแบบ ตามฟอร์มระนาบมุมโค้งที่ออกแบบไว้ เพื่อสร้างภาพจำและเข้าถึงคนในท้องถิ่นได้ง่าย ประกอบกับครอบครัวของเจ้าของคาเฟ่ทำธุรกิจขายอิฐบล็อกอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถสั่งทำอิฐบล็อกขนาด 40 x 10 เซนติเมตร ซึ่งเล็กกว่าอิฐบล็อกทั่วไปที่มีขนาด 40 x 20 เซนติเมตร
สร้างการรับรู้ของสเปซ ด้วยสีที่แตกต่าง
แม้ว่าสีวัสดุที่ใช้จะมีอยู่เพียงไม่กี่สี แต่ทุกสีที่ใช้ล้วนมีความหมายในตัวเอง หากมองจากด้านหน้าเราจะเห็นองค์ประกอบต่างๆ ในส่วนนอกอาคารเป็น ‘สีดำ’ ก่อนจะไล่ไปยังผนัง ‘สีเทา’ ซึ่งเป็นสีหลักของตัวอาคาร และปิดท้ายด้วย ‘สีน้ำตาลของไม้’ ในบริเวณประตูทางเข้า ซึ่งเป็นความตั้งใจของสถาปนิก ที่ต้องการเรียงลำดับการเปลี่ยนผ่านพื้นที่ ผ่านการไล่ระดับของโทนสีจากเข้มไปอ่อนนั่นเอง
ในขณะเดียวกันสีก็ยังเป็นเครื่องมือ ที่ใช้บ่งบอกฟังก์ชันการใช้งานของทั้งพื้นที่ภายในและกึ่งภายนอก อย่างการใช้ ‘สีน้ำตาลของไม้’ เฉพาะในบริเวณที่ถูกกำหนดให้เป็นที่นั่งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะเก้าอี้, ผนังกรุไม้, ครีบไม้, พื้นหรือฝ้าเพดาน
แต่ในส่วนเคาน์เตอร์ที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ สถาปนิกเลือกใช้อิฐบล็อก ‘สีดำ’ มาเรียงกัน เพื่อสร้างความคอนทราสระหว่างพื้นที่ภายในรอบๆ และเสริมด้วยแสงธรรมชาติจากช่อง Skylight ที่ส่องลงมาตามความโค้งของรูปทรงฝ้ายิปซัม ทำให้พื้นที่บริเวณเคาน์เตอร์ดูโดดเด่นมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ลดการใช้แสงไฟดาวน์ไลท์อีกด้วย
‘สีเขียวจากต้นไม้’ ก็เป็นอีกหนึ่งสีที่ถูกนำมาแต่งแต้มให้กับบรรยากาศ รวมถึงใช้ในการบ่งบอกสเปซเช่นเดียวกับสีอื่นๆ เพราะส่วนด้านในของผนังมุมโค้งตัวอาคาร จะถูกออกแบบให้มีสวนเล็กๆ ในทุกมุม โดยต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นพืชท้องถิ่นสลับกับพันธุ์อื่นๆ บางส่วน และมีความสูงไม่มากนัก เพื่อไม่ให้บังตัวอาคารนั่นเอง
“สำหรับความท้าทายของโปรเจ็กต์นี้ เป็นเรื่องการใช้วัสดุธรรมดาให้ดูพิเศษขึ้น ด้วยรูปร่าง รูปทรงต่างๆ ที่มีการก่อโค้ง ซ่อนโครงสร้างอยู่ข้างใน และที่น่าท้าทายสุดน่าจะเป็นช่างท้องถิ่น ที่เราต้องดูแลงานก่อสร้างอย่างใกล้ชิด พยายามไปเคลียร์ดีเทลหน้างาน เพราะบางทีช่างเขาก็ดูแบบที่เขียนไปไม่เป็น
และด้วยความที่มันเป็นสิ่งใหม่มากๆ ของต่างอำเภอ บางทีเราก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าสิ่งที่เราคิด มันจะถูกจริตกับคนที่อยู่ที่นั่นหรือเปล่า แต่พอคาเฟ่เปิดก็เห็นเจ้าของบอกว่าผลตอบรับดี เราก็ดีใจ ในช่วงตอนก่อสร้าง เราก็รู้สึกประทับใจเจ้าของ ที่ช่วยเราต่อสู้ในหลายๆ เรื่อง ช่วยดูแลงาน คุยกับช่าง และส่งคำถามมาถึงเรา ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้เราได้ดีไซน์ตามแบบที่ต้องการ”
Location: Fang, Chiang Mai
Built Area: 250 sqm.
Completion Year: 2021
Client: COMPLEMENT
Architects Firm: Pommballstudio
Design Teams: Tanachat Sooksawasd, Karn Khamhaeng, Sirawit Jittiwatanaphong, Patcharin Inta
Structural Design: Pilawan Piriyapokhai
Photo Credit: PanoramicStudio
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!