สีดำอาจจะเป็นสีโปรดของใครหลายคน และคนมักใช้สีดำกับสิ่งของต่างๆ แต่ว่าเรากลับไม่ค่อยเห็นงานสถาปัตยกรรมที่ใช้สีดำเท่าไร แต่ Housescape Design Lab บริษัทออกแบบกลับเห็นข้อดีของการที่จะนำสีดำมาใช้ในงาน Residential จนกลายออกมาเป็น “บ้านดำ” บ้านพักตากอากาศที่นำเอาอัตลักษณ์ ของบ้านท้องถิ่นมาใช้
ผู้ใช้งานได้เห็นวัสดุก่อนใช้งานจริง
Housescape Design Lab เป็นบริษัทออกแบบในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีงานออกแบบเป็นเอกลักษณ์ ทางเจ้าของบ้านได้เห็นโปรเจค Baan Jihang Saen ที่ Housescape Design Lab ออกแบบไว้จึงติดต่อมาทางบริษัท คุณเบล สถาปนิกผู้ออกแบบมีแนวความคิดว่า ถ้าอยากให้ทางบริษัทออกแบบ ต้องมาเจอกันที่บริษัทซึ่งเป็นสตูดิโอวัสดุ เพราะ อยากให้เห็นถึงรูปแบบการทำงาน วัสดุต่างๆที่สตูดิโอทำขึ้นมาเอง ที่จะใช้ในส่วนต่างๆของบ้าน
“สตูดิโอทดลองวัสดุ ลูกค้ามาเขาจะได้เห็นหมดเลย วัสดุที่ทดลองแล้ว Success ทดลองแล้ว Fail รวมถึงกระบวนการทำงาน ออฟฟิศผมไม่ได้สเปควัสดุทีหลัง แต่ทุกอย่างถูกคิดตั้งแต่ออกแบบ ผมวางแผนหมดแล้วว่าจะใช้วัสดุตัวไหนกับ ส่วนไหนของบ้าน คิดไปถึงโรงงานที่นำเข้ามา”
คุณเบลกล่าวถึง เหตุผลที่ต้องให้ลูกค้ามาที่ออฟฟิศ
สัดส่วนที่โดดเด่นเพราะสภาพอากาศ
ท่ามกลางชุมชนที่มีบ้านสไตล์พื้นถิ่นของภาคเหนือตั้งอยู่ สถาปนิกเลือกที่จะออกแบบบ้านดำให้เป็นชั้นเดียวเพื่อให้ใกล้ชิดธรรมชาติ และยังนำเอาองค์ประกอบของบ้านท้องถิ่นมาใช้ แต่ปรับเปลี่ยนบางสิ่งเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทั้งฝนและแดดที่แรง บ้านหลังนี้จึงมีชายคาที่ยื่นออกมามากกว่าปกติจากสัดส่วนบ้านภาคเหนือ เพื่อลดแรงปะทะ ระหว่าง แดด ลม ฝน และผนังบ้าน ทำให้บ้านดำหลังนี้มีสัดส่วนที่แปลกตาไปจากบ้านหลังอื่นๆ กลายเป็นจุดเด่นของชุมชน
การบังคับพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการออกแบบ
เนื่องจากบ้านหลังนี้มีเติ๋น (ชานบ้าน) และหลังคาบ้านที่ยื่นมากเยอะ จึงทำให้ความสูงระหว่างพื้นและหลังคานั้นลดลง ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบ ที่มีแนวความคิดว่า ถ้าเราอยากจะมองอะไรบางอย่าง ต้องสัมผัสบางสิ่ง ณ ขณะนั้น โดยใช้ปฎิกิริยาต่างๆของร่ากาย เหมือนกับการที่ผู้ใช้งานบริเวณนี้ต้องนั่งลงสัมผัสวัสดุพื้นไม้ จึงจะได้เห็นธรรมชาติรอบข้าง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านก่อนเข้าถึงตัวบ้านอีกด้วย เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิภายในตัวคนที่เดินเข้า-ออกในบ้านด้วย
บ้านที่ต้อนรับแขกด้วยบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร
เจ้าของบ้านรักในการทำอาหารและการกิน จึงรับแขกด้วยรสชาติ กลิ่นของอาหาร และบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร จนส่วน Pantry & Dining กลายเป็น Main function ของบ้าน ที่ทั้ง3ด้านเชื่อมต่อกับเติ๋นภายนอก ผู้ใช้งานสามารถเปิดประตูเพื่อเชื่อมต่อสเปซเข้าด้วยกัน กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ให้คนทำกิจกรรมกัน ทำให้บ้านหลังนี้ไม่จำเป็นที่ต้องมีห้องรับแขก
พื้นผิววัสดุชัดเจนขึ้นเมื่อใช้สีดำ
การที่สร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นสีดำนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ความชื่นชมในสีดำเท่านั้น แต่สถาปนิกคิดว่าสีดำจะทำให้แสงแดดทำงานได้ดีขึ้น เวลาที่แดดตกกระทบ พื้นผิวของวัสดุต่างๆจะเด่นชัดขึ้นเมื่อเป็นสีดำ ทำให้เป็นความแต่งต่างของวัสดุบริเวณนั้นๆ แม้เป็นสีดำเหมือนกันก็ตาม รวมถึงทำให้ดีเทลร่องรอยของงานสถาปัตยกรรมเด่นชัด เพราะแสงกับดีเทลของสถาปัตยกรรมทำงานร่วมกัน กลายเป็นสิ่งที่ดูสะดุดตาสำหรับแขกที่มาเยี่ยมชม
สนับสนุนวัสดุจากชุมชน
โปรเจคนี้ใช้งบในการก่อสร้าเฉพาะงานสถาปัตยกรรม 6.7 ล้านบาท แต่ที่น่าประทับใจคือ ทาง Housescape Design Lab ต้องการสนับสนุนอาชีพในชุมชน จึงลดการนำเข้าวัสดุต่างๆจากโรงงานขนาดใหญ่ แล้วใช้วัสดุที่ชุมชนผลิตแทน ด้วยความที่บริษัทเป็นสตูดิโอวัสดุจึงมีความเชี่ยวชาญที่ทำองค์ประกอบต่างๆร่วมถึงงานแฮนด์คราฟต์ มาใช้ในบ้าน เช่น หลังคา ที่ทางบริษัทไม่ใช่วัสดุจากโรงงานใหญ่เลย
บ้านดำเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในชุมชนนั้นเพราะสีกับสัดสวนที่แตกต่าง และกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับบริบท และ ยังช่วยส่งเสริมงานของคนในชุมชนด้วย
Project Name : BAAN DAM (บ้านดำ)
Location : Mae Rim, Chiang Mai
Architecture Firm : Housescape Design Lab
Year : 2023
Area : 250 Sq.m.
Lead Architects : พีระพงษ์ พรมชาติ
Interior Designer : Housescape Design Lab
Landscape Design : H2O Design
Construction : ช่างรุจ, ช่างสันต์, ลุงบุญ, คุณนายมด, น้องสาม, ลุงมงคล, ช่างโด้, ลุงวัน, ทูล, แอน
Photographer : รุ่งกิจเจริญวัฒน์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!