‘การเปิดรับลม แสง และธรรมชาติ’ เป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบบ้านพักอาศัย แต่ปัจจุบันพื้นที่สร้างบ้านมีขนาดที่จำกัด และพื้นที่โดยรอบก็มีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้การดึงลม แสง และธรรมชาติ เข้ามาสู่ตัวบ้านกลายเป็นเรื่องท้าทาย ด้วยเหตุนี้ POAR จึงเลือกออกแบบ 7 small courtyards house ด้วยการผ่าแมสอาคารให้เกิดคอร์ตยาร์ททั้งหมด 7 ส่วน เพื่อให้ภายในบ้านสามารถรับลม แสง และธรรมชาติ ได้ตลอดทั้งวัน
พื้นที่ที่มีมุมมองจำกัด
ด้วยความที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร จึงทำให้มีมุมมองที่ค่อนข้างจำกัด บวกกับถนนหน้าบ้านที่หันเข้าสู่ทิศตะวันตกทำให้ช่วงบ่ายมีความร้อนสูง ส่วนด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับคลองที่มีน้ำเน่าเสียทำให้บ้านรายล้อมไปด้วยบรรยากาศที่ไม่รื่นรมย์นัก
“นอกจากเรื่องของบริบท และการอยู่อาศัยแล้ว เจ้าของบ้านมักจะพูดคุยถึงคุณภาพของสเปซ เช่น ต้องการทางเดินแบบโถงกระจกกั้น หรือสไตล์ของบ้านต้องเป็นสีขาวผสมกับวัสดุไม้ ซึ่งเจ้าของบ้านมีภาพอ้างอิงมาให้เราหลากหลาย จึงต้องตีความต้องการนั้นๆ ให้เป็นทิศทางในการออกแบบ”
จากข้อจำกัดข้างต้นทำให้ฟังก์ชันภายในบ้านไม่สามารถรับแสง ลม และธรรมชาติได้อย่างมีคุณภาพ สถาปนิกจึงออกแบบให้ทุกฟังก์ชันเกาะเกี่ยวไปกับคอร์ตยาร์ททั้ง 7 คอร์ต เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกิดความร่มรื่นภายในบ้าน แถมต้นไม้ยังช่วยสร้างมุมมองระยะใกล้-ไกล ให้แต่ละสเปซมีมิติมากขึ้น นอกจากนี้การสร้างคอร์ตยาร์ทยังช่วยให้แสง และลม เข้ามาภายในบ้านอย่างพอดี
รับแสง ลม และวิวธรรมชาติจากคอร์ตยาร์ท
สเปซของคอร์ตยาร์ทเริ่มต้นตั้งแต่พื้นที่สวนหน้าบ้าน ที่มีระยะจากถนนถึงหน้าบ้านเกือบ 10 เมตร เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว และความร่มรื่นก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน นอกจากนี้ระหว่างพื้นที่จอดรถกับตัวบ้านยังออกแบบคอร์ตยาร์ทขนาดเล็กเพื่อนำสายตาไปยังส่วนเซอร์วิสของตัวบ้าน
ถัดมาเป็นคอร์ตยาร์ตบ่อน้ำพุสีขาวที่เกาะเกี่ยวไปกับสเปซโถงทางเข้าสู่ตัวบ้าน ห้องฟิตเนส และห้องนั่งเล่น เมื่อแสงแดดทางทิศตะวันตกกระทบลงบนผิวน้ำ ก็ช่วยสร้างความรู้สึกที่เย็นสบายต้อนรับการเข้าสู่ตัวบ้าน หรือขณะที่กำลังออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี
ไฮไลท์ของบ้านหลังนี้ คือพื้นที่นั่งเล่นที่โอบล้อมไปด้วยคอร์ตยาร์ททั้ง ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยทิศตะวันออกจะหันเข้าสู่คอร์ตยาร์ทสระว่ายน้ำ เป็นมุมมองที่สามารถเห็นแสงในยามเช้ากระทบลงสู่ต้นไม้ทอดเงาลงสู่สระน้ำจนสร้างความน่าสนใจให้กับสเปซ ทางด้านทิศใต้เป็นคอร์ตยาร์ทต้นไม้ที่ช่วยบดบังความร้อนเข้าสู่ภายในตัวบ้าน และคอร์ตยาร์ทสุดท้ายคือบ่อน้ำพุทิศตะวันตกที่สร้างความสดชื่นให้กับพื้นที่นั่งเล่นได้เช่นเดียวกับโถงทางเข้า นอกจากนี้ห้องนั่งเล่นยังสามารถเดินเชื่อมไปยังห้องนอนที่สามารถมองเห็นวิวสระว่ายน้ำได้อีกด้วย
บริเวณพื้นที่ครัว และพื้นที่รับประทานอาหาร อยู่ติดกับคอร์ตยาร์ทสระว่ายน้ำทางทิศตะวันออก เพื่อเปิดรับแสงในช่วงเช้าและรับวิวสระว่ายน้ำขณะรับประทานอาหารไปพร้อมกัน นอกจากนี้บริเวณหลังครัวยังมีคอร์ตยาร์ทต้นไม้ที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสเปซไปยังห้องพักแม่บ้าน ขณะเดียวกันทำหน้าที่เป็นวิวไม้ให้กับแม่บ้านได้อีกด้วย
ให้ทางเดินวนรอบคอร์ตยาร์ท
คอร์ตยาร์ทสุดท้ายอยู่บนชั้น 2 เป็นคอร์ตที่ถูกออกแบบให้อยู่ตรงกลางตัวบ้าน ล้อมรอบไปด้วยทางเดินที่แจกไปยังห้องนอนทั้ง 3 ห้อง และ ห้องชมภาพยนตร์ ภายในคอร์ตยาร์ทปลูกต้นโอลีฟพร้อมโรยกรวดกั้นด้วยผนังกระจกโดยรอบ จนคอร์ตยาร์ทกลายเป็นจุดเด่นให้กับพื้นที่ชั้น 2
ยื่นฟาซาดกรอบสี่เหลี่ยม
บริเวณด้านหน้าอาคารชั้น 2 ด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ถูกออกแบบให้เป็นระแนงหลังคา และระเบียงด้วยวัสดุไม้เทียม ยื่นยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมออกมาจากตัวอาคาร เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายในอาคารโดยตรง และยังช่วยให้สัดส่วนของอาคารมีมิติทางสายตามากยิ่งขึ้น
เปิดคอร์ตยาร์ทเพื่อความร่มรื่น
สำหรับบ้านพักอาศัยของคู่สามีภรรยาหลังนี้ สถาปนิกเลือกเปิดคอร์ตยาร์ททั้งหมด 7 คอร์ต โดยให้ชั้นแรกมีทั้งหมด 6 คอร์ต เกาะเกี่ยวไปกับทุกฟังก์ชันภายในบ้าน เพื่อให้ลม แสง และวิวธรรมชาติสามารถเข้าถึงได้ในทุกๆ ส่วน เมื่อขึ้นมาชั้น 2 ก็จะพบกับคอร์ตยาร์ทต้นโอลีฟที่ทำหน้าที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่ เป็นตัวแจกสเปซไปยังฟังก์ชันห้องนอน และห้องชมภาพยนตร์
เนื่องจากอาคารหันหน้าทางทิศตะวันตก และตะวันออกสถาปนิกจึงออกแบบกรอบหลังคาระแนง และระเบียงให้ยื่นยาวออกมาเพื่อป้องกันความร้อน และช่วยให้สัดส่วนมีความสมดุลมากขึ้น นอกจากนี้แมสฟอร์มของชั้น 1 และชั้น 2 ยังถูกคว้านสลับไปมาเพื่อให้คอร์ตยาร์ททั้งหมดเชื่อมโยงเข้ากับทุกชั้นอีกด้วย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!