ด้วยบริบทการใช้ชีวิต และการอยู่อาศัยในเมืองของยุคสมัยนี้ ทำให้เราห่างไกลจาก ‘ธรรมชาติ’ มากขึ้น และมี ‘ความเป็นส่วนตัว’ ลดน้อยลง การพักผ่อนและการฟื้นฟูจิตใจภายในบ้านจึงอาจไม่สามารถทำได้เต็มที่เท่าไหร่นัก ด้วยเหตุนี้สถาปนิกจากสตูดิโอ Message จึงออกแบบบ้าน Pong House ย่านบางขุนเทียน ให้มีคอร์ตยาร์ทต้นไม้อยู่ตรงกลางบ้าน และปิดทึบอาคารทั้ง 4 ด้าน แต่ก็ยังไม่ลืมจะที่จะคว้านช่องเปิดอาคารบางส่วนให้มีมิติ และดูไม่ทึบตันจนเกินไป
แรงบันดาลใจจากบ้าน – ช่อง
หลังจากที่สถาปนิกออกแบบ บ้าน – ช่อง ให้เป็นทรงกล่อง พร้อมคอร์ตยาร์ทอยู่ตรงกลางบ้าน ซึ่งเป็นภาษาสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของสตูดิโอ ทำให้เจ้าของบ้านอย่าง คุณวัชรชัย สินวัฒนาพานิช ให้ความสนใจ และชักชวนสถาปนิกมาช่วยออกแบบบ้าน โดยมีความต้องการคือ คอร์ตยาร์ทต้นไม้กลางบ้านที่ดูแลรักษาง่าย และฟังก์ชันที่ตอบโจทย์กับคู่สามีภรรยา และลูกชายในอนาคต สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบบ้านหลังนี้ให้เป็นทรงกล่องสไตล์โมเดิร์น พร้อมคอร์ตยาร์ทที่เกาะเกี่ยวไปกับฟังก์ชันทั้งหมดของตัวบ้าน
ฟังก์ชันที่เกาะเกี่ยวไปกับคอร์ตยาร์ท
บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 260 ตารางเมตร สถาปนิกแบ่งคอร์ตยาร์ทออกเป็น 3 ส่วน โดยคอร์ตยาร์ทแรกตรงกลางบ้านถือเป็นหัวใจสำคัญที่ จึงเลือกปลูกต้นแจงใบโปร่งให้เป็นจุดเด่น โรยกรวดรอบพื้นที่ และเสริมชานขึ้นมา 1 ขั้นบันได สำหรับจัดงานสังสรรค์ และพักผ่อนได้ นอกจากนี้คอร์ตยาร์ทยังทำให้มุมมองของชั้น 1 และชั้น 2 สามารถมองเห็นกันได้อย่างทั่วถึง
คอร์ตยาร์ทถูกเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่น เพื่อให้พื้นที่ส่วนกลางของบ้านกลายเป็นส่วนเดียวกัน โดยภายในพื้นที่นั่งเล่นเลือกใช้ช่องเปิดกระจกขนาดใหญ่ เพื่อรับลม และแสงจากคอร์ตยาร์ททางทิศเหนือ แต่ปิดผนังทึบทางด้านทิศตะวันตกและตะวันออก เพื่อบดบังความร้อน และความเป็นส่วนตัว ฝ้าเพดานออกแบบให้เป็นดับเบิ้ลวอลุ่มเพื่อให้สเปซมีความโปร่งโล่ง ในส่วนเฟอร์นิเจอร์จัดวางในลักษณะ Open Plan ไล่ลำดับตั้งแต่ โซฟา โต๊ะรับประทานอาหาร และแพนทรี่ ให้สะดวกต่อการใช้งาน
สัญลักษณ์ในการเปลี่ยนถ่ายสเปซ
สำหรับคอร์ตยาร์ทด้านทิศตะวันตก ถูกลดให้มีขนาดเล็กลง และปลูกต้นหมากเม่าฟอร์มวงรี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่มรื่น และทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสเปซจากห้องนั่งเล่นไปยังห้องเลี้ยงเด็ก ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นวิวให้กับห้องนอนลูกชายชั้น 2 ทางทิศตะวันตก และชานพักผ่อนของชั้น 2 ไปพร้อมๆ กัน
พบคอร์ตยาร์ทในทุกพื้นที่
ในขณะที่กำลังเดินขึ้นชั้น 2 จะพบกับคอร์ตยาร์ต้นเสม็ดแดง ที่อยู่ติดกับทิศตะวันออก หรือ หน้าบ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนถ่ายสเปซไปยังพื้นที่ 2 ขณะเดียวกันก็ยังมอบแสง และวิวให้กับพื้นที่ทางเดินชั้น 2 ที่จะนำไปสู่ห้องนอนสามีภรรยา ห้องนอนลูก และชานพักผ่อนขนาดใหญ่
ด้วยขนาดพื้นที่คอร์ตยาร์ทที่มีขนาดเล็กสถาปนิกจึงออกแบบช่องสี่เหลี่ยมบริเวณทางเข้าตัวบ้านให้สามารถเข้าไปดูแลรักษาพื้นที่ และต้นไม้ ได้อย่างสะดวกสบาย แต่อย่างไรก็ดีในทุกๆ คอร์ตยาร์ทสถาปนิกเลือกใช้ต้นไม้ที่ดูแลรักษาง่าย โตช้า และไม่ผลัดใบ ทำให้ไม่ต้องเข้าไปดูแลรักษาบ่อยนัก
ทึบแต่ไม่ตัน
เมื่อเดินย้อนออกมาสู่ตัวบ้านจะเห็นว่าลักษณะของอาคารถูกออกแบบให้เป็นสี่เหลี่ยมสีขาวทึบไปทั่วทั้งหลัง แต่ก็มีการเปิดช่องอาคารบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าอาคารที่คว้านช่องขนาดใหญ่ให้เป็นพื้นที่จอดรถ และการเปิดช่องตรงปลายอาคารด้านซ้ายให้เห็นยอดต้นไม้ หรือ การเจาะช่องบริเวณคอร์ตยาร์ทบริเวณตรงกลาง ก็ช่วยให้อาคารดูมีมิติ และไม่ดูทึบตันจนเกินไป
“ด้วยลักษณะของอาคารที่ส่วนใหญ่เป็นผนังทึบ เราพยายามเสริมเสาเอ็นเพื่อไม่ให้เกิดการแตกร้าวเมื่อมีแรงสั่นสะเทือน ผสมผสานไปกับการใช้เส้นใยไฟเบอร์เคลือบนำยาไปบนตะแกรงกรงไก่ ตามรอยต่อระหว่างคาน พื้น เสาเอ็น และผนังทั้งหมด”
ธรรมชาติกลายเป็นส่วนเดียวกับภายในอาคาร
ถึงแม้ว่าภายนอกอาคารดูทึบตันไปด้วยผนังสีขาวตามสไตล์ของสถาปัตยกรรมโมเดิร์น แต่การปิดทึบเช่นนี้ทำให้ ภายในอาคารมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และทดแทนด้วยการให้คอร์ตยาร์ททั้ง 3 ส่วนแทรกเข้าไปกับฟังก์ชันภายใน ทำให้เกิดความโปร่งโล่ง และเชื่อมโยงสเปซให้เป็นส่วนเดียวกันทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ยังได้รับความร่มรื่นจากธรรมชาติ แสงและลมได้ตลอดทั้งวัน
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!