การตอกเสาเข็มถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบ้าน และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความความร้าวฉานกับเพื่อนบ้านได้ เพราะการเลือกใช้เสาเข็มที่ไม่เหมาะสมกับระยะห่างจากบ้านใกล้เคียง ส่งผลให้ตัวบ้านมีโอกาสทรุด และแตกร้าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สิน และความสัมพันธ์อันดี วันนี้เราจึงนำระยะการเจาะเสาเข็มที่เหมาะสมของ เสาเข็มทั้ง 4 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น เสาเข็มตอก เสาเข็มเจาะ เสาเข็มไมโครไพล์ และเสาเข็มเหล็ก มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน
ยื่นขออนุญาตก่อนตอกเสาเข็ม
ก่อนจะรู้จักกับเสาเข็มแต่ละชนิด เราต้องรู้ก่อนว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายกำหนดว่าบ้านพักอาศัยต้องใช้เสาเข็มชนิดใด หรือต้องตอกให้ห่างจากบ้านใกล้เคียงในระยะเท่าไหร่ เพียงแต่ต้องยื่นขออนุญาตแบบก่อสร้างให้เรียบร้อยก่อนดำเนินการตอกเสาเข็ม อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว วิศวกรแนะนำว่าจำเป็นต้องเลือกชนิดเสาเข็มให้เหมาะสมกับระยะห่างของอาคารใกล้เคียง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งหากเกิดความเสียหายผู้ดำเนินการจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด
เสาเข็มตอก
เสาเข็มที่มักจะได้ยินชื่ออยู่บ่อยครั้งก็คือ เสาเข็มตอก เหมาะกับบ้านที่มีระยะห่างจากอาคารใกล้เคียง 10 เมตรขึ้นไป เนื่องจากเสาเข็มมีขนาดใหญ่ เมื่อตอกลงไปในชั้นดินจะมีแรงสั่นสะเทือน และแรงดันดินค่อนข้างสูง อีกทั้งเสาเข็มชนิดนี้ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการขุดเจาะ เพราะเสาเข็มมีขนาดยาวถึง 20 เมตร แม้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนก็ยังมีขนาดยาวถึง 10 เมตร จึงเหมาะสมกับอาคารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า
เสาเข็มเจาะ
หากบ้านของเรามีระยะห่างจากบ้านใกล้เคียงตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป แนะนำให้ใช้เสาเข็มชนิดเจาะ เพราะเป็นเสาเข็มที่รับน้ำหนักโครงสร้างของบ้านได้ ช่วยลดการสั่นสะเทือน และปัญหาแรงดันดินจากการแทนที่ของเสาเข็ม นอกจากนี้เครื่องจักรในการเจาะยังมีขนาดเล็กกว่าการใช้เสาเข็มขนาดใหญ่
เสาเข็มไมโครไพล์
หากต้องการสร้างบ้านใกล้แนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร แนะนำให้ใช้เสาเข็มแบบไมโครไพล์ แม้จะเป็นเสาเข็มสั้นที่ต่อกันเป็นท่อน แต่ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยจึงทำให้เสาเข็มสามารถรับน้ำหนักโครงสร้างบ้าน 1-2 ชั้น หรือส่วนต่อเติมของบ้านได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การก่อสร้างยังใช้เครื่องจักรขนาดเล็กที่เปรียบได้กับรถมอเตอร์ไซต์ 1 คัน แถมยังมีแรงสั่นสะเทือนที่น้อยมากกว่าการเจาะเสาเข็มชนิดอื่นอีกด้วย
เสาเข็มเหล็ก
ถ้าบ้านของเราจำเป็นต้องสร้างชิดกับรั้ว หรืออาคารใกล้เคียง แนะนำให้ใช้เสาเข็มเหล็กยาว 2-3 เมตร เพราะไม่ต้องใช้วิธีการเจาะหรือตอก แต่ใช้วิธีการหมุนคล้ายกับสว่านลงไปในชั้นดินผ่านเครื่องจักรขนาดเล็ก แถมยังสามารถรับน้ำหนักบ้านโครงสร้างเหล็กได้มากถึง 2 ชั้น ทำให้ลดปัญหาความยุ่งยากในการก่อสร้างบ้านที่มีพื้นที่ขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี
อย่าลืมเจาะสำรวจชั้นดิน
อย่างไรก็ดีแนะนำว่าควรคำนึงถึงจำนวนชั้นของอาคาร รวมไปถึงการเจาะสำรวจชั้นดิน เพื่อตัดสินใจเลือกชนิดเสาเข็มที่มีกำลังรับน้ำหนักอย่างเหมาะสม ในลำดับถัดมาให้ดูระยะในการเจาะหรือตอก หากตำแหน่งอยู่ใกล้กับบ้านข้างเคียงในระยะ 1-2 เมตร ที่ไม่สามารถใช้เสาเข็มตอกได้ อาจจะหันมาใช้เสาเข็มเจาะ หรือ เสาเข็มไมโครไพล์ แต่อาจจะต้องเพิ่มจำนวนเสาเข็มให้มากขึ้นตามการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร ซึ่งการเพิ่มเสาเข็มจะส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนเสา และรูปลักษณ์ของอาคารด้วยนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท ออลเฮ้าส์ จำกัด
LINE ID : Allhousesolder
Hotline : 095 747 7000
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!