ปัจจุบันหากจะสร้างบ้านอยู่อาศัยสักหลังหนึ่ง ความสวยงามของสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่จำเป็นจะต้องผูกธรรมชาติเข้ากับตัวสถาปัตยกรรมด้วย เพื่อให้การอยู่อาศัยรู้สึกถึงความร่มรื่น และเพิ่มความผ่อนคลายได้มากยิ่งขึ้น เหมือนกับบ้าน BAAN SAIKHOO ที่สถาปนิกจาก Anonym Studio ได้ออกแบบแมสฟอร์มอาคารให้โอบล้อมไปกับต้นไทรคู่ขนาดใหญ่ภายในพื้นที่ และหยิบแรงบันดาลใจจากธรรมชาตินี้มาใช้กับวัสดุของอาคารอีกด้วย ทำให้สเปซภายนอกหลอมรวมกับสเปซภายในได้อย่างลงตัว
ฟังก์ชันแบบครอบครัวขยาย
โจทย์ของเจ้าของบ้านเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพียงแค่ต้องการพื้นที่อยู่อาศัยในรูปแบบครอบครัวขยาย และรองรับการเจริญเติบโตของเด็กๆ ให้สามารถวิ่งเล่น และซึมซับกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงยังต้องรองรับกิจกรรมการเรียนการสอนดำน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของครอบครัวอีกด้วย
ต้นไทรคู่เกาะเกี่ยวไปกับตัวอาคาร
ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 3 ไร่ ที่มีต้นไทรคู่อยู่ตรงกลางพื้นที่ สถาปนิกจึงเลือกเก็บต้นไม้ให้เป็นไฮไลท์ของตัวบ้าน และวางผังอาคารส่วนกลางให้อยู่ทางทิศเหนือเป็นรูปตัว L ล้อมรอบต้นไทร เพื่อดึงมุมมอง และธรรรมชาติ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับตัวอาคาร ถัดมาทางด้านทิศเหนือที่อยู่ชิดกับริมขอบเขตพื้นที่ ยังเพิ่มเติมอาคารรองรับการพักอาศัยของคุณตา คุณยาย ทำให้เกิดคอร์ตยาร์ทขนาดเล็ก ระหว่างทั้ง 2 อาคาร ซึ่งช่วยเปิดสเปซให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม และเปิดมุมมองให้เห็นกิจกรรมของทุกคนภายในบ้านได้ทั้งหมด
นอกจากนี้พื้นคอนกรีตชั้น 2 ที่หนาถึง 40 เซนติเมตร ยังทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นห้องนอน ฝ้าเพดานชั้น 1 และชายคา ทำให้การอยู่อาศัยในชั้น 1 มีพื้นที่กึ่งในกึ่งนอก สามารถออกไปสัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ แม้ในวันฝนตก หรือ แดดร้อนระอุก็ตาม นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกอาคารให้ดูเป็นส่วนเดียวกันอีกด้วย
“แผ่นคอนกรีตทั้งหมดจะถูกซ่อนงานระบบอยู่ภายใน จึงทำให้คอนกรีตมีความหนา แต่ความหนานี้ก็ช่วยให้เราสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติของวัสดุได้อย่างเต็มที่ และช่วยเพิ่มมิติให้กับรูปด้านอาคารได้อีกทางหนึ่งด้วย”
เปิดผนังสร้างกรอบรูปธรรมชาติ
เมื่อบริบทของพื้นที่มีความเป็นธรรมชาติ สถาปนิกจึงหยิบแรงบันดาลใจนี้มาใช้กับภายในอาคาร ด้วยการติดตั้งผนัง rammed earth ให้เป็นจุดต้อนรับบริเวณทางเข้า ก่อนจะพบกับโถงทางเดินที่แจกไปยังโซนสอนดำน้ำทางทิศใต้ ที่ประกอบไปด้วยฟังก์ชัน สระว่ายน้ำความลึกสูงสุด 3 เมตร ห้องรับรอง และห้องจัดเก็บอุปกรณ์การดำน้ำ โดยทั้งสองห้องนี้จะถูกขั้นกลางด้วย พื้นที่ฝึกสอนการดำน้ำ โดยออกแบบให้มีลักษณะกึ่งในกึ่งนอก เปิดช่องผนังขนาดใหญ่เพื่อนำสายตาไปยังสระว่ายน้ำ และต้นไทรคู่ เสมือนกับเป็นกรอบรูปทางธรรมชาติขนาดใหญ่ ตัวหลังคาเป็นคอนกรีตเปลือยสูงชะลูดคล้ายพีระมิด ปลายยอดติดตั้งกระจกสกายไลท์เพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้ามาสร้างความสว่างให้กับภายใน
ดึงภายนอกเข้ามาสู่ภายใน
ขณะเดียวกันโถงทางเดินยังแจกไปยังพื้นที่ของตัวบ้าน ไล่ลำดับตั้งแต่ อาคารที่มีฟังก์ชันเป็นพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร พื้นที่ซักรีด และพื้นที่พักผ่อนของคุณตาคุณยาย โดยแต่ละฟังก์ชันจะถูกแยกอาคารออกจากกัน และเว้นสเปซแต่ละอาคารให้มีลักษณะกึ่งในกึ่งนอก เพื่อขับเน้นความชัดเจนในการใช้งาน และยังสามารถทำกิจกรรมภายนอกได้โดยไม่ต้องกลัวแดด หรือ ฝน
อย่างไรก็ดีหากไม่ต้องการใช้งานภายนอก การใช้งานภายในอาคารก็ยังสามารถรับลม แสงธรรมชาติ และวิวจากต้นไทรคู่ได้ เนื่องจากสถาปนิกได้ติดตั้งบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ให้กับผนังอาคารชั้น 1 และชั้น 2 ทั้งหมด ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเชื่อมโยงสเปซของแต่ละอาคารให้เป็นส่วนเดียวกันอีกด้วย
“จะเห็นว่าตั้งแต่อาคารของโซนสระว่ายน้ำ จนมาถึงภายในตัวบ้านจะเลือกใช้วัสดุที่ทำจากดิน ไม้ และคอนกรีตเปลือยเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องการให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ ความความบิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี”
เชื่อมโยงสเปซผ่านต้นไทร
สำหรับบ้าน BAAN SAIKHOO สถาปนิกพยายามดึงศักยภาพจากธรรมชาติของพื้นที่ให้มีประสิทธิมากที่สุด โดยออกแบบบ้านให้ล้อมรอบต้นไทรคู่ในพื้นที่ จนกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยง ให้แต่สเปซสร้างจังหวะเปิด-ปิด และหนัก-เบา สอดคล้องกันไปตลอดทั้งหลัง นั่นก็หมายความว่าทุกๆ การเดินเพื่อเปลี่ยนฟังก์ชันความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยก็จะเปลี่ยนไปพร้อมกันด้วย แต่ทุกสเปซยังคงได้รับวิว ลม และแสงธรรมชาติได้เช่นเดิม
Photo Credit: DOF, Soopakorn srisakul
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!