สถานปฏิบัติธรรมสุดขลังกลางป่าธรรมชาติ
การผสมผสานระหว่าง ‘พีระมิด’ และ ‘ศาลาไทย’

ภาพความสวยงามของสถานปฏิบัติธรรมสุดขลังท่ามกลางป่าธรรมชาติอย่างเต็มเปี่ยม คือ Pyramid Pavilion ตั้งอยู่ริมทะเลน้อย ในจังหวัด พัทลุง ที่นำรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น นำมาผสมผสานกับพีระมิด แบบอียิปต์ จนสร้างมิติให้กับสเปซได้อย่างน่าสนใจ แถมยังมอบความสงบให้กับผู้คนได้อีกด้วย โดยสถาปนิกจาก Alkhemist Architects ได้แรงบันดาลใจนี้มาจากศิลปินในศตวรรษที่ 20

เริ่มต้นจากความศรัทธา

โปรเจกต์เกิดขึ้นจากคุณแม่ของสถาปนิก มีความศรัทธากับพระรูปหนึ่ง ที่มักจะธุดงค์ไปในหลายประเทศ เพื่อแสวงหาความรู้ด้านธรรมมะ วัฒนธรรม และศิลปะที่หลากหลาย จนพระรูปนี้มีความสนใจสถาปัตยกรรม พีระมิด ในประเทศอียิปต์ คุณแม่จึงตั้งใจที่จะสร้างศาลาปฏิบัติธรรมให้อยู่ในรูปแบบของพีระมิดเพื่อถวายให้กับพระรูปนี้

“เราคาดว่าพระท่านน่าจะสนใจในรูปทรงของพีระมิด ที่เชื่อกันว่าจะช่วยดึงพลังงานจากธรรมชาติ และแสงอาทิตย์เข้ามายังร่างกายของเราได้ดีที่สุด ในเวลาเดียวกันก็สร้างความทรงพลังทางสายตาให้กับผู้คนได้อีกด้วย”

แรงบันดาลใจจากศิลปินในศตวรรษที่ 20

การสร้างศาลาปฏิบัติธรรมทรงพีระมิดในบริบทของภูมิประเทศร้อนชื้นดูจะเป็นสิ่งแปลกประหลาด แต่สถาปนิกกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น เข้าได้คิดย้อนไปถึงศิลปินในต้นศตวรรษที่ 20 อย่าง Giorgio de Chirico ผลงานของเขามักจะเป็นภาพของเมืองในอิตาลีที่เลือกวาดเฉพาะสิ่งสำคัญของเมืองเท่านั้น และเลือกที่จะบิดมุมองให้ดูแปลกตา ซึ่งช่วยสร้างความประทับใจได้ทันทีเมื่อแรกเห็น

สถาปนิกจึงหยิบไอเดียนี้มาใช้กับอาคารปฏิบัติธรรม โดยตั้งใจว่าจะยังคงความสำคัญในภาษาสถาปัตยกรรมแบบศาลาไทย อย่างประตูหน้าต่าง และหลังคา แต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางส่วนให้รู้สึกถึงพีระมิด ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกที่แปลกใหม่ในขณะปฏิบัติธรรมได้

ผนวกศาลาไทยและพีระมิดเข้าด้วยกัน

พื้นที่ทั้งหมดมีขนาด 6.00 x 6.00 เมตร สถาปนิกได้หยิบหลังคาปั้นหยามาปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้มีความลาดชัน 60 องศา ปิดทับด้วยกระเบื้องไม้ชิงเกิ้ลรูฟ จนดูสูงชะลูดคล้ายกับพีระมิด ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งหลังคา และผนังอาคารที่ปิดทึบไปพร้อมกัน ทำให้สเปซภายในมีมีความเงียบสงบมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่บนยอดปลายแหลมติดตั้งอะคริลิคใสเพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้ามาเพิ่มความสว่างสู่ภายใน ตัวอาคารถูกยกใต้ถุนสูงเหมือนกับศาลาพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมของไทย ซึ่งทำให้อาคารที่มีรูปทรงพีระมิดดูเหมือนกำลังลอยอยู่กลางอากาศอย่างไรอย่างนั้น  

เสริมความโมเดิร์นด้วยกรอบประตูเหล็ก

ทางเดินเข้าถูกออกแบบเป็นขั้นบันไดไปยังประตูกล่องเหล็กสี่เหลี่ยมสีดำ ที่เสียบเข้าไปในสามเหลี่ยมของพีระมิด ความมืดของประตูจะนำสายตาไปสู่แสงธรรมชาติที่ส่องลงมาจากสกายไลท์ ก่อนจะพบกับภายในอาคารที่ถูกแบ่งสแปนเสาออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.80 x 1.80 เมตร 2.40 x 2.40 เมตร และ 1.80 x 1.80 เมตร นั่นก็หมายความว่าพื้นที่ตรงกลางอาคารเป็นพื้นที่สำหรับนั่งสมาธิ และ ปฏิบัติธรรม ซึ่งกั้นด้วยระแนงไม้เพียงแค่ด้านหน้าทางเข้าเท่านั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งสเปซให้ผู้ใช้งานเข้าใจในการใช้พื้นที่

พื้นที่ด้านข้างทั้งสองฝั่งกลายเป็นโถงทางเดิน ที่ทำหน้าที่นั่งพักคอยไปพร้อมกัน บริเวณผนังยังเจาะช่อง และติดตั้งบานเกร็ดให้อยู่ในระดับการนั่งขัดสมาธิบนพื้น เพื่อให้ภายในอาคารสามารถระบายอากาศได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ผนังลาดเอียง ยังทำหน้าที่บังคับให้ผู้คนต้องเดินก้ม ซึ่งเป็นการเคารพ และให้เกียรติผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรมไปโดยปริยาย

“จะเห็นได้ว่าการออกแบบอาคารหลังนี้เราใช้วัสดุไม้ทั้งหมด เพราะเป็นวัสดุที่หาง่าย เข้ากับบริบทโดยรอบของพื้นที่ ช่างก่อสร้างก็เข้าใจได้เป็นอย่างดี แถมอาคารยังดูทรงพลังกว่าการใช้วัสดุอื่นอีกด้วย”

ศาลาปฏิบัติธรรมในรูปแบบที่แปลกตา

การผนวกรูปแบบศาลาไทยยกใต้ถุนสูง กับพีระมิดแบบอียิปต์ ทำให้ Pyramid Pavilion เป็นศาลาปฏิบัติธรรมที่มีทั้งความสงบ และดูมีมนต์ขลังได้อย่างน่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ยังให้ความรู้สึกถึงยุคสมัยใหม่ไปพร้อมด้วย เพราะการเลือกใช้เหล็กเข้ามาส่งเสริมทางเข้าของตัวอาคาร หรือ การใช้อะคริลิคใสมาติดตั้งเป็นสกายไลท์ให้กับหลังคา ก็ช่วยสร้างมิติให้กับภายใน-นอกของอาคาร และทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงการปฏิบัติธรรมได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn