สำรวจความหมายและสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ในงานสถาปัตยกรรม

โดยทั่วไป ในโรงเรียนสอนการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เรามักได้ยินคำว่า “รูปแบบ” (Form) และ “การใช้งาน” (Function) ที่มักจะถูกพูดถึงบ่อยๆในขั้นตอนการพัฒนาแนวคิดการออกแบบของโปรเจคต่างๆ ตลอดช่วงระยะเวลาของการเป็นนักเรียนนักศึกษา ซึ่งสิ่งดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากจาก quote สุดคลาสสิค โดยบิดาแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อย่าง Louise Sullivan ในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 19 ที่ว่า “Form follows Function” ซึ่งกลายเป็นแนวคิดพื้นฐานสำหรับสำหรับกระแสการออกแบบสถาปัตยกรรมยุคใหม่ โดยมองว่าสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองฟังก์ชันการใช้งาน และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในอาคารอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การสื่อถึง “ความหมาย” (Meaning) ในเชิงสถาปัตยกรรมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยแนวคิดดังกล่าว เริ่มก่อตัวอย่างเด่นชัดจากกระแสหลังสมัยใหม่ (Post Modern) ที่สถาปนิกได้เริ่มทดลองสื่อสารแนวคิด คตินิยม หรือความเชื่อบางอย่างไปสู่สังคม โดยนำเอาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม สัญลักษณ์จากธรรมชาติ หรือวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นจากอดีต มาใช้ประดับบนรูปทรงอาคาร และยังมีนักทฤษฎีสถาปัตยกรรมทั้งหลายเชื่อว่าในกระบวนการสถาปัตยกรรม นอกจาก ฟอร์มและฟังก์ชั่นแล้ว ควรจะมีการพิจารณาถึงความรู้สึก อารมณ์ และความหมายที่ซ่อนอยู่อีกด้วย

ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ คือโดยทั่วไป รูปแบบลักษณะทางกายภาพของอาคารคือ ฟอร์ม (Form) ที่มีห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกคือ ฟังก์ชั่น (Function) เมื่อรวมกันอาจจะถูกเรียกว่าอาคารสถาปัตยกรรม องค์ประกอบของอาคาร(รวมถึงการรับรู้เชิงพื้นที่) ส่งข้อความถึงผู้สังเกต ทำให้เกิดการประมวลผลการรับรู้ในมิติต่างๆผ่านประสบการณ์ ความรู้ และมุมมองของผู้สังเกต ก่อตัวเป็นการตีความหมาย (Meaning) ที่สามารถสื่อสารแนวคิดบางอย่างได้ ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องกับความเป็นนามธรรม ความรู้สึก อารมณ์ หรือการแสดงออกทางวัฒนธรรม ซึ่งในวันนี้ทาง Dsign Something จึงจะขอยกตัวอย่างผลงานสถาปัตยกรรมระดับ Iconic จากสถาปนิกระดับครูจากยุคศตวรรษก่อน และยุคใหม่ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่อย่างน่าสนใจ มาพูดคุยให้ทางผู้อ่านได้เห็นภาพและเข้าใจมากยิ่งขึ้น

Church of Light by Tadao Ando
สัญลักษณ์แห่งการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ พระเจ้า และแสงธรรมชาติ

Church of Light เป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงซึ่งออกแบบโดย Tadao Ando สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ “โบสถ์แห่งแสงสว่าง” (โบสถ์อิบารากิคาสุงาโอกะ) และตั้งอยู่ในอิบารากิ เมือง Osaka ประเทศญี่ปุ่น โบสถ์แห่งนี้สร้างเสร็จในปี 1989 ถือเป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Ando

ความหมายเบื้องหลังของ Church of Light คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ พระเจ้า และปรากฎการณ์ธรรมชาติ ด้วยปรัชญาการออกแบบที่เรียบง่ายอันเปรียบเสมือนลายเซ็นของเขา โดยการสร้าง space พื้นที่สักการะด้วยคอนกรีตทึบตัน และมีช่องเปิดรูปกากบาทขนาดใหญ่ด้านหลังแท่นบูชา กากบาทนี้ประกอบด้วยช่องสี่เหลี่ยมสี่ช่องที่ตัดกัน และเมื่อแสงแดดธรรมชาติส่องผ่านเข้ามา จะทำให้เกิดการเล่นแสงและเงาภายในพื้นที่เกิดเป็นสัญลักษณ์แห่งแสงที่สื่อการสถิตอยู่ของพระเจ้า (ไม้กางเขนพระคริสต์) ได้อย่างน่าทึ่ง และมอบประสบการณ์ทางวิญญาณให้กับผู้มาสักการะ

