ของจริงนะไม่ใช่ AI

              ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้ระยะระหว่างความจริงและจินตนาการเริ่มสั้นลงไปทุกที เดิมเทคโนโลยีการเรนเดอร์ภาพเสมือนจริงจากคอมพิวเตอร์ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการออกแบบอยู่แล้ว แต่เมื่อคอมพิวเตอร์สามารถสร้างภาพเสมือนจริงโดยใช้คีย์เวิร์ดนั้นเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราคงได้เห็นภาพที่ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ที่บางครั้งทำให้ไม่แน่ใจว่านี่ผลงานของมนุษย์หรือคอมพิวเตอร์กันแน่ ในครั้งนี้เราจะเสนอมุมมองที่ต่างออกไปด้วยภาพถ่ายของอาคารซึ่งมีอยู่จริง แต่ดูเผินๆเหมือนใช้คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้นมาอย่างไรอย่างนั้น

ห้องนกยูง ปราสาทซัมเมซซาโน ภาพจาก https://en.wikiarquitectura.com/building/sammezzano-castle/

ละลานตาในห้องนกยูงหลากสี

ปราสาทซัมเมซซาโน (Castle of Sammezzano) ตั้งอยู่บนเทือกเขาแคว้นตอสกานา (Tuscany) ในประเทศอิตาลี ห่างจากเมืองฟลอเรนท์เพียงแค่ขับรถไม่ถึงชั่วโมง ปราสาทซัมเมซซาโนเป็นคฤหาสน์ขนาดใหญ่ สร้างช่วงต้นคริสศตวรรษที่ 17 เพื่อใช้เป็นที่พักล่าสัตว์ ก่อนที่จะได้รับการบูรณะโดยขุนนาง เฟอร์ดีนันด์ ปันเจียตีจี ซีเมเนส (Marquis Ferdinando Panciatichi Ximenes d’Aragona) ร่วมสี่สิบปี (ค.ศ.1853-1889) ในสไตล์มัวร์ฟื้นฟู (Moorish Revival) ห้องภายในปราสาทกว่า 365 ห้องมีการตกแต่งด้วยลดลายอ่อนช้อยและสีสันฉูดฉาด โดยแต่ละห้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองไม่ซ้ำกันเลยสักห้องเดียว ห้องนกยูง (Peacock Room) หนึ่งในห้องที่มีชื่อเสียงที่สุด ตกแต่งด้วยกระเบื้องหลากสีกว่า 4,000 ชิ้นร่วมกับลวดลายเรขาคณิตที่ซับซ้อน หลังสงครามโลกครั้งที่สองคฤหาสน์หลังนี้เคยเปิดบริการเป็นโรงแรมหรูอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะปิดตัวลง

เพดานช่องอธิษฐาน มัสยิดท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ ถ่ายโดย Amir Pashaei ภาพจาก commons.wikimedia.org

เรขาคณิตวิจิตรซับซ้อนในช่องอธิษฐาน

ในมัสยิดของศาสนาอิสลาม บริเวณผ้าเพดานของ เมียะห์รอบ (Mihrab ช่องผนังซึ่งหันไปที่กรุงเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย) มักตกแต่งด้วยรูปทรงและสีสันอย่างวิจิตรงดงาม เครื่องตกแต่งเพดานโค้งนี้เรียกว่า มุก็อรนัศ (Muqarnas) บ้างก็เรียกว่า โครงสร้างทรงโค้งรูปรวงผึ้ง (Honeycomb Vaulting) หรือ โครงสร้างทรงโค้งรูปหินย้อย (Stalactite Vaulting) สำหรับเพดานทรงโค้งในรูปอยู่ที่ มัสยิดท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ (Fatima Masumeh Shrine) ณ มหานครศักดิ์สิทธิ์โกม ศูนย์กลางศาสนาอิสลามนิกายชิอะฮ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอิหร่าน มิสยิดท่านหญิงฟาติมะฮ์มีพื้นที่กว่า 38,000 ตร.ม. ประกอบไปด้วยห้องฝังพระศพ ลานกว้างสามลาน และโถงละหมาดขนาดใหญ่สามห้อง

