บางครั้งแม้เราจะมีแบบดีไซน์ที่สวย ถูกใจอยู่ในมือ แต่หากไม่ได้ถูกก่อสร้างให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างเหมาะสม บ้านหรืออาคารหลังนั้นก็ไม่สามารถออกมาอย่างสมบูรณ์แบบได้ หากใครไม่อยากตกม้าตาย ด้วยสารพัดปัญหาที่คาดไม่ถึง วันนี้เรามี 8 สิ่งที่ควรคำนึง เพื่อช่วยทำให้งานก่อสร้างไม่สะดุดในทุกขั้นตอน มาฝากกัน !
01 สำรวจความสูงของที่ดิน และระบบสาธารณูปโภค
การศึกษาสภาพเดิมของที่ดิน เป็นสิ่งแรกที่ควรคำนึง เพราะที่ดินแต่ละแปลง ต่างก็มีข้อดี ข้อจำกัดไม่เหมือนกัน ทั้งในเรื่องของระดับความสูง การเข้าถึงสาธารณูปโภค รวมถึงบริบทรอบข้างที่ดิน ที่จะส่งผลทั้งในเชิงการออกแบบ และการก่อสร้างอย่างถูกกฎหมาย ก่อนที่เราจะเริ่มก่อสร้าง ต้องมีการปรับหน้าดินให้เรียบ และมีระดับเหมาะสมก่อนเสมอ โดยทั่วไปแล้วมักจะถมดินสูงกว่าระดับถนนประมาณ 50-60 ซม. เพื่อป้องกันน้ำขัง หรือสิ่งสกปรกจากถนนเข้าสู่พื้นที่บ้าน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความชันทางลาดของถนนทางเข้าบ้าน ซึ่งไม่ควรมีอัตราส่วนเกิน 1:8 ตามมาตรฐาน
หากมีการสำรวจสาธารณูปโภคอย่างรอบคอบ จะทำให้ผู้ออกแบบและผู้รับเหมา สามารถวางแผนขั้นตอนก่อสร้างได้สะดวกมากขึ้น อย่างระบบไฟฟ้า ระบบประปา และท่อระบายน้ำสาธารณะ ที่ต้องมีการวางระบบก่อนสร้างตัวอาคาร รวมถึงการสำรวจข้อจำกัดของบริบทรอบข้าง ที่อาจส่งผลต่อการตอกเสาเข็ม การเข้าถึงของรถบรรทุก รถขุด หรือเครื่องจักรต่างๆ
02 วางผังอาคารให้สัมพันธ์กับทิศทางแดด ลม ฝน
ทิศทางของแดด ลม ฝน ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อความอยู่สบายของบ้าน โดยเฉพาะเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของเมืองไทย ที่ได้รับอิทธิพลของเส้นศูนย์สูตร ทำให้การขึ้น-ตกของพระอาทิตย์ เปลี่ยนมุมองศาตามแต่ละช่วงฤดู หรือที่เรียกว่า ‘แดดอ้อมเหนือ แดดอ้อมใต้’ โดยแดดอ้อมใต้จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-เมษายน ซึ่งกินเวลานานถึง 8 เดือน ก่อนจะค่อยๆ อ้อมกลับมาทิศเหนือในช่วงฤดูร้อน ทำให้ทิศใต้และทิศตะวันตก เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดและความร้อนมากที่สุด
สำหรับทิศทางของลมนั้น หลักๆ เราจะได้รับลมประจำถิ่นมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ เช่นเดียวกันกับทิศทางของฝน แต่เมื่อกอปรกับแสงแดดที่ได้รับแล้ว ทำให้ทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีความเย็นสบายกว่า จึงเหมาะกับการวางฟังก์ชันพื้นที่พักผ่อน ในขณะที่ทิศตะวันตก เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการระบายความชื้น อย่างห้องน้ำหรือห้องครัว นอกจากทิศทางแดด ลม ฝนแล้ว เรายังต้องคำนึงร่วมกับทิศทางของมุมมอง ทัศนียภาพ และเสียงรบกวนจากรอบข้าง ในการวางแนวอาคาร ฟังก์ชัน และดีไซน์ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว และสร้างบรรยากาศของการพักผ่อน
03 กำหนดฟังก์ชันและคำนวณขนาดพื้นที่ใช้สอยอย่างเหมาะสม
หลายคนประสบปัญหาพื้นที่แคบเกินไป หรือพื้นที่กว้างเกินไป ทำให้จัดเฟอร์นิเจอร์ไม่ลงตัว ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดฟังก์ชัน และคำนวณพื้นที่ใช้สอย ตามการใช้งานจริงของผู้อยู่อาศัย ก่อนจะนำมาจัดวางในขอบเขตที่ดิน ที่ผ่านการคำนึงในเรื่องกฎหมาย สาธารณูปโภค และทิศทาง ซึ่งขั้นตอนนี้ควรมีสถาปนิกช่วยออกแบบและให้คำปรึกษา เพื่อช่วยลดปัญหาการเกิด Waste Space ได้
04 กำหนดงบประมาณในการก่อสร้าง
หลังจากที่เจ้าของบ้านได้ปรึกษาเรื่องดีไซน์เบื้องต้นกับสถาปนิกแล้ว ควรแจ้งงบประมาณในการก่อสร้างให้สถาปนิกทราบ เพื่อที่จะนำมาปรับดีไซน์ ให้อยู่ในเงื่อนไขของการจัดซื้อวัสดุ และค่าก่อสร้างต่างๆ ช่วยลดปัญหางบบานปลายเมื่อก่อสร้างจริง แต่ทั้งนี้ควรมีการสำรองค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างน้อย 10-15 เปอร์เซ็นต์
05 กำหนดช่วงเวลาการก่อสร้างอย่างเหมาะสม
หากไม่ต้องการทิ้งช่วงพักการก่อสร้างนานเกินไป ควรมีการคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการก่อสร้าง โดยเฉพาะฤดูฝนที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นพิเศษ โดยอาจทำการถมดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ล่วงหน้าไว้ หลังจากดินเซตตัวเรียบร้อย จึงเริ่มก่อสร้างอาคารในช่วงก่อนหรือหลังฤดูฝน ในกรณีที่ต้องเริ่มก่อสร้างในฤดูฝน อาจต้องเผื่อระยะเวลามากกว่าปกติ และไม่ควรเร่งทำการก่อสร้างโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังควรสังเกตช่วงเวลา สำหรับการจัดซื้อวัสดุที่เหมาะสมอีกด้วย เนื่องจากวัสดุก่อสร้างบางชนิด อาจมีราคาสูงขึ้นในบางฤดูกาล
06 ศึกษาแบบก่อสร้างก่อนยื่นขออนุญาตและเริ่มก่อสร้าง
ทั้งเจ้าของบ้าน สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมาต้องศึกษาแบบก่อสร้างให้ละเอียด และทำความเข้าใจให้ตรงกัน ก่อนยื่นขออนุญาตในการก่อสร้าง เนื่องจากหากต้องการแก้ไขแบบก่อสร้าง หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างเรียบร้อย หรือเริ่มก่อสร้างไปแล้ว อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรืออาจต้องยื่นขออนุญาตใหม่
07 ก่อสร้างอาคารตรงกับแบบก่อสร้างที่ยื่นขออนุญาต
การก่อสร้างให้ตรงตามแบบเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพงานสถาปัตยกรรม หากมีการก่อสร้างผิดเพี้ยนไปจากแบบมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหากับอาคารในขณะก่อสร้าง หรือหลังจากที่ย้ายเข้าอยู่อาศัยในภายหลังได้ ที่สำคัญหากมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น อาจถูกระงับการก่อสร้าง หรือมีคำสั่งให้แก้ไขการก่อสร้างในทันที
08 คัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง จากศักยภาพโดยรวม และความถนัดเฉพาะด้าน
การคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่ควรเลือกจากผู้ที่เสนอราคาค่าก่อสร้างที่ถูกที่สุด แต่ควรเลือกจากราคาค่าก่อสร้างที่เหมาะสมกับงาน ไม่ถูกหรือไม่แพงเกินไป พร้อมกับพิจารณาควบคู่กับความน่าเชื่อของศักยภาพโดยรวม และประสบการณ์ในงานเฉพาะด้านของผู้รับเหมา เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เป็นระเบียบ ตรงตามแบบก่อสร้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท ออลเฮ้าส์ จำกัด
LINE ID : Allhousesolder
Hotline : 095 747 7000
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!