CHUB CHUB HOUSE จากเรือนพื้นถิ่นภาคใต้
สู่บ้านหลังใหม่ที่ดูหนักแน่น ร่วมสมัย แต่แฝงความคุ้นเคย

‘นาบอน’ อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เกิดจากการขยายตัวของชุมชนย่านการค้าตามแนวรถไฟในอดีต แม้บรรยากาศความคึกคักจะจางลงไปตามกาลเวลา แต่ยังคงรักษาเสน่ห์ของชุมชนอันแสนเงียบสงบและเรียบง่าย โดยมีภาพของ ‘เขาเหมน’ หรือ ‘เขาพระสุเมรุ’ เป็นฉากหลัง

และที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของบ้าน CHUB CHUB House ผลงานออกแบบจาก Studio PhaSarn สตูดิโอที่เชื่อในการออกแบบ Build on Heritage ที่นำความสร้างสรรค์ เทคโนโลยียุคสมัยใหม่ มาต่อยอดบนมรดกภูมิปัญญาเก่า ทำให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่เคารพบริบทรอบข้าง และเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน

เพื่อนบ้านใหม่ที่คุ้นเคย

“ระหว่างทางเราได้เห็นภาพป่ายางตลอดสองข้างทาง พอเข้าไปก็จะเจอชุมชนเล็กๆ ซึ่งบริบทในชุมชนก็เป็นอีกหนึ่งอิทธิพลในการออกแบบ ที่เป็นตัวกำหนดว่าเราต้องออกแบบอะไรที่มันไม่หลุดจากความเป็นชุมชนนี้ไปมากนัก เรียกว่าเป็นเพื่อนบ้านใหม่ที่เข้าได้กับรอบข้าง ดังนั้นเราจึงหยิบจับความคุ้นเคยของคนในชุมชนเข้ามาใช้ และกลายเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ New Familiarity หรือ ความคุ้นเคยใหม่” – ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ สถาปนิกผู้ออกแบบ เล่าถึงที่มาของโครงการ

ไม่เพียงแค่บริบทโดยรอบเท่านั้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบ แต่ยังมีอีกโจทย์สำคัญจากคุณแม่ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ที่อยากให้บ้านดู ‘ชับ ชับ’ ซึ่งเป็นภาษาใต้ หมายถึงความหนักแน่น มั่นคง กระชับ ดูภูมิฐาน จึงเป็นที่มาของรูปลักษณ์และสัดส่วนของอาคารที่โดดเด่นเป็นพิเศษ

ทิวทัศน์ ทิศทาง กับการวางฟังก์ชัน

สถาปนิกเริ่มต้นจากการวาง Zoning ตามทิศทางแดด ลม ฝน และข้อจำกัดของไซต์ ซึ่งมีสาเหตุจากถนนด้านทิศใต้มีระดับต่ำกว่าไซต์ที่ดิน ถนนจึงมีลักษณะเป็นเนิน ประกอบกับระยะทางกระชั้นชิดกับหัวโค้งมากเกินไป สถาปนิกจึงเลือกวางทางเข้าบ้านไว้บนถนนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแทน และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้โซน Public ของบ้าน ถูกวางถัดจากทางเข้า และดันโซน Private ไปทางด้านหลัง ติดกับถนนด้านทิศใต้ แม้ว่าโซนนี้จะได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวนบนถนน แต่ทว่าก็ได้มีการแก้ไขปัญหาในเชิงดีไซน์เพิ่มเติม และสำหรับทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่รับแสงแดดค่อนข้างเยอะ สถาปนิกก็ได้วางโซน Service ในบริเวณนี้ พร้อมเสริมเกราะป้องกันแสงแดด ที่ยังคงความโปร่งโล่งและสามารถกันยุงได้ ด้วย ผนังบล็อกช่องลม

