บนผืนที่ดิน 10 ไร่ ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำแม่กลอง ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามเดิมเคยเป็นสวนผลไม้ทั้งลิ้นจี่ ส้มโอ และมะพร้าว แต่เมื่อถึงคราวที่รุ่นลูกเข้ามาช่วยดูแลกิจการจึงเกิดความคิดที่อยากจะพัฒนาที่ดินให้มีฟังก์ชันที่ตอบรับกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น จนกลายเป็นแผนออกแบบอาคารหลายส่วนตั้งแต่ร้านอาหาร หอชมวิว ศาลาริมน้ำที่จะมาแทรกตัวเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและครอบครัวภายในสวนสีเขียวแห่งนี้ในเวลาต่อมา
หนึ่งในอาคารนั้นคือ The Pomelo Amphawa คาเฟ่ขนาดกระทัดรัดดีไซน์จัดจากฝีมือ Looklen Architects ที่ได้รับรางวัลในหมวด Architecture +Small Projects จาก ARCHITIZER A+ AWARDS ในปี 2023 มาหมาดๆ นี้
คาเฟ่วงกลมท่ามกลางบริบทสวนเดิม
ด้วยความที่ที่ดินมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งทางเจ้าของเองก็ต้องการให้กลุ่มลูกค้าสัมผัสกับบรรยากาศของบริบทที่เป็นสวนเดิมให้ได้มากที่สุด อาคารทั้ง 5 จึงถูกวางผังให้กระจายและแทรกตัวเข้าไปในสวนต้นไม้เดิม ซึ่งบริบทโดยรอบของย่านนี้จะรายล้อมไปด้วยผืนป่าสีเขียวทั้งหมด แม้กระทั่งฝั่งตรงข้ามติดริมแม่น้ำก็ยังเป็นป่าต้นลำพูที่นักท่องเที่ยวมักจะนั่งเรือมาชมหิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ ทำให้ร้านอาหารและคาเฟ่กลายเป็นจุดหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะเวียนมาพัก รับประทานเครื่องดื่มหรืออาหารได้
“เพื่อให้สามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยว เราก็ตั้งใจจะเลือกโลเคชั่นให้อยู่กึ่งกลางของสวนลิ้นจี่เดิมที่อยู่ปีกขวาของที่ดินติดชิดริมแม่น้ำ สามารถเข้าถึงได้จากทุกทิศทาง เราตั้งคำถามว่าจะทำอาคารเป็นลักษณะไหนดี? โดยที่เราไม่อยากให้คาเฟ่มีด้านหน้าหรือด้านหลังชัดเจน เพราะอยากให้อาคารทุกด้านเป็นด้านหน้าที่สามารถมองเห็นได้ทุกด้าน เราเลยตั้งต้นด้วยการเลือกใช้ฟอร์มวงกลมในการออกแบบ” คุณต้น -ณัฐพล เตโชพิชญ์ สถาปนิกจาก Looklen Architects เล่า
ฟอร์มวงกลมนี้ยังสอดคล้องไปกับชื่อคาเฟ่ Pomelo Ampawa ที่แปลว่าส้มโอ ซึ่งมีรูปลักษณ์ที่เป็นทรงกลมเหมือนกัน ซึ่งเมื่อได้แนวคิดหลักจากวงกลมแล้ว ทีมสถาปนิกจึงเริ่มจากการสำรวจที่ดิน เก็บตำแหน่งต้นลิ้นจี่เดิมรอบๆ อาคาร ทำให้ได้ขนาดของอาคารที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวงกลมอยู่ที่ระยะ 20 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่รบกวนต้นไม้เดิมน้อยที่สุด
วงกลม 3 มิติที่ซ่อนฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย
อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญ คืองบประมาณจากทางเจ้าของ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางสถาปนิกที่ต้องมีการจัดระบบพื้นที่อาคารให้สามารถสร้างได้ในงบประมาณที่มี โดยทีมออกแบบจากลูกเล่นก็ดีไซน์ให้อาคารดูใหญ่ที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยการมีพื้นที่แบบ Semi-outdoor space ที่งบก่อสร้างไม่สูงมากนัก พื้นที่ Indoor ของอาคารจริงๆ จึงมีขนาดแค่เพียง 7.5 ตารางเมตรที่ถูกดีไซน์ให้เป็นห้องสี่เหลี่ยมที่ใจกลาง
ประกอบกับโจทย์จากทางสถาปนิกที่อยากให้อาคารเป็นวงกลม จึงเป็นที่มาของฟอร์มและสเปซที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ด้วยการยกวงกลมให้กลายเป็นระนาบสามมิติ จากพื้นธรรมดาๆ จึงกลายเป็น Amphitheater (อัฒจันทร์) ขนาดย่อมๆ ที่ทำให้อาคารหลังนี้มีสเปซมากกว่าห้องแอร์ที่เป็นพื้นที่ภายในแบบคาเฟ่ทั่วไปในเมือง ซึ่งพื้นที่ภายนอกนี้ก็ทำให้ลูกค้าสามารถออกมาเดินเล่น นั่งเล่น ทำกิจกรรมหรือมาใช้พื้นที่ร่วมกับธรรมชาติได้มากขึ้น
Amphitheater ถูกยกขึ้นมาให้ด้านหน้าเรียบไปกับริมน้ำ เพื่อให้ทุกคนมองวิวไปที่แม่น้ำได้ ซึ่งด้านหน้านี้เองก็เป็นทิศเหนือที่ไม่ร้อนมากนัก แต่ในขณะเดียวกัน ใต้ถุนของ Amphitheater จะทำหน้าที่เป็น Shading ป้องกันแดดทิศใต้ที่เข้าสู่อาคาร และยังเป็นพื้นที่ใต้ถุนที่นั่งเอาท์ดอร์ในร่ม ที่มีลมพัดผ่าน และมองเห็นสวนผลไม้ที่อยู่ด้านหลังอีกด้วย
“การสร้างอาคารขึ้นมาหนึ่งหลัง ก็จะมีองค์ประกอบเป็นพื้นหนึ่งชิ้น หลังคาหนึ่งชิ้น ก็จะเกิดเป็นการกั้นห้องที่ใช้งานได้ แต่เราก็ถามกันเองในทีมว่า จะทำยังไงให้การสร้างพื้นกับหลังคาที่มันเบสิกนี้ สามารถใช้งานได้หลากหลาย เราเลยทำให้หลังคามันเป็น Steps พอเป็น Steps ก็จะเป็นบันไดในตัวที่สามารถเดินขึ้นมาใช้งานบนพื้นที่หลังคาได้ เกิดเป็นฟังก์ชันที่หลากหลาย และได้พื้นที่ที่มีหลายคาแรกเตอร์”
Pure Material ที่ทำให้การเข้าใจสเปซและสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องง่ายขึ้น
เมื่อได้ฟอร์มแล้วก็มาถึงในส่วนของงานวัสดุ ซึ่งทางทีมสถาปนิกมองว่าอยากให้อาคารหลังนี้มีความเรียบง่ายมาก ๆ หรือเรียกง่ายๆ คือ การออกแบบที่ตกแต่งให้น้อยที่สุด เพื่อโชว์สเปซและงานโครงสร้างแบบเพียวๆ ทีมออกแบบจึงเลือกใช้โครงสร้างคอนกรีตหล่อในที่ ส่วนอีกหนึ่งวัสดุ คือ ไม้ ซึ่งเป็นไม้ของเดิมที่เคยรื้อบ้านเรือนไทยเก่าๆ ในที่ดินนี้เก็บไว้ โดยไม้นี้จะถูกนำมาใช้กรุในส่วนของเสา ทำเป็นที่นั่งยกระดับบางส่วนขึ้นมาตาม Steps ของหลังคา
ที่สถาปนิกเลือกใช้คอนกรีต มาจากอีกหนึ่งเหตุผลที่อยากจะทำฟอร์มขึ้นมาเป็นโครงสร้างและสามารถสร้างเสร็จเลยในทันที ซึ่งอาคารที่เราเห็นเกิดจากโครงสร้างล้วนๆ โดยมี Steps แต่ละขั้นต่อเนื่องกันไปในระยะ 25 ซม. แต่ด้วยความที่ตั้งอยู่ติดโค้งน้ำทำให้แม่น้ำกัดเซาะดินใต้อาคารจนแทบจะเป็นโพรงน้ำทั้งหมด จากแผนเดิมที่ตั้งใจจะตอกเสาเข็มบนพื้นและปลูกต้นไม้บนดินจึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นการทำโครงสร้าง ขึ้นแพลตฟอร์มใหม่ทั้งหมด อย่างเช่น ตัวเสาก็จะถูกตอกลงไปในน้ำ ถัดมาคือ เรื่องต้นไม้ ที่จะต้องมีการทำโครงสร้างคอนกรีตล้อมรอบคล้ายกระบะที่ยกต้นไม้ลอยไว้กับอากาศ
Something More : ด้วยความที่อาคารมีลักษณะเป็น Amphitheater ที่มีวัสดุเป็นคอนกรีต ในการก่อสร้างจึงต้องเป็นการเทคอนกรีตเพียงครั้งเดียว เพื่อทำให้เนื้อคอนกรีตต่อเนื่องกันแบบไม่มีรอยต่อ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการแตกร้าวในอนาคต
“ วิธีการทำงานของลูกเล่น เราตั้งใจโฟกัสไปที่ การตั้งคำถาม และหา Pain Point บางอย่างของแต่ละโครงการ และใช้ Pain Point นั้นมาเป็นไอเดียหลักของงาน ซึ่งงานนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รางวัล แต่ก็ดีใจมากเหมือนกัน เพราะผมมองว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่างานสถาปัตยกรรมจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นสเกลใหญ่เลย เล็ก ๆ ก็ได้ แต่มันต้องตั้งต้นมาจากไอเดียที่ดีและเจ้าของต้องเข้าใจ มันถึงจะเป็นงานที่สำเร็จ อย่างงานนี้เป็นงานเล็ก ๆ 400 ตารางเมตร แต่คนก็จดจำมันได้ง่าย ด้วย Space และ Form ที่เป็นเรื่องเดียวกัน ในขณะที่สามารถใช้งานจริงๆ ได้ด้วย” สถาปนิกทิ้งท้าย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!