ปัญหาของบ้านพื้นที่หน้าแคบ และลึกจะทำอย่างไร? ให้บ้านไม่รู้สึกทึบตัน มีลมพัดผ่าน และตอบโจทย์การใช้งานได้ตลอด สำหรับคำถามนี้ INchan atelier สตูดิโอออกแบบตอบคำถามข้างต้น ด้วยการสร้างบ้านให้สูงถึง 4 ชั้นรายล้อมไปด้วยช่องเปิด และระเบียงให้ล้อไปกับฟังก์ชันต่างๆ ภายในบ้าน รวมทั้งออกแบบรูปแบบอาคารยังถูกเซาะร่องให้ดูมิติ และลดทอนความสูงชะลูดได้อย่างน่าสนใจ
พื้นที่แคบ-ยาว ของครอบครัว 5 คน
เจ้าของต้องการสร้างบ้านบนพื้นที่หน้าแคบ 8 เมตร และลึกสอบ 26 เมตร ใจกลางสาทร จากโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ขนาดเล็กนี้สามารถสร้างบ้านที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของครอบครัว 5 คน ประกอบไปด้วยคุณยาย พ่อ แม่ ลูก 2 คน และสัตว์เลี้ยงอย่างนกแก้วอีก 2 ตัว
การออกแบบบ้านหลังนี้จำเป็นต้องร่นระยะจากกำแพงกว่า 2 เมตร ตามกฎหมาย ทำให้ตัวบ้านมีลักษณะหน้าแคบเพียง 5เมตร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สถาปนิกพยายามใส่เรื่องราวให้กับรูปด้านของอาคารดูมีมิติไม่ทึบตัน รวมไปถึงภายในอาคารต้องรู้สึกโปร่งโล่งสบาย มีแสง และลมธรรมชาติอย่างเพียงพอ
แปลนชั้น 1 และแปลนชั้น 2
แปลนชั้น 3 และแปลนชั้น 4
แปลนชั้นดาดฟ้า
ระเบิดสเปซให้โปร่งโล่ง
เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะพบกับโถงต้อนรับสำหรับถอดรองเท้า ที่ใช้ผนังเป็นบล็อกแก้วแบบขุ่น เพื่อให้แสงสว่างเป็นจุดต้อนรับแรก ห้องโถงนี้จะเป็นตัวแจกไปยังโถงทางเดินทางด้านขวาที่จะพาไปสู่ห้องครัวไทย และครัวแบบฝรั่ง ทำให้สะดวกต่อการจัดเก็บอาหาร นอกจากนี้ยังแจกไปยังโถงบันไดชั้น 2 ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่เดินอยู่ในโถงทางเดินขนาดพอดีตัว พื้นที่ด้านในสุดจะพบการเปิดสเปซขนาดใหญ่ โดยออกแบบให้ฝ้าเพดานเป็นดับเบิ้ลวอลุ่มเชื่อมโยงพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 2 ให้มีปฏิสัมพันธ์กัน ผนังทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกติดตั้งบานเปิดแบบกระจกเพื่อรับลมและแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ พื้นที่ตรงกลางจัดวางโต๊ะรับประทานอาหารขนาดยาว เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวเข้ามาทำกิจกรรม หรือรวมตัวในพื้นที่นี้ได้ ในส่วนบริเวณระยะร่นด้านหลังของอาคารยังทำหน้าที่เป็นคอร์ตยาร์ทต้นไม้ขนาดเล็กที่ช่วยมอบความร่มรื่นให้กับพื้นที่ภายในได้เป็นอย่างดี
“การวางฟังก์ชันของพื้นที่ชั้น 1 เป็นวิธีไล่ลำดับแบบบ้านทั่วไป แต่การที่เราแยกสีครัวให้เป็นสีดำ และให้พื้นที่โต๊ะรับประทานอาหารเป็นสีน้ำตาล และสีขาว ก็เป็นการแยกฟังก์ชันให้มีความชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น”
รับลม และแสงธรรมชาติได้ทุกพื้นที่
เมื่อก้าวเข้าสู่บันได้เพื่อไปยังชั้น 2 จะพบกับแสงธรรมชาติที่ส่องมาจากคอร์ตยาร์ทต้นไม้จากทางทิศตะวันตก ก่อนจะพบกับโถงทางเดิน ที่เชื่อมไปยังพื้นที่ทางทิศเหนือ ทำหน้าที่เป็นโถงห้องสมุด ที่สามารถมองลงไปยังพื้นที่รับประทานอาหารชั้น 1 และยังสามารถเดินออกไปยังระเบียงด้านหลังบ้านได้ การเปิดสเปซเช่นนี้ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด แถมยังได้รับลม และแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้จะเห็นว่ามีระเบียงเล็กๆ อยู่ติดกับโถงทางเดิน ซึ่งเป็นตัวช่วยในการเปิดช่องรับลมและแสงธรรมชาติให้เข้ามายังโถงทางเดินชั้น 2 ได้มากขึ้น
หากเดินไปทางทิศใต้ จะเชื่อมโยงเข้ากับห้องนั่งเล่นของครอบครัว และทำหน้าที่เป็นห้องรับแขกในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีระเบียงต้นไม้กึ่งกรงสำหรับเลี้ยงนกแก้ว เพื่อให้การนั่งเล่นสามารถเพลิดเพลินไปพร้อมกับการชมนกได้ ทั้งนี้ในบริเวณด้านหน้าของห้องนั่งเล่น ยังมีบานเลื่อนกระจกที่สามารถเปิดรับลม และแสงธรรมชาติ แถมยังสามารถเดินออกไปนั่งพักผ่อนยังระเบียงต้นไม้กระถาง แต่ก็ยังให้ความเป็นส่วนตัวด้วยฟาซาดอาคารที่เปิดช่องสี่เหลี่ยมเพียงเล็กน้อยเพื่อให้พอดีกับการรับลม และแสงธรรมชาติ
“ในรายละเอียดบริเวณผนังเหนือหัวที่ใช้ยึดบานเลื่อนกระจกเราออกแบบให้สัดส่วนเตี้ยลงมา และเสริมด้วยผ้าม่านที่สามารถปรับขึ้น-ลงได้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถปรับว่าอยากบดบังสายตาจากคนภายนอกมาก-น้อยขนาดไหน แต่ก็ยังสามารถเปิดบานเลื่อนกระจกในการรับลม และแสงธรรมชาติได้เช่นเดิม”
เป็นส่วนตัว แถมยังได้รับความร่มรื่น
เมื่อเดินขึ้นมายังชั้น 3 จะพบกับระเบียงที่ดึงเอาลม และแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ ก่อนจะแจกไปยังห้องนอนที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ห้อง ได้แก่ ห้องนอนขนาดใหญ่ทางทิศใต้ จะเห็นว่าห้องนี้นำห้องน้ำไว้ทางด้านทิศใต้ (ด้านหน้าอาคาร) เพื่อบดบังความเป็นส่วนตัว และเลือกให้ด้านทิศตะวันตกเป็นระเบียง และก่อบล็อกช่องลมเป็นผนังกันตก ทำให้แสงแดงที่เข้ามาถูกกรองความร้อนได้มากขึ้น แต่ก็ยังได้รับลมธรรมชาติได้เช่นเดิม ทั้งนี้ต้นไม้จากชั้น 2 ทางทิศตะวันออกยังสูงชะลูดขึ้นมา ซึ่งช่วยมอบความร่มรื่นให้กับพื้นที่ห้องนอนได้เป็นอย่างดี
ภายในห้องนอนทางทิศเหนือ สถาปนิกเลือกให้ห้องน้ำอยู่ทางทิศเหนือ และออกแบบระเบียงขนาดเล็กให้อยู่ทางทิศตะวันออกเพื่อดึงลม และแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้ยังติดตั้งช่องเปิดให้เชื่อมไปยังระเบียงบริเวณโถงทางเดินเพื่อดึงลม และแสงธรรมชาติเข้ามาช่วยเสริมให้สเปซดูโปร่งโล่งมากขึ้น
เว้นสเปซไว้เพื่อรองรับกิจกรรม
ในส่วนพื้นที่ชั้น 4 เป็นห้องนอนสำหรับลูกทั้ง 2 คน ซึ่งมีสเปซที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ชั้น 3 แต่แตกต่างที่บริเวณตรงกลางพื้นที่เลือกปล่อยสเปซให้ว่างไว้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้ไม่จำกัด สุดท้ายคือพื้นที่ดาดฟ้าที่เป็นพื้นที่พักผ่อน และพื้นที่ของแผงโซล่าเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นหลังคากรงนกแก้วไปพร้อมกันด้วย
หากย้อนกลับมาพูดถึงฟาซาดของอาคาร สถาปนิกใช้วิธีการออกแบบในเชิงกราฟิกด้วยเส้นแนวนอน และเส้นเซาะร่องแนวตั้งแบบอ่อนๆ ไล่ละดับตั้งแต่ความถี่สูง จนค่อยๆ ห่างขึ้นตามความสูงของเส้นแนวนอน เมื่อปล่อยให้โดนแดดและฝนไปตามกาลเวลา ความเข้มของสีก็จะไล่ละดับจากล่างขึ้นบน จนอาคารเกิดมิติทางเฉดสี และช่วยลดความทึบตันให้ดูมีมิติมากขึ้น
แม้อาคารจะมีพื้นที่หน้าแคบและลึก แต่การออกแบบภายในให้มีทางเดินขนาดพอดีตัว และเลือกคว้านคอร์ตยาร์ท ให้มีช่องเปิดเกาะเกี่ยวไปกับทุกฟังก์ชันของแต่ละชั้น ทำให้สเปซภายในรู้สึกถึงความโปร่งโล่ง ได้รับลม และแสงธรรมชาติตลอดทั้งวัน อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือฟาซาดของอาคารที่ออกแบบให้ปิดทึบเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อมองจากภายนอกกลับไม่ได้รู้สึกทึบตัน เพราะการเซาะร่องก็ทำให้อาคารดูมีมิติมากยิ่งขึ้น เมื่อทั้งสองอย่างมารวมกัน ก็เป็นการทำลายข้อจำกัดเรื่องความแคบของพื้นที่ออกไปโดยปริยาย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!