เคล็ดลับการออกแบบ ‘บ้านน่าสบาย’ จากเรือนไทยพื้นถิ่น 4 ภาค

แม้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นจะหาได้น้อยมากในบ้านหรืออาคารยุคปัจจุบัน ด้วยรูปแบบเทรนด์สังคมหรือวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป รวมถึงความทันสมัยของวัสดุและนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามาแทนที่ ทำให้ภูมิปัญญาจากเรือนไทยพื้นถิ่นถูกลดบทบาทลง จนอาจดูล้าหลังในสายตาคนรุ่นใหม่ 

แต่หากพูดในแง่ของความตอบโจทย์กับสภาพอากาศร้อนชื้นของไทยแล้ว อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักการออกแบบของสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นยังคงใช้ได้ผลเสมอไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย วันนี้ Dsign Something จึงชวนมาถอดรหัสเคล็ดลับการสร้าง ‘สภาวะน่าสบาย’ จากเรือนไทยพื้นถิ่น 4 ภาค ให้ได้หยิบนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านโมเดิร์นกัน

สภาวะน่าสบายคืออะไร ?

แม้ความอยู่สบายจะเกิดจากความรู้สึกที่วัดค่าไม่ได้ แต่สำหรับ สภาวะน่าสบาย ในการออกแบบบ้านและอาคานั้น เราสามารถวัดได้จากปัจจัยอุณหภูมิ, การมองเห็น, การได้ยินเสียง และคุณภาพอากาศ ที่สมดุลกับการอยู่อาศัยในแต่ละสถานที่ โดยปกติแล้วการออกแบบอาคารมักให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศ ที่สัมพันธ์กับอุณหภูมิ ความเร็วลม และความชื้นสัมพัทธ์เป็นหลัก ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่นักออกแบบหลายคนเลือกใช้คอนเซ็ปต์ ‘โล่ง โปร่ง สบาย’ สำหรับบ้านในเมืองไทย โดยเฉพาะในเรือนพื้นถิ่นในอดีต ที่ยังไม่มีตัวช่วยอย่างเครื่องปรับอากาศ จึงต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการทำให้บ้านอยู่สบายมากที่สุด

สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นภาคเหนือ
‘เรือนกาแล’

เรือนกาแลเป็นที่นิยมสำหรับผู้มีฐานะ มักมีลักษณะเป็นเรือนแฝด ที่ถูกยกใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันอันตรายและสามารถนำพื้นที่ใต้ถุนเรือนมาใช้งานเอนกประสงค์ได้ มีการวางเรือนในแนวขวางตะวัน (หันหน้าจั่วไปทิศเหนือ-ใต้) ทำให้ต้องยื่นชายคาออกไปค่อนข้างยาว เพื่อสร้างร่มเงาให้แก่ตัวเรือนรอบด้าน 

โดยเรียงลำดับการเข้าถึงสเปซจากบันได, ‘ชาน’ เป็นพื้นที่ภายนอก สำหรับเชื่อมเรือนหลักและครัวไฟ (ห้องครัว) เข้าด้วยกันอย่างหลวมๆ ให้ลมสามารถไหลเวียนเข้าสู่แต่ละพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง รวมถึงมีร้านน้ำ (ที่ตั้งหม้อน้ำสำหรับดื่มดับกระหายระหว่างวัน) สร้างอยู่บริเวณชานหน้าหรือหลังเรือน, ‘เติ๋น’ เป็นพื้นที่กึ่งภายนอก ที่ถูกยกระดับขึ้นมาจากชาน ใช้สำหรับรับแขก นั่งเล่น หรือทำงาน โดยบริเวณเติ๋นจะไม่มีฝ้าเพดาน แต่ตีโครงโปร่งสำหรับเก็บของไว้เหนือศีรษะแทน ทำให้ความร้อนสามารถลอยตัวสูงขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการถ่ายเทอากาศให้เย็นสบาย รวมถึงยังเป็นพื้นที่ป้องกันแสงแดดให้กับห้องนอนอีกด้วย 

สำหรับใครที่ต้องการโชว์โครงสร้างหลังคาในบ้านโมเดิร์น แต่ไม่อยากเสียพื้นที่ใช้สอย ก็สามารถนำเทคนิคการตีโครงโปร่งเหนือศีรษะของเติ๋น มาใช้เป็นที่เก็บของหรือติดตั้งดวงโคมไฟ เปรียบเสมือนเป็นฝ้าโปร่งก็ได้เช่นกัน

เรือนกาแล (พญาวงศ์) / Photo Credit: https://art-culture.cmu.ac.th/Museum/detail/4/

นอกจากพื้นที่ใช้สอยแล้ว เรือนกาแลยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่าง ‘ฝาไหล’ ช่องลมที่กลมกลืนไปกับผนังอย่างแนบเนียน ทำจากฝาไม้สองชั้นที่ถูกตีเว้นช่องสลับกัน ใช้สำหรับเลื่อนเปิด-ปิดเพื่อระบายอากาศ หรือมองลอดออกไปข้างนอก และ ‘ฝาตาก’ ซึ่งเป็นฝาเรือนด้านข้างที่ผายออก ทำหน้าที่ช่วยป้องกันลมหนาวที่พัดปะทะตัวเรือน ในขณะเดียวกันก็ช่วยระบายอากาศภายในให้โปร่ง โล่ง สบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังทำเป็นชั้นวางของบริเวณช่องว่างที่เกิดขึ้นได้

ฝาไหลและฝาตาก ต่างก็เป็นนวัตกรรม ‘ผนังหายใจได้’ ที่เหมาะกับทุกส่วนของบ้าน โดยเฉพาะบริเวณโถงต้อนรับ, ห้องนั่งเล่น และห้องครัว เราสามารถนำมาประยุกต์เป็นช่องลมในบางจุด หรือจะใช้แทนระนาบผนังทั้งแนวก็ได้ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเทคนิคการออกแบบ Inside out-Outside in นั่นเอง

ฝาไหลของเรือนแม่นายคำเที่ยง / Photo Credit: https://art-culture.cmu.ac.th/Museum/detail/13/
ฝาตากของเรือนกาแล (พญาวงศ์) / Photo Credit: https://art-culture.cmu.ac.th/Museum/detail/4/

สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นภาคกลาง
‘เรือนเครื่องสับ’

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทำให้น้ำท่วมได้ง่าย จึงส่งผลให้เรือนไทยภาคกลางมักจะยกใต้ถุนสูง วางทิศทางเรือนโดยคำนึงถึงการสัญจรเป็นหลัก ตัวเรือนมีความโปร่งโล่ง สามารถรับลมได้ดีจากทุกทิศทาง เนื่องจากมีการเปิด ‘พื้นที่ชานโล่ง’ เชื่อมเรือนอย่างหลวมๆ และมี ‘พื้นที่ระเบียง’ อยู่ด้านหน้าเรือนแต่หลัง รวมกันเฉลี่ยราว 60% ของพื้นที่ทั้งหมด ทั้งยังมีการยกระดับพื้นเรือนไม่เท่ากัน ซึ่งแต่ละพื้นที่สูงห่างกันราว 30-40 เซนติเมตร โดยเรียงลำดับต่ำสุดจาก ‘ชาน’ ไปยัง ‘ระเบียง’ และ ‘ห้องนอน’ ซึ่งมีระดับพื้นสูงสุด ทำให้เกิดการถ่ายเทของอากาศจากลมใต้ถุนและลมหน้าต่างอย่างต่อเนื่องกันทั้งหลัง

สำหรับบ้านในปัจจุบันที่ไม่ได้มีการยกพื้นบ้านสูงเหมือนเรือนไทยกลาง เราก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่ชานให้เป็นคอร์ทยาร์ดกลางบ้าน และวางฟังก์ชันต่างๆ ล้อมรอบแทนได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดรับแสงและลมแล้ว ยังสร้างวิวธรรมชาติภายในบ้าน ให้ดูกันเพลินๆ ตลอดเวลาได้อีกด้วย

พระตำหนักทับขวัญ ในพระราชวังสนามจันทร์ / Photo Credit: Wikipedia

หลังคามีลักษณะเป็นทรงจั่วสูง และมีระนาบหลังคาอ่อนโค้ง ซึ่งช่วยระบายน้ำฝนปริมาณมากให้ไหลลงได้อย่างรวดเร็ว ช่วยผ่อนแรงฝนที่ปะทะกับตัวหลังคา และยังช่วยลดการรับความร้อนจากแสงแดดอีกด้วย เนื่องจากไม่มีการทำฝ้าเพดานทำให้สามารถระบายความร้อนออกไปได้ดี ประกอบกับหน้าจั่วบางลายอย่าง ‘จั่วพระอาทิตย์’ ที่มีการเว้นร่องตามเส้นรัศมี และ ‘จั่วใบปรือ’ ที่มีการตีซ้อนไม้ตามแนวนอนเพื่อระบายอากาศ ยิ่งทำให้ความร้อนสามารถถ่ายเทออกไปได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

‘ฝาสำหรวด’ อีกหนึ่งภูมิปัญญา ‘ผนังหายใจได้’ ของเรือนไทยภาคกลาง ที่นำเส้นไม้ไผ่ หวาย หรือแฝกมาสานขัดแตะขัดไขว้กันไปมา ทำให้เกิดช่องว่างให้ลมสามารถพัดเข้ามาได้อย่างโปร่งโล่ง นิยมใช้ในเรือนครัวและโถงพักผ่อน

ฝาสำหรวด / Photo Credit: http://thaihouse.arch.ku.ac.th/home/

สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
‘เฮือนอีสาน’

เมื่อขึ้นไปสู่พื้นที่เฮือน จะพบกับ ‘ชานแดด’ หรือ ‘ชานร่ม’ พื้นที่อเนกประสงค์ ที่มีระดับพื้นต่ำกว่าพื้นเรือนประมาณ 20-25 เซนติเมตร ใช้พักผ่อนนั่งเล่นหรือรับประทานอาหารในยามเย็นและยามค่ำคืน รวมถึงเป็นพื้นที่ซักล้าง ตากผ้า ตากพืชผล วางกระบะต้นไม้ และวางร้านน้ำเหมือนเรือนภาคเหนือ 

ถัดจากชานจะเป็น ‘เกย’ พื้นที่นั่งเล่นกึ่งภายนอก พบได้เฉพาะใน ‘เฮือนเกย’ หรือเรือนเดี่ยวของอีสาน ทำหน้าที่คล้าย ‘ระเบียง’ ของเรือนภาคกลาง และ ‘เติ๋น’ ของเรือนภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างร่มเงาให้กับห้องนอนในเรือนใหญ่ของบ้าน สำหรับ ‘เฮือนแฝด’ และ ‘เฮือนโข่ง’ ซึ่งเป็นเรือนจั่วแฝดจะไม่มีพื้นที่เกยนี้

หากพูดในภาษาของยุคปัจจุบัน พื้นที่เกย คือ ส่วนระเบียงที่ต่อเติมมาเพื่อสร้างร่มเงาให้กับตัวบ้าน ซึ่งเราสามารถใช้ได้กับทุกทิศทาง ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่หน้าบ้านเท่านั้น โดยเฉพาะห้องในทิศใต้และตะวันตก ที่มักถูกแสงแดดสาดเข้ามามากกว่าทิศอื่นๆ

พื้นที่เกยและชานแดดของเฮือนอีสาน / Photo Credit: จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

สำหรับครัวไฟจะถูกแยกออกมาจากเรือนใหญ่ มีลักษณะเป็นหลังคาจั่ว ที่มีการตีไม้เว้นช่องบริเวณหน้าจั่ว ทำให้ควันและความร้อนระบายออกไปได้ และมักทำฝาขัดแตะเพื่อรับลมเย็นเข้ามาไหลเวียนแทนที่อย่างปลอดโปร่ง

สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นภาคใต้
‘เรือนไทยมุสลิม’

เรือนไทยมุสลิมค่อนข้างแตกต่างจากเรือนไทยภาคอื่นๆ เนื่องจากต้องรับมือกับสภาพอากาศฝนตกชุกและลมแรง จึงทำให้มีลักษณะเป็นเรือนยาวทั้งหลัง ซึ่งมีการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในอย่างเปิดโล่ง เพื่อสร้างความโปร่งสบายให้กับผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน โดยแยกแต่ละฟังก์ชันจากระดับพื้นที่ต่างกัน มีเพียงห้องนอนและห้องละหมาดเท่านั้นที่มีการกั้นผนัง 

ซึ่งการวางฟังก์ชันแบบเปิดโล่งเข้าหากันทั้งหมด หรือที่เราเรียกว่า Open Plan ในปัจจุบัน ถือเป็นการวางผังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ยืดหยุ่น มีความ ‘โล่ง โปร่ง สบาย’ ในตัวเอง และยังทำให้สมาชิกในครอบครัวสามารถมองเห็นได้แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

รูปทรงหลังคาส่วนใหญ่เป็น ‘บลานอ’ หรือ ‘หลังคามนิลา’ ที่มีความลาดเอียงสูง เพื่อระบายน้ำฝนได้เร็ว และมีการยื่นชายคาปีกนกเสริมออกมา เพื่อปกป้องตัวเรือนและชานทางเข้าจากแสงแดด ฝน และลม นอกจากนี้ยังมีการฉลุช่องแสงบริเวณส่วนบนของผนังอย่างสวยงาม เพื่อสร้างความน่าสบายให้กับตัวบ้านยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งลักษณะพิเศษของเรือนไทยมุสลิม คือ จะไม่ปักเสาไม้ลงดิน แต่จะตั้งเสาเรือนบนหินหรือฐานคอนกรีตแทน เพื่อป้องกันเสาไม่ให้ผุจากความชื้นของดินและปลวกแมลง ทั้งยังง่ายต่อการยกย้ายเรือนเพื่อไปตั้งในสถานที่ใหม่ซึ่งไม่ไกลจากเดิมมากนัก

เรือนไทยมุสลิม (ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง) / Photo Credit: Pattani Heritage City

จะเห็นได้ว่าเรือนไทยพื้นถิ่นทั้ง 4 ภาคมีวิธีการออกแบบที่สอดคล้องทั้งสภาพภูมิอากาศและวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละภาค อาจมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกันแต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป หรือมีบางส่วนที่มีเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นการจะนำเคล็ดลับแต่ละวิธีมาปรับใช้กับบ้านหรืออาคารของเรา จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยบริบทพื้นที่ วิถีชีวิต และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

– สืบพงศ์ จรรย์สืบศร. เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. 2558. ที่มา: https://blog.rmutl.ac.th/suebpong/Vernweb/VernArchBook58.pdf

– บุญชัย ขจายเกียรติกําจร และ อรศิริปาณินท์. เหตุผลของฝาตาก. กรุงเทพ: วารสารหน้าจั่ว (ฉ.12). 2558. ที่มา: https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA/article/view/44787 

ขอขอบคุณภาพจาก

– https://art-culture.cmu.ac.th/Museum/detail/4/
– https://art-culture.cmu.ac.th/Museum/detail/13/
– http://thaihouse.arch.ku.ac.th/home/
– https://www.facebook.com/photo/?fbid=145216775572524&set=a.145216585572543
– Wikipedia 
– Pattani Heritage City 

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์