Supar Studio สตูดิโอที่สร้างมาเพื่อทดลองวัสดุโดยเฉพาะ

การออกแบบสถาปัตยกรรมสิ่งสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือการคัดเลือกและเปรียบเทียบวัสดุ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัสดุที่คัดเลือกไว้ จะเป็นไปตามที่เราคิดเมื่อถูกติดตั้งไปแล้ว สิ่งที่จะยืนยันได้ก็คือการ ทดลองติดตั้งจริง’ แต่การใช้วิธีนี้ดูจะเป็นเรื่องยุ่งยาก และใช้งบประมาณสูง

ด้วยเหตุนี้ Supar Studio จึงทำให้สตูดิโอของตัวเองสามารถถอดผนังเข้า-ออก เพื่อใช้ทดลองวัสดุที่น่าสนใจอย่าง ไม้อัดยาง ดิน รวมไปถึงน้ำยาเคลือบชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ออกแบบอาคารนำเสนอแบบ และห้องวัสดุเพื่อใช้นำเสนอถาดวัสดุให้กับลูกค้า รวมไปถึงสถาปนิกยังพยายามสร้างระบบให้พนักงานทุกคนมีถาดวัสดุไว้ข้างตัวสำหรับเปรียบเทียบวัสดุในระหว่างการทำโปรเจกต์อีกด้วย

เรียนรู้วัสดุจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

ความสนใจเรื่องวัสดุเกิดขึ้นเมื่อสถาปนิกได้ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยด้านสถาปัตยกรรมพื้นที่ถิ่น ที่ชุมชนมักจะใช้วัสดุจากรอบตัว หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และก่อสร้างง่ายไม่ซับซ้อน  ด้วยแนวคิดเช่นนี้ทำให้สถาปนิกต้องการที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัย การออกแบบ และการก่อสร้าง   

“เมื่อก่อนคนมีดินก็ใช้ดิน มีไม้ก็ใช้ไม้ การจะสร้างสิ่งต่างๆ ก็เกิดจากวัสดุที่มีอยู่รอบตัว เช่น ขนาดของฝาประกนเกิดจากขนาดของปีกไม้ ที่ขนาดของขวานในยุคนั้นสามารถตัดหน้าไม้ให้มีขนาดได้เพียงเท่านี้ จนทำให้สเปซของสถาปัตยกรรมไทยมีความสวยงาม และน่าสนใจ จะเห็นได้ว่าทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัย สถาปนิก และผู้รับเหมา ต่างมีความสัมพันธ์ในการทำงานทั้งหมด”

นอกจากนี้สถาปนิกยังเรียนรู้การใช้วัสดุเพื่อกระตุ้นการรับรู้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น การปูพื้นด้วยวัสดุผิวขรุขระทำให้คนเดินสามารถรับรู้ถึงร่างกายของตัวเองได้มากกว่าการใช้วัสดุผิวมันเงา รวมไปถึงการพยายามหยิบจับอารมณ์ และความรู้สึกจากบริบทของพื้นที่มาใช้กับวัสดุในการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วย

“เราชื่นชอบงานศิลปิน Lee Ufan ที่ทำพิพิธภัณฑ์ร่วมกับ Tadao Ando เขาใช้เสาอันเรียบง่ายปักลงไปในลานแค่ต้นเดียวก็ทำให้เรารู้สึกถึงภูเขาธรรมชาติโดยรอบได้ทันที”

ไม้อัดยางวัสดุอันแสนเรียบง่าย

จากการเรียนรู้ และการสะสมประสมการณ์ที่ผ่านมา สถาปนิกจึงค้นหาวัสดุที่มีสวยงาม และเรียบง่าย จนพบกับไม้อัดยางที่สามารถหาซื้อได้ง่าย เจริญเติบโตไว และราคาถูก ให้ผิวสีเหลือง มีลวดลายต่อเนื่องกันไม่เหมือนกับไม้ชนิดอื่น หากนำมาใช้ตกแต่งอาคารก็ให้ความรู้สึกอบอุ่น เกิดภาพจำของสเปซได้เป็นอย่างดี

“ส่วนใหญ่ไม้อัดยางมักใช้ปกคลุมป้องกันวัสดุอื่น หรือ ใช้ปิดด้านหลังของเฟอร์นิเจอร์ ง่ายๆ ก็คือเป็นไม้ที่ไม่นิยมใช้ตกแต่งผิวเท่าไหร่นัก แต่เราคิดว่าคุณสมบัติภาพรวมของไม้อัดยางมีความเรียบง่ายตั้งแต่การหาซื้อ  ผิวไม้ให้สีเหลืองลวดลายสวยงามง่ายในการออกแบบ และติดตั้งง่ายไม่ซับซ้อน ซึ่งในตอนนั้นเราเชื่อว่ายังมีกระบวนการอื่นๆ อีกที่ไม้ชนิดนี้สร้างความน่าสนใจมากกว่าไม้เทียมทั่วไป”

ทดลองน้ำยาเคลือบไม้ผ่านผนังสตูดิโอ

แม้ว่าสี และผิวของไม้อัดยางจะมีความน่าสนใจ แต่ด้วยลักษณะของไม้ที่ไม่ได้ป้องกันแดด และฝนได้มากเพียงพอ การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันผิวของวัสดุจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อก่อตั้งสตูดิโอสถาปนิกจึงออกแบบสตูดิโอให้สามารถถอดเปลี่ยนผนังได้ เพื่อทดลองวัสดุไม้อัดยางและน้ำยาเคลือบชนิดฟิล์ม อย่าง Woodtect และ Teak Oil ชั้นฟิล์มป้องกันผิวไม้ แต่หลังจากที่ใช้งานไป 4 ปี ชั้นฟิล์มกลับหลุดล่อน จนต้องรื้อผนังไม้ออก

“ข้อเสียอีกหนึ่งอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อใช้น้ำยาชนิดนี้อาจจะทำให้ช่างก่อสร้างคัดเลือกไม้ไม่ได้คุณภาพ เพราะน้ำยาสามารถปิดบังสี หรือผิวสัมผัสของตัวไม้ได้ ”

ด้วยข้อจำกัดของน้ำยาเคลือบชนิดฟิล์ม สถาปนิกจึงหันมาศึกษาน้ำยาเคลือบประเภท Nano อย่าง Goodseal และ osmo เป็นน้ำยาชนิดซึมเข้าสู่ผิวไม้ ที่ยังคงเผยผิวสัมผัสแบบธรรมชาติของตัวไม้อยู่ ทำให้การใช้น้ำยาเคลือบชนิดนี้ต้องคัดไม้คุณภาพดี มีลวดลายที่สวยงามเท่านั้น แต่ข้อเสียคือเมื่อใช้ไปในระยะเวลานานสีน้ำยาจะซีดลง

“ปัจจุบันนี้สตูดิโอเราทดลองใช้ผนังไม้อัดยางที่เคลือบด้วยน้ำยา Nono ซึ่งกำลังทำการศึกษาอยู่ว่าจะสามารถอยู่ได้มากกว่า 4 ปีหรือไม่ ในอนาคตจะมีการสลับฝั่งด้านในออกมาด้านนอกด้วย”

ทดลองฉาบดินบนกับผนังห้องนำเสนอ

นอกจากจะทดลองวัสดุกับสตูดิโอแล้ว สถาปนิกยังได้ทดลองวัสดุกับห้องนำเสนอแบบด้วย เช่น การใช้ดินฉาบทับไปบนผนังซีเมนต์บอร์ด รวมไปถึงการฉาบบนฝ้ายิปซั่มบอร์ดเพื่อทดลองเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากอาคารเป็นระบบโครงสร้างวางบนพื้นดิน จึงทำให้มีการสั่นไหว และเกิดรอยแตกร้าวขึ้นเป็นบางจุด 

“ดินเหนียวเป็นวัสดุที่เกิดตรงไหนเราก็ใช้ตรงนั้น ซึ่งแต่ละภูมิภาคสีของดินก็จะแตกต่างไป แต่ถ้าต้องการความพิเศษมากขึ้นไปอีกก็อาจจะใช้ดินเหนียวจากต่างประเทศเข้ามาใช้งานได้”

ใช้แสงสกายไลท์ระหว่างห้องวัสดุ

บริเวณด้านหลังห้องนำเสนอแบบยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บถาดวัสดุโดยเฉพาะ โดยออกแบบจุดเชื่อมระหว่างห้องให้มีสกายไลท์สำหรับส่องลงมายังวัสดุ เพื่อเปรียบเทียบผิวสัมผัสวัสดุแต่ละชิ้นที่ได้ทำการคัดเลือกไว้ในถาด เมื่อวัสดุภายในถาดลงตัวแล้วจึงนำถาดวัสดุแต่ละโปรเจกต์เก็บไว้ที่ห้องวัสดุด้านหลัง เพื่อให้สามารถหยิบถาดวัสดุนำมาเสนอลูกค้าได้อย่างสะดวกสบาย

แจกถาดสำหรับเปรียบเทียบวัสดุ

หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของการใช้ถาดวัสดุ สถาปนิกพยายามจะสร้างระบบในการคัดเลือกวัสดุขึ้นมา โดยแต่ละโปรเจกต์จะทำการมอบถาดให้กับพนักงานได้หยิบวัสดุที่ให้ความรู้สึก สีสัน และผิวสัมผัสตามแนวคิดในการออกแบบ หรือบริบทของพื้นที่ของโปรเจกต์นั้นๆ ซึ่งสถาปนิกจะนำวัสดุที่ถูกคัดเลือก นำมาทดลองใช้กับโมเดลด้วย เช่น โปรเจกต์ Green House บ้านพักอาศัยสีเขียวที่สอดคล้องกับบริบทสวน และแม่น้ำที่อยู่ติดกับพื้นที่ จึงนำวัสดุสีเขียวแกมน้ำเงินมาจัดเรียง เพื่อค้นหาผิวสัมผัส และคุณสมบัติที่ลูกค้าชื่นชอบ  

อย่างไรก็ตามหากเป็นอาคารประเภทคาเฟ่ หรือ ร้านอาหารลูกค้าอาจจะต้องการสีสันให้สอดคล้องกับแบรนด์โดยตรงมากกว่าการใช้บริบท

“พนักงานจะนำถาดมาไว้ข้างตัว และเลือกหยิบวัสดุแต่ละประเภทที่คล้ายคลึงกันนำมาเปรียบเทียบ หลังจากนำไปทดลองกับแสงแดดเพื่อดูผิวสัมผัส หากลงตัวแล้วก็จะนำถาดวัสดุนี้ลงไปไว้ห้องจัดเก็บวัสดุ ส่วนวัสดุทั่วไปที่เป็นองค์ประกอบรองเราจะไม่นำมาจัดเรียงไว้ในถาด เพราะวัสดุเหล่านี้ขั้นตอนการนำเสนอแบบอยู่แล้ว”

สร้างระบบการคัดเลือกวัสดุ

จากประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยวิจัยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ทำให้สถาปนิกเลือกใช้วัสดุที่เรียบง่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานได้อย่างสะดวกสบาย เมื่อตัดสินใจเปิดสตูดิโอสถาปนิกจึงออกแบบอาคารให้สามารถทดลองวัสดุที่ตนสนใจอย่าง ไม้อัดยาง ดิน  และสารเคลือบต่างๆ ซึ่งเป็นวัสดุที่เรียบง่ายในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพยายามสร้างระบบการคัดเลือกวัสดุตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบผ่านถาดวัสดุ (เฉพาะวัสดุที่เป็นจุดเด่นเท่านั้น) ในเวลาเดียวกันก็ได้นำวัสดุมาทดลองกับโมเดลเพื่อเช็คความเหมาะสมของสเปซด้วย เมื่อลงตัวแล้วจึงนำไปจัดเก็บที่ห้องวัสดุ

นอกจากนี้สถาปนิกยังได้ออกแบบห้องนำเสนอแบบ และห้องจัดเก็บวัสดุ ให้เชื่อมต่อกันพร้อมเจาะช่องแสงสกายไลท์ เพื่อนำเสนอวัสดุกับลูกค้าได้อย่างสะดวก

“เรื่องของวัสดุเราต้องสื่อสารกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา การมีห้องวัสดุทำให้เราได้ทดลอง และทำความรู้จักกันมันจริงๆ อย่างไรก็ตามการทดลองวัสดุจะอยู่กับเราไปถึงการติดตั้งจริง เพราะหน้างานจะเป็นตัววัดผลว่าวัสดุที่เราคิดไว้ตอบโจทย์ต่อความรู้สึกของลูกค้ามากน้อยขนาดไหน”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn