สถาปัตยกรรมแต่ละสมัยมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป บ้านของคนในยุคก่อนก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กับบ้านสมัยนี้ เพียงแต่ความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป แต่ปัจจุบันเราไม่มีโอกาสเห็นสถาปัตยกรรมเหล่านั้นตามพื้นที่สาธารณะ คุณรณรงค์ ชมภูพันธ์ สถาปนิกผู้ออกแบบจึงมีความคิดนำบ้านยุค 80s มารีโนเวทกลายเป็น Cafe & Studio
ถูกตา ต้องใจ
สถาปนิกผู้ออกแบบเห็นบ้านหลังนี้มาตลอดจากเส้นทางที่ใช้เดินทางเป็นประจำ ด้วยความเป็นคนที่ชอบของเก่า ของร่วมสมัย อยู่แล้ว รู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีเสน่ห์ มีคาแรกเตอร์บางอย่างของยุค 80s เลยอยากจะรีโนเวทเป็น Studio ถ่ายภาพก่อน แล้วเมื่อหลายอย่างลงตัวจึงเปิดโซน Cafe เพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ามาใช้งานมากขึ้น
“ เราเป็นสถาปนิก แล้วเราชอบของเก่า ชอบรถเก่า ชอบนาฬิกาเก่า ชอบอะไรที่มัน Classic Timeless ไม่ตกยุค แล้วพอเจอบ้านเก่าด้วย นั่นแหละ พอมันเห็นก็รู้สึกว่าน่าจะหยิบมาทำอะไรได้”
งานรีโนเวทนั้นง่ายจริงหรอ
ด้วยความที่บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่า ที่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงไม่มีเคยมีใครพักอาศัยมาก่อน ไม่มีใครรู้ว่าพื้นที่ไหนถูกใช้เป็นฟังก์ชั่นอะไรมาก่อน แต่ต้องมั่นใจว่าทุกอย่างแข็งแรงมากพอที่จะให้คนจำนวนมากเข้ามาใช้งาน สถาปนิกจึงต้องทำการเคลียร์พื้นที่อันรกร้างออกเพื่อดูอาคารจริงและเช็คโครงสร้าง และเรื่องงานระบบก็เป็นเรื่องที่ทำให้ทีมงานต้องทำงานหนัก เพราะต้องไล่เช็คว่าอยู่ตำแหน่งไหน ยังใช้ได้บ้างหรือเปล่า เป็นเหตุผลที่สถาปนิกนำห้องน้ำออกมาไว้ภายนอกอาคารเพราะง่ายต่อการซ่อมแซม แต่ทุกอย่างก็ถือว่าคุ้มค่าที่แลกกับการได้ทำให้บ้านในอดีตกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
“อุปสรรคค่อนข้างมากตรงที่รีโนเวตส่วนใหญ่มันคืออาคารเก่า เราไม่มีแบบหรอก งาน 30-40 ปี แล้วต้องรื้อ ไล่เช็คไปทีละจุด แล้วมันเกิดการลองผิดลองถูกไป”
สถาปนิกยุค 80 ส่งไม้ต่อให้ สถาปนิกยุคปัจจุบัน
บ้านหลังนี้มี Space ที่น่าสนใจอยู่มาก ผู้ออกแบบจึงคิดว่าบ้านหลังนี้น่าจะออกแบบโดยสถาปนิก ตั้งแต่การหันตัวบ้านเข้า Site ไม่ได้หันเข้าหาถนนหลัก ทำให้บ้านได้มุมมองจากภายนอกที่กว้างขึ้น ส่วนระดับภายในบ้านไม่ได้แบ่งเป็นชั้น 1 2 3 เหมือนบ้านทั่วๆไป แต่ถูกแบ่งเป็นชั้น1 ชั้นลอย และชั้น 2 ที่คาดว่าจะใช้เป็นห้องรับแขก ห้องอเนกประสงค์ และห้องนอนตามลำดับ การเล่นระดับแบบนี้ถือว่าแปลกใหม่มากในยุคนั้น ซึ่งตอนนี้ คุณรณ สถาปนิกคนปัจจุบัน ได้ดัดแปลงชั้น 1 และชั้นลอยจะเป็น Cafe และชั้น 2 จะเป็น Studio ถ่ายภาพ สำหรับบันไดก็กว้างกว่าบ้านปกติเพราะความกว้างบันไดอยู่ที่ 2 เมตร ซึ่งพอเปลี่ยนมาใช้เป็นพื้นที่สาธารณะก็ทำให้คนเดินสวนกันได้โดยไม่อึดอัด
เปิดเสน่ห์ เก็บเอกลักษณ์
เดิมที่บ้านหลังนี้มีฝ้าปิดบังโครงไม้เก่าอยู่ แต่สถาปนิกรู้สึกว่าจุดนี้เป็นเสน่ห์ของบ้านเก่า จึงเอาฝ้าออกทั้งหมด โชว์โครงสร้างทั้งโครงไม้ แนวคาน ให้คนที่เข้ามาใช้งานได้เห็น และการที่ทำบ้านรีโนเวทนั้นการทิ้งร่องรอยบางอย่างในงานก่อสร้างไว้ก็ทำให้กลมกลืนไปกับของเดิมที่มีอยู่ ในการตกแต่ง สถาปนิกเลือกที่ใช้วัสดุให้น้อยที่สุดเพราะกลัวว่าจะบดบังสิ่งเดิมที่มีอยู่ อย่างมากที่สุดก็จะเป็นแค่การทาสีใหม่เท่านั้น เรียกได้ว่าสถาปนิกไม่ได้เก็บเพียงแค่โครงสร้างเท่านั้นแต่องค์ประกอบต่างๆก็ยังเก็บไว้ถึง 90% ของงานทั้งหมด
“อย่างรูปด้านหน้าอาคารที่เราเปิดมา แล้วเราเจอจั่วสามเหลี่ยมมีอิฐ ข้างล่างตอนแรกมันเป็นอะไรโล่งๆ แต่เราต้องทำให้มุมนี้ เป็นมุมที่คนเข้ามาแล้วถ่ายรูปออกไป เหมือนมีการแชร์ต่อ แล้วมันคือที่นี่ โดยที่จริงๆ เราก็ยังรักษาคาแรกเตอร์ของอาคารเดิมไว้ด้วย”
คุณ รณ กล่าวถึงมุมด้านหน้าที่เป็นที่นิยมสำหรับคนที่มาเยือนคาเฟ่
ขยับเพื่อปรับการใช้งานสเปซ
บริเวณคาเฟ่ มีการขยับแนวผนังออกไปเพื่อให้วางเคาน์เตอร์ได้สบายๆ ไม่อึดอัดเวลาใช้งาน ส่วนบริเวณที่นั่งมีการกั้นขอบขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อใช้แทนเก้าอี้ และที่ทำกระจกยาวตลอดแนวเสาทางทิศเหนือ เพื่อรับแสงธรรมชาติแต่ไม่รู้สึกถึงความร้อน จริงๆในบ้านหลังนี้มีหลายสิ่งผุพัง หรือหายไป คุณรณ ที่อยากจะให้ทุกสิ่งอย่างเหมือนเดิมมากที่สุด การจะหาของมาใช้ร่วมกันจึงกลายเป็นเรื่องท้าทายอย่างนึง
“รนก็ต้องไปหาไม้ แล้วมากลึง ให้ได้ shape กับบันไดเดิม ถ้าสังเกตุ บันไดขั้นสุดท้าย มันจะไม่มีรูของลูกกรงบันได”
คุณรณ พูดถึงการทำขั้นบันไดสุดท้ายที่หายไป
พอมองออกไปนอกหน้าต่าง จะเห็นพื้นที่ Outdoor เหมือนได้มี Canopy เล็กๆ พร้อมต้นไม้ให้คนใช้งานได้ร่มเงา ที่เดิมทีเป็นสวนกล้วยธรรมดาๆที่ทำหน้าที่เป็นเพียง Backdrop สถาปนิกจึงนำออกและเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานให้เหมาะสม
“เหมือนเรามาทีหลัง เราอยากเป็นเพื่อนบ้านมากกว่ามาทำธุรกิจ”
เนื่องจากเราต้องการจะรีโนเวทบ้านเก่าท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก บ้านหลังนี้มีพื้นที่ติดถนนในซอย2ฝั่ง ฝั่งแรกเป็นซอยที่มีบ้านคนจำนวนมากและเป็นคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มานาน สถาปนิกจึงเปิดทางเข้าจากอีกซอยหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นออฟฟิศ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนความเป็นส่วนตัวของเพื่อนบ้าน ส่วนออฟฟิศในซอยที่อาจได้รับผลกระทบจากการเข้าออกของคนที่มา Cafe จำนวนมาก เจ้าของก็ให้ส่วนลดสำหรับพนักงานเวลามาทานอาหาร
งานออกแบบที่ต้องควบคู่กับธุรกิจ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในการทำธุรกิจๆหนึ่งนั้น การออกแบบรูปร่างหน้าตาอาคารก็ส่งผลต่อ ภาพจำของธุรกิจ และจะเป็นผลดีมากหาก อาคารนั้นมีเอกลักษณ์บางอย่างให้คนได้จดจำ สถาปนิกจึงมีหน้าที่เลือกหยิบสิ่งที่อยากจะพรีเซ้นต์ออกมาเล่าให้คนที่ได้มาเยือนในสถานที่แห่งนี้สัมผัสผ่าน รูปทรง วัสดุ พื้นที่ต่างๆในงาน ยิ่งทำออกมาได้น่าสนใจก็ยิ่งเป็นการดึงดูดคนให้อยากมาคาเฟ่ของเราที่เขาอาจจะเคยเห็นผ่านโซเชียล หรือแม้แต่เคยผ่านมาเจอก็ตาม
“การออกแบบทำให้สร้างออกมา แล้วคนอยากจะมาหรือเปล่า เราดีไซน์ออกมาแล้ว ลูกค้าเขาเห็นอะไรที่เราอยากให้เห็นหรือเปล่า เหมือนกับว่า ถ้ามันสวย มันมีคาแรกเตอร์ที่ชัด มันต่างจากที่อื่นๆ ทำให้เหมือนมีลูกค้ามา มันเป็นเรื่องของธุรกิจ”
SYDNEY สู่ SYDNY
ด้วยความที่เจ้าของมีร้าน Sander + Sunkiss ด้วยซึ่งแต่ละที่มีเมนูที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว พอทำ Sydny จึงเลือก Bagel มาเป็นเมนูประจำของที่นี่ ทั้งยังคิดว่าการที่เราทำเมนูอาหารไม่กี่อย่างจะสามารถลงดีเทลและควบคู่การทำได้มากกว่า กลายเป็น Expert ในเมนูนี้ไปเลย จะส่งผลดีกับร้านมากกว่า เหมือนเมนูนี้กลายเป็น Signature ของร้าน และเนื่องด้วยเจ้าของได้สูตรมาจาก Sydney ประเทศ Australia จึงอยากจะตั้งชื่อร้านให้มีความเกี่ยวเนื่องกันเหมือนเป็นคำพ้องเสียง
Sydny จึงกลายเป็น Cafe & Studio ที่สามารถนำเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมยุค 80s มาผสมผสานกับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันได้อย่างลงตัว และเปิดให้ผู้คนเข้ามาใช้งานสถาปัตยกรรมย้อนยุคได้
Project Name: Sydny Cafe & Studio
Location : สวนผัก จ.กรุงเทพมหานคร
Architecture Firm: รณรงค์ ชมภูพันธ์
Year: 2023
Area : 377 Sq.m.
Lead Architects: รณรงค์ ชมภูพันธ์
Interior Designer: รณรงค์ ชมภูพันธ์
Construction: –
Photographer : ธนาธิป ฉวาง
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!