“ตัวตนของเราคือการที่เราพาลูกค้าเข้าไปในจุดที่เป็นที่สุดของเขา ทั้งคาแรคเตอร์ แบคกราวด์ สิ่งที่เขาทำ พื้นที่และบริบทโดยรอบซึ่งถ่ายทอดผ่านงานดีไซน์”
Context studio เป็นชื่อที่เราเคยได้ยินมานานในวงการอินทีเรียจากผลงานมากมายอย่างร้านกาแฟ Flat+white, Hacking Coffee Roaster โชว์รูม Fritz Hansen ที่เป็น Best Concept Store in the World ของปี 2017 ร้านทำผม Chalachol รวมถึงผลงาน Thematic Pavilion ที่ได้รางวัลชนะเลิศในงานอาษาปีล่าสุด แม้จะดูเหมือนทำงานร้านค้าและแบรนด์เป็นหลักแต่ความจริงแล้วผลงานของสตูดิโอนี้ไม่ได้จำกัดประเภทงาน เพราะทุกอย่างล้วนออกแบบมาจากบริบทที่อยู่เบื้องหลังซึ่งสามารถตีความออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เราได้คุยกับ ‘คุณต้น-บดินทร์ พลางกูร’ เจ้าของสตูดิโอแห่งนี้ที่เล่าถึงแนวคิดการออกแบบ และได้เห็นชิ้นงานมากมายที่เรียงไว้ตรงมุมห้อง ทั้งบล็อกไม้ แผงเกล็ดที่ทำจากเหล็ก หรือชิ้นส่วนของโซ่ ซึ่งหากรู้จักผลงานการออกแบบของ Context Studio กันมาบ้างแล้วจะทราบได้ทันทีว่าของเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดจากการทดลองใช้วัสดุใหม่ ๆ ในแต่ละโปรเจกต์ ซึ่งวางไว้คู่กับตู้เก็บคอลเลกชันหินสะสมส่วนตัวของคุณต้นที่มีฟอร์มสวยงามแปลกตา สิ่งเหล่านี้คือส่วนผสมของตัวตนผู้ออกแบบและงานดีไซน์ที่ถ่ายทอดตัวตนของลูกค้าอย่างแท้จริง
“เดิมไม่ได้คิดจะทำบริษัทของตัวเองเลย” คุณต้นเล่าถึงที่มาของสตูดิโอด้วยประโยคที่น่าประหลาดใจ “เพราะอยู่อังกฤษมาตลอด พอกลับมาไทยเลยไม่มีคนรู้จักในสายงานดีไซน์เลย พอเริ่มทำงานก็เข้าบริษัทนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งทำให้มีโอกาสได้เห็นดีเทลต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ใช่คอมพลีทดีไซน์เลยออกมาลองทำพอร์ตผลงานของตัวเองเพื่อจะสมัครบริษัทใหญ่ ๆ กลายเป็นว่าสุดท้ายก็ทำต่อมาเรื่อย ๆ” นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างผลงานด้วยแนวทาง และความเข้าใจบริบทของ Context Studio ที่เราจะพาทุกคนไปรู้จักมากขึ้นในวันนี้
พื้นที่ภายในที่เริ่มต้นด้วยสิ่งรอบข้างและตัวตนของผู้เป็นเจ้าของ
งานออกแบบของคุณต้นทุกชิ้นเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจพื้นที่และเจ้าของร้านอย่างละเอียดจากความเชื่อที่ว่างานอินทีเรียที่ดีจะต้องทำให้ลูกค้ามีความสุขพร้อมกับดึงศักยภาพ คาแรคเตอร์ของแบรนด์และเจ้าของร้านออกมาได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งเสริมการทำธุรกิจและการขายของในรูปแบบของแบรนด์ผ่านคอนเซปต์ที่ดึงมาจากความเป็นจริงได้ อย่างเช่น การดีไซน์ที่ใช้ดีเทลของขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือถิ่นที่ตั้งมาใช้
“นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมก็จะต้องมีความสุขด้วย” คุณต้นเสริมว่าการทำงานอินทีเรียนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ภายใน แต่งานที่ดีจะต้องสอดคล้องกับทุกสิ่งรอบตัว มีความเป็น ‘Site Specific’ ที่ไม่สามารถยกไปวางที่อื่นได้ต้องอยู่ตรงนี้ในสิ่งแวดล้อมนี้เท่านั้น
เราสงสัยต่อว่า ถ้าทำงานอินทีเรียไปตั้งในห้างและมีพื้นที่คล้ายกันจะสร้างความเฉพาะได้ขนาดไหน?
ซึ่งคุณต้นให้คำตอบว่า “เราจะดูจากโลเคชั่น วิวที่มองเห็น จำนวนคนที่เดินผ่านตรงนั้น หรือแม้แต่คอนเซปต์ของห้าง อย่างถ้าห้างมีบรรยากาศเป็นพื้นที่กึ่งภายนอกเราก็ออกแบบให้สอดคล้องกัน”
คำว่า ‘บริบท’ สำหรับคุณต้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ตั้ง แต่รวมถึงทุกสิ่ง ตั้งแต่สภาพหน้างาน ข้อจำกัด ประวัติศาสตร์ คนและทุกสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ กระทั่งร่องรอยจากการใช้งานในอดีตก็นับว่าเป็นคาแรคเตอร์ของไซต์ ในส่วนของแบรนด์ ภาพจำและตัวตนของแบรนด์ ขั้นตอนการผลิต ที่มาที่ไปของสินค้าก็นับว่าเป็นบริบทเช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คุณต้นให้ความสำคัญเพื่อถ่ายทอดเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ผ่านการดีไซน์ ให้ทุกคนที่เข้ามากลับไปพร้อมกับความทรงจำที่น่าประทับใจและได้ประสบการณ์ที่ตรงกับ Brand Identity เบื้องหลังของสินค้าได้จากสเปซ
บริบทอย่าง ‘ไทย’ ในงานอินทีเรีย
คุณต้นมองว่า ประเทศไทยเรามีความรู้พื้นถิ่นเยอะมาก และมีความ Site-Specific ที่เกิดขึ้นจากความเป็นพื้นที่สูง จากภูมิศาสตร์ อากาศ สภาพแวดล้อม ข้อจำกัดหรือต้นไม้ที่ปลูกได้ จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดจากที่อื่นไม่ได้เนื่องจากปัจจัยไม่เหมือนกัน ถึงตรงนี้คุณต้นก็หยิบชามที่ทำมาจากยางรักออกมาให้ดู
“อย่างถ้วยนี้ทำขึ้นเพราะในพื้นที่ไม่มีโลหะใช้ เวลาขนน้ำจากแม่น้ำเลยต้องใช้ยางไม้มาอุดภาชนะไม้ไผ่เพื่อให้ขนน้ำเข้าไปใช้ในหมู่บ้านได้ โดยต้นรักเองก็ต้องอยู่ในป่าชื้นไทยเท่านั้น พอพัฒนามาเรื่อย ๆ ก็เลยกลายเป็นงานคราฟต์และความรู้พื้นถิ่น”
เมื่อให้ความสนใจเรื่องความรู้พื้นถิ่นอย่างลึกซึ้ง คุณต้นจึงเริ่มศึกษาจากการลงพื้นที่ไปเรียนรู้กับชุมชนโดยตรง และเมื่อทำงานด้วยกันก็ถือเป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน อย่างในโปรเจกต์ ‘ตำทองหล่อ’ ที่เป็นร้านส้มตำ คุณต้นก็ได้ร่วมมือกับชุมชนจักสานที่อำเภอพนัสนิคมเพื่อทำโคมไฟลายพิเศษของร้านขึ้นมา
คุณต้นยังกล่าวเสริมถึงเทรนด์การออกแบบของไทยในปัจจุบันไว้ด้วยว่า “เราไม่ควรตามเทรนด์จนเกินไป ไม่อย่างนั้นเราจะตามเขาไปเรื่อย ๆ เราอยากเห็นคนกลับมาตีโจทย์เรื่อง Brand Identitiy และตัวตนมากขึ้นเพราะมันจะทำให้ดีไซน์พิเศษมากขึ้น ทุกวันนี้หลายคนจะให้ค่าความเป็นพื้นถิ่นมาขึ้นเพราะมันมีความเฉพาะตัวของพื้นที่”
“เราจะพยายามอธิบายลูกค้าว่าถ้าตามเทรนด์ พอเทรนด์เปลี่ยนก็จะต้องเปลี่ยนตามเรื่อย ๆ และตัวตนของเราก็จะหายไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายอาจลืมความเป็นตัวเองของร้านหรือแบรนด์ที่เราทำ และพอจะเอากลับมาก็ยากแล้ว” คุณต้นยกตัวอย่างของออกแบบตามเทศกาลว่าหากมีตัวตนที่ชัดเจน การตกแต่งจะไม่ใช่การซื้อของประดับมาวาง แต่เป็นการตีโจทย์ในแบบของตัวเองว่าคริสต์มาส ปีใหม่ ของแบรนด์เป็นแบบไหน
“ร้านหรือแบรนด์ที่เข้าถึงจุดนี้ได้ก็จะเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงและอยู่ได้ทุกที่ เพราะสามารถปรับตัวได้ตามบริบทของสถานที่และเวลา ดูอย่างโรงแรมที่ Identity ชัดไม่ว่าจะอยู่เกียวโตหรือนิวยอร์คก็ยังดูเป็นเขาอยู่แค่ผสมกับบริบทเมือง”
ทำงานตาม ‘CONTEXT STUDIO’
การทำงานในแบบของคุณต้นจะโฟกัสกับการหาข้อมูลของบริบทอย่างจริงจัง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของตึก เดินลงพื้นที่รอบย่านพร้อมกับสัมภาษณ์คนในพื้นที่ “งานช่วงแรกจะออกแนว Urban และ Community Service เพราะเราต้องเข้าใจไซต์” นอกจากไซต์แล้วการคุยกับลูกค้าก็สำคัญไม่แพ้กัน ทุกครั้งที่ออกแบบคุณต้นจะสัมภาษณ์ลูกค้าอย่างละเอียด ลงลึกที่สุดเพื่อดึงความเป็นตัวตนของเขาออกมา
จากประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่ประถมทำให้เอกลักษณ์ในการทำงานอีกอย่างของคุณต้นคือความกล้าทดลอง เพราะเคยได้ทำโมเดลจริงแบบ 1:1 เพื่อให้เข้าใจวัสดุและการก่อสร้าง “เราไม่กลัวที่จะทดลองและไม่มีลิมิตในการใช้แมททีเรียลใหม่ ๆ อย่างการใช้โซ่ในงาน pavillion ล่าสุดก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่เราเชื่อว่าการออกแบบที่มีการทดลองจะทำให้เกิดสิ่งใหม่”
เห็นความกล้าทดลองที่ผ่านมาแล้วเราเลยถามต่อว่าคุณต้นมีงานออกแบบประเภทไหนบ้างที่อยากทดลองต่อไป “อยากทำงานทุกแบบ เพราะมันแตกต่างกันด้วยสตอรี่ของลูกค้าและบริบทอยู่แล้ว แต่ก็จะมีงานแปลก ๆ ที่อยากลองเพิ่มอย่าง คุก หรือสถานบันเทิง เพราะคิดว่าดีไซน์เนอร์ควรออกแบบได้ทุกอย่าง”
ผลงานจากบริบท
Hacking Coffee เป็นโปรเจกต์ที่คุณต้นเล่าให้เราฟังว่าสามารถสะท้อนตัวตนของเจ้าของ สินค้า และบริบทของไซต์ได้ชัดเจน ตั้งแต่สตอรี่ของลูกค้า อดีตโปรแกรมเมอร์ซึ่งพอมาเป็นนักคั่วกาแฟเขาก็จะไปตามหาเมล็ดกาแฟดี ๆ ชิงซื้อมาเป็นล็อตเล็กก่อนเจ้าใหญ่เพื่อขายในราคาที่สมเหตุสมผล
เมื่อได้รู้วิสัยทัศน์ของเจ้าของร้านแล้ว คุณต้นจึงตีความออกมาเป็นคอนเซปต์ร้านกาแฟที่บริหารโดยแฮกเกอร์ แฝงประสบการณ์แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทั้งหลืบทางเข้าด้านข้างและสวนแบบ cyberpunk ที่ไม่มีต้นไม้แต่ใช้การไหลของน้ำมาช่วยสร้างความรู้สึกชุ่มชื้นแทน
สำหรับดีเทลหลักของงานชิ้นนี้คือคอนกรีตฝังชิปคอมพิวเตอร์ซึ่งคุณต้นทดลองใช้เป็นครั้งแรก โดยต้องไปซื้อชิปต่อจากการไฟฟ้า นำมาแปะบนผนังและหล่อคอนกรีตทับ “เราต้องทุบจริง ๆ ถึงจะได้เอฟเฟกต์ของรอยแตกที่เป็นธรรมชาติ” คุณต้นเสริมพร้อมเปิดสเกตช์ดีเทลให้ดู “ขั้นตอนตรงนี้ค่อนข้างเยอะและไม่ค่อยมีใครทำเราต้องลงไปหน้างานอยู่ด้วยกันกับช่างตอนทุบด้วย ซึ่งพอทำแล้วก็เป็นดีเทลที่เติมเต็มคอนเซปต์ได้ดี”
ข้อจำกัดคือโอกาส
แม้จะมีอุปสรรคในการทำงานบ้าง แต่คุณต้นกล่าวเสมอว่าการที่ได้เห็นสเปซที่เราทำเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ใช้งานได้จริงทำให้มีความสุขมากตลอด แต่สำหรับในงานที่มีข้อจำกัดก็ให้มองในแง่ดี อย่างเช่นในงาน Chant’s Cafe ที่ลูกค้าอยากแขวนต้นไม้จริงในห้องที่เป็นโถงสูง คุณต้นเลยต้องแก้ปัญหาโดยการประยุกต์ดีเทลของโคมไฟคลาสสิกโบราณ ใช้ระบบรอกและตุ้มถ่วงน้ำหนักในการดึงต้นไม้ขึ้นลงเพื่อให้สามารถรดน้ำได้ และการแก้ปัญหาครั้งนี้ก็กลายเป็นดีเทลที่ไม่เหมือนใคร
“โปรเจกต์นี้ทำให้เรารู้เลยว่าถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นอย่ามองในแง่ลบ เพราะมันอาจนำมาซึ่งดีเทลเฉพาะตัวที่เพิ่มความพิเศษให้กับงาน และเราอาจได้การแก้ปัญหาที่คนอื่นไม่ค่อยทำ คุณต้นกล่าวทิ้งท้าย
คำพูดที่คุณต้นบอกว่า ‘บริบทเป็นแทบทุกอย่าง’ เห็นจะเป็นจริง เพราะบริบทคือจุดเริ่มต้น ตัวตนและแก่นแท้ของทุกสิ่งที่ตามมา ในงานออกแบบชิ้นหนึ่งหากได้ยึดโยงกับ context แล้วไม่ว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่จะมีคุณค่ามากขึ้นต่อสิ่งที่อยู่รอบข้าง ผู้เป็นเจ้าของ และประสบการณ์ของคนที่เข้ามาในสเปซ โดยไม่หายไปตามกาลเวลาหรือกระแสที่เปลี่ยนไป Context Studio ของคุณต้นเป็นอีกหนึ่งหนึ่งสตูดิโอที่เชื่อมั่นในคุณค่านี้และอยากที่จะสื่อสารบริบทของพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัส
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!