Jasmine Life Space
ห้องนั่งเล่นใหม่ของย่านอิสรภาพที่เปลี่ยนการนั่งทำงานให้เป็นเรื่องสบายๆ

ยุคหลัง Co-working Space เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ผุดขึ้นไวพอๆ กับคาเฟ่ แต่ Co-working Space แบบไหนที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้มากที่สุด พื้นที่ทำงานที่มีอาหารพร้อม? พื้นที่ที่มีโซนพักผ่อน? หรือพื้นที่เงียบสงบที่เพิ่มสมาธิ?

ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ ชวนมาหาคำตอบผ่านงานดีไซน์พื้นที่ภายใน Jasmine Life Space ที่เกิดจากการรีเสิร์ชและพูดคุยกับ Users โดยตรง ก่อนเป็นที่มาของห้องนั่งเล่นในย่านอิสรภาพที่เปรียบเสมือน Third Place กบดานสำหรับคนที่อยาก Work Life Balance ไปพร้อมๆ กัน

Research ก่อน Design จนได้ความต้องการจริงของ Users

หลังจากที่ได้พูดคุยกับทางเจ้าของ (น้ามอญและพี่โอ๊ต) ผู้ทำธุรกิจอพาร์ทเมนท์ในย่านอิสรภาพแห่งนี้โดยมีทั้งร้านกาแฟ พื้นที่ให้เช่าขายอาหารเป็นทุนเดิม ทางดีไซน์เนอร์ก็ได้รับโจทย์ให้มาออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่อยู่ภายในอพาร์ทเมนท์ยูนิตใหม่ให้กลายเป็น Co-Working Space เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาในย่านนี้

“พอเราฟังคำนี้ก็ยังไม่ได้มีภาพในหัวชัดเจนว่าจะเป็น Co-Working Space ยังไงดี ซึ่งเราก็คุยกันในทีมว่าจะต้องมีกระบวนการรีเสิร์ช เพราะทีมตื่นของเราเองก็เน้นเรื่องการรีเสิร์ชก่อนดีไซน์อยู่แล้ว” คุณโอ๋ – ภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ ผู้ออกแบบและ Design Director จาก ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอเริ่มต้นเล่า

เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีเสิร์ชผ่านการสัมภาษณ์นักศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัย 2 แห่งในย่าน ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ น้ามอญและพี่โอ๊ตหามาให้ ก็ได้ข้อสรุปว่าเขาไม่ได้ต้องการ Co-Working Space หรือพื้นที่ทำงานร่วมกันในลักษณะนั้นโดยตรง แต่มาพร้อม Keyword อย่าง “พื้นที่กบดาน พื้นที่นัดเจอ พื้นที่นั่งพูดคุยกัน” เพราะฉะนั้น สถาปนิกและเจ้าของจึงมองว่าพื้นที่ตรงนี้ควรมีความเป็น Life-Space มากกว่า Co-Working Space ทั่วไปในเมือง ซึ่งแน่นอนว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับนั่งทำงาน เพียงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

“เราพยายามหาเป้าหมายว่า พื้นที่ตรงนี้มันจะทำหน้าที่อะไร? เราโยนเป้าหมาย 3 ข้อให้เจ้าของเรียงลำดับเพื่อลองดูว่าน้ำหนักจะไปในทิศทางไหน ซึ่งอันดับ 1 คือ Quality of Lifestyle พื้นที่ตรงนี้ต้องตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนที่อยู่แถวนี้ อันดับ 2 เป็นความ Lively เนื่องจากน้ามอญและพี่โอ๊ตมีธุรกิจหลายอย่าง อาจจะขาดตัวเชื่อมทุกอย่างเข้าหากัน ซึ่งเขาก็ต้องการให้พื้นที่ที่เราดีไซน์สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับซอยนี้ ส่วนอันดับ 3 คือ Quality of Learning & Working

ทำให้เราไม่ได้เริ่มต้นจากวิธีคิดที่เป็น Co-Working Space ทั่วไป แต่คิดเรื่องไลฟ์สไตล์ ความมีชีวิตชีวา ซึ่งเราก็มองน้ามอญด้วย เขาดูเป็นกันเองกับคนแถวนี้มาก ถ้าพื้นที่ตรงนี้ได้ทำหน้าที่เป็นห้องนั่งเล่นของนักศึกษาที่อยู่ในย่านนี้ มันก็น่าจะดีนะ”

“แชร์ ชิลล์ เล่น เลิร์น เบิร์น” พื้นที่ใช้ชีวิตทั้ง 5 โซน

หลังจากที่ได้ 3 คีย์เวิร์ดหลัก คุณกานต์-อติคุณ เศวตไอยาราม Project Architect ก็เล่าให้เราฟังว่า ทีมออกแบบนำคีย์เวิร์ดเหล่านั้นมาตีความเป็นพื้นที่โดยแบ่งออกเป็น 5 โซนอย่าง “แชร์ ชิลล์ เล่น เลิร์น เบิร์น” โดยโซนแรกที่เข้าถึงได้จากอาคารชั้นล่างคือส่วนฟิตเนสที่เรียกว่าโซนเบิร์น จากนั้นเราจะเจอพื้นที่โซนแชร์ ซึ่งถูกออกแบบเป็น Grand Stair เนื่องจากอาคารเดิมที่สถาปนิกดีไซน์ไว้ จะแบ่งเป็นปีกด้านหน้าและด้านหลังอย่างชัดเจน เมื่อต้องทำการออกแบบต่อ ทางทีม ตื่น ดีไซน์จึงพยายามทำให้พื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อเข้าหากัน ด้วยการทลายความเป็นห้องทิ้งไป โซนแชร์นี้จึงเป็นบันไดเชื่อมขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่รวมตัว (Gathering Space) ที่สามารถนั่ง เป็นอัฒจรรย์เล็กๆ ใช้สำหรับประชุมได้ นอกจากนี้ยังมีการเล่นกิมมิคเล็ก ๆ พ้องคำ Share และ Chair ด้วยการดีไซน์เก้าอี้มาเติมบริเวณอัฒจรรย์นี้ให้ดูมีลูกเล่นที่สนุกสนานมากขึ้น

เนื่องจากต้องการให้ได้บรรยากาศความเป็น Living Space มากกว่าเป็น Working Space โซนที่เจอได้ถัดไปทางฝั่งด้านหน้าของอาคารจึงเป็นโซนชิลล์และเล่นที่เปลี่ยนบรรยากาศของงานดีไซน์ทำให้ดูสนุกขึ้น อย่างการเปลี่ยนไปใช้ไม้ตะแบกที่ทางเจ้าของเก็บไว้มาเป็นวัสดุหลักในการใช้กรุผิว เพื่อสร้างความรู้สึกรีแล็กซ์ เป็นกันเองมากขึ้น

บริเวณโซนชิลล์ มีการดีไซน์เป็นบ่อหมอนให้คนใช้บริการสามารถมาพักผ่อนในอิริยาบถต่างๆ ได้ค่อนข้างหลากหลาย ถัดเข้าไปด้านในเป็นโซนเล่น ที่มีฟังก์ชันเป็นที่นั่งเล่นบอร์ดเกมส์ มีโต๊ะพูลที่กั้นเป็นห้องเพื่อป้องกันเรื่องเสียง ซึ่งในโซนเหล่านี้จะประกอบไปด้วยการนั่งที่หลากหลาย อย่างการนั่งพื้น สเกลเก้าอี้ที่เตี้ยกว่า สร้างความรู้สึกสบายและชิลที่มากกว่า และยังมีการออกแบบชั้นลอยในลักษณะตาข่าย สามารถปีนป่ายไปนั่งเล่น และยังทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ในทางตั้งอีกด้วยนั่นเอง

โซนชิลล์

โซนเล่น

ส่วนฝั่งด้านหลังของอาคารเป็นโซน เลิร์น ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่สามารถนั่งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็นโซนโต๊ะทำงานที่เป็นโต๊ะเดี่ยวซึ่งสามารถกาง Partition ที่ออกแบบไว้เพื่อสร้างขอบเขตพื้นที่ของตัวเองได้ชัดเจนและยังมีดีเทลดีไซน์อย่างกระดานไวท์บอร์ดที่เลื่อนได้บริเวณหน้าต่าง ทำให้น้อง ๆ นักศึกษาสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการติวหนังสือ หรือทำงานได้ นอกจากนั้นยังมีโซนโต๊ะประชุมสำหรับใครที่มาเป็นกลุ่ม และมีห้องเงียบสำหรับใครที่ต้องการสมาธิ

“เรื่องสีสันที่เอามาใช้ เราเอามาจากความเป็นย่าน ซึ่งตอนนั้นเราไปเดินในย่านอิสรภาพแล้วรู้สึกว่าย่านนี้ดูมีชีวิตชีวาดีนะ มีสีสันที่ดูหลากหลาย เราเลยใช้สีสดๆ สีนีออน เข้ามาเน้นแต่ละ Space จับคู่อยู่ด้วยกัน เพื่อให้มันรู้สึกเข้าถึงง่าย และดูเป็นกันเอง” คุณกานต์เล่า

“ถ้าพูดถึง Community Space ที่แปลว่าชุมชน เราคิดว่าการจะอยู่เป็นชุมชนได้ มันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ประเด็นสำคัญมันอาจจะอยู่ที่ความเชื่อมโยงว่า พื้นที่ที่เรากำลังดีไซน์มันจะไปเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายยังไง ทำหน้าที่อะไรในพื้นที่ตรงนั้นมากกว่าที่เราจะอยู่ในกรอบของตัวเอง มันต้องคิดไปถึงบริบท คน บรรยากาศ หรือความรู้สึกที่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งในสถานที่นี้ และในภาพใหญ่ของย่าน เพียงแต่ว่ามันจะลงลึกไปได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับ เงื่อนไข ข้อจำกัด ของพื้นที่นั้นๆ

ตอนที่อาคารเสร็จ มันทำให้บรรยากาศหรือย่านแถวนี้เปลี่ยนไปจากตอนแรกที่เรายังไม่ได้ดีไซน์ไปพอสมควรเหมือนกัน เราเริ่มเห็นสีสันที่เกิดขึ้น หรือเราเดินมาในซอยเองแล้วก็รู้สึกว่าตรงนี้ Lively มากขึ้นกว่าเดิม ก็ดีใจที่ดีไซน์มันเข้าไปมีผลกับเรื่องพวกนี้ได้ครับ” คุณโอ๋กล่าวทิ้งท้าย

อติคุณ เศวตไอยาราม (กานต์) Project architect, ภัทราวุธ จันทรังษี(เต๊นท์) Design director, ภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ (โอ๋) Director

Owner : ศิริพร สมภักดี (น้ามอญ),อิสระ กาญจนเวชกุล(น้าอิส), ชลัท ทัพประเสริฐ (พี่โอ๊ต)
Interior designer : ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ (ออกแบบ Interior ส่วน Lifespace , Outdoor common space)
Lighting designer : LIGHT IS
Architect : สถาปนิกก่อกาลดี (ออกแบบอาคาร)
Graphic designer : อัญชลินทร์ เกื้อกิจจา (พลอย)
ผู้รับเหมา : บริษัท อุณากรรณ จำกัด

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้