ในยุคที่อะไรๆ ก็สะอาดโล่งมินิมอล นักออกแบบบางคนอาจจะรู้สึกคันมืออยากจะแต่งเพิ่มให้ห้องมีความสนุกมากขึ้นสักหน่อย แต่ยิ่งทำยิ่งมันส์จนสุดท้ายกลายเป็นของตกแต่งเต็มห้องไปเสียอย่างนั้น ซึ่งการตกแต่งในงานศิลปะและการออกแบบจนแทบไม่เหลือที่ว่างนี้มีคำนิยามอยู่เรียกว่า ‘Horror Vacui’ ในภาษาละตินแปลว่า Fear of Emptiness หรือ ความกลัวที่ว่าง นิยามคำว่า Horror Vacui ถูกนำมาใช้เป็นวงกว้างทั้งในการอธิบายธรรมชาติ กฎฟิสิกส์ หลักจิตวิทยาของมนุษย์ และถูกหยิบยกมาสู่การนิยามรูปแบบของศิลปะหรือการออกแบบที่แน่น เต็ม เอี๊ยด จนไม่เหลือที่ว่างสีขาวเลยแม้แต่นิดเดียว
การปฏิเสธความว่างเปล่า ตั้งแต่หลักฟิสิกส์จนถึงแนวคิดศิลปะ
ก่อนที่จะเกิดคำนิยาม Horror Vacui นั้น แนวคิดการปฏิเสธที่ว่างมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณผ่านหลักการ Nature Abhors a Vacuum ของอริสโตเติล (สมัยศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล) มีใจความว่า “ช่องว่างโดยสมบูรณ์นั้นไม่มีอยู่จริง เมื่อเกิดช่องว่างขึ้น สิ่งที่ขาดหายไปจะถูกธรรมชาติเติมเต็มด้วยสิ่งอื่นเสมอเพื่อให้เกิดสภาวะสมดุล ถึงแม้ว่าสิ่งที่เติมเข้าไปนั้นไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ก็ตาม” ซึ่งสามารถนำมาใช้อธิบายหลักจิตวิทยาของมนุษย์ ความว่างเปล่ามีส่วนทำให้เกิดความอ้างว้างไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอึดอัดเมื่อเพื่อนหรือแฟนนิ่งเงียบจนผิดสังเกตุ การสั่งซื้อของออนไลน์ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้อยากได้อะไร ความอ้างว้างเมื่ออยู่คนเดียว ความรู้สึกสิ้นหวังเมื่อไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต และการตกแต่งที่ว่างในบ้านเพราะว่ารู้สึกมุมนี้ยังโล่งแปลกๆ
ต่อมาคำว่า ‘Horror Vacui’ เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจากหนังสือ The Romantic Agony (ค.ศ. 1933) ของนักวิจารณ์งานศิลปะชาวอิตาลี มาริโอ้ ปราซ (Mario Praz, คศ. 1896 – 1982) ซึ่งนิยามนี้ในการวิจารณ์ศิลปะและมัณฑศิลป์ โดยเฉพาะในสมัยบาโรคถึงวิคตอเรียน (ช่วงคริสศตวรรษที่ 17-19) โดยกล่าวว่างานศิลปะและการออกแบบในสมัยนั้นเน้นการตกแต่งมากเกินไปทำให้สเปซถูกลดทอนคุณค่าลงจนไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ เป็นการใช้ทรัพยากรและเวลาอย่างสิ้นเปลือง และเครื่องประดับตกแต่งเหล่านั้นมีเพื่อความสวยงามอย่างเดียวโดยไม่ได้มีที่มาหรือความหมายใดๆ
เขาเชื่อว่าการประดับประดาเกิดจากความกังวลหรือความต้องการที่จะหาจุดประสงค์ให้กับความว่างเปล่า เป็นความพยายามที่จะนำระบบระเบียบบางอย่างมาควบคุมโลกที่มีแต่ความโกลาหลและไม่แน่นอน (Create Order out of Chaos) คล้ายกับความรู้สึกกลัวที่ว่าง Horror Vacui นั่นเอง
ความกลัวที่ว่าง แนวคิดที่สอดคล้องกับความเป็น Modernism
งานวิจารณ์ของมาริโอ้สอดคล้องกับแนวคิดโมเดิร์น (Modernism) ที่ปฏิเสธเครื่องประดับในงานสถาปัตยกรรม เน้นฟังก์ชันมากกว่าการตกแต่งที่เกินความจำเป็น ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากการวัสดุก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานจากโรงงาน (มาริโอเรียกว่า Mechanical Age) ปัจจัยต่างๆ ร่วมกันก่อให้เกิดภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน ผสมผสานระหว่างศิลปะและเทคโนโลยีได้รูปลักษณ์การออกแบบที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ วิธีการการสร้างสรรค์แบบเก่ากลายเป็นเรื่องล้าสมัย ผลงานของมาริโอ้กลายเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนควบคู่ไปกับนักออกแบบโมเดิร์นช่วงต้นคริสศตวรรษที่ 20 คนอื่นๆ เช่น งานเขียน Ornament and Crime (ค.ศ. 1910) ของ Adolf Loos, ผลงานของสถาปนิกชื่อดังอย่าง Ludwig Mies van der Rohe, Walter Gropius, Alvar Aalto, Frank Lloyd Wright, และ Theo van Doesburg
ความกลัวที่ว่างหรือเพียงแค่อยากแต่งแต้มสีสัน?
ถึงแม้ว่าเครื่ององค์ต่างๆ ที่ประดับสถาปัตยกรรมส่วนนึงจะทำขึ้นเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่างต้องใช้ความชำนาญที่ผ่านการฝึกฝนพัฒนามาอย่างยาวนาน มาริโอเองถึงแม้ว่าเขาจะวิจารณ์เครื่องตกแต่งเหล่านั้น แต่ก็ชื่นชมความงามซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมเช่นกัน ในขณะที่แนวคิดโมเดิร์นพยายามปลดเปลื้องงานออกแบบจากเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลายทั้งปวง ก็มีศิลปินนักออกแบบที่เริ่มตั้งคำถามกับแนวคิดโมเดิร์นเช่นกัน โรเบิร์ต เวนทูรี่ (Robert Venturi) กล่าวถึงงานสถาปนิกโมเดิร์นว่า “พวกเขาได้ทิ้งเอกลักษณ์ของการนำงานสถาปัตยกรรมมาผสมผสานกับ จิตรกรรม ประติมากรรมและกราฟฟิคไปจนหมดสิ้น”
แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้เราสูญเสียชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์มนุษย์ ไปพร้อมๆ กับจิตวิญญาณของสถานที่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างงานออกแบบกับศิลปะท้องถิ่น ซึ่งในทางหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดโมเดิร์นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างงานออกแบบและวัฒนธรรมถูกลดความสำคัญน้อยลงไป
โพสต์โมเดิร์น สีสันและอารมณ์ขัน
หลังจากสไตล์โมเดิร์นครองกระแสหลักในโลกออกแบบได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดแนวคิดใหม่อย่างโพสต์โมเดิร์น ซึ่งตั้งคำถามกับความจริงของยุคโมเดิร์น และค้นหาความแตกต่างด้วยสีสันและอารมณ์ขัน เรียกได้ว่าเป็นยุคที่นำเทคโนโลยีและศิลปะมาผนวกเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้ง แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี แต่อ้าแขนรับไว้เพื่อต่อยอดรสนิยมของศิลปินหรือนักออกแบบแต่ละคน ความกลัวที่ว่างเกิดจากจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่อยากจะควบคุมโลกอันแสนวุ่นวาย มาถึงจุดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์กลับถูกวิจารณ์ว่าเป็นความคิดอันล้าหลัง เมื่อลูกตุ้มเหวี่ยงกลับมาอีกครั้ง คนส่วนใหญ่ก็พร้อมจะโอบรับความเปลี่ยนเปลงที่มาถึง การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์บางอย่าง มาผสมผสานกับแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ก้าวหน้าไปได้ไม่สิ้นสุด แล้วคุณล่ะชอบตกแต่งที่ว่างจนเต็มไหม?
Castillo, D. R. (2005). Horror (Vacui): The Baroque Condition. Vanderbilt University Press. Retrieved from https://pdfcoffee.com/david-castillo-horror-vacui-the-baroque-condition-pdf-free.html
Griffith, M. (2018). Horror Vacui: Voice Takes Space. Retrieved from https://www.academia.edu/39415143/HORROR_VACUI_VOICE_TAKES_SPACE
Mortelmans, D. (2005, January). Visualizing Emptiness. University of Antwerp. Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/236167017_Visualizing_Emptiness
Praz, M. (1956). The Romanttic Agony. Meridian Books. Retrieved from https://archive.org/details/dli.ernet.507737/page/n1/mode/2up
Soegaard, M. (2022). Horror Vacui: The Fear of Emptiness. Interaction Design Foundation. Retrieved from https://www.interaction-design.org/literature/article/horror-vacui-the-fear-of-emptiness
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!