เชื่อว่าในช่วงเวลาของการเรียนรู้ อยู่ในคณะและรั้วมหาวิทยาลัยด้านการออกแบบ หลายคนเคยผ่านกิจกรรมประกวดแบบซึ่งช่วยฝึกฝนให้เราได้หัดตีโจทย์ ทำความเข้าใจ และออกแบบพื้นที่รูปแบบใหม่ๆ ที่เพิ่มประสบการณ์การแข่งขัน และยังได้คอนเนคชันมากมาย
อีกหนึ่งในโครงการประกวดแบบที่น่าจับตามองในปีนี้ก็คือ American Standard Design Award (ASDA) 2023 โดยสำหรับโจทย์ในปีนี้ ASDA จัดการประกวดในธีม A Home to Love, A Space for Everyone’ ซึ่งเป็นการออกแบบพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ำของที่พักอาศัย (Residential Bathroom Space Design) สำหรับคนเมืองในระดับกลางถึงบน และด้วยความที่พื้นที่ใช้สอยมีจำกัดและมีคนต่างวัยอาศัยร่วมกัน นักออกแบบจึงต้องปรับเปลี่ยนและสร้างพื้นที่อเนกประสงค์ที่รองรับทั้งพื้นที่ส่วนตัวและส่วนกลาง ซึ่งการประกวดออกแบบครั้งนี้จะทลายกรอบของห้องน้ำในแบบเดิม ๆ โดยเสนอความเป็นไปได้ที่ท้าทายเพื่อสร้างสรรค์เป็นห้องน้ำที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย สะดวกสบาย และเป็นที่ชื่นชอบของสมาชิกทุกคนในครอบครัว
เราชวนมาคุยกับ 3 นักศึกษาไทยเจ้าของผลงานที่คว้ารางวัลการออกแบบห้องน้ำที่ช่วยยกระดับชีวิตผู้คนในครั้งนี้กัน
โดยผลงานที่ส่งเข้ามาทั้งหมดได้รับการประเมินจากคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 17 รายการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง สถาปนิกมืออาชีพ และนักออกแบบภายในที่เป็นที่รู้จักจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันทั้งหมดได้รับการประเมินตามเกณฑ์ 4 หลัก ได้แก่ การออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมาย (Purposeful Design) สไตล์ที่ดึงดูด (Inviting Style) ความคิดริเริ่ม (Originality) และการใช้งานจริง (Feasibility)
‘Love Through’
Space and Interaction
สำหรับผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศเป็นของ มาริษา ชนประชา นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเป็นการนำแนวคิด ‘Space and Interaction’ มาใช้ในงานออกแบบเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกช่วงวัยและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มากขึ้น
“ช่วงหลังๆ ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง อาจจะเพราะช่วงวัย แนวคิด หรือความต้องการที่ต่างกัน ซึ่งห้องน้ำที่เรามองว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน เราเลยอยากให้ห้องนี้มีส่วนช่วยกลับมาสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว”
ในผลงาน Love Through นี้จึงเน้นการออกแบบเชิงพื้นที่ที่สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการใช้ช่องเปิดเปิดรับมุมมองระหว่างภายในและภายนอก และลดความทึบตันของสเปซ รวมถึงเป็นตัวช่วยในเรื่องการระบายอากาศและรับแสงธรรมชาติที่ช่วยลดความอับชื้นและสะสมของแบคทีเรีย
ในโซนอาบน้ำ มีการใช้ช่องเปิดขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับบริบทภายนอก ซึ่งมุมมองที่เกิดขึ้นยังช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ห้องน้ำ และเพิ่มโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัวที่ใช้งานพื้นที่ภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเลือกเปิด-ปิดช่องเปิดนี้ได้ผ่านกระจกฟิล์มฝ้าที่รองรับในเวลาที่สมาชิกต้องการใช้ห้องน้ำอย่างเป็นส่วนตัว และยังกิมมิคเล็ก ๆ อย่างเฟรมไม้ที่ซ่อนฟังก์ชันรองรับการใช้งานแบบนั่งอาบสำหรับผู้สูงอายุ หรือสามารถใช้เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนตอนที่ไม่มีการใช้งานในพื้นที่ “สำหรับไลฟ์สไตล์ในการใช้ห้องน้ำของเราเอง เรามักจะทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างในห้องน้ำ เราเลยอยากออกแบบห้องน้ำที่รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่การขับถ่าย หรือแค่อาบน้ำ”
สำหรับโซนโถสุขภัณฑ์ ก็มีบานช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ช่วยสร้างบรรยากาศและระบายอากาศเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีการเพิ่ม Function เพื่อสร้างความสะดวกสบายและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการใช้ห้องน้ำอย่างเช่น ผนังไม้ทางขวามือที่สามารถกดปุ่มกลายเป็นฟังก์ชันเก็บของที่ช่วยประหยัดพื้นที่และกลายเป็นโต๊ะอเนกประสงค์เล็กๆ ที่สามารถใช้งานได้ในเวลาที่ขับถ่าย
“เราออกแบบสเปซให้มีความหลากหลายและให้แต่ละส่วนมีฟังก์ชันที่ตอบรับความต้องการของ user ที่แตกต่างทั้งเพศ ช่วงวัย รสนิยมและความต้องการเฉพาะด้าน โดยเรายังคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะอาด ความผ่อนคลายและความสะดวกสบายในการใช้งานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบห้องน้ำ รวมถึงเสริมเรื่องมุมมอง การสรางปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิกครอบครัว”
‘A Space that is more than a bathroom’
Learn & Relax
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ลำดับถัดมาเป็นของ พรรวษา น้อยธรรมราช จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในชื่อผลงาน ‘A Space that is more than a bathroom’ ที่นำแนวคิด Learn & Relax มาออกแบบให้ห้องน้ำเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถสร้างความผ่อนคลายและสร้างการเรียนรู้ผ่านการออกแบบเส้นสายที่โค้งมน และพื้นที่การใช้งานที่ไม่ซับซ้อน
ผังห้องน้ำนี้แบ่งส่วนแห้งและส่วนเปียกอย่างชัดเจนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการจัดวางโซนอ่างล้างมือไว้ที่ใจกลาง และยังออกแบบเส้นสายโค้งมนพร้อมช้องเปิดบานใหญ่ที่โอบรับมุมมองและบริบทภายนอก ในโซนเปียกอย่างพื้นที่อาบน้ำมีช่องแสงด้านบนที่สร้างเอฟเฟกต์ของแสงเสมือนใต้ทะเลที่ช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย และยังแทรกฟังก์ชันรางระบายน้ำกลืนไปกับพื้นห้องน้ำเพื่อความปลอดภัยสำหรับการใช้งานของเด็กและผู้สูงอายุ และยังมีฟังก์ชัน Built-in สำหรับที่นั่งอาบน้ำของผู้สูงอายุ
ส่วนอีกฝั่งเป็นโซนแห้งอย่างโซนโถสุขภัณฑ์ที่มีการออกแบบชั้นวางหนังสือ ปลั๊กสำหรับชาร์จเพื่อการใช้งานที่เป็นมากกว่าแค่ห้องน้ำ รวมถึงยังมีโซนนั่งพักผ่อนสำหรับนั่งอ่านหนังสือ หรือสามารถกลายเป็นพื้นที่รอลูกเข้าห้องน้ำได้นั่นเอง
“เราได้แรงบันดาลใจมาจากห้องน้ำแบบพื้นถิ่นที่ผสมผสานความทันสมัยของยุคเข้าไป โดยตอบสนองด้านความปลอดภัย สะดวก ใช้งานง่ายผ่านการใช้งานพื้นที่ที่ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ Users รู้สึกสบายทุกครั้งที่เข้ามาใช้งาน”
Lao – reuang
สำหรับผลงานสุดท้าย คือรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ซึ่งในปีนี้ตกเป็นของ วุฒิชัย โคตรชา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสิ่งที่น่าสนใจของผลงานนี้ คือการนำเอาความเป็นพื้นถิ่นอีสานมาประยุกต์ออกแบบห้องน้ำในรูปแบบที่เข้ากับครอบครัวคนเมืองยุคใหม่มากขึ้น “การที่ผมได้กลับบ้านไปหาครอบครัวในช่วงปิดเทอมทำให้ผมรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในชนบทดูธรรมดาเรียบง่าย ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ทุกคนได้พูดคุยกันในเวลารับประทานอาหารซึ่งทำให้คนในครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้น ผมจึงอยากใช้ช่วงเวลานี้มาเป็นแนวคิดในการออกแบบห้องน้ำที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกันได้ ไม่ตัดขาดจากห้องน้ำแบบเดิมที่เคยเป็น”
ห้องน้ำออกแบบให้มีความเป็นพื้นถิ่น โดยดึงเอาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของชาวอีสานที่มีการใช้พื้นที่ Semi-outdoor สามารถมองเห็นกันได้และยังมีแสงธรรมชาติเข้าถึงตลอดทั้งวัน โดย Plan ของห้องน้ำนี้ เน้นการเชื่อมต่อกับฟังก์ชันอื่นๆ ในบ้าน โดยเราจะเห็นว่ามีทางเข้าสองทาง โดยมีทางเข้ารองเชื่อมต่อกับส่วนระเบียงภายนอกให้เป็นพื้นที่เดียวกัน ช่วยลดความเป็นห้องของห้องน้ำ ทลายกรอบเดิม ๆ และเปิดโอกาสในการใช้งานในช่วงเวลาที่ต้องการให้ห้องน้ำกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางหนึ่งของบ้าน
โซนอาบน้ำ กลายเป็นพื้นที่ผ่อนคลายอย่างเต็มที่โดยสามารถมองเห็นวิวภายนอกได้เต็มตาโดยไม่มีผนังทึบตันมาเป็นตัวกั้น ซึ่งทำให้โซนนี้สามารถกลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของครอบครัวได้ เช่น พ่อแม่สามารถพาลูกมาเล่นน้ำ แช่ในอ่างอาบน้ำได้โดยที่ยังอยู่ในสายตาเพื่อความปลอดภัย
รายละเอียดเล็กๆ เป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบพื้นที่ บริเวณโถสุขภัณฑ์ของห้องน้ำนี้จึงมีชั้นวางของ และมีพื้นที่สำหรับวางกระถางต้นไม้เพิ่มบรรยากาศ ส่วนพื้นห้องน้ำเลือกใช้กระเบื้องแผ่นเล็กที่เพิ่มแรงเสียดทาน ป้องกันการลื่นล้ม ส่วนโซนอ่างล้างมือเลือกใช้แบบอ่างคู่เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้งานร่วมกัน สร้างบทสนทนาและออกแบบให้ไม่มีกระจกเพื่อให้ผู้ใช้งานเชื่อมโยงกับวิว และบริบทภายนอก และเช่นเดียวกันนั้น ทุกโซนของห้องน้ำนี้ยังสามารถมองเห็นวิวภายนอกได้อีกด้วย
ประตูห้องน้ำออกแบบให้ด้านล่างสามารถมองเห็นได้แบบรางๆ เพื่อให้คนภายนอกยังสามารถมองเห็นได้หากเกิดการลื่นล้ม หรือเป็นอันตราย
และนี่คือตัวอย่างของแนวคิดจาก 3 เด็กไทย และยังมีแนวคิดห้องน้ำแห่งอนาคตของคนหลากหลายวัยที่ได้รางวัลระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกมากมาย ซึ่งสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักออกแบบและผลงานที่ชนะรางวัลได้ที่เว็บไซต์ของ ASDA ทาง https://asda.americanstandard-apac.com/winners-2023
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!