‘ดินทรุด’ ปัญหาสามัญประจำบ้านที่เชื่อว่าหลายคนกำลังเผชิญ ซึ่งบ้านแต่ละหลังหรือที่ดินแต่ละแปลง ต่างก็มีการทรุดตัวไม่เท่ากัน เช่น ดินของบ้านเราทรุดตัวเร็วมาก แต่ในขณะที่ดินของเพื่อนบ้านข้างๆ แทบไม่ทรุดตัวเลยก็เป็นได้ และเมื่อเจอปัญหาดินทรุดแล้ว หลายคนก็ย่อมกังวลปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา วันนี้คอลัมน์ Dtips จึงพาทุกคนมาไขข้อข้องใจกับสารพัดคำถามจากเรื่องดินทรุดกัน!
ดินทรุดตัวเกิดจากอะไร ?
อย่างแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่า ดินจะมีการทรุดตัวตามธรรมชาติเสมอ ซึ่งอัตราการทรุดตัวนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพทางธรณีวิทยาของแต่ละพื้นที่ แต่สำหรับในแง่ของการก่อสร้างบ้านและอาคารแล้ว ‘การถมดิน’ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แต่ละบ้านเกิดดินทรุดไม่เท่ากัน แม้จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันก็ตาม
ปัญหาแรกเกิดจากการถมดินไม่ดีในระหว่างการก่อสร้างคือ เมื่อเวลาผ่านไปดินที่ทรุดตัวตามธรรมชาติเรื่อยๆ ก็มักจะทำให้เกิด ‘โพรงใต้บ้าน’ ตามมา และส่งผลให้ดินรอบๆ บ้านเคลื่อนตัวไหลเข้าไปในโพรงนั่นเอง
และอีกหนึ่งปัญหาคือ การถมดินให้สูงจากระดับถนนหรือที่ดินข้างเคียงที่ต่ำกว่า โดยไม่มีการป้องกันเสริม หรือไม่มี ‘กำแพงกันดิน’ ก็สามารถทำให้ดินไหลออกไปได้ จนเกิดปัญหาดินทรุดได้เช่นกัน
ถมดินอย่างไรให้ใต้พื้นบ้านไม่เป็นโพรง ?
การเลือกดินที่มีความเหมาะสมจะช่วยให้ลดการทรุดตัวได้ โดยใช้ ‘ดินเปียก’ ที่มีความแน่นตัวถมในระดับชั้นล่าง และใช้ ‘ดินแห้ง’ ถมในระดับชั้นบน ที่สำคัญต้องมีการบดอัดเป็นชั้นๆ เพื่อทำให้ดินมีความแน่นตัวมากยิ่งขึ้น และหากเป็นไปได้ก็ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ให้ดินเซตตัวก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างอาคาร หรือตกแต่งภูมิทัศน์รอบๆ
ดินทรุดตัว จะส่งผลให้บ้านทรุดตามหรือไม่ ?
โดยทั่วไปแล้วดินทรุดจะไม่ทำให้บ้านทรุดตาม เนื่องจากบ้านตั้งบนอยู่เสาเข็มและฐานรากที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากมีการใช้เสาเข็มและฐานรากไม่เหมาะสม ไม่รองรับการทรุดตัวของดิน หรือได้รับความเสียหายขณะก่อสร้าง ก็มีโอกาสที่จะทำให้บ้านทรุดตัวตามได้เช่นกัน
แต่สำหรับงาน Hardscape และ Landscape จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะไม่มีการติดตั้งเสาเข็ม หรือใช้เพียงเสาเข็มสั้นเท่านั้น จึงทำให้เกิดความเสียหายได้ง่ายเช่น ปัญหาพื้นที่จอดรถทรุดตัว ที่หลายคนมักเจอกันนั่นเอง
หากดินทรุดตัวจนใต้พื้นบ้านเป็นโพรง มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง ?
แม้ในช่วงก่อสร้างอาคาร เราจะถมดินหรือทรายเข้าไปใต้โครงสร้างพื้นคานจนแน่นแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10-20 ปี ดินที่อยู่ใต้คานจะค่อยๆ ทรุดตัวจนเกิดโพรง ซึ่งวิธีแก้ไขที่เราจะมาแนะนำมี 2 วิธี ได้แก่
1. ทำแนวกำแพงลึกลงไปในดิน เพื่อป้องกันดินรอบบ้านไหลเข้าไปในโพรง โดยสามารถก่อเป็นผนังทั่วไป หรือใช้วัสดุสำเร็จรูปเสียบลงไปปิดช่องแทน เช่น ซีเมนต์บอร์ด (สำหรับโพรงขนาดเล็ก) และแผ่นคอนกรีตสำเร็จ (สำหรับโพรงขนาดใหญ่) ซึ่งอาจใช้ร่วมกับเสาซีเมนต์ขนาดเล็ก หน้าตัดประมาณ 2 นิ้ว เพื่อค้ำยันเสริมความแข็งแรง แต่การทำกำแพงทั้ง 3 แบบนี้อาจอยู่ได้ไม่นานมากนัก หากมีการดินทรุดรุนแรงและต่อเนื่อง
2. ฉีดปูนซีเมนต์เหลวเข้าไปใต้พื้นบ้าน เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง สามารถปิดโพรงได้ดีในระยะยาว เนื่องจากตัวปูนซีเมนต์มีการไหลตัวดี ทำให้สามารถเติมเต็มโพรงได้ทุกซอกทุกมุม รวมถึงมีน้ำหนักค่อนข้างเบา ไม่รบกวนการน้ำหนักของระบบเสาเข็มและฐานราก
นอกจากการปิดโพรงจะช่วยลดการทรุดตัวของดินรอบบ้านแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์อันตรายเข้าไปอาศัย รวมถึงการเกิดน้ำขังใต้พื้นบ้านอีกด้วย ดังนั้นแม้การเกิดดินทรุดจะไม่ทำให้บ้านทรุดตาม แต่หากเราไม่มีการป้องกันหรือแก้ไขที่ดี ก็สามารถนำพาปัญหาอื่นๆ มาได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท ออลเฮ้าส์ จำกัด
LINE ID : Allhouseselder
Hotline : 095 747 7000
https://www.facebook.com/AllHousesElder/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!