ขึ้นชื่อว่า กรุงเทพฯ เมืองที่ฝุ่นควันเยอะติดอันดับโลก หากจะสร้างบ้านสักหลังก็คงหวังให้ปกป้องเราจากมลภาวะได้มากที่สุด เช่นเดียวกับ House R3 บ้านคอนกรีตที่ภายนอกปิดกั้น แต่แสงและลมยังคงเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมือง ที่สถาปนิกได้ออกแบบผ่านการ ‘วิธีแก้ปัญหา’ จนได้บ้านที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้านมากที่สุด จะทำอย่างไรเมื่อพื้นที่ก่อสร้างมีเพียง 150 ตารางเมตรแต่ความต้องการใช้พื้นที่มีมากกว่านั้น และนี่คือโจทย์แรกของสถาปนิกที่เจ้าของบ้านไว้ใจอย่าง PHTAA living design
MAXIMUM SPACE
การวางผังอาคารให้ได้พื้นที่สูงสุด
ปัจจุบัน ที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาสูงมากขึ้น การจะปลูกบ้านสักหลังก็ต้องการพื้นที่ใช้สอยไม่น้อย ตามกฎหมายแล้ว สามารถสร้างบ้านชิดรั้วบ้านได้แต่ผนังบ้านรั้วต้องปิดทึบ และแม้ว่าจะมีที่ดินไม่มาก แต่หากคุณต้องการพื้นที่ใช้สอยภายในตัวบ้านมากๆ นั้น สิ่งหนึ่งที่พึงระวังคือตามกฎหมายจะไม่สามารถสร้างบ้านจนเต็มที่ดินได้ ขอบเขตของตัวบ้านจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 70% ของที่ดินเท่านั้น
คุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกได้เล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้เป็นของครอบครัวขนาดกลางที่มีสมาชิกคือพ่อแม่ และลูกสามคน ความต้องการของพวกเขาคือต้องการบ้านที่เรียบง่าย ตอบสนองความต้องการตามปัจจัยพื้นฐาน เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ซึ่งหากจะสร้างบ้านที่มีสเปซเพียงพอต่อคน 5 คนนั้นแน่นอนว่า 150 ตารางเมตรไม่เพียงพอถ้าจะสร้างบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น ซึ่งผนวกกับตามกฎหมายการสร้างอาคารอยู่อาศัย ทำให้ต้องคำนึงถึงเรื่องช่องเปิดเป็นสำคัญ เมื่อพื้นที่มีจำกัดสถาปนิกจึงเลือกที่จะวางอาคารเต็มพื้นที่สูงสุดตามข้อกำหนด เป็นที่มาของบ้านขนาด 5 ชั้น 400 ตารางเมตร ที่มีบางด้านปิดทึบ
ชั้นแรกเป็นที่จอดรถจำนวน 2 คัน ขนาด 6 x 10 เมตร ที่เมื่อเราเข้าไปแล้วจะมี Transition Point เป็นโถงขนาดเล็ก หน้าบันได้และลิฟต์ ส่วนด้านหลังเป็นครัวไทย และขึ้นไปชั้น 2 จะเป็นห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ ชั้น 3 ทำหน้าที่เป็นห้องนั่งเล่นและพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งในส่วนนี้จะมีตู้เย็นและ Pantry เล็กๆ อยู่ด้วย ส่วนอีก 2 ชั้นที่เหลือจะเป็นห้องนอนทั้งหมด
ซึ่งการแบ่ง 1 ชั้น / 1 คน และยังคงมีพื้นที่ส่วนกลาง ทำให้คนต่างเจนเนอเรชันสามารถอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวได้ง่ายมากขึ้น ทั้งคอร์บันไดและลิฟต์จะทำให้สะดวกต่อการใช้ชีวิต เพราะทำให้สมาชิกไปถึงห้องของตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านพื้นที่ส่วนกลาง ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะกลับบ้านดึกก็ไม่ต้องรบกวนคนในครอบครัวในการสัญจรผ่าน แต่หากต้องการใช้เวลาร่วมกันก็มาพบกันได้ที่ Living Space นี่จึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองอย่างยิ่ง
SOLID OUTSIDE , FLOW INSIDE
การไหลเวียนของสายลมและแสงแดดที่ส่องถึงทุกบริเวณ
ช่องเปิดหลักออกแบบแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ฝั่งหน้าบ้านที่มีขนาดใหญ่จากพื้นถึงฝ้า สามารถเชื่อมต่อกับบริบทได้ และยังเผยให้เห็นวิวข้างนอกอย่างชัดเจน ส่วนอีกฝั่ง คือช่องเปิดหลังบ้านที่ซ่อนตัวอยู่หลังผนังทึบ วางตัวบิดมุมกับแกนหลักของบ้าน ทำให้เกิดเป็นช่องแสงระหว่างทางขึ้นบันได
House R3 ตั้งอยู่ภายในซอยของหมู่บ้านหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้านหน้าของบ้านจะหันหน้าเข้าสู่ถนนเล็กๆ โดยมีบริบทรอบข้างเป็นอาคารบ้านเรือนไม่ใช่ตึกสูง จึงทำให้ด้านหน้าบ้านนั้นมีมุมมองที่เปิดกว้าง เหมาะสำหรับเป็นทิศของช่องเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในบ้านกับภายนอกมากที่สุด
ในส่วนของหลังบ้าน ช่องเปิดหรือหน้าต่างในด้านนี้ถูกออกแบบให้ต่างจากบ้านโดยทั่วไป เมื่อมองจากด้านหลังภายนอกจะมีลักษณะทึบตัน แต่เผยช่องเปิดจากฝั่งด้านข้างอาคารในรูปแบบที่บิดเอียง สถาปนิกสร้างช่องเปิดด้วยวิธีบิดมุมให้หน้าต่างอยู่ด้านในติดระเบียง วางแนวให้เอียง 45 องศากับแกนของอาคาร ทั้งนี้เพื่อสร้างพื้นที่ให้อยู่สบาย ทำให้ห้องต่างๆ ภายในบ้าน มีผนังกระจกที่โปร่ง และเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกบ้าน
จากเงื่อนไขที่ตึงเครียดก็กลายมาเป็นงานออกแบบที่สนุกขึ้นได้ อีกทั้งการเจาะช่องคล้ายระเบียงหรือหน้าต่างขนาดใหญ่ ยังช่วยทำให้บ้านมี Pocket Space ของตัวเองที่จะนำมาจัดสวน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก
แสงสว่างเข้าถึงพื้นที่ภายในได้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยอย่างห้องนั่งเล่น ห้องนอน รวมไปถึงทางสัญจรหลักของบ้านอย่างบริเวณโถงบันได มีช่องลมที่ทำให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ทั่วทั้งบ้าน นอกจากนั้นยังสร้างพื้นที่ใช้สอยกึ่งภายนอกอย่างระเบียง เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในบ้าน
ในทางกลับกัน การออกแบบผนังอาคารในฝั่งหลังบ้านเป็นลักษณะที่ทึบตัน เพราะด้านนี้อยู่ติดกับถนนพระรามสาม ทางยกระดับที่มีเสียงดัง และฝุ่นละอองมาก สอดคล้องกับการวางผังให้บันไดให้อยู่บริเวณหลังกำแพงทึบนี้ เพื่อใช้เป็นส่วนที่กันสิ่งรบกวนจากบริบทรอบข้างสู่พื้นที่อยู่อาศัยนั่นเอง
PURE FORM & NO DECORATION
สัจจะวัสดุ
บ้านหลังนี้ใช้โครงสร้างแบบ Flat Slap หรือเรียกว่าพื้นไร้คาน เป็นเป็นลักษณะโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องมีคานเพื่อรับน้ำหนักจากพื้น สถาปนิกได้ทำแบบหล่อ และเว้นผังไฟไว้ตั้งแต่แรก ทำให้จะไม่มีสายไฟโผล่มาบนคอนกรีตเลย ซึ่งเป็นกระบวนการที่คราฟต์และปราณีตสำหรับงานสถาปัตยกรรม
ฟอร์มภายนอกดูเรียบเป็นรูปทรงเรขาคณิต ทาสี Skim Coat คล้ายทรายเพื่อให้บ้านมีความอบอุ่นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นความชอบของเจ้าของบ้านเองด้วย และยังทำให้เงื่อนไขในการออกแบบที่เคร่งเครียดดูนุ่มนวลลง
ตัวอาคารมีดีเทลที่ทำให้รูปด้านน่าสนใจมากขึ้น นั่นคือ กระจกของห้องนอนที่ทำให้เกิดสเปซและฟอร์มใหม่ๆ ที่เพิ่มความสนุกให้บ้าน รวมถึงการแบ่งห้องที่ชั้น 5 เนื่องจากไม่ต้องการให้หน้าต่างดูมีกรอบที่แบ่งออกเป็นสองบาน จึงใช้กระจกเป็นวัสดุกั้นห้องนั่นเอง
NON-SQUARE ROOM
ห้องไม่สี่เหลี่ยม
ในทิศฝั่งตะวันตกถูกกำหนดเป็นช่องเปิดทั้งหมด ตั้งแต่ชั้น 1 ที่เป็นโรงจอดรถ ชั้น 2 ไปจนถึงชั้น 5 เป็นห้องนั่งเล่น และห้องนอน ทำให้ทั่วบริเวณของบ้านมีการเชื่อมต่อสู่ภายนอก การวางระเบียงห้องนอนมีลักษณะเป็นผนังกระจกโค้งฟรีฟอร์ม บิดพื้นที่ภายนอกเข้าสู่ภายในห้องนอน ทำให้ได้มุมมองที่แตกต่าง
อีกทั้งเรายังได้คุยกับ คุณหฤษฎี ลีละยุวพันธ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและอินทีเรียดีไซน์จาก PHTAA living design ซึ่งเธอเล่าว่า
“ที่ชั้น 4 แปลนห้องนี้แสดงความเป็นตัวตนของบ้านหลังนี้มากที่สุด จะมีเอฟเฟ็กต์จากนอกเข้ามาข้างใน มีทั้ง 2 ระเบียง ทั้งระเบียงโค้ง และระเบียงด้านหลังที่เจาะช่องเปิดส่งผลมายังการวางผังของอินทีเรียค่อนข้างเยอะ อย่างตัวแปลนที่วางเตียงหรือตู้จะวางเฉียงทั้งหมดตามฟอร์มตัวอาคารไป”
“ห้องนั่งเล่น จะรวมครัวฝรั่ง โต๊ะรับประทานอาหารแบบ Open Plan ทั้งหมด และในส่วนของงานเฟอร์นิเจอร์เกือบทั้งหมดจะเป็นแบบลอยตัว ทั้งหมดในห้องนี้เป็นของเก่าที่เอามาจากบ้าน ตกแต่ง บุเบาะ และทำสีไม้ใหม่ทั้งหมด ยกเว้นแพนทรี ผนังพื้นหลังทีวี และโต๊ะใต้ทีวีเล็กๆ”
“อินทีเรียต้องการคุมโทนให้อบอุ่นขึ้น จึงใช้โทนสีของไม้ ผนังเป็นสีโทนทรายๆ บวกกับพวกไม้กรุที่เป็นลามิเนต ซึ่งตรงกับเงื่อนไขเดิมที่เฟอร์นิเจอร์เป็นไม้ เราเลยคุมธีมตามบ้านเก่าซึ่งมีอายุเกือบร้อยปี เป็นเฟอร์นิเจอร์รุ่นอากง ทำให้บ้านนี้มีความ Nostalgia เหมือนไม่ได้เริ่มทำบ้านจากใหม่ทั้งหมด แต่เริ่มจากกลิ่นอายของสมาชิกในบ้านที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน”
ทั้งหมดนี้มีความเป็นยุคสมัยของตัวอาคาร ทั้งสถาปัตยกรรม และเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกเล่าขานด้วยภาษาที่คล้ายกัน อย่างพื้นข้างนอกที่ใช้เป็นหินกาบปูพื้นสีดำ คล้ายกับบ้าน Mid century นั่นคือ การดึงเอากลิ่นอายของบ้านเก่ามาใช้ ผนังของห้องน้ำที่ทำให้สอดคล้องกับกระจกโค้ง เพื่อให้พื้นที่ภายใน-ภายนอก มีความโอบรับกัน ส่วนภายในใช้กระจกบานขุ่นเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาแต่ไม่รับฝุ่นควัน
การออกแบบบ้านต้องคำนึงถึงเหตุผลหลายประการ ความงามเป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความแข็งแรง และฟังก์ชันการใช้สอยที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตเจ้าของบ้านให้มากที่สุด ท่ามกลางฝุ่นหนา เสียงรถที่ดังวุ่นวาย หากเราต้องการพักผ่อน และไม่มีมลพิษทางเสียงและอากาศ นั่นคงทำให้การกลับมาบ้านเป็นสิ่งที่เราถวิลหาอย่างแน่นอน
Detail : 5 storey building / 1 living room / 4 bedrooms / 3 parking
Design team : Pisut Nakchang Toy Toei
Photographer : Kukkong Thirathomrongkiat
ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล และคุณหฤษฎี ลีละยุวพันธ์ PHTAA living design
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!