หลังจากวาง Zoning เรียบร้อยแล้ว ก็ได้มีการจัดวางฟังก์ชันภายในอาคารอย่างกระชับ เป็นสัดส่วน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างมิติให้กับรูปทรงอาคาร ด้วยการยื่นและยุบ Mass อาคารทั้ง 3 ก้อนให้เหลื่อมกัน รวมถึงมีการออกแบบ Double Volume Space ตรงกลาง เพื่อให้ลมและแสงธรรมชาติสามารถไหลเข้ามาจากผนังบล็อกช่องลมบริเวณโถงบันไดด้านหลัง และลอดผ่านช่องว่างทางเดินบนชั้นสอง ก่อนจะเชื่อมสู่โถงต้อนรับหน้าบ้านอย่างต่อเนื่อง

ผนังบล็อกช่องลม ที่ซ่อนมุ้งลวดตรงกลาง

เมื่อเดินเข้ามาจากชานหน้าบ้าน ก็จะพบกับโถงต้อนรับดังกล่าว พร้อมกับสเปซสำหรับวางตี่จู้เอี๊ยะตรงกลางเป็นจุดดึงดูดสายตา ที่เชื่อมต่อกับโซนห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่นข้างๆ นอกจากบริเวณชั้นล่างจะมีพื้นที่ใช้งานส่วนกลางแล้ว ยังมีโซน Private ที่ถูกกั้นให้เป็นห้องนอนของคุณพ่อ และลูกชายคนโตที่ไม่ได้อยู่บ้านประจำ ซึ่งห้องนอนของคุณพ่อถูกออกแบบให้เน้นในเรื่อง Universal Design เพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ และมีการใช้เฟอร์นิเจอร์บางส่วนจากบ้านหลังเก่า เพื่อสร้างบรรยากาศอันคุ้นเคยให้กับเจ้าของบ้าน

เก้าอี้ตัวโปรดของคุณพ่อ และชานระเบียงเชื่อมสู่สวนด้านทิศใต้บ้าน

หลังจากขึ้นบันไดมายังชั้น 2 จะพบกับห้องพระ ซึ่งถูกวางในตำแหน่งคล้ายกับบ้านหลังเก่าเป็นส่วนแรก ก่อนจะพบทางเดินซุ้มโค้งที่นำพาไปยังห้องนอนแต่ละห้อง และในชั้นนี้ยังมี พื้นที่ระเบียง ที่สถาปนิกได้กำหนดฟังก์ชันนี้ไว้เป็นอีกจุดสำคัญของบ้าน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มานั่งพักผ่อนในบรรยากาศสบายๆ พร้อมกับดื่มด่ำทัศนียภาพธรรมชาติของยอดเขาเหมน

ลูกเล่นหน้าต่างเล็กๆ จากสถาปนิก ที่ช่วยทำให้บรรยากาศดูอบอุ่น

ภาษาของตึกแถวและเรือนพื้นถิ่นไทย

หากเราสังเกตจะพบว่าบ้านหลังนี้ ได้มีการนำองค์ประกอบของเรือนพื้นถิ่นหลายๆ ภาษามาใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างบรรยากาศ ‘ความคุ้นเคยใหม่’ และสร้างรูปทรงที่ดูหนักแน่น ไม่เพรียวบางตามโจทย์จากเจ้าของ ซึ่งได้แก่

หลังคาจั่วเดี่ยว อาคารหลังเดียว แม้จะมีการแบ่ง Mass อาคาร เพื่อให้ลมผ่านได้ แต่ฟังก์ชันแทบทุกส่วนล้วนถูกคลุมไว้ภายใต้หลังคาจั่วเดี่ยวผืนใหญ่ ตามฉบับเรือนพื้นถิ่นภาคใต้ที่พบได้ทั่วไป โดยมีการยื่นหลังคาออกไป 2.70 เมตรทั้งสองด้าน เพื่อสร้างร่มเงา กันแดดกันฝนให้กับตัวบ้าน ช่วยลดปัญหาน้ำรั่วซึมจากรอยต่อหลังคา ทั้งยังสะท้อนถึงความ ‘ชับ-ชับ’ ได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีการปาดมุมชายคาให้เอียงขึ้นไป เพื่อลดทอนความทึบตันของหลังคาลง พร้อมเปิดมุมมองให้โฉบเฉี่ยวขึ้น โดยมีแพทเทิร์นจากฝ้าไม้เทียม Wood Plastic Composite (WPC) ช่วยเสริมดีไซน์หลังคาชวนให้น่าจดจำ

ทางเดินซุ้มโค้งจากหง่อคาขี่ นอกจากเรือนเดี่ยวหรือเรือนแฝดแล้ว ตึกแถว ถือเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคใต้ ที่ได้รับอิทธิพลจากตึกแถว ชิโน-ยูโรเปียน ก่อนจะถูกนำมาปรับเปลี่ยนในหลากหลายรูปแบบ สามารถพบได้ในบางจังหวัดของภาคใต้ ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยมี หง่อคาขี่ ที่เป็นทางเดิน Semi-open เชื่อมพื้นที่หน้าตึกให้ต่อเนื่องกันตลอดทั้งบล็อก ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงบริบทของภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของการออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศฝนตกชุก และการแสดงถึงความเอื้ออารีระหว่างผู้คนบนทางเดินและเหล่าร้านรวงริมถนน

แม้ที่อำเภอนาบอนจะไม่มีตึกแถวชิโน-ยูโรเปียน แต่สถาปนิกก็ได้มองว่าหง่อคาขี่ เป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตของภาคใต้ จึงได้หยิบมาใช้ในการสร้างความคุ้นเคยใหม่ให้กับสเปซ โดยนำซุ้มโค้งมาปรับสัดส่วนให้แคบ ยาว สูง เพื่อให้สอดคล้องกับความกว้างทางเดินที่ค่อนข้างกระชับ รวมถึงช่วยสร้างเอกลักษณ์ของซุ้มโค้งใหม่สำหรับบ้านหลังนี้โดยเฉพาะ

ทางเดินซุ้มโค้งแต่ละจุดจะมีวิธีการออกแบบที่ต่างกันไป อย่างซุ้มโค้งบริเวณหน้าบ้าน ที่ต่อเนื่องมาจากทางลาดของโรงจอดรถ ก็ได้มีการติดตั้งบานกระจกเงาในซุ้มโค้งตรงท้ายทางเดิน เพื่อเกิดเงาสะท้อนภาพซุ้มโค้งลึกเข้าไป ทำให้เรามองเห็นเป็น 5 ซุ้ม จากของเดิมที่มีเพียงแค่ 3 ซุ้ม (หลักการเดียวกับการสะท้อนของกระจกภายในลิฟท์)

ทางเดินบนชั้น 2 ของบ้าน ก็ถูกออกแบบให้เป็นผนังซุ้มโค้งเช่นเดียวกัน แต่ด้วยระยะห่างเสาที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้ไม่สามารถสร้างจำนวนซุ้มโค้งได้หลายชั้น สถาปนิกจึงได้มีการทำผนังหนากว่าจุดอื่น และปาดขอบเอียง 45 องศา เพื่อช่วยเพิ่มมิติความนุ่มลึกของซุ้มโค้งจากแสงมาตกกระทบตรงขอบซุ้ม

สำหรับโซน Private ที่ติดกับถนนด้านทิศใต้ สถาปนิกก็ได้มีการออกแบบ ฉนวนระเบียง พร้อมแผงเหล็กฉลุ เพื่อทำหน้าที่เป็น Double-Skin Façade ที่กั้นความเป็นส่วนตัวให้กับบริเวณโซนนี้ โดยสีขาวของแผงเหล็กฉลุ มีส่วนช่วยในการพลางตาสายตาอย่างมาก เนื่องจากการกระจายแสงของสีขาว ช่วยทำให้คนจากภายนอกมองไม่เห็นข้างใน ซึ่งเมื่อเทียบกับผนังรั้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าแผงเหล็กฉลุสีเทาเข้ม ทำให้สามารถมองทะลุเข้าไปข้างในได้อย่างโปร่งโล่ง แม้จะใช้วัสดุเดียวกันก็ตาม ที่สำคัญความซ้ำของจังหวะซุ้มโค้งที่ห่างกันทุกๆ 1.2 เมตร ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเน้นสเปซซุ้มโค้งให้ดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น

เมื่อเปิดไฟตรงพื้นฉนวนระเบียงตอนกลางคืน จะช่วยเปลี่ยนแผงบังตาทั้งหมดให้กลายเป็นผนังโปร่งแสงได้

หลักการใช้สีเทาอ่อน ผนังสีขาวที่เราเห็น แท้จริงแล้วเป็นผนังสีเทาอ่อน ที่เมื่อเจอแดดแล้วจะทำให้ผนังสว่างขึ้น คล้ายกับสีขาว แต่ไม่จ้าจนเกินไป ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับสถาปัตยกรรมไทยที่มักใช้ ‘สีเทาควันบุหรี่’ สำหรับเรือนก่อ และสีขาวโทนเทายังเข้ากันได้ดีกับสีวัสดุอื่นๆ ของบ้าน รวมถึงช่วยดึงความโดดเด่นวัสดุไม้ขึ้นมาด้วยความคอนทราสต์

ระยะช่วงเสาของตึกแถว ไม่เพียงแค่สเปซภายในอาคาร ที่สถาปนิกได้ออกแบบให้สอดคล้องกับบรรยากาศตึกแถวเก่าของเจ้าของ แต่ยังมีการออกแบบรูปด้านภายนอกอาคารในทิศตะวันออก ให้มีลักษณะคล้ายกับด้านหน้าของตึกแถว โดยแบ่งช่วงระยะเสา 3.6 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเสาของตึกแถวโบราณที่ค่อนข้างแคบ รวมถึงใช้เสาขนาดหนาขึ้นไปรับกับตัวหลังคา ทำให้ภาพรวมของบ้านดูมั่นคงยิ่งขึ้น

ค้ำยันหัวเสา จากตึกแถวชิโน-ยูโรเปียน ที่ถูกลดทอนรูปให้ดูเรียบง่าย

สัดส่วนช่องเปิดครึ่งผนัง หากสังเกตจะพบว่าบ้านหลังนี้แทบไม่มีหน้าต่างสูงเต็มบาน อย่างบ้านโมเดิร์นในปัจจุบันเลย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของสถาปนิก ที่นำภาษาการออกแบบช่องเปิดครึ่งผนังจากเรือนพื้นถิ่นมาใช้ โดยปรับสัดส่วนให้ดูแคบ ยาวขึ้น และนำมาวางเป็นจังหวะซ้ำกันอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับหลักการออกแบบซุ้มโค้ง

นอกจากภาษาของเรือนพื้นถิ่นและตึกแถวภาคใต้แล้ว สถาปนิกยังได้สอดแทรกกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมยุค Mid-Century ที่เป็นบ้านหลังคาจั่วเตี้ยๆ มีครีบผนังคอนกรีต เข้ามาผสานกับส่วนอื่นๆ ของบ้านอย่างกลมกลืน เพื่อเสริมความหนักแน่นให้กับตัวบ้าน และสร้างบรรยากาศความคุ้นเคยในหลากหลายมิติ

“มันอาจจะไม่ใช่ความพื้นถิ่นในเชิงดั้งเดิม แต่เป็นพื้นถิ่นแบบเรือนชาวบ้านที่มักเห็นกันตอนขับรถผ่าน ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาและบันทึกไว้ในหัว จริงๆ แล้วหลักการนี้มันคล้าย AI ที่ประมวลรูปจากทั่วโลก เพียงแต่เราประมวลรูปออกมาจากประสบการณ์ในตัวเรา”

Location: Nabon, Nakhon Si Thammarat
Built Area: 390 Sqm.
Completion Year: 2023
Client: Pattanakasetwong Family
Architects: Teerachai Leesuraplanon, Jirapas Leangsakul from Studio PhaSarn
Interior Designers: Chatree wongkulsampan, Viranya Rakprayoon
Engineer: Siripob Kakaew
Contractor: Wachara Sae-Lim
Photographer: Rungkit Charoenwat

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์