บางครั้งข้อจำกัดของที่ดินก็เป็นอุปสรรค ที่ทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายไม่เป็นไปตามภาพ ที่วาดหวังไว้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถึงแม้ขนาดที่ดินหรือบริบทโดยรอบจะไม่เอื้ออำนวยแค่ไหน ผู้คนก็ยังคงต้องการสเปซที่ดี อยู่สบาย และมีความโดดเด่นในตัวเองเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ Tiny Tin House บ้านที่บรรจุความต้องการของหนึ่งครอบครัว ภายใต้รูปทรงอาคารขนาดกระทัดรัด แต่ทว่าชวนสะดุดตาไม่เบา ผลงานออกแบบจากทีมสถาปนิก RAD studios
แรงบันดาลใจจากรูปทรงกระป๋อง
เดิมทีพื้นที่นี้เคยเป็นโรงงานของครอบครัวใหญ่ ที่มีบ้านของเหล่าญาติพี่น้องตั้งอยู่บนผืนที่ดินเดียวกัน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการออกแบบมากมาย ทั้งในแง่การเข้าถึงตัวบ้าน มุมมองรอบด้าน และขนาดพื้นที่ว่างสำหรับบ้านหลังใหม่ เพียง 10 คูณ 13 เมตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นโจทย์อันน่าท้าทายสำหรับสถาปนิก สำหรับการบรรจุพื้นที่ใช้สอย 350 ตารางเมตรลงไป
“คอนเซ็ปต์มาจากการที่เราค้นหาว่า มีสิ่งไหนบนโลกที่มีขนาดเล็ก และมีความน่าสนใจบ้าง สุดท้ายเรามาสะดุดกับคำว่า ติน (Tin) ที่แปลว่า กระป๋อง และเป็นชื่อของเจ้าของบ้าน ซึ่งเราก็มองว่าเวลาที่แกะกระป๋องออกมา มักจะรู้สึกว่าข้างในมีอะไร เยอะกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ และน่าเอามาเล่น” – คุณปูน ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกจากทีมออกแบบ
จากคอนเซ็ปต์กระป๋องดังกล่าว นำมาสู่การออกแบบแมสอาคาร ที่เริ่มจากการสร้างกระป๋องทรงลูกบาศก์ เต็มพื้นที่ขนาด 10 คูณ 13 เมตร และทำสเปซให้น่าสนใจ ด้วยการคว้าน หรือเจาะแมส ก่อนจะนำกระป๋องทรงกระบอกมาสอดแทรก ทั้งในมุมมองของแปลนบ้านและแมสอาคาร และผสานระหว่างสองรูปทรงให้กลมกลืนกัน ผ่านองค์ประกอบเส้นโค้งที่มาจากการลดทอนเส้นรอบวงของทรงกระบอก
ฟังก์ชันพอดีกับขนาดพื้นที่และความต้องการ
แม้ลำดับการเข้าถึงฟังก์ชันของบ้านหลังนี้ ไม่ได้ต่างจากบ้านทั่วไปมากนัก แต่ในทุกๆ สเปซ เราจะพบกับดีไซน์จากกระป๋องที่ถูกซ่อนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่บริเวณทางเข้าหน้าบ้าน ที่มีพื้น ผนัง และช่องเปิด โค้งตามรัศมีทรงกระบอก และโถงนั่งเล่นหลัก ที่ถูกออกแบบให้เป็น Double Volume Space ทรงกระบอกขนาดใหญ่ เพื่อขับเน้นความโดดเด่นของสเปซ และช่วยสร้างความโปร่ง โล่ง สบายให้กับภายใน ภายใต้สเปซที่มีขนาดจำกัด ซึ่งหากสังเกตในแปลนจะพบว่าทรงกลมเดียวกันนี้ ยังแทงทะลุไปเชื่อมต่อกับพื้นที่ดาดฟ้าบนชั้น 3 อีกด้วย
เมื่อขึ้นมาอีกครึ่งชั้น เราจะพบกับห้อง Play Room ที่มีลักษณะเป็น Double Volume Space เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะถูกใช้งานเป็นห้องเล่นสนุกของลูก และห้องทำงานของพ่อแม่แล้ว สเปซนี้ยังถูกออกแบบให้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ Private และ Public อีกด้วย ด้วยการออกแบบช่องเปิดหลายด้าน ที่ทำให้สามารถชะโงกมองลงมายังห้องนั่งเล่นด้านล่าง แหงนขึ้นมองท้องฟ้าบนดาดฟ้า หรือจะชมวิวธรรมชาติจากหน้าต่างด้านข้างก็ได้ ที่สำคัญการมีหน้าต่างหลายด้าน ยังช่วยลดการเกิดภาวะ Glare จากแสงแดดจ้าเกินไปอีกด้วย
การบาลานซ์ระหว่างมุมมองกับความเป็นส่วนตัว
เนื่องจากทัศนียภาพโดยรอบถูกรายล้อมด้วยบ้านหลายหลัง การออกแบบช่องเปิด (Void) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึง ด้วยเหตุนี้สถาปนิกจึงเลือกที่จะวางช่องเปิดในตำแหน่งสำคัญ ตอบโจทย์ทั้งในแง่มุมมอง ทิศทางของแสงและลม เพื่อสร้างภาวะน่าสบายให้กับบ้าน ในขณะที่ยังคงความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย โดยช่องเปิดใหญ่จะถูกวางในห้องนั่งเล่น และ Play Room ที่ไม่ได้ต้องการความเป็นส่วนตัวมากนัก
หากสังเกตจะเห็นว่าหน้าต่างกระจกส่วนใหญ่เป็นบานฟิกซ์ เนื่องจากสถาปนิกไม่ต้องการให้มีเส้นกรอบของหน้าต่าง มาบดบังทัศนียภาพที่ต้องการเปิดรับ แต่สำหรับหน้าต่างที่ใช้ในการถ่ายเทอากาศนั้น สถาปนิกได้เลือกวางในตำแหน่งต้นทางและปลายทางของลม เพื่อทำให้การถ่ายเทอากาศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ต้องอาศัยช่องเปิดเยอะ
นอกจากนี้สถาปนิกยังบาลานซ์ปริมาณแสงธรรมชาติ ให้สัมพันธ์กับ Mood and Tone และฟังก์ชันของแต่ละสเปซ โดยไล่ลำดับปริมาณแสงเข้ามาก จากโซน Public เพื่อสร้างบรรยากาศสดใส กระปรี้กระเปร่า ไปหาโซน Private ที่มีแสงค่อนข้างน้อย เพื่อเน้นความสงบ ผ่อนคลาย
เพิ่มการรับรู้ของสเปซ ผ่านสีและสัดส่วน
สีขาว ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญญะของ Modern Architecture เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มการรับรู้แก่นแท้ของสเปซมากยิ่งขึ้น เพราะหากอยู่ในสเปซที่มีวัสดุหลากหลายรูปแบบ เรามักจะถูกดึงดูดความสนใจไปที่สี ลวดลาย หรือพื้นผิวของเหล่าวัสดุแทน ด้วยเหตุนี้สถาปนิกจึงเลือกใช้สีขาวเป็นองค์ประกอบหลักของอาคาร เพื่อทำให้รับรู้ถึงสเปซรูปทรงกระป๋องได้อย่างชัดเจน แต่ทว่าบางครั้งความคอนทราสต์ของสี ก็สามารถเพิ่มสร้างการรับรู้ของสเปซได้เช่นกัน อย่างเคาน์เตอร์ Pantry ที่ถูกออกแบบให้เป็นสีดำ เพื่อเน้นขอบเขตของห้องนั่งเล่นรูปทรงกระบอกให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
นอกจากสีขาวจะช่วยเพิ่มสภาวะน่าสบายจากการมองเห็นแล้ว สัดส่วนของสเปซ ยังมีผลต่อสภาวะน่าสบายในแง่ของความรู้สึกอีกด้วย เพราะหากเราอยู่ในห้องที่สูงหรือเตี้ยเกินไป อาจทำให้รู้สึกอึดอัด หรือเวิ้งว้างได้ ดังนั้นสถาปนิกจึงได้นำหลักการสัดส่วน Golden ratio (1.1618 ต่อ 1) มาใช้ในการออกแบบ Double Volume Space เพื่อสร้างสเปซที่พอดีกับการอยู่อาศัย โดยทำให้ระยะความสูงของขอบผนัง ยังอยู่ในระยะปลายสายตาของคน
“ต้องขอบคุณวิศวกรที่ช่วยออกแบบโครงสร้าง เพราะแม้หน้าตาของบ้านดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วก่อสร้างยากมาก เพราะมีทั้งส่วนที่ยื่นออกมา แล้วก็ส่วนที่เป็นชั้นลอย ที่ค่อนข้างซับซ้อน และงานระบบต่างๆ ที่ถูกซ่อนไว้อย่างลงตัว เบื้องหลังของสิ่งที่เราเห็นว่ามันง่าย มันน้อย ล้วนแต่ผ่านการทำการบ้านมาเยอะเหมือนกัน”
Location: Bangkok, Thailand
Client: Tinnapope Chammuangpuk, Jutharat winitchaiyanan
Area: 350 Sq.M.
Completion Year: 2022
Architect Firm: RAD Studios
Interior Designer: RAD Studios
Architect in Charge: Pawan Ritipong
Interior Designer in Charge: Mananuj Pathomwichaiwat
Design Team: Acharayu Intathep, Nattaporn Udomchairit
Structural Engineer: Napus Saenghirun, Pongsilpa Ritipong
Building Contractor: Up Scale construction
Interior Contractor: Chotaroon construction
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!