SUTI HOUSE
บ้านนี้รักสงบ ทำตามงบ ครบไม่ขาด

เข้าสู่วัยเกษียณ จะมีอะไรสำคัญในชีวิตไปมากกว่าความสงบเรียบง่าย ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต เป็นครูสอนให้เรารู้จักปล่อยวาง เหลือเอาไว้แต่เพียงความสุขที่พอดี ความต้องการที่จำเป็น “Simply & Peaceful” จึงเป็นคำจำกัดความสั้นๆ สำหรับ SUTI HOUSE บ้านรักสงบของคนวัยเกษียณ ผลงานการออกแบบสดๆ ร้อนๆ จากทีม VOLUME MATRIX STUDIO

เอกลักษณ์บ้านนี้รักสงบ

เจ้าของบ้าน SUTI HOUSE ต้องการจะสร้างบ้านที่เน้นความสงบและเรียบง่ายสำหรับอยู่อาศัยในวัยเกษียณ  ซึ่งเดิมทางเจ้าของมีบ้านเดิมที่ซื้อไว้ในทำเลที่ค่อนข้างสงบ อยู่ใกล้ตัวเมืองสะดวกต่อการไปทำงาน หน้าตาของบ้านหลังเก่า เราอยากให้ลองนึกภาพของบ้านหลังคาจั่วป้านคล้ายบ้านพักข้าราชการยุคเก่า มาถึงวันนี้เป็นธรรมดาที่จะต้องทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แถมยังมีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอต่อความความต้องการ มีข้อจำกัดทางโครงสร้างและงานระบบของหลังเดิม ทำให้เจ้าของบ้านตัดสินใจรื้อถอน เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ที่ยังอยากให้บรรยากาศ ความรู้สึกในพื้นที่คล้ายกับบ้านหลังเดิม

บ้านในความทรงจำของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บ้านทรงเดิมที่มีหลังคาจั่วองศาป้านที่เจ้าของอยากให้คงรูปแบบไว้นั้นก็คือบ้านในความทรงจำของเจ้าของบ้าน

ในการออกแบบบ้านหลังนี้นอกจากจะต้องออกแบบให้มีพื้นที่การใช้งานและฟังก์ชันที่ลงตัวแล้ว การออกแบบพื้นที่ให้เกิดความคุ้นเคย  สอดคล้องกับบ้านในความจำของเจ้าของบ้านก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของผู้ออกแบบ เพื่อสร้างบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ให้เจ้าของบ้านที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งานและความรู้สึก

เชื่อมความทรงจำไปพร้อมกับทำตามงบ

ขั้นตอนการออกแบบเริ่มจากการทำความเข้าใจรูปแบบของบ้านในความทรงจำของลูกค้า ทั้งความต่อเนื่องของพื้นที่ใช้สอยและองค์ประกอบต่างๆ ทางสถาปัตยกรรม ควมคุมงบการก่อสร้างตามความจำเป็นที่แท้จริง จนกลายมาเป็นบ้านที่ให้ความสงบกลมกลืนไปกับรูปแบบบ้านในบริเวณใกล้เคียง มีการหยิบเอาไอเดียของการปิดนอก-เปิดในมาใช้เพื่อสร้างความสงบและความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้าน

เริ่มจาก ปิดนอก ที่ทางสถาปนิกดีไซน์ให้ฝั่งหน้าบ้านที่ติดถนนมีการวางฟังก์ชันห้องน้ำและห้องเก็บของไว้สำหรับป้องกันความร้อน เพื่อกันไม่ให้เข้ามาในส่วนพื้นที่อยู่อาศัย  และยังมีการใช้ระแนงไม้เทียมเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและลดแรงปะทะของแสงแดดยามบ่ายให้กับห้องชั้นบน

ส่วนทางด้านของการ เปิดใน  สถาปนิกออกแบบให้รูปด้านฝั่งทิศตะวันออกของอาคารถูกออกแบบให้เป็นบานกระจกแทบทั้งหมด ส่วนฝ้าไม้เทียมจากภายในสู่ภายนอกก็จะถูกออกแบบให้มีองศาขนานไปกับองศาของหลังคาจั่ว เพื่อสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่อยู่อาศัยภายในบ้านและพื้นที่ระเบียงภายนอกหลังบ้าน  ซึ่งถ้าหากเปิดประตูบานเลื่อน กระจกนี้ก็จะทำให้พื้นที่นี้ถูกเปลี่ยนเป็นใต้ถุนภายในและภายนอกขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน

หลังคาจั่วองศาป้านที่ถูกออกแบบให้สามารถถูกมองเห็นได้จากแทบทุกพื้นที่ของบ้าน ถือเป็นองค์ประกอบหลักของบ้านที่นอกจากจะช่วยปกป้องบ้านจากแดดและฝนแล้ว ยังจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกและเชื่อมความรู้สึกของเจ้าของบ้านกับบ้านในความทรงจำของเจ้าของบ้านอีกด้วย

ลงตัวครบไม่ขาด

ความท้าทายของโครงการนี้ คือการจัดการพื้นที่การใช้สอยให้ลงตัวและสร้างพื้นที่ที่ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ของสถาปัตยกรรม ภายใต้รูปแบบของหลังคาทรงเดิมโดยไม่ก่อให้เกิดการฟุ่มเฟือยและการตกแต่งที่ไม่จำเป็น เช่น เมื่อมีหลังคาและฝ้าที่เป็นทรงจั่ว ข้อดีคือการมีพื้นที่พื้นถึงฝ้าที่มากขึ้นอากาศถ่ายเทได้มากขึ้นแต่ก็แลกกับปัญหาเรื่องการเลือกใช้ไฟส่องสว่าง ที่ในบางจุดที่ฝ้าสูงกว่าปกติทำให้การใช้ดาวน์ไลท์อาจไม่เหมาะสมเพราะยากต่อการซ่อมบำรุง ดั้งนั้นอาจมีการเลือกใช้เป็นไฟกิ่งหรือไฟติดผนังในพื้นที่นั้นๆแทนเพื่อความสะดวกในการใช้งานและบำรุงรักษา

ด้วยความที่เจ้าของบ้านต้องการบ้านที่สงบและเรียบง่าย องค์ประกอบต่างๆ ภายในบ้านจึงถูกลดทอนให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นไร้ซึ่งการปรุงแต่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสถาปัตยกรรมมีรูปทรงที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย จนกลายเป็นที่มาของชื่อ SUTI HOUSE

Location: BANGKOK ,THAILAND
Architects Firm:  VOLUME MATRIX STUDIO
Completion Year: 2023
Photo Credit:  VOLUME MATRIX STUDIO

Writer
No.028

No.028

นักออกแบบจากรั้วศิลปากรที่ทดลองผันตัวเองมาเป็นนักเขียน หมั่นเสาะหาข่าวสารที่น่าสนใจจากทั้งไทยและต่างประเทศ มาขบคิด เรียบเรียง บอกเล่าผ่านตัวอักษรให้กับคนที่สนใจ เพราะเชื่อว่าแท้จริงแล้ว ดีไซน์ คือเรื่องรอบตัวระยะใกล้ที่กำลังรอใครซักคนมาเปิดอ่าน // Dsign is everything.