Church of Light แสดงถึงการผสมผสานของการออกแบบร่วมสมัยกับสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างหลักแหลม โดยเน้นความสำคัญของแสงธรรมชาติในพื้นที่ทางจิตวิญญาณ โดยการใช้การตัดกันของแสงสว่าง ความมืด และเงาสลัว ประกอบกันเป็นเส้นโครงร่างที่เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ และเชื้อเชิญให้ผู้เข้าชมครุ่นคิดและสัมผัสกับความรู้สึกเกรงขามและความเคารพ

งานสถาปัตยกรรมของ Tadao Ando มักจะสะท้อนถึงความเชื่อของเขาในพลังของสถาปัตยกรรมที่จะสร้างแรงบันดาลใจและยกระดับผู้คนในด้านอารมณ์ สติปัญญา และจิตวิญญาณ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในปัจจุบัน Church of Light ได้ทำการปิดตัว ไม่เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมเนื่องจากปัญหาด้านการจัดการภายใน แต่ผลงานของ Ando ชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ปรัชญาการออกแบบ ที่แฝงด้วยความหมายและจิตวิญญาณ ที่ยังคงได้รับความชื่นชมจากสถาปนิกและผู้ที่ชื่นชอบทั่วโลก

Salk Institute by Louis Kahn
สัญลักษณ์แห่งความชัดเจน ความมีระเบียบ และความสมมาตร

Salk Institute เป็นสถาบันวิจัยในเมือง La Jolla เมืองซานดิเอโก California ออกแบบโดยสถาปนิกระดับมาสเตอร์อย่าง Louis Kahn ในปี 1965 เป็นสัญลักษณ์ของความเงียบสงบ ความรู้ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยกลุ่มอาคารโครงสร้างคอนกรีต ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกันอย่างสมมาตรอย่างสงบนิ่งขนาบลานกว้างพลาซ่า ที่หันหน้าไปทางมหาสมุทรแปซิฟิกภายใต้ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่

แนวคิดทางสถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ และความหมายของ Salk Institute เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งและสะท้อนถึงแนวทางเชิงปรัชญาของสถาปนิกในการสร้างพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน และการตีความหมายเชิงสัญลักษณ์ โดยการใช้การจัดวางองค์ประกอบของอาคารด้วยเค้าโครงที่สมมาตร ความสมดุล และความมีระเบียบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระเบียบวิธีการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตามหลักเหตุผล นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกลมกลืนที่ Kahn พยายามสร้างขึ้นระหว่างสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นและธรรมชาติโดยรอบ

การออกแบบลานกลางและพลาซ่าเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากสาขาวิชาต่างๆ และตอกย้ำแนวคิดคิดของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นผลมาจากความรู้ที่ใช้ร่วมกัน รวมถึงการออกแบบช่องเปิดที่อนุญาติให้ให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านลึกเข้าไปในห้องปฏิบัติการ เป็นการใช้แสงธรรมชาติเพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์ของความรู้และปัญญาที่ได้จากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์

วัสดุและโครงสร้างอาคารจำพวกคอนกรีตเปลือยที่ยังดำรงอยู่อย่างสงบนิ่งไร้การเวลา (timeless) มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อถึงแนวคิดของความสำเร็จและผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยั่งยืนที่ข้ามผ่านกาลเวลาและความต่อเนื่องของของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ของมนุษยชาติพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Ronchamp Chapel by Le Corbusier
แสง สัญลักษณ์ลักษณ์แห่งความศรัทธาและจิตวิญญาณ

โบสถ์ Ronchamp หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Notre Dame du Haut เป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาชิ้นเอกที่ตั้งอยู่ใน เมือง Ronchamp ประเทศฝรั่งเศส ออกแบบโดยปรามาจารย์สถาปนิกชาวสวิส-ฝรั่งเศส Le Corbusier สร้างเสร็จในปี 1955 ถือเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายที่มีต่อศาสนา จิตวิญญาณ ความไม่มีตัวตน และความสงบสุข