The Hive UK Pavilion ถ่ายโดย UKTI ภาพจาก https://www.archdaily.com/627728/uk-pavilion-milan-expo-2015-wolfgang-buttress

โถงงานเต้นรำของเหล่าผึ้ง

อาคารแสดงประเทศสหราชอาณาจักร (UK Pavilion) หรือ The Hive ผลงานทีมออกแบบนำโดยศิลปินชาวอังกฤษ Wolfgang Buttress ภายใต้แนวคิด ‘Grown in Britain & Northern Ireland’ กวาดรางวัลไปกว่า 25 รางวัลรวมถึงเหรียญทองด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม (BIE Gold Award for Architecture and Landscape) จากงานมหกรรมระดับโลกที่ประเทศอิตาลี EXPO Milano 2015 ในหัวข้อ ‘Feeding the planet, energy for life’ ที่ตระหนักถึงความท้าทายด้านอาหารที่โลกกำลังเผชิญ

เรื่องราวเกี่ยวกับการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งนำมาสู่ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการเดินทางของผึ้ง ผู้เข้างานจะได้เดินคดเคี้ยวผ่านสวนพืชผักทุ่งดอกไม้นานาชนิดที่ถูกยกให้อยู่เสมอระดับสายตา ก่อนจะเข้าสู่รังผึ้งจำลองขนาดยักษ์ สูง 17 เมตรที่สร้างจากโครงตาข่ายอะลูมิเนียมกว่า 169,300 ชิ้นเรียงซ้อนกัน 32 ชั้น ประกอบกันเป็นอาคารทรงลูกบาศก์ขนาด 14  เมตร ท่ามกลางเสียงอึ้งอึงจากรังผึ้งและแสงไฟ LED กว่าหนึ่งพันหลอดที่เต้นเป็นจังหวะตามแรงสั่นสะเทือนจากรังผึ้ง ณ เวลานั้นอีกด้วย

อาคารฟิลิกซ์โปติน ถ่ายโดย toits_de_paris ภาพจาก instagram.com/toits_de_paris/

ยอดหอคอยร้อยปีของฟิลิกซ์โปติน

ยอดอาคารเก่าทรงแปลกตาแห่งนี้มีชื่อว่าอาคารฟิลิกซ์ โปติน (ฝรั่งเศส: Immeuble Félix Potin) ตั้งอยู่ที่ถนนการค้ารูดูเร็น (Rue de Rennes) เขตการปกครองที่หกของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ฟิลิกซ์เป็นนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสเจ้าของเชนร้านค้าปลีกชื่อดังในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ร้านค้าฟิลิกซ์โปตินขึ้นชื่อคุณภาพสินค้าและการบริการจนมีสาขากระจายอยู่ทั่วกรุงปารีสโดยอาคารเหล่านี้มักถูกออกแบบในสไตล์ Art Nouveau หรือ Art Deco ที่สวยงามเด่นจากบริบทอาคารโดยรอบ สำหรับอาคารฟิลิกซ์โปตินที่ถนนรูดูเร็นเป็นอาคารหกชั้น ยอดหลังคา (Turret) ตกแต่งด้วยชื่อของฟิลิกซ์โปติน ผลงานออกแบบสถาปนิกฝรั่งเศส พอล ออชเชอร์ (Paul Auscher, 1866-1932) สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1904

กำแพงแดง เดอะมูรายา โรฮา ภาพจาก https://www.dezeen.com/2020/08/14/la-muralla-roja-ricardo-bofill-sebastian-weiss/# ถ่ายโดย Sebastian Weiss

กำแพงแดงกับท้องฟ้าสีคราม

อพาร์ตเมนต์สีแดงตัดกับสีฟ้าครามของท้องฟ้าและทะเลเมดิเตอเรเนียน เดอะมูรายา โรฮา (La Muralla Roja, ภาษาสเปน กำแพงสีแดง) ที่ชายฝั่งเมืองคาลป์ ประเทศสเปน ผลงานของ ริคาร์โด โบฟิล (Ricardo Bofill) สถาปนิกชื่อดังที่ผสมผสานศาสตร์จากหลากหลายแขนงสู่งานออกแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สัมพันธ์กับบริบทที่ตั้ง อาคารแห่งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากป้อมปราการแถบอาหรับเมดิเตอร์เรเนียนเรียกว่า Kasbah ผสมผสานกับผังอาคารโมดูลรูปเครื่องหมายบวกหรือกางเขนกรีก (Greek Cross) ยังใช้สีบ่งบอกถึงองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันอย่างผนังภายนอกสีแดง ผนังภายในทาสีฟ้า ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism) อีกด้วย

โรงแรมมอร์เฟียส ภาพจาก https://www.archdaily.com/896433/morpheus-hotel-zaha-hadid-architects ถ่ายโดย Virgile Simon Bertand

ทึบและว่างสอดประสาน

อาคารสูงที่ใช้โครงสร้างภายนอก (Exoskeleton) เป็นแห่งแรกของโลก โรงแรมมอร์เฟียส ชื่อตามเทพปกรณัมกรีกโบราณแห่งความฝัน ล้อไปกับฉายาเมืองแห่งความฝันของของมาเก๊า ประเทศจีน ด้วยฝีมือการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของ Zaha Hada Architects ที่ได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบโรงแรมบนฐานรากโครงการคอนโดมิเนียมที่ถูกล้มเลิกไป ด้วยเส้นสายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการแกะสลักหยกของชาวจีน โรงแรมสูง 40 ชั้น ใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดทางกฎหมายด้านความสูงอย่างเต็มที่โดยเจาะช่องทะลุกลางอาคารเชื่อมต่อภายในอาคารเข้ากับบริบทโดยรอบ โครงสร้างนอกอาคารยังช่วยสร้างสเปซภายในที่เชื่อมต่อกันเป็นชิ้นเดียวโดยไม่ต้องมีเสาหรือกำแพงมารับ เกิดเป็นสเปซที่ลื่นไหลโอบล้อมไปด้วยโครงตาข่ายผลลัพธ์ของการผสมผสานกันระหว่างงานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม

ทอร์เรส เด ซาเตลิเต ภาพจาก https://www.archdaily.com/969361/architecture-classics-torres-de-satelite-luis-barragan ถ่ายโดย Suriel Ramzal

ประติมากรรมหลอกตาต้อนรับผู้มาเยือน

กลางปีคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศเม็กซิโกได้ริเริ่มแผนพัฒนาชานเมืองเม็กซิโกซิตี้เรียกว่าซิอูดัด ซาเตลิเต (Ciudad Satélite, Satellite City, เมืองบริวาร) เพื่อลดปัญหาการจราจรใจกลางเมืองหลวง หนึ่งในสิ่งสะดุดตาที่สุดของโครงการนี้คืองานประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางระหว่างถนนเส้นหลักเข้าสู่เมืองชื่อ ทอร์เรส เด ซาเตลิเต (Torres de Satélite, Satellite Towers) ผลงานของสถาปนิกชื่อดัง ลุยส์ บาร์รากั(Luis Barragán Morfin) ซึ่งประกอบด้วยเสาคอนกรีตสีฉูดฉาดขนาดยักษ์ห้าต้นสูง 52 เมตร ตั้งเด่นออกมาจากพื้นคอนกรีต ความรู้สึกหลอกตาเกิดจากผังเสาที่เป็นสามเหลี่ยมคล้ายปริซึม ในบางมุมจะเห็นเป็นผืนระนาบ บ้างก็คล้ายเข็มแทงขึ้นไปบนฟ้า เล่นกับการเคลื่อนไหวและมุมมองของได้อย่างน่าสนใจ

หอสมุดแห่งชาติคอซอวอ ภาพจาก https://www.greyscape.com/architects/national-library-of-kosovo/ ถ่ายโดย Arban LLapashtica

สานสัมพันธ์ผ่านลูกบาศก์และโดม

อาคารรูปทรงประหลาดตาเหมือนฉากหนังไซไฟแห่งนี้ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ณ เมืองพริสตีนา ประเทศคอซอวอ หอสมุดแห่งชาติคอซอวอ (National Library of Kosovo) ออกแบบโดยสถาปนิกชาวโครเอเชีย อันดริยา มุตญากอวิช (Andrija Mutnjaković) เปิดให้ใช้บริการในปีค.ศ. 1982 และยืนหยัดผ่านความขัดแย้งระหว่างประเทศต่อเนื่องมายาวนานนับสิบปี หอสมุดสไตล์บรูทอลลิสต์พื้นที่กว่า 16,500 ตร.ม. แห่งนี้พยายามแสวงจุดร่วมระหว่างประเทศแอลเบเนียและเซอร์เบียผ่านสถาปัตยกรรมภูมิภาคอย่างการใช้ ทรงลูกบาศก์และโดม โมดูลอาคารคอนกรีตทรงลูกบาศก์ กรุพื้นด้วยหินอ่อนและหลังคาโดมโปร่งแสงขนาดแตกต่างกัน กว่า 99 โดม ให้ความรู้สึกคล้ายกับสถาปัตยกรรมอาณาจักรออตโตมันและไบแซนไทน์ ผสมผสานกับการออกแบบแนวร่วมสมัยอย่างการจัดวางกลุ่มก้อนอาคาร และคลุมด้วยโครงตาข่ายโลหะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายพื้นถิ่นของประเทศคอซอวอ (Kosovo Filigree) เรียกได้ว่าในเป็นงานออกแบบเพื่อเอกภาพที่แท้จริง

ถึงแม้ว่าความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพพอที่จะปฏิวัติวงการศิลปะและการออกแบบ แต่สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่ต่างอะไรกับเทคโนโลยีอื่นๆ ในทางกลับกันงานสถาปัตยกรรมถึงแม้มีอายุนับร้อยปีก็ยังสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจได้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรังสรรค์สิ่งต่างๆของมนุษย์ตั้งแต่อดีต และจะพัฒนายิ่งขึ้นไปในอนาคต

Photo & References

Buttress, W. (2015, May). UK Pavilion – Milan Expo 2015 / Wolfgang Buttress. Retrieved from https://www.archdaily.com/627728/uk-pavilion-milan-expo-2015-wolfgang-buttress

Duque, K. (2021, October). Architecture Classics: Torres de Satélite / Luis Barragán. Retrieved from https://www.archdaily.com/969361/architecture-classics-torres-de-satelite-luis-barragan

Félix Potin. (2021, January). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/F%C3%A9lix_Potin

Greyscape. (2020, March). National Library of Kosovo. Retrieved from https://www.greyscape.com/architects/national-library-of-kosovo/

Hahn, L. (2017, March). This Castle with One Room for Each Day of the Year Is in Danger of Disappearing. Retrieved from https://www.iexplore.com/destinations/italy/endangered-sammezzano-castle-italy

Hush, O. (2020, October). Félix Potin building in Paris: renovated and revealed. Retrieved from https://parisresidencesjamesjoyce.com/2020/10/15/felix-potin-building-in-paris-renovated-and-revealed/

Mutnjakovic, A. (n.d.). National Library in Prishtina. Retrieved from https://architectuul.com/architecture/national-library-in-prishtina

Naja, R. (2013, Febuary). AD Classics: La Muralla Roja / Ricardo Bofill. Retrieved from https://www.archdaily.com/332438/ad-classics-la-muralla-roja-ricardo-bofill

Waldrep, M. (2015, Febuary). Satellite Cities: The Early Suburbs of Mexico City. Retrieved from https://blog.nationalgeographic.org/2015/02/27/satellite-cities-the-early-suburbs-of-mexico-city/

Wikipedia. (2023, July). Fatima Masumeh Shrine. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Fatima_Masumeh_Shrine

 

Writer
Panon Sooksompong

Panon Sooksompong

สถาปนิกที่หลงใหลในการค้นคว้าสู่นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราว จากกองหนังสือที่เอามารองนอน ตอนนี้ได้ฤกษ์จะถูกหยิบมาเปิดอ่านไปพร้อมกัน