Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters
สัญญะแห่งการเติบโตงอกเงยที่ใช้สถาปัตยกรรมเล่าไปพร้อม Landscape

“มุมของเราที่เราสร้างร้านกาแฟขึ้นมา เราต้องการมอบประสบการณ์ พลังงานด้านบวก หรือแรงบันดาลใจกับคนที่มา ไม่ว่ามาดื่มเครื่องดื่ม มาดูบรรยากาศสถานที่ หรือแนวความคิดการออกแบบ” คุณกุ้ง-วรงค์ ชลานุชพงศ์ หนึ่งในเจ้าของ Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters กล่าว

ในยุคนี้ คงจะไม่เกินจริงไปนัก หากจะบอกว่าร้านกาแฟที่เคยเป็นจุดพักระหว่างทางกลับกลายมาเป็นหนึ่งใน Destination แห่งการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับ Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters แบรนด์ย่อยของร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Nana Coffee Roasters ที่ก้าวขาออกต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก

Harudot Chonburi เรียกได้ว่าเป็นภาคต่อขั้วตรงข้ามของ Nana Coffee Roasters Bangna ซึ่งได้สถาปนิกฝีมือดีคนเดียวกันอย่าง IDIN Architects มารับหน้าที่ออกแบบ ซึ่งโจทย์ของสาขาบางนาคือการเบลอขอบเขตของงานสถาปัตยกรรม เพื่อให้ผู้คนดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟโดยมีอาคารเป็นพระรอง แต่สำหรับ Harudot สาขาชลบุรีนี้ ทำหน้าที่แตกต่างด้วยความเป็น Flagship Store ของหัวเมืองใหญ่ โจทย์และความตั้งใจของเจ้าของจึงอยากให้อาคารโดดเด่น กลายเป็นแลนด์มาร์คที่น่าจดจำแห่งใหม่ของเมืองชลบุรี

Harudot  = การเริ่มต้น การงอกเงย การเติบโตใหม่ๆ

“งานนี้เป็นงานที่ NANA ร่วมมือกับเจ้าของพาร์ทเนอร์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งเขาสนใจต้นไม้มาก มีต้นไม้แปลกๆ ใบด่างหรือต้นเบาบับที่เราเห็นชัดในงาน ซึ่งอันนี้เป็นบรีฟตั้งแต่วันแรกเลย เราก็เก็บไว้เป็นข้อมูล ซึ่งสิ่งที่เราโน้ตไว้ในใจมันมาประกอบกับชื่อแบรนด์ Haru + Dot โดยที่ฮารุ (จากภาษาญี่ปุ่น) แปลว่าฤดูใบไม้ผลิ และ ดอท คือจุดเริ่มต้น พอเราดูความหมาย เลยนึกไปถึงการเริ่มต้น การงอกเงย หรือการเติบโตใหม่ๆ ซึ่งเราอยากให้มันมีบรรยากาศของต้นไม้ที่ทะลุผ่าน เหมือนเราโยนเมล็ดไว้ภายในอาคาร และวันหนึ่งต้นไม้ต้นนี้ก็เติบโตงอกเงยผลิดอกออกผลมาอยู่นอกอาคาร” คุณเป้-จีรเวช หงสกุล สถาปนิกผู้ออกแบบจาก IDIN Architects เล่า

สถาปนิกเลือกใช้ฟอร์มที่เรียบง่ายอย่างทรงจั่ว แสดงความนอบน้อมและให้กลิ่นอายแบบญี่ปุ่น ในขณะที่ภายในเต็มไปด้วยไดนามิกของสเปซที่แตกต่างกัน สร้างความคอนทราสในเชิงความรู้สึกให้กับผู้มาเยือน ซึ่งหากเราสังเกตจากภายนอก อาคารจะประกอบไปด้วยทรงจั่วทั้ง 3 อาคาร แบ่งขนาดตามฟังก์ชัน เพื่อกระจายหลังคาไม่ให้อาคารดูมีขนาดใหญ่เทอะทะจนเกินไป

ฟังก์ชันภายใต้หลังคาจั่วแรกของอาคารทำหน้าที่เป็น Entrance Hall และโซนเคาน์เตอร์ขาย ส่วนจั่วที่ 2 จะเริ่มเป็นโซนนั่งสำหรับลูกค้า และจั่วที่ 3 มีฟังก์ชันเป็นห้องน้ำ เซอร์วิส ครัว และห้องประชุม 

ภาพแสดงแนวคิดเริ่มต้น
ภาพแสดงแนวคิดสำหรับการออกแบบอาคารภายนอก
ภาพแสดงแนวคิดภายในอาคาร
แปลนอาคาร

สถาปัตยกรรมที่เล่าไปพร้อมแลนด์สเคป

ภายใต้จั่วทั้ง 3 นี้ยังซ่อนคอร์ดเอาท์ดอร์จำนวน 2 คอร์ดที่แบ่งพื้นที่ให้เป็นโซนที่นั่งพักภายนอก พร้อมเฟอร์นิเจอร์เอาท์ดอร์ที่ยอมให้เปียกฝนได้ ซึ่งจุดนี้ยังเป็นที่ตั้งของต้นเบาบับที่กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายตาของอาคาร 

พื้นที่ภายใต้จั่วทั้ง 3 ถูกระเบิดออกเพื่อให้แต่ละจั่วมาเจอกัน  เกิดเป็นการ Intersect ของสเปซ หลังจากนั้นทีมออกแบบจึงขว้านพื้นที่บางส่วนออก ทำให้เกิดเป็นสเปซที่ต่อเนื่องกันระหว่าง 3 อาคาร “ตอนเราทดลองแมส ก็รู้สึกว่าน่าสนใจและค่อนข้างตอบโจทย์  เพราะว่าเข้ามาข้างในแล้ว Space มันลื่นไหลทั้งหมด ให้ความรู้สึกตื่นเต้น ในขณะที่ข้างนอกดูนิ่งเรียบดี”

นอกจากต้นเบาบับภายนอกอาคารแล้ว ภายในยังมีต้นไม้อีกหนึ่งต้นที่นอกจากจะสร้างบรรยากาศ ยังทำหน้าที่กำหนด Circulation ในทางอ้อมเพื่อแบ่งแกนทางเดินระหว่างห้องน้ำและห้องประชุม  

Design For Business การออกแบบที่ส่งเสริมการขาย

เมื่อร้านจะกลายเป็น Destination ใหม่ของการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบพื้นที่นั่งที่รองรับการใช้งานของกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเราจะเห็นการออกแบบ Grouping ของการนั่งเอาไว้คล้ายรูปทรงริบบิ้นสีดำที่ล้อไปตามรูปฟอร์มอาคาร โดยตัวริบบิ้นนี้จะเล่น Step ขึ้น-ลง หากมีสเกลที่เตี้ยหน่อยจะกลายเป็นที่นั่ง ส่วนถ้ายกตัวขึ้นสูงจะกลายเป็นสเกลโต๊ะ หรือถ้าสูงไปกว่านั้นจะกลายเป็น Shelf วางของ และนอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่นั่งอื่นๆ เข้าไปแทรกตัวตรงกลางโดยเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มเพื่อนหรือครอบครัวสามารถมานั่งคุยกันได้ สร้างความหลากหลายในการใช้งาน

“IDIN เราออกแบบทั้งงานภายนอก ภายในและ Signage เราเลยคิดทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลกับพื้นที่การขายเลย นั่นคือการให้แสง โดยการให้แสงข้างในจะไม่เป็น Spot แต่จะให้แสงฟุ้งจากฝ้า ซึ่งจะทำให้ภายในดูนุ่มนวล เข้ากับไม้ที่เป็นสีธรรมชาติ และหากสังเกต จะพบว่าไม่มี Down light เลย แต่เราใช้เป็น Up Light ทั้งหมด สร้างเป็นการเอาไฟขึ้นไปกระทบกับแผ่น ทำให้มันกระจายตัวลงมา เราสร้างความฟุ้งของแสงเอาไว้ให้ ที่นี่เลยถ่ายรูปได้ทั้งหมด ทั้งกาแฟ อาหาร สามารถถ่ายรูปได้ทุกมุม”

“เราแอบใส่รายละเอียดพวก Font Text : Quote ต่างๆ เอาไว้ เป็น Font สีดำ Laser และติดไปบนโต๊ะสีดำ ซึ่งจริงๆ จะมองไม่ค่อยเห็น เราอยากจะซ่อน Detail เอาไว้แบบไม่ต้องบอก แต่ถ้าใครมาลูบๆ สัมผัส หรือวันนึงไปมองแล้วเอ๊ะ…ขึ้นมา พอมีดีเทลเหล่านี้อยู่แล้วมันดูน่ารักดี”

เหล็กและไม้
วัสดุธรรมชาติที่ท้ายทายในการก่อสร้าง

“เวลาทำคาเฟ่ แล้วเราต้องการให้คนมาเที่ยว มาถ่ายรูปได้ สำคัญที่สุดคือมันต้องรู้ว่าอยู่ที่ไหน คือคาแร็กเตอร์มันต้องชัด ซึ่งเรามักจะชอบใช้วัสดุเดียว และใช้เยอะๆ”

ในสไตล์ของ IDIN มักจะเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อวัสดุเหล่านั้นต้องทำหน้าที่เป็นระนาบที่ใกล้ชิด สัมผัสกับผู้คนที่มาเยือน ในส่วนของผนังทางสถาปนิกจึงเลือกใช้เป็นไม้สนที่ทาสีภายนอกให้เป็นสีดำเพื่อสร้างความคอนทราสระหว่างภายนอกและภายใน ซึ่งเมื่ออาคารออกแบบบิดตัว 2-3 แกน และบวมออก ทำให้การติดตั้งต้องมีการไสไม้ที่หน้างานเพื่อให้ได้รูปฟอร์มที่เรียงตัวสวยงาม กลายเป็นความท้าทายของช่างและตามมาด้วยผลลัพธ์ของงานสถาปัตยกรรมที่น่าพึงพอใจ

Something More: ในเรื่องของการป้องกันน้ำรั่ว ซึม ไหล ตัวโครงสร้างถูกออกแบบขึ้นด้วยเหล็ก H Beam ดัดโค้งได้ฟอร์มจากโรงงาน กรุประกบด้วยไม้สนตีโครงทั้งด้านในและด้านนอก ตรงกลางจะเป็น Gap ช่องว่างที่ซ่อนงานระบบสำหรับการระบายน้ำเผื่อในวันที่ฝนตก

ภาพจากโดรน

นอกจากรสชาติของกาแฟที่อร่อย ไม่ว่าจะมองไปทางไหน Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters แห่งนี้ก็ซ่อนรายละเอียดของความใส่ใจเอาไว้ทุกมุม สอดคล้องไปกับความเป็นแบรนด์สุดพิถีพิถันที่ชวนทุกคนมารับพลังดี ๆ

“สิบปีแรกที่เราทำร้านกาแฟ เราไม่เคยจ่ายเงินเรื่องการดีไซน์เลย สุดท้ายเราก็จะมานั่งดูว่า ร้านที่ออกมามันไม่มีคอนเซปต์ มันไม่มีธีมที่ชัดเจน มันนำเสนออะไร มันก็ดูจะเบลอไปหมด จนเรามาเปิดสาขาแรกที่เยาวราช แล้วร้านนั้นก็มีคอนเซปต์ที่ชัดเจน มีความสวยงาม แล้วมันทำให้กาแฟเราขายดี มันทำให้เราเข้าใจว่า อาชีพของการออกแบบ มันสนับสนุนการทำร้านกาแฟให้ขายดีได้อย่างไร ผมมองว่าการดีไซน์หรือการสร้างบรรยากาศที่ดีในการดื่มกาแฟ มันทำให้คุณค่าของการดื่มกาแฟมันมากขึ้น ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีเพิ่มขึ้น” คุณกุ้งเสริม

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้