องค์ประกอบหลังคาคือหนึ่งในองค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดของโบสถ์ Ronchamp ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับใบเรือที่เป็นลูกคลื่นลาดเอียง ให้ความรู้สึกราวกับว่าตัวอาคารกำลังมุ่งขึ้นสู่สวรรค์ รูปทรงโค้งยังให้ความรู้สึกถึงการปกป้อง คล้ายกับปีกของนกหรือแขนของเทพผู้พิทักษ์ รวมถึงยังได้ออกแบบหอคอยรับแสงทรงโค้ง และช่องแสงเล็กๆ อยู่ระระหว่างระนาบผนังกับหลังคาโค้งมน เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ของแสงธรรมชาติและเงาสลัวที่เปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน Le Corbusier ใช้แสงสว่างเป็นสัญลักษณ์ของการสถิตอยู่ของพระเจ้าและจิตวิญญาณ

อีกส่วนที่สำคัญคือการออกแบบผนังหนาที่มีความลาดเอียง ประกอบกับการเจาะช่องเปิดรับแสงที่ใช้กระจกสี ที่เป็นสัญลักษณ์หรือตัวกลางในการสื่อสารเรื่องราวจากพระคำภีร์ โดยจะมีการจัดวางองค์ประกอบแบบไม่สมมาตร ซึ่ง Le Corbusier ต้องการเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของอาคารทางศาสนา เอฟเฟกต์แสงสว่างและสีสันที่เกิดขึ้นสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ ความลึกลับ และความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะเชื้อเชิญให้ผู้เข้าชมสัมผัสถึงความศรัทธาที่มีต่อต่อศาสนาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

Jewish Museum by Daniel Libeskind
ความมืดและเงาสลัว สัญลักษณ์แห่งความสิ้นหวัง

ข้ามฝั่งมาดูผลงานในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กันบ้าง พิพิธภัณฑ์ชาวยิวในกรุงเบอร์ลิน ออกแบบโดยสถาปนิก Daniel Libeskind เปิดใช้งานเมื่อปี 2001 เป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่ทรงพลังและเป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวยิวในเยอรมนี การออกแบบของพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยแนวคิดสัญลักษณ์ ความหมาย และเป็นเครื่องเตือนใจถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และประสบการณ์ของชาวยิวในเยอรมนี และสามารถมองเห็นได้แต่ไกลฟอร์มของอาคารที่โดดเด่น ทึบตัน ประกอบกับการออกแบบฟาซาดที่ใช้วัสดุประเภทอลูมิเนียมและมีช่องเปิดคมกริบลากผ่านที่สื่อถึงรอยแผลและความปวดร้าวของชาวยิว

ไฮไลต์ของการออกแบบสเปซภายใน อยู่ที่หอคอย Holocaust Tower ที่ออกแบบให้มีความรู้สึก สูง ว่างเปล่า มืดมิด อึดอัด ประกอบกับเสียงลมที่ผ่านโพรงหอคอยคอนกรีตอันเย็นยะเยือก มอบประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสอันทรงพลัง ที่เป็นการสร้างการรับรู้เชิงพื้นที่ กระตุ้นความรู้สึกโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง จากการถูกเนรเทศและการพลัดพรากจากบ้านที่ชาวยิวจำนวนมากต้องเผชิญระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงการออกแบบพื้นที่ว่างที่พบเห็นได้ทั่วทั้งภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเลือนหาย และความว่างเปล่าในหน้าประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือจากการทำลายล้าง

อีกพื้นที่ที่สร้างความ impact ต่ออารมณ์ของผู้เยี่ยมชมได้คือ Memory Void ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ ในรูปแบบของ Installation Art หน้ากากเหล็กรูปหน้าคนที่แสดงอารมณ์ โศกเศร้า หวาดผวา เสียใจ กว่า 10,000 ชิ้น วางเต็มพื้นที่ห้องโถง สื่อถึงชีวิตจำนวนมากที่ล้มตายไปในช่วงเหตุการณ์นั้น เอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นระหว่างเดินย่ำลงไปบนหน้ากากเหล็ก คือเสียงโลหะอันเย็นเฉียบจำนวนมากที่กระทบกัน คล้ายกับเสียงกรีดร้องของชาวยิว กระตุ้นความทรงจำอันเจ็บปวดเกี่ยวกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามและเป็นการถ่ายทอดความหมายการรับรู้เชิงพื้นที่ในงานสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างทรงพลัง

National Museum of African American History and Culture by David Adjaye
รูปแบบและภาพสะท้อนจากฟาซาดอาคาร สัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมแอฟริกัน

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันแห่งชาติ (NMAAHC) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออกแบบโดยสถาปนิกเชื้อสายกานา-อังกฤษ David Adjaye ก่อสร้างเสร็จในปี 2016 เป็นอาคารทางสถาปัตยกรรมที่ทรงพลังและมีการแสดงถึงสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแอฟริกันได้อย่างน่าสนใจ

ฟอร์มของสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอย่างเด่นชัด คือรูปทรงอาคารสามชั้นซ้อนกันคล้ายกับมงกุฎ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมงกุฎรูปแบบเดียวกับที่กษัตริย์โยรูบาของชาวแอฟริกันดั้งเดิมสวมใส่ ส่วน Façade ของอาคารตกแต่งด้วยแผงอะลูมิเนียมขัดแตะสีบรอนซ์กว่า 3,600 แผ่น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนวัตถุทองสัมฤทธิ์ที่พบในในศิลปะและวัฒนธรรมแอฟริกัน พื้นผิวสะท้อนแสงยังได้สร้างเอฟเฟกต์ที่สวยงามระหว่างตัวอาคารกับสภาพแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย

สเปซภายใน ได้รับเอฟเฟกต์แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านลวดลายลวดลายที่ซับซ้อนของ Corona ซึ่งเป็นงานเหล็กและงานไม้แบบ Pattern ดั้งเดิมของวัฒนธรรมแอฟริกา สร้างลวดลายที่สวยงามของแสงและเงาภายในโถงดับเบิลสเปซของพิพิธภัณฑ์ได้อย่างน่าทึ่ง แสงธรรมชาติที่ส่อนผ่านเข้ามานั้นคือสัญลักษณ์แห่งความหวังของชาวแอฟริกันอเมริกันเมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก รวมถึงบันได้วนรูปทรงก้นหอยที่ตั้งเด่นอยู่ในพื้นที่ภายใน แสดงถึงการเดินทางข้ามผ่านการเวลาของประวัติศาสตร์ที่คดเคี้ยวอย่างต่อเนื่องของวัฒนธรรมแอฟริกัน

สถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อส่งข้อมูล หรือความหมายเชิงนามธรรมสู่ผู้เยี่ยมชม จากความเชื่อของมนุษย์ชอบตีความหมายให้กับสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสี แสง รูปร่าง รูปทรง สัญลักษณ์ ที่ว่าง วัสดุตัวอย่างเช่น สีขาวสื่อถึงความสงบ ความมืดมิดสื่อถึงความสิ้นหวัง แสงสว่างสื่อถึงพระเจ้า การตื่นรู้ หรือปัญญาเป็นต้น  

ตัวอย่างผลงานที่หยิบยกมาพูดคุยในวันนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่มีการตีความเชิงความหมายแฝงไว้อยู่ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมได้อย่างเด่นชัด ยังมีผลงานอีกจำนวนมากที่สถาปนิกได้แฝงแนวคิดบางอย่างเอาไว้และยังไม่ได้เอ่ยถึงในวันนี้ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า สถาปัตยกรรมสัญลักษณ์คือศิลปะของการใช้สถาปัตยกรรมเพื่อแสดงความคิดที่เป็นนามธรรม โดยหากเราทำความเข้าใจและรู้ถึงความหมายอย่างถ่องแท้นั้น จะทำให้การที่เราไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมต่างๆในครั้งต่อไป จะเข้าใจข้อความที่สถาปนิกผู้ออกแบบต้องการสื่อสารและเล่าเรื่องกับผู้เยี่ยมชมผ่านทางองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมได้อย่างแท้จริง

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว