จาก 'โลกร้อน' สู่ 'โลกเดือด'
รับมืออย่างไรกับสภาวะภัยแล้ง ?

แม้ตอนนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัวแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเราก็กำลังย่างเข้าสู่ ‘ภาวะโลกเดือด’ เช่นกัน

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้ประกาศเตือนภัยจากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดวิกฤตภัยแล้ง ในบริเวณทวีปเอเชียและออสเตรเลีย รวมถึงล่าสุดก็มีการเตือนทั่วโลก ให้รับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลง ‘ภาวะโลกร้อน’ สู่ ‘ภาวะโลกเดือด’

แน่นอนว่าในเชิงการออกแบบเอง เราก็ต้องปรับตัวและรับมือเช่นกัน ไม่เพียงแค่ในแง่ของการออกแบบอาคารปกป้องความร้อน หรือระบายอากาศดี แต่ยังต้องคำนึงถึงการจัดการน้ำ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่อาศัย และวันนี้เราจึงชวนทุกคนมาดู 4 ไอเดียการรับมือและแก้ปัญหาภัยแล้ง ในเชิงการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape) กัน

Water Reservation เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำหลากหลายรูปแบบ

ก่อนช่วงแล้งจะมาถึง ควรกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภายหลัง ซึ่งการกักเก็บน้ำนั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นถังเก็บน้ำ (Water Tank) ที่รองรับปริมาณน้ำได้คงที่และเป็นระบบปิด เหมาะกับการใช้งานภายในอาคาร ซึ่งมีให้เลือกตามขนาดและข้อจำกัดของพื้นที่ ทั้งแบบติดตั้งบนดินและแบบฝังใต้ดิน

บ่อเก็บน้ำ (Retention Pond) บ่อรับน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของแลนด์สเคป หรือนำมาใช้ประโยชน์แบบ Multi-purpose ได้ ทั้งในสเกลสวนของบ้าน ที่พักอาศัย และสวนในเมือง อย่างบ่อน้ำธรรมชาติ ที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศ เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ให้กับเหล่าสัตว์นานาชนิด หรือบ่อน้ำกึ่ง Man-made ที่สามารถติดตั้งงานระบบ เพื่อนำน้ำไปหมุนเวียนใช้ในสวนอย่างต่อเนื่อง และสามารถออกแบบเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจริมน้ำได้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มักพบในงานสเกลสวนสาธารณะและกึ่งสาธารณะ

The Ruins designed by Estudio Ome / Photo Credit: https://landezine.com/the-ruins-by-estudio-ome/
Baotou Vanke Central Park designed by ZAP Associates LLC / Photo Credit: https://www.archdaily.com

บ่อน้ำประดับ (Water Feature) อีกหนึ่งตัวช่วยในการกักเก็บน้ำ ที่มาพร้อมกับดีไซน์สวยงาม เสริมบรรยากาศให้น่าอยู่ เหมาะกับการนำมาสร้างสภาวะน่าสบาย ในภูมิอากาศขนาดย่อม (Micro-climate) สำหรับพื้นที่ Hardscape ขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเพิ่มความชื้นในอากาศ และลดอุณหภูมิรอบๆ ร่วมกับร่มเงาของต้นไม้ โดยสามารถออกแบบให้เป็นได้ทั้งสระน้ำตื้น, บ่อปลา, น้ำตก, ทางน้ำไหล หรือลานน้ำพุ ที่มักถูกใช้เป็นแลนด์มาร์กหรือจุดนัดพบ เพื่อสร้างภาพจำให้กับสถานที่ เช่น ลานห้างสรรพสินค้า, ลานสวนสาธารณะ หรือลานใจกลางเมือง เป็นต้น

Freedom Square designed by 501 architects / Photo Credit: https://www.archdaily.com/989597/freedom-square-501-architects?ad_medium=gallery
Bao’an Waterfront Park designed by SWA Group / Photo Credit: https://www.swagroup.com/projects/baoan-waterfront-cultural-park/

Water Treatment จัดระบบบำบัดและหมุนเวียนน้ำ

การบำบัดและหมุนเวียนน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรทำควบคู่กับการกักเก็บน้ำ ซึ่งก่อนจะนำน้ำไปหมุนเวียนใช้อีกครั้ง ต้องมีการบำบัดและกรองตามประเภทน้ำ ที่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Clean Water น้ำฝนหรือน้ำสะอาดที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ , Greywater น้ำเสียจากการใช้งานทั่วไป ที่ไม่มีการปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลจากคน ตั้งแต่การล้างมือ อาบน้ำ ไปจนถึงซักผ้า และ Blackwater น้ำเสียที่ได้จากการใช้งานโถสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ซึ่งมีการปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลจากคน

การใช้พืช Wetland บำบัดน้ำใน Martin Luther King Park designed by Atelier Jacqueline Osty / Photo Credit: https://landezine.com/martin-luther-king-park-by-atelier-jacqueline-osty-associes/

แม้น้ำฝนจะถูกจัดเป็น Clean Water ก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็มักจะมีฝุ่น เศษสิ่งสกปรก รวมถึงมลพิษในอากาศแฝงมาด้วยเสมอ ดังนั้นจึงควรกรองก่อนนำกลับมาใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะติดตั้งเครื่องกรองน้ำแล้ว อีกหนึ่งวิธีกรองน้ำในเชิงแลนด์สเคปที่น่าสนใจคือ Rain Garden and Bioswales สวนรับน้ำฝนและทางระบายน้ำแบบเปิด ที่ทำหน้าที่ดูดซับและบำบัดน้ำฝน อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากที่ฝนตกลงมา ประกอบกับน้ำบนถนน ทางเดิน ไหลบ่ามารวมกันตรงบริเวณนี้แล้ว พืชพรรณและชั้นกรวดหิน จะทำหน้าที่กรองน้ำในแต่ละชั้นตามลำดับ ก่อนที่น้ำจะซึมลงสู่ชั้นดิน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับธรรมชาติ รวมถึงยังสามารถต่อท่อใต้ดิน เพื่อนำน้ำไปกักเก็บลงสู่บ่อเก็บน้ำ (Retention Pond) หรือนำมาหมุนเวียนเข้าสู่ระบบกรองอีกรอบ ก่อนนำไปอุปโภค บริโภคในครัวเรือนอย่างสะอาด ปลอดภัย

Stormwater Capture Park designed by SCAPE Landscape Architecture / Photo Credit: https://www.scapestudio.com/projects/dep-stormwater-capture-park/

สำหรับ Greywater ควรนำไปบำบัดและกรอง เพื่อกำจัดเศษสารอาหารของแบคทีเรีย เช่น คราบไขมัน, เศษอาหาร หรือสารเคมีต่างๆ โดยการกรองในถังระบบปิดหรือบ่อระบบเปิด เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ก่ออันตรายแก่ผู้คนและระบบนิเวศในธรรมชาติ

และ Blackwater น้ำเสียที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลจากคน อาจไม่สามารถนำมาใช้งานได้ในทันที เพราะต้องผ่านการพักในบ่อเกรอะ บ่อซึมใต้ดิน ก่อนจะนำไปกรองในถังบำบัด และส่งต่อสู่ระบบสุขาภิบาลของเมือง เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน ก่อนจะนำกลับมาใช้ในครัวเรือนได้อีกครั้ง

Copenhagen Strategic Flood Masterplan designed by Henning Larsen / Photo Credit: https://landezine.com/copenhagen-strategic-flood-masterplan-by-henning-larsen/

Permeable Pavement ซึมซับน้ำบนพื้นที่ดาดแข็งด้วยวัสดุรูพรุน

โดยทั่วไปแล้ว Hardscape หรือพื้นที่ดาดแข็ง อย่างถนนคอนกรีตทั่วไป หรือพื้นกระเบื้อง ที่มีขนาดค่อนข้างกว้าง มักพบปัญหาน้ำขัง น้ำไหลบ่าบนพื้นผิว เนื่องจากไม่มีช่องว่างระหว่างวัสดุ ให้น้ำซึมลงสู่ใต้ดิน จึงทำให้ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันการพัฒนาพื้นที่ Hardscape ในเมือง ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นหากมีการใช้วัสดุแบบเดิมทั้งหมด อาจส่งผลทำให้เกิดปรากฎการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) ได้

Roche Campus Kaiseraugst designed by Bryum / Photo Credit: http://landezine-award.com/roche-campus-kaiseraugst/

ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาวัสดุพื้นผิวที่มีรูพรุน หรือ Permeable Pavement ขึ้นมา เพื่อช่วยซึมซับน้ำ คืนความชุ่มชื้นให้แก่ดิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเมืองแล้ว ยังช่วยบรรเทาความร้อนจากภัยแล้งได้อีกด้วย โดยวัสดุรูพรุนที่มักใช้กัน ได้แก่ Porous Concrete คอนกรีตที่มีช่องว่างในเนื้อวัสดุประมาณ 15-25 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะสามารถรับน้ำหนักได้น้อยกว่าคอนกรีตปกติ แต่ก็มีความแข็งแรง ทนทาน เพียงพอที่จะนำมาใช้ใน Hardscape ทั่วไป, Porous Asphalt วัสดุปูถนนยางมะตอย ที่ปล่อยให้น้ำไหลซึมผ่านได้ ทำให้ช่วยลดอุบัติเหตุจากถนนลื่น และลดความร้อนที่ระเหยจากพื้นถนน, Grass Block บล็อกหญ้าที่เป็นทั้ง Hardscape และ Softscape ในตัว สามารถดูดซับน้ำและความร้อนได้มากที่สุด รวมถึงใช้ออกแบบในงานแลนด์สเคปได้หลากหลาย ทั้งทางเดิน ลานจอดรถ หรือลานอเนกประสงค์

โดยหลักการปูพื้นด้วย Porous Concrete ควรเริ่มจากปูแผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) บนชั้นดินเดิมที่ผ่านการบดอัดแล้ว จึงตามด้วยปูชั้นหินและกรวด และเทคอนกรีตพร้อมบดอัดให้เรียบสม่ำเสมอ สำหรับ Porous Asphalt ก็มีหลักการปูพื้นคล้ายกัน เพียงแต่ต้องเทยางมะตอย 2 ชั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำหนัก จากการสัญจรของยานพาหนะ และสำหรับ Grass Block นั้น นอกจากจะปูชั้นหินและกรวดแล้ว ยังต้องปรับระดับด้วยทรายอีกชั้น ก่อนจะวางบล็อกหญ้าลงไป เพื่อทำให้พื้นเรียบสม่ำเสมอ และปูแผ่นใยสังเคราะห์คั่นระหว่างชั้นทรายบดอัดกับชั้นกรวด เพื่อทำให้ทรายอยู่ตัว ไม่ไหลในภายหลัง

Low Maintenance Garden สวนดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย

การเลือกใช้พืชพรรณทนแล้ง ทนแดด ไม่ต้องรดน้ำบ่อย และดูแลรักษาน้อย เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สวนสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะภัยแล้ง รวมถึงเป็นการประหยัดน้ำไปในตัว ซึ่งตัวเลือกแรกที่ควรคำนึงถึง คือ พืชท้องถิ่น หรือพืชที่เข้ากันกับเขตร้อนชื้นของไทยได้ดี โดยพืชเหล่านี้มักมีความทนทาน ปรับตัวง่าย ไม่บุกรุกพืชพันธุ์เดิม และช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน ทำให้ไม่ต้องดูแลเยอะ เช่น นนทรี, มะฮอกกานี, ประดู่บ้าน, ปาล์ม, หมาก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีพืชอวบน้ำ ที่สามารถทนทานต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี เหมาะกับการนำมาออกแบบเป็นไม้พุ่มประดับหรือพืชคลุมดิน เช่น ลิ้นมังกร, อากาเว่, ว่านหางจระเข้, กุหลาบหิน, เข็มกุดั่น, แส้หางม้า เป็นต้น

ต้นลิ้นมังกร / Photo Credit: https://wonderground.press/gardens/plant-life-brian-trish-perkins/

จาก 4 ไอเดียที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่านอกจากจะรับมือกับภัยแล้ง ที่กำลังจะมาถึงแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาเนิ่นนานได้อีกด้วย นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักการ Resilience Design ที่เน้นการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในยุคนี้ ที่เรากำลังเดินทางมาถึงจุดภาวะโลกเดือดกันแล้ว และในขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบควบคู่กันกับ Sustainable Design เพื่อฟื้นฟูสมดุลของสิ่งแวดล้อม ให้อยู่คู่กับโลกอย่างยั่งยืน ยาวนาน

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์