คุยกับ TROP : terrains + open space กับการเปิดสตูดิโอสาขาใหม่ในประเทศจีน

เมื่อพูดถึงภูมิสถาปนิกไทย ที่มีชื่อเสียงระดับโลก คงจะหนีไม่พ้น ป๊อก-อรรถพร คบคงสันติ จาก TROP : terrains + open space ด้วยประสบการณ์ที่เคยร่วมทำงานกับภูมิสถาปนิกระดับโลกในสหรัฐอเมริกา จนสามารถต่อยอดสู่การเปิดสตูดิโอเองในประเทศไทย และในปัจจุบันเขาก็ได้เปิดสตูดิโอเป็นสาขาที่ 2 นั่นก็คือ T.R.O.P SHANGHAI ในประเทศจีน

เพราะเหตุใด ? เขาถึงเลือกตั้งสตูดิโอแห่งใหม่ที่เมืองเซี่ยงไฮ จนปัจจุบันนี้ผลงานการออกแบบของสตูดิโอเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศจีน และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ไปหาคำตอบกัน!

ทำงานกับภูมิสถาปนิกระดับโลก

จุดเริ่มต้นวิชาชีพภูมิสถาปนิกของป๊อก เกิดขึ้นเมื่อเขาได้ศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Harvard Graduate School of Design หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ได้นำองค์ความรู้มาใช้ต่อยอดการทำงานภูมิสถาปัตยกรรมร่วมกับ George Hargreaves ภูมิสถาปนิกชื่อดังด้านการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานร่วมกับ Bill Bensley ภูมิสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงแรม และที่พักสุดหรู ทำให้เขาได้รับประสบการณ์การออกแบบกับภูมิสถาปนิกระดับโลกอย่างเข้มข้นตลอดระยะเกือบ 10 ปี

เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นก็มีความเข้าใจในวิธีการคิด และวิธีการออกแบบของตัวเองมากขึ้น ในปีค.ศ. 2007 ป๊อกตัดสินใจตั้งสตูดิโอภูมิสถาปัตยกรรมในประเทศไทยของตัวเอง ภายใต้ชื่อ T.R.O.P ที่เกิดจากส่วนผสมของชื่อ ดิน (Terrains) และพื้นที่ว่าง (Open space)

“งานดีไซน์ในช่วงแรกเราพยายาม Bad Boy มาก ชอบคิดอะไรใหม่ๆ แบบกวนโอ้ย สุดท้ายกลายเป็นสตูดิโอติดหรูเฉยเลย อย่างไรก็แล้วแต่เราก็อยากทำอะไรที่มันแปลกใหม่ ดูเจ๋งอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ต้องการทำงานสไตล์หรูตลอดเวลา”

สตูดิโอที่ประเทศไทย

เปิดสตูดิโอที่เซี่ยงไฮ

หลังจากที่เปิดสตูดิโอ T.R.O.P มามากกว่า 10 ปี ระบบบริหาร และการจัดการก็มีความลงตัวมากขึ้น ผลงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นที่พูดถึง และให้การยอมรับทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้มีนักศึกษา และภูมิสถาปนิกชาวจีนสนใจมาสมัครขอเข้าร่วมทำงานกับสตูดิโอที่ประเทศไทยเป็นประจำทุกปี

“เมื่อหลายปีที่แล้วมีน้องคนจีน 2 คนกำลังจะกลับประเทศ เขาก็ถามเราว่าอยากเปิดสตูดิโอที่เซี่ยงไฮไหม ซึ่งจริงๆ เราต้องการอยู่แล้ว เพราะตอนนั้นการก่อสร้างจีนยังไม่ได้มาตรฐาน จึงต้องการทีมประสานงานวันต่อวัน และตอบปัญหาหน้างานได้อย่างละเอียด ก็เลยตัดสินใจเปิดสตูดิโอ T.R.O.P SHANGHAI แต่ไม่นานโควิดก็มาพอดี ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่จีนได้ แต่โชคดีที่สตูดิโอที่จีนคอยช่วยประสานงานให้เราอยู่”

สตูดิโอที่ประเทศจีน
สตูดิโอที่ประเทศจีน

ในช่วงแรกของ T.R.O.P SHANGHAI ป๊อกพยายามให้ผู้บริหารทั้ง 2 คนรับงานน้อยที่สุด เพื่อให้งานชิ้นแรกออกมาเนี้ยบ และตรงแบบมากที่สุด ซึ่งในปีแรกสตูดิโออาจจะได้ไม่ทำเงินเท่าไหร่นัก เพราะต้องใช้เวลาในการทำงานชิ้นแรกให้มีคุณภาพสูงที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลูกค้าจีนเริ่มไว้วางใจ และป้อนโปรเจกต์ใหม่ให้อยู่ตลอด

“บางครั้งลูกค้าจีนก็อยากให้สตูดิโอที่ประเทศไทยทำงานให้เพราะกลัวว่าเราไม่ได้ออกแบบเอง แต่ไม่ว่าจะสตูดิโอในประเทศไทย หรือจีน เราก็ยังคงทำงานออกแบบด้วยตัวเองทุกโปรเจกต์”

สร้างทีมให้กับสตูดิโอใหม่

ปัจจุบัน T.R.O.P SHANGHAI มีพนักงานทั้งหมด 14-18 คน มีระบบการทำงานเป็นทีม โดยแต่ละทีมจะมีทั้ง ภูมิสถาปนิกจูเนียร์ ภูมิสถาปนิกซีเนียร์ ดราฟท์แมน ผู้จัดการเอกสาร และฝ่ายประสานงาน ซึ่งฝ่ายประสานงานก็จะทำหน้าที่ส่งโปรเจกต์ที่ประเทศจีนให้กับสตูดิโอที่ประเทศไทยด้วย

“ในเวลาทำงานไม่ว่าจะคนไทย หรือคนจีน ต่างก็ทำงานหนักไม่แพ้กัน แต่คนไทยจะมีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สำหรับพักผ่อน ส่วนคนจีนมักจะออกไปท่องเที่ยวดูงานออกแบบอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของเขาก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะชาติไหนต่างก็ต้องทำงานเป็นมือชีพให้เป็นไปตามมาตรฐานของ T.R.O.P อยู่เสมอ”

แข่งขันกับภูมิสถาปนิกจากทั่วโลก

โปรเจกต์ในประเทศจีนส่วนใหญ่มักจะเป็น Cultural Park  1 มาสเตอร์แปลน จะประกอบไปด้วยส่วน Public และ Private แต่ละพื้นที่จะถูกแบ่งให้ภูมิสถาปนิก และสถาปนิกจากทั่วโลกมาออกแบบตามความถนัดของแต่ละสตูดิโอ ซึ่ง T.R.O.P SHANGHAI มักจะได้รับหน้าที่ให้ออกแบบส่วนของ Private ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของ T.R.O.P เลยก็ว่าได้

“ประเทศจีนมีศักยภาพสามารถออกแบบได้หลากหลาย และพวกเขาพร้อมรับฟังดีไซน์เนอร์ ทำให้การทำงานที่จีนค่อนข้างราบรื่น แต่ด้วยลักษณะงานที่ค่อนข้างใหญ่ และมีระยะเวลาที่จำกัด เราจึงต้องพัฒนาแบบภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อแข่งขันกับภูมิสถาปนิกจากทั่วโลกที่เข้ามางานในประเทศจีน แต่ตอนนี้เราก็ถือว่าเป็นสตูดิโอระดับต้นๆ ที่มักจะได้รับโปรเจกต์สำคัญ และอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด”

โปรเจกต์ที่ถูกพูดถึง

Poetic Court, Yanlord, Shanghai, China

หนึ่งในโปรเจกต์ที่สตูดิโอได้ออกแบบก็คือ Poetic Court, Yanlord, Shanghai, China โดยโปรเจกต์นี้ลูกค้าต้องการให้แลนด์สเคปเป็นตัวสร้างความสนใจเพื่อนำเข้าสู่สถาปัตยกรรมที่ลึกเข้าไปจากถนนสัญจร สตูดิโอได้ออกแบบกำแพงคอร์ตทางเดินเป็นแพทเทิร์นด้วยอิฐแก้ว ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากอิฐจีนสีดำ แต่แตกต่างตรงที่แสงสามารถลอดผ่านเข้ามาได้ ในขณะเดียวกันด้วยความขุ่นของแก้วก็เป็นตัวช่วยบดบังสายตาจากคนภายนอกได้ นอกจากนี้บริเวณคอร์ตทางเดินยังเพิ่มพุ่มไม้ทรงกลม และต้นไม้ฟอร์มสูงโปร่ง เพื่อสร้างความร่มรื่นก่อนเข้าสู่ตัวสถาปัตยกรรมอีกด้วย  

The An Villa, Shaoxing, China

สำหรับสวนแห่งนี้สตูดิโอได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองริมน้ำ Shaoxing ตัวอย่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ โครงสร้างหลังคาโบราณกระเบื้องที่ทับซ้อนกันอย่างละเอียดอ่อน ช่วยกันฝน  และระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของ Shaoxing เมืองเก่าที่มีฝนตกชุกทุกปี

สตูดโอจึงออกแบบสวนให้เป็นหลังคาทอดยาว สลับกับต้นไม้สูงโปร่ง จรดมายังพื้นดินที่โรยหินสีดำ จำลองปรากฏการณ์ฝนตกระทบชายคาด้วยการติดตั้งระบบสูบน้ำให้ไหลลงผ่านหลังคา กระจายเครื่องปล่อยละอองน้ำให้เป็นหมอกจางๆ สร้างประสบการณ์ให้คนที่เข้าไปใช้งานสามารถนั่งฟังเสียงน้ำไหลลงหลังคาเหมือนอยู่ท่ามกลางสายฝนได้โดยไม่ต้องเปียกปอน

นโยบายที่ทำเพื่อทุกคนในเมือง

นโยบายของจีนพยายามผลักดันให้เมือง และคน มีคุณภาพในทุกมิติ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กว้านซื้อพื้นที่เพื่อทำกำไร แต่พื้นที่เดิมเหล่านี้มีคนอาศัยอยู่ นักลงทุนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารอยู่อาศัยใหม่ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล คลินิก โรงเรียนอนุบาล และสวนสาธารณะ ให้กับคนอยู่อาศัยเดิม และผู้คนในเมืองด้วย

“รัฐบาลจีนมองว่าเมื่อนักลงทุนกำลังจะมีโอกาสรวย คุณก็ต้องให้คุณค่ากับคนอยู่อาศัยเดิมและเมืองด้วย ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คน การออกแบบอสังหาริมทรัพย์ และพื้นที่สาธารณะจึงเป็นเหมือนเป็นพื้นที่ประชันฝีมือของภูมิสถาปนิกทั่วโลก ทำให้ปัจจุบัน ผู้รับเหมาก็พัฒนาฝีมือตามมาตรฐานระดับโลกด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าตอนนี้เขียนอะไรไปก็สร้างได้ตามแบบเป๊ะๆ ซึ่งต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนมาก”

อนาคตต่อไปของ T.R.O.P

ป๊อกหวังว่าสตูดิโอที่เซี่ยงไฮจะประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ และหวังว่าพนักงานรุ่นใหม่จะคงมาตรฐานการออกแบบ และก่อสร้างตามเช่นนี้ อย่างไรก็ดีไม่ว่า T.R.O.P สาขาไหน ก็พยายามจะสร้างสตูดิโอให้เป็นสถาบันทางการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ที่ในอนาคตหากป๊อกเกษียณ แนวคิดของสตูโอก็ยังถูกใช้ได้เช่นเดิม

“เรามองว่าสตูดิโอเป็นระบบนิเวศ ที่เสมือนเป็นกอหญ้าบนผิวน้ำ และก็มีลูกปลาตัวเล็กๆ ก็คือน้องพนักงาน มาเกาะ เพื่อช่วยให้ปลาเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้น ทุกคนต้องสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการออกแบบ มีสิ่งแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกให้พวกเขาทำงานได้ เพื่อให้ให้รุ่นเรา รุ่นถัดไป สามารถเดินทางกับวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมต่อไปได้